อำนาจของรายย่อย คนจนจงรวมกันเข้า ชนชั้นกลางก็เช่นกัน

อำนาจของรายย่อย คนจนจงรวมกันเข้า ชนชั้นกลางก็เช่นกัน

Print

คอลัมน์: คิดริมทาง   เรื่อง: ปกรณ์ อารีกุล  ภาพ: อมรรัตน์ กุลประยงค์

ท่านผู้อ่านคงพอจำได้ว่าเมื่อช่วงกลางปีที่ผ่านมา มีการรณรงค์ไม่ซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ ซึ่งมีบริษัทธุรกิจการเกษตรรายใหญ่เป็นเจ้าของ

น่าเสียดายที่การรณรงค์ดังกล่าว มีช่วงเวลาแสนสั้นแค่เพียงวันที่ 7-11 ของเดือนพฤษภาคม ซึ่งยังไม่สามารถชี้วัดผลกระทบจากอิทธิพลของเครือข่ายผู้บริโภคที่พยายามสื่อสารต่อกลุ่มทุนใหญ่ พูดง่ายๆ ก็คือ มันไม่อาจทำให้ขนหน้าแข้งของกิจการร้านสะดวกซื้อแห่งนั้นร่วงหล่นแม้แต่เส้นเดียว

อย่างไรก็ดี การรณรงค์ดังกล่าว ได้เปิดประเด็นการถกเถียงขึ้นในสังคมอย่างมหาศาล โดยเฉพาะบนหน้าเฟซบุ๊คของรายย่อย ที่มีเป้าหมายพุ่งชนพฤติกรรมการครอบครองตลาดขายปลีกของรายใหญ่ ชนิดที่ส่งผลต่อภาพลักษณ์ในระดับที่น่าสนใจ อย่างน้อยการถกเถียงนั้นก็ค้างอยู่ในหน้า News Feed ของผมหลายสัปดาห์

ในฐานะรายย่อยคนหนึ่ง ซึ่งไม่นิยมระบบเศรษฐกิจแบบผูกขาดโดยรายใหญ่ ทุกๆ ครั้งที่เป็นไปได้ ผมมักเลือกอุดหนุนรายย่อยด้วยกันเองมากกว่าการเข้าไปซื้อสินค้าในกิจการขนาดใหญ่ ไม่ว่าภายใต้ยี่ห้อใดๆ ก็ตาม แน่นอนคำถามที่เพื่อนฝูงมักถามกลับมาคือ ทำไปทำไม? ทำแล้วเราจะได้อะไร? สังคมจะได้อะไร?

สังคมไทยและสังคมโลกมีความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ นั่นคือสิ่งที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว ข้อมูลจาก Oxfam ระบุว่า ภายในปี 2559 คนที่รวยที่สุดคิดเป็นจำนวน 1 เปอร์เซ็นต์ของประชากรโลก จะมีทรัพย์สินรวมกันมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก คนในกลุ่มนี้ มีทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (85.1 ล้านบาท)

ในขณะที่ความเหลื่อมล้ำของการถือครองที่ดินในประเทศไทยอยู่ในระดับวิกฤติ จนต้องบอกว่าโคตรเหลื่อมล้ำ และเมื่อเราค้นข้อมูลให้ลึกลงไปว่า ใครบ้างที่อยู่ส่วนยอดของโครงสร้าง เป็นเจ้าของทั้งที่ดินและทุน เราก็จะพบตัวละครที่ซ้ำๆ กันอย่างมีนัยสำคัญ

แน่นอนว่าความร่ำรวยไม่ใช่อาชญากรรม แต่ความร่ำรวยจากการผูกขาดและกอบโกยส่วนแบ่งของตลาดไปอิ่มหมีพีมันอยู่แต่เพียงลำพังนั้น ได้เบียดขับความยากจนไปให้คนส่วนใหญ่ของสังคม ทั้งยังเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม ไม่เป็นตลาดเสรีจริงอย่างที่ควรจะเป็นในโลกทุนนิยม เพราะมันไม่อนุญาตให้คนอื่นแข่งขัน

ผมเห็นว่า การที่กลุ่มคนลุกขึ้นมาเริ่มต้นการรณรงค์ ไม่เข้า ไม่ใช้ ร้านสะดวกซื้อเจ้าที่ว่า เป็นเรื่องอำนาจของรายย่อยที่คนธรรมดาสามัญอย่างเราๆ สามารถเริ่มต้นทำได้เอง เพียงแต่ต้องเป็นการลงมือทำไปพร้อมๆ กับการติดอาวุธทางความคิด – รณรงค์ไม่เข้าร้านสะดวกซื้อรายใหญ่ หรือกิจการใหญ่ๆ ของทุกบริษัทแบบไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมกับการพูดถึงประเด็นค่าแรงที่เป็นธรรมและสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับพนักงานในร้านสะดวกซื้อนั้นๆ นั้นด้วย

สำหรับการหันมาสนับสนุนร้านรวงรายย่อย ร้านค้าเล็กๆ รถเข็นข้างทาง ลุงป้าที่แบกหามไข่ปิ้ง หรือข้าวต้มมัดอยู่ตามหัวมุมถนน ผมเองลองทำดูแล้ว พบว่ามันพอจะใช้ชีวิตอยู่ได้นะครับ ยากหน่อยแต่ก็เท่ดี

ในระบบเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ทุกครั้งที่เราจ่ายให้กับรายย่อยรายหนึ่ง เงินจำนวนนั้นจะถูกเคลื่อนย้ายไปยังที่อื่นๆ อย่างรวดเร็ว ตามลักษณะชีวิตหาเช้ากินค่ำ มีการจับจ่ายใช้สอย ให้เงินลูกไปโรงเรียน แต่ปัญหาก็คือ เงินในวงจรของรายย่อยมีจำนวนน้อย เพราะรายย่อยเองต่างก็ไปจับจ่ายที่ร้านรวงของรายใหญ่แทบทั้งสิ้น ชนชั้นกลางอีกจำนวนมากก็เช่นกัน

ดังนั้น ถ้าชนชั้นกลาง คนที่มีรายได้หรือคนมีกำลังพอประมาณในการใช้จ่าย เห็นด้วยกับแนวคิด ‘เลือกปฏิเสธรายใหญ่ หันมาอุดหนุนรายย่อย’ เป็นจำนวนมาก ผมคิดว่าเราสามารถสร้างอำนาจต่อรองของรายย่อยได้ครับ

เปลี่ยนพฤติกรรม เรียนรู้ ลงมือทำ และสร้างประสบการณ์ของตัวเองก่อน บางทีเราอาจไม่ต้องเคร่งเครียดมากนักว่า ทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ของรัฐบาล จะสามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจด้วยนโยบายประชานิยม ที่พยายามเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นประชารัฐ แต่ยังคงใช้วิธีการหว่านเงินลงไปในระบบ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในตลาด

เพราะไม่ว่าเงินจำนวนเท่าไหร่ก็ตามถูกหว่านลงมา แต่รายย่อยอย่างเรายังคงไปจับจ่ายไปที่กระเป๋าของรายใหญ่ เราก็คงไร้อำนาจในการต่อรองอยู่ดี

*****

อ้างอิง
http://www.isranews.org/thaireform-news-economics/item/35965-oxfam.html

ดวงมณี เลาวกุล “การกระจุกตัวของความมั่งคั่งในสังคมไทย”ในโครงการวิจัย สู่สังคมไทยเสมอหน้า การศึกษาโครงสร้างความมั่งคั่งและโครงสร้างอำนาจเพื่อการปฏิรูป สนับสนุนโดย สกว. สกอ. และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในชุดทุนศาสตราจารย์วิจัยดีเด่น ศ. ดร ผาสุก พงษ์ไพจิตร เป็นหัวหน้าโครงการ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ