รธน.ใหม่บังคับใช้แล้ว ‘แอมเนสตี้’ ยังห่วงปิดกั้นเสรีภาพ – ‘ศูนย์ทนาย’ เผย ‘ผู้ต้องหาประชามติ’ กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี

รธน.ใหม่บังคับใช้แล้ว ‘แอมเนสตี้’ ยังห่วงปิดกั้นเสรีภาพ – ‘ศูนย์ทนาย’ เผย ‘ผู้ต้องหาประชามติ’ กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี

เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2560 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ รัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ของไทย ถือเป็นวันแรกที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2560 ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ (http://www.ratchakitcha.soc.go.th)

‘แอมเนสตี้’ ชี้ ‘รัฐธรรมนูญใหม่’ ต้องไม่ถูกใช้เป็นม่านปกปิดการปฏิบัติที่มิชอบ

ในวันเดียวกัน (6 เม.ย. 2560) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยแพร่เอกสาร “ประเทศไทย: รัฐธรรมนูญใหม่ต้องไม่ถูกใช้เป็นม่านปกปิดการปฏิบัติที่มิชอบอย่างต่อเนื่อง” โดยแชมพา พาเทล (Champa Patel) ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า

“แม้ว่ารัฐธรรมนูญใหม่ของไทยมีเงื่อนไขที่นำไปสู่การจัดเลือกตั้งทั่วไป และกำหนดแนวทางเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพต่าง ๆ ถึงกระนั้นก็แทบไม่มีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่กำลังเกิดขึ้นอย่างร้ายแรงในประเทศ

“รัฐบาลทหารของไทยยังคงมีอำนาจอย่างกว้างขวางในการปกครอง จนกว่าจะมีการเลือกตั้ง อีกทั้งรัฐบาลใหม่ก็ได้รับอำนาจอย่างเสรีในการจำกัดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นผลมาจากข้อบัญญัติต่างๆ ที่กำกวม

“รัฐธรรมนูญใหม่กำหนดให้ประกาศและมีคำสั่งมากมาย บังคับใช้โดยรัฐบาลทหารมาตั้งแต่รัฐประหารปี 2557 ยังคงมีผลบังคับใช้ต่อไป โดยประกาศและคำสั่งเหล่านี้ส่งผลให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างกว้างขวาง ปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพในการชุมนุม โดยมีการนำไปสู่การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย

“ทางการไทยได้ประกาศแล้วว่า จะไม่มีการผ่อนปรนข้อห้ามต่อกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเมือง ความหวังที่จะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงในอนาคตคงเป็นไปได้อยาก”

“เราเรียกร้องรัฐบาลไทยให้เปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ และยอมรับที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนของตน ทางการควรยกเลิกการดำเนินคดีอาญาใด ๆ ที่มีต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและผู้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ และให้ยกเลิกกฎหมายจำนวนมากที่คุกคามต่อเสรีภาพอย่างไม่หยุดยั้งนับแต่รัฐประหารปี 2557”

 

รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ แต่ “ผู้ต้องหาประชามติ” กว่า 104 ราย ยังถูกดำเนินคดี

วันนี้ (7 เม.ย. 2560) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่ข้อมูล ระบุว่า แม้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 จะถูกประกาศใช้ในวันที่ 6 เม.ย.ที่ผ่านมา แต่การดำเนินคดีต่อประชาชนที่ออกมาแสดงความคิดเห็นหรือรณรงค์โดยสงบต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในช่วงของการลงประชามติเมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 ยังคงอยู่และดำเนินต่อไป แม้การลงประชามติจะผ่านพ้นไปกว่า 8 เดือนแล้วก็ตาม

จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันยังคงเหลือผู้ต้องหาประชามติที่ถูกดำเนินการทาง “กฎหมาย” อยู่อย่างน้อย 104 ราย มีผู้ต้องหาที่คดีสิ้นสุดไปแล้วอีกอย่างน้อย 101 ราย และมีผู้ต้องหาประชามติที่ไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดอีกอย่างน้อย 12 ราย โดยมี 5 รายที่ถูกดำเนินคดี 2 คดี ทำให้รวมแล้วมีผู้ที่ถูกดำเนินคดีในช่วงการลงประชามติทั้งหมดอย่างน้อย 212 ราย

เมื่อปลายเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ได้จัดทำข้อสังเกตเชิงสรุปภายหลังการประชุมทบทวนการปฏิบัติตามกติกา ICCPR รอบของประเทศไทย โดยข้อเสนอต่อรัฐบาลไทยประการหนึ่ง ได้แก่ ควรใช้มาตรการทั้งปวงเพื่อยุติการฟ้องร้องดำเนินคดีต่อผู้ที่ถูกตั้งข้อหาว่าใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออกในระหว่างการออกเสียงประชามติรับรองรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน หลายองค์กรสิทธิมนุษยชนยังเห็นร่วมกันว่าการลงประชามติรัฐธรรมนูญฉบับนี้ดำเนินไปโดยขัดแย้งกับหลักการสากล มีความไม่เสรีและไม่เป็นธรรมหลายประการ พร้อมเรียกร้องให้ทางการไทยยุติการดำเนินคดีต่อประชาชนเช่นเดียวกัน

อ่านรายงานทั้งหมดได้ที่: http://www.tlhr2014.com/th/?p=3924

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ