คอลัมน์: คิดริมทาง เรื่อง: ปกรณ์ อารีกุล ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์
1.
ตอนนี้คุณทำงานอะไร?
คุณจะทำแบบนี้ไปถึงเมื่อไหร่?
เป็นประเด็นที่ผมมักถูกตั้งคำถามจากเพื่อนฝูง พ่อแม่ ญาติพี่น้อง จนผมสรุปว่ามันอาจเป็นคำถามที่ถูกสงสัยจากโลก และแน่นอนหากคุณเป็นคนที่ต้องทำอะไรก็ตาม ที่ต้องต่อรองกับความเป็นไปของโลก คำถามเช่นนี้เป็นคำถามที่คุณไม่สามารถละเลยที่จะตอบได้
การตัดสินใจให้คำตอบนั้นไม่ยาก เท่าขั้นตอนต่อมา ว่าคุณจะเลือกตอบคำถามนี้ด้วยท่าทีเช่นไร?
ผมไม่เคยจำได้เลยว่า ไอ้ความคิด ความเชื่อ ว่าคนตัวเล็กๆ อย่างเรา มันเปลี่ยนโลกได้นั้น เริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด พอๆ กับความทรงจำเรื่องการโดดเรียนครั้งแรก การแอบสูบบุหรี่หลังห้องน้ำโรงเรียน หรือการแอบจับมือหญิงสาวที่ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าแฟนได้หรือไม่ ในช่วงวัยที่เราทั้งคู่ยังอยู่ในชุดนักเรียน
“ชีวิตวัยหนุ่ม เป็นวันเวลาที่เอ็งต้องใช้มันให้คุ้ม” นักเลงเพลงเพื่อชีวิตรุ่นใหญ่คนหนึ่งกล่าวขึ้นบนเวทีคอนเสิร์ตสักแห่ง ในขณะที่ผมนุ่งกางเกงนักเรียนขาสั้นสวมเสื้อยืดสีขาว เกาะอยู่ข้างเวที
ปัญหาของผมอยู่ที่ว่า ตีความคำว่า “คุ้ม” ที่มากจนทะลุเพดานของมาตรวัด
ความคิดเรื่องเปลี่ยนโลกก็เช่นกัน ที่จู่ๆ มันก็ฉีดเข้ามาในร่างกายของผม แล้ววันเวลาของวัยหนุ่มก็หล่อเลี้ยงมันไว้อยู่เช่นนั้น
2.
ภายหลังแพ้การเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน ตอน ม.4 ผมตีอกชกหัวอยู่ชั่วครู่ ก่อนจะมานั่งทบทวนว่าทำไมเราจึงไม่ชนะ ยังไม่ทันจะได้คำตอบ เพื่อนคนหนึ่งก็พูดขึ้นว่า เราไม่ต้องเป็นคณะกรรมการนักเรียน เราก็ทำอะไรเพื่อโรงเรียนเพื่อส่วนรวมได้
สวนหย่อมและการปรับปรุงภูมิทัศน์ในมุมหนึ่งของโรงเรียน โดยใช้ไม้ดอกไม้ประดับที่เหลืออยู่ในโรงเพาะชำ อิฐตัวหนอน หินและทรายที่กองทิ้งไว้ตามมุมต่างๆ ถูกขนมาใช้ในภารกิจที่ไม่มีใครเคยคาดคิดว่าจะเกิดขึ้นจากแรงคิดและแรงกายของเด็กนักเรียนม.4 กลุ่มหนึ่ง ซึ่งอยู่ในฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นพวกกเฬวราก ที่เพิ่งแพ้การเลือกตั้งคณะกรรมการนักเรียน หรือเป็นคนเลว ตามนัยของคนที่อยากเห็นระบบการเมืองมีแต่คนดีๆ เข้ามาเป็นผู้กระทำ
นักเรียนชายหญิงราวเกือบ 50 คน ใช้ช่วงบ่ายวันหนึ่ง กุลีกุจอจัดสวนหย่อมขึ้นมาใหม่โดยไม่ใช้งบประมาณของโรงเรียนสักบาท
“ลงมือทำคือคำตอบ” นักเลงเพลงเพื่อชีวิตคนเดิมกล่าวในร้านเหล้าชื่อดังเมืองนครฯ
หลังจากนั้น เด็กหนุ่มสาวกลุ่มหนึ่งลงมือทำกิจกรรมสารพัด ที่พวกเขารู้สึกว่ามันสนุก และคนอื่นน่าจะพอได้ประโยชน์จากสิ่งที่พวกเขาทำ
ปีต่อมาพวกเขาลงสมัครคณะกรรมการนักเรียนอีกครั้ง ผลการเลือกตั้งคือตัวชี้วัดผลของการลงมือทำ เด็กหนุ่มคนหนึ่งในกลุ่มนั้นได้เป็นประธานนักเรียนที่น่าจะมีประวัติไม่เรียบร้อยที่สุดเท่าที่โรงเรียนเคยมีมา
การเปลี่ยนแปลงสังคมไม่เคยเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย สำหรับสิ่งมีชีวิตที่เรียกตัวเองว่า ไอ้พวกนักกิจกรรม ไม่ใช่เพราะมีอุดมคติแรงกล้าอันใดหรอก แต่ในทุกวันของชีวิตที่เราใช้ เราสนุกไปกับมัน เราไม่ได้รู้สึกว่าเรากำลังภารกิจ เราแค่กำลังใช้ชีวิตเท่านั้นเอง
“คนหนุ่มต้องแบบนี้แหละ ต้องตั้งคำถามกับโลก” นักเพลงเพื่อชีวิตคนนั้นกล่าวกับผม ภายหลังเหตุการณ์สำคัญทางการเมืองที่ผมเข้าไปร่วมขับเคลื่อน
วันหนึ่งเราทุกคนจะรู้สึกว่าต้องต่อรองกับโลก โลกที่เราเหยียบยืน เติบโตและหายใจ แน่นอนว่าวันหนึ่งเราก็อาจจะตายไป แต่ความหมายของชีวิตไม่ใช่การอยู่เพื่อรอวันที่จะตาย มิใช่หรือ
และการเปลี่ยนแปลงสังคมจะเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย ก็ต่อเมื่อคนอื่นๆในโลกไม่มีใครคิดอยากจะเปลี่ยนอะไรอีกแล้ว
ถ้าวันนั้นมีจริง ใครจะไปบ้าจะตะโกนว่าโลกต้องเปลี่ยน อยู่คนเดียวกลางถนนราชดำเนิน
แต่คุณดูสิ เรายังมีเพื่อนมากมายในดินแดนกว้างใหญ่ ตราบใดที่คนหนุ่มยังคงลงมือทำ
ตราบที่นักศึกษายังคงแปรอักษรตอกย้ำหลักการประชาธิปไตย หรือลงพื้นที่ไปไปเรียนรู้สัมผัสทุกข์สัมพันธ์สุขกับชาวบ้าน
ตราบที่ยังมีเด็ก ม.ปลาย ลุกขึ้นมาชูป้ายแสดงออกถึงสิ่งที่เขาคิด
และอาจจะมีเด็ก ม.4 สักโรงเรียนหนึ่ง ลุกขึ้นมาทำอะไรเพื่อส่วนรวมโดยที่ตนเองไม่ต้องมีตำแหน่งบนบ่า
หากมดตะนอยยังคงต่อแถวกันขนลูกอมที่มีคนบังเอิญคายทิ้งไว้ กลับไปเป็นอาหารในรังของตัวเอง
การเปลี่ยนแปลงสังคมเป็นน่าเบื่อเสียเมื่อไหร่กัน มันน่าสนุกจะตาย