8 เกษตรกรชุมชนน้ำแดง โดนข้อหา ‘บุกรุก-ซ่องโจร’ จากการ ‘เปลี่ยนสวนปาล์มทิ้งร้างเป็นที่ดินทำกิน’

8 เกษตรกรชุมชนน้ำแดง โดนข้อหา ‘บุกรุก-ซ่องโจร’ จากการ ‘เปลี่ยนสวนปาล์มทิ้งร้างเป็นที่ดินทำกิน’

ถูกจับกุมอย่างต่อเนื่อง… คือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นใน ชุมชนน้ำแดงพัฒนา หมู่ที่ 9 ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี นับตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2560 จนถึงวันที่ 22 เม.ย. 2560 สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรกรภาคใต้ (สกต.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ในพื้นที่ชุมชนน้ำแดง ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมไปแล้ว 8 คน ด้วย 3 ข้อหา คือ บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น ทำให้เสียทรัพย์ และความผิดฐานเป็นซ่องโจร

ในจำนวนนี้มี 2 คน ได้รับการประกันตัวโดยได้ยืมเงินของญาติมาเช่าหลักทรัพย์ในวงเงินคนละ 27,000 บาท ไปเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา

ล่าสุด ศาลจังหวัดเวียงสระฝากขังชาวบ้านสมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนาที่เรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 6 คน โดยเพิ่มวงเงินในการประกันตัว เป็นข้อหาละ 200,000 บาท รวม 3 ข้อหา เป็นเงินคนละ 600,000 บาท

เกษตรกรชุมชนน้ำแดงพัฒนา ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี

 

แจงชาวบ้านถูกบุกจับไม่ทันตั้งตัว ไม่รู้ข้อกล่าวหา

“ตำรวจไม่ได้มีหมายเรียก เข้ามาจับกุมในชุมชนเลย เจ้าตัวไม่ได้รู้ล่วงหน้าว่าจะถูกจับ ต้องถูกขังคุก ไม่มีโอกาสยื่นขอประกันตัวจากกองทุนยุติธรรม เขามองชาวบ้านเป็นอะไร ทำผิดอะไรร้ายแรงหรือ” สมาชิก สกต. รายหนึ่งกล่าว

สมาชิก สกต. ให้ข้อมูลว่า พื้นที่ชุมชนน้ำแดงพัฒนาเดิมเป็นที่สาธารณะประโยชน์ที่ชาวบ้านใช้ร่วมกัน ต่อมานายทุนสิงคโปร์ได้มากว้านซื้อที่ดิน และเปลี่ยนสภาพเป็นสวนปาล์มน้ำมัน มีการออกเอกสารสิทธิ์บางส่วน หลังจากนั้น พ.ศ.2531 บริษัทประสบปัญหาล้มละลาย กลายเป็นที่ดิน NPL และทิ้งร้างไป ต่อมา พ.ศ.2551 เกษตรกรไร้ที่ดินจึงได้รวมกลุ่มกันเข้าไปใช้ประโยชน์ เปลี่ยนจากสวนปาล์มทิ้งร้างเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย โดยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ สกต. และพีมูฟ เพื่อเรียกร้องการจัดสรรที่ดินให้ได้อยู่อาศัยและทำกินอย่างถูกต้องจากหน่วยงานรัฐ

“เหตุการณ์นี้สร้างความหวาดกลัวให้ชาวบ้าน และวิตกกังวลว่าจะนำไปสู่การสลายชุมชนในอนาคต ทำไมชาวบ้านถูกคดี ถูกกล่าวหาว่าเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร ทั้ง ๆ ที่เปิดเผยตัวมาโดยตลอด มีการเจรจา มีกลไกแก้ปัญหากับรัฐบาลมาหลายชุด มีการดำเนินตามนโยบายรัฐฯ มาโดยตลอด” สมาชิก สกต.ระบุ

 

พีมูฟจี้รัฐบาลทำตามข้อตกลง-ยุติคดี ตั้งข้อสังเกตจับกุมโดยมิชอบ

ด้านประยงค์ ดอกลำใย ที่ปรึกษาขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวว่า พีมูฟมีข้อตกลงกับรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาประชุมกับพีมูฟ เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 2560 มีข้อตกลงว่าจะมีการสั่งการให้ชะลอการดำเนินการที่สร้างผลกระทบไว้ก่อน แต่ตำรวจสุราษฎร์ธานี ตำรวจภูธรภาค 8 กลับนำหมายจับไปจับกุมสมาชิก สกต. ถือว่าเป็นการละเมิดข้อตกลง

นอกจากนั้น ก่อนหน้านี้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ได้มีการตรวจสอบเอกสารสิทธิบางส่วนในพื้นที่ พบว่ามีข้อสงสัยหลายประการ อาจมีการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ

“ตำรวจไม่ได้ออกหมายเรียกสมาชิก 8 คน ไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาก่อนจับกุม ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หลังจากจับกุมแล้วได้แจ้งข้อกล่าวหาอั้งยี่ ซึ่งมีโทษรุนแรง ทั้งที่ชุมชนน้ำแดงมีการตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่มาตั้งแต่ พ.ศ.2551 โดยสงบ เปิดเผย ไม่ได้มีการใช้กำลังคุกคามใคร และตั้งข้อสังเกตว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อกลั่นแกล้งให้สมาชิกรับโทษรุนแรง ปิดโอกาสประกันตัวต่อสู้คดี” นายประยงค์ กล่าว

ที่ปรึกษาพีมูฟ กล่าวว่า พีมูฟขอเรียกร้องให้ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล สั่งการให้ตำรวจภูธรภาค 8 ตำรวจสุราษฎร์ธานี ยุติการดำเนินคดีกับสมาชิกพีมูฟโดยทันที และขอให้มีการสั่งการให้กองทุนยุติธรรมอนุมัติกองทุนเพื่อประกันตัวผู้ที่ถูกจับกุมทั้งหมดให้ได้มีโอกาสต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมต่อไป

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าจะมีการจับกุมชาวบ้านเพิ่มเติมอีก เนื่องจากมีการเผยแพร่ข้อมูลว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมชาวบ้านในชุมชน โดยแสดงหมายจับของศาลจังหวัดเวียงสระ ในคดีอาญา ด้วยข้อหาบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ชาวบ้านไม่ทราบว่าตนเองนั้นจะถูกจับ เพราะไม่มีหมายเรียกและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งมาก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ หมายจับในคดีดังกล่าวมีผู้ต้องหาทั้งหมด 15 คน ประกอบด้วย

1.นายวิจิตร กลดนวล
2.นายรณรงค์ สิทธิกุล
3.นางนงเยาว์ กลับนุ้ย
4.นายไพโรจน์ กลับนุ้ย
5.นายอดิศร ศิริวัฒน์
6.นายกิติพงษ์ รัตน์พันธ์
7.นางสมจิตร โอรส
8.นายทวีพร สุดวิสัย
9.นางวิไลวรรณ กลับนุ้ย
10.นายสัญญา กลับนุ้ย
11.นายประกอบ อนุภัค
12.นายเริงฤทธิ์ สโมสร
13.นายจรัส อินเอียด
14.นายสุวรรณ ดงพิทักษ์
15.นายเผือน อินโตรม

ชุมชนน้ำแดงพัฒนา สมาชิกสหพันธ์เกษตรกรกรภาคใต้ (สกต.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

00000

เรียบเรียงตามลำดับเหตุการณ์

วันที่ 20 เม.ย. 2560 เวลา 14.00 น. มีรายงานข้อมูลว่า พ.ต.ท.ยศ ชาวเรา สารวัตรสืบสวนสอบสวน สภ.ชัยบุรี ช่วยราชการกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี (กก.สส.ภ.จว.สุราษฎร์ธานี) นำกำลัง เจ้าหน้าที่ตำรวจรวม 13 นาย เข้าจับกุม นายอดิศร ศิริวัฒน์, นายวิจิตร กรดนวล (อายุ 64 ปี) และนายณรงค์ สิทธิกุล สมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนา อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และนำตัวไปที่ สภ.ชัยบุรี

จากนั้นชาวบ้านในชุมชนน้ำแดงจึงได้ติดตามไปให้กำลังใจสมาชิกทั้ง 3 คน แต่กลับมีผู้ถูกจับกุมเพิ่มเติมที่ สภ.ชัยบุรี อีก 2 คน คือ นางนงเยาว์ กลับนุ้ย และนายไพโรจน์ กลับนุ้ย โดยที่ทั้งคู่ไม่ได้ทราบเรื่องมาก่อน

สมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนาทั้ง 5 คน ถูกแจ้งข้อหาบุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นและร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ ต้องถูกควบคุมตัวที่ สภ.ชัยบุรีทั้งคืน โดยเจ้าหน้าที่แจ้งว่าต้องส่งต่อศาลจังหวัดเวียงสระในช่วงเช้า

วันที่ 21 เม.ย. 2560 เมื่อเวลาประมาณ 09.56 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ชัยบุรี ได้นำผู้ต้องหาที่ถูกจับทั้ง 5 คน ไปขอฝากขังที่ศาลจังหวัดเวียงสระตามคำร้องขอฝากครั้งผู้ต้องหา ครั้งที่ 1

ข้อหาที่มีการแจ้งกับชาวบ้านทั้ง 5 คน มีทั้งหมด 3 ข้อหา คือ

  1. บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมด หรือบางส่วน หรือกระทำการใดๆอันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 89,362 , 365 (2)
  2. ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 359 (4)
  3. ความผิดฐานเป็นซ่องโจร (ข้อหานี้ พนักงานสอบสวนเพิ่งมีการแจ้งในวันที่ 21 เม.ย.2560) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210

ในการประกันตัว มีการตั้งวงเงินประกันตัวข้อหาละ 90,000 บาท หากขอเช่าหลักประกันชาวบ้าน 1 คน ต้องมีค่าเช่าหลักประกัน 27,000 บาท รวมทั้ง 5 คน ต้องใช้เงิน 135,000 บาท ทำให้ไม่สามารถประกันตัวได้เพราะชาวบ้านไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัว

จากนั้น ในเวลาประมาณ 13.50 น. สมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนาถูกเจ้าหน้าที่เข้าไปจับกุมตัวในชุมชนเพิ่มอีก 2 คน คือ 1.นางวิไลวรรณ กลับนุ้ย และ 2.นายประกอบ อนุภัค และถูกควบคุมตัวไปที่ สภ.ชัยบุรี โดยวันที่ 22 เม.ย. 2556 จะส่งไปผากขังที่ศาลจังหวัดเวียงสระต่อไป ขณะที่ในชุมชนเจ้าหน้าที่ตำรวจยังคงใช้รถจักรยานยนต์ขับขี่วนไปมาอยู่ในพื้นที่

เวลาประมาณ 15.30 น. นายวิจิตร กลดนวล และนายอดิศร ศิริวัฒน์ ได้ทำเรื่องยื่นขอประกันตัว ต่อมาเวลาประมาณ 17.11 น. ทั้ง 2 คนได้รับการปล่อยตัว โดยศาลกำหนดเงื่อนไขไม่ให้เข้าไปในพื้นที่พิพาท และห้ามนำเรื่องเกี่ยวกับคดีไปพูดกับบุคคลอื่น และส่วนของผู้ต้องหาคนอื่นต้องไปเรือนจำจังหวัดสุราษฏร์ธานี

มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าตอนเย็นสมาชิกชุมชนน้ำแดงพัมนาถูกเรียกไปพบและถูกควบคุมตัวอีก 1 คน คือ นายวิจิตร โอรส ดังนั้นที่ สภ.ชัยบุรี มียังชาวบ้านถูกควบคุมตัวอยู่ทั้งหมด 3 คน เพื่อจะนำตัวส่งศาลภายในวันที่ 22 เม.ย. 2560

วันที่ 22 เม.ย. 2560 สกต. แจ้งข้อมูลว่า ศาลพิจารณาเพิ่มวงเงินในการประกันตัว เป็นข้อหาละ 200,000 บาท รวม 3 ข้อหา เป็นเงินคนละ 600,000 บาท แต่ชาวบ้านมีฐานะยากจน ไม่มีความสามารถหาเงินมาประกันตัว

สรุปศาลฝากขังชาวบ้านสมาชิกชุมชนน้ำแดงพัฒนาที่เรือนจำจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 6 คน ได้แก่

1.นายณรงค์ สิทธิกุล
2.นางนงเยาว์ กลับนุ้ย
3.นายไพโรจน์ กลับนุ้ย
4.นางวิไลวรรณ กลับนุ้ย
5.นายประกอบ อนุภัค
6.นายสมจิตร โอรส

ส่วนผู้ถูกจับกุมอีก 2 คน ได้รับการประกันตัว โดยได้ยืมเงินของญาติมาเช่าหลักทรัพย์ ได้แก่

1.นายอดิศร ศิริวัฒน์
2.นายวิจิตร กรดนวล

ชุมชนน้ำแดงพัฒนาเดิมเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ก่อนถูกเปลี่ยนเป็นสวนปาล์ม

00000

ประวัติความเป็นมา ของชุมชนน้ำแดงพัฒนา

ชุมชนน้ำแดงพัฒนา ตั้งอยู่ ม.9 ต.คลองน้อย อ.ชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี เดิมเป็นที่สาธารณะประโยชน์ ที่ชาวบ้านใช้ปลูกข้าวไร่ และเลี้ยงสัตว์ร่วมกัน 4 หมู่บ้าน

ต่อมา พ.ศ. 2520 ได้มีนายทุนชาวสิงคโปร์ร่วมกับกลุ่มอิทธิพลท้องถิ่นกว้านซื้อที่ดินจากชาวบ้านในราคาถูกเพียงไร่ละ 100-200 บาท มีการเปลี่ยนสภาพเป็นสวนปาล์ม จำนวน 2,545 ไร่ โดยมีการออกเอกสารสิทธิบางส่วน และจดทะเบียนในนาม บริษัทสากลทรัพยากร จำกัด

พ.ศ. 2531 บริษัทสากลทรัพยากร จำกัด ประสบปัญหาภาวะหนี้สิน จนถูกฟ้องล้มละลาย กลายเป็นที่ดิน NPL ถูกปล่อยทิ้งร้าง

พ.ศ. 2551 เกษตรกรไร้ที่ดินได้รวมกลุ่มกันเข้าไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ เปลี่ยนจากสวนปาล์มทิ้งร้างเป็นที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของคนจน โดยใช้มติ ครม.เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2546 และ อ้างอิงรัฐธรรมนูญ ฉบับ ปี 2550 เรื่องสิทธิของประชาชนในการมีส่วนร่วมกับรัฐในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อทำการเข้าตรวจสอบสภาพพื้นที่ และเข้าเป็นสมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ)

พ.ศ. 2552 สกต.ได้มีการร้องเรียนให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) ตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ดังกล่าว ผลการตรวจสอบที่ดินส่วนหนึ่งพบว่ามีการออกเอกสารสิทธิที่ดินมิชอบ ไม่ได้มีร่องรอยการใช้ประโยชน์ในที่ดินในช่วงปี พ.ศ.2497-2505 แต่อย่างใด

ทั้งนี้ ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี มีที่ดินที่ถูกทิ้งร้าง และที่ดินที่หมดสัญญาเช่าจำนวนมาก โดยใน พ.ศ.2546 ภาคประชาชนเรียกร้องให้รัฐเปิดเผยข้อมูลการถือครองที่ดินในพื้นที่สวนปาล์มน้ำมัน พบว่ารัฐเปิดให้บริษัทเอกชนทั้งไทยและต่างชาติ เช่าที่ดินกว่า 200,000 ไร่ ในพื้นที่ป่าสงวน ฯ โดยใน พ.ศ.2546 มีพื้นที่หมดสัญญาเช่าประมาณ 70,000 ไร่ ในขณะที่ชาวบ้านจำนวนมากไร้ที่ดินทำกิน

แม้รัฐบาลมีมติ ค.ร.ม. วันที่ 26 ส.ค. 2546 ให้เร่งรัดสำรวจพื้นที่ทั้งที่หมดอายุและยังไม่หมดอายุการอนุญาต และนำมาจัดระเบียบการอนุญาตได้เข้าไปใช้ประโยชน์ โดยจะพิจารณาให้กับราษฎรผู้ยากไร้ไม่มีที่ทำกินเป็นของตัวเอง แต่การดำเนินการแก้ไขปัญหาล่าช้า ส่งผลให้ไม่มีการนำที่ดินหมดสัญญาเช่า และที่ดินที่ถูกทิ้งร้างมาจัดสรรให้คนจน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ