เราเคยรักกันจริงๆ หรือ?

เราเคยรักกันจริงๆ หรือ?

maxresdefault

คอลัมน์: คิดริมทาง       เรื่อง: ปกรณ์ อารีกุล

ยุคสมัยแห่งการประชาสัมพันธ์ต่างๆ ให้คนไทยกลับไปรักกันเหมือนเดิม ผมว่ามันคุ้นๆ ราวฉากในภาพยนตร์สักเรื่อง ที่ตัวเอกกำลังตัดพ้อกับคนรักของเขาว่า “กลับมารักกันเหมือนเดิมไม่ได้หรือ” ก่อนที่อีกฝ่ายจะตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงเรียบเฉยว่า “บางที เราอาจไม่เคยรักกันมาก่อนเลยก็ได้นะ ที่ผ่านมาอาจคิดกันไปเองว่ารักกัน”

ครับ บางทีไอ้ความรักที่เรารู้สึกว่ามันเป็นด้านบวกของมวลมนุษยชาติ มันก็จัดหนักๆ พาเราดำดิ่งลงไปหุบเหวของตัวเลขติดลบได้อย่างไม่ยากเย็น เพราะไอ้ที่พูดว่ารักๆ กันมาตลอดนั้น อาจเป็นเราที่รักเขาอยู่ฝ่ายเดียว

ข้อมูลจาก Wikipedia บอกว่า ความรักคือความรู้สึก สภาพ และเจตคติต่าง ๆ ซึ่งมีตั้งแต่ความชอบระหว่างบุคคล เช่น เรารักแฟนของเรา ไปถึงความพึงพอใจที่เรามีต่อวัตถุหรือสถานที่ เช่น เรารักบ้านที่เราอยู่มาตั้งแต่เกิด  ทั้งนี้มันหมายถึงอารมณ์การดึงดูดและความผูกพัน (attachment) ส่วนบุคคลอย่างแรงกล้า

ขีดเส้นใต้ว่า ความรักเป็นเรื่องอารมณ์การดึงดูดและความผูกพันส่วนบุคคลอย่างแรงกล้า เพื่อเน้นย้ำว่าความรักนั้นมันเป็นเรื่องบังคับกันไม่ได้ เช่น ผมเกิดและเติบโตที่นครศรีธรรมราช ผมย่อมถูกดึงดูดให้มีความผูกพันกับเมืองนครฯ รักเมืองนครฯ มากกว่าเมืองกรุง อย่างที่ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่มีทางบังคับให้ผมแปรเปลี่ยนใจ รักกรุงเทพฯ มากกว่าเมืองนครฯ ได้แน่นอน

ตรงกันข้าม ในเชิงประวัติศาสตร์หากย้อนเวลากลับไป ตำบลบ้านเกิดของผมก็เหมือนกับหัวเมืองต่างๆ ในแทบทุกภาคของรัฐไทยในปัจจุบัน ที่มีฐานะเป็นเมืองขึ้น เมืองประเทศราช ต่างรบพุ่งสลับกับส่งเครื่องบรรณาการสวามิภักดิ์ต่อสยามมาตั้งแต่สมัยอยุธยา

อย่างไรก็ตาม คำว่า ‘รัก’ สามารถมีความหมายที่เกี่ยวข้องกันแต่แตกต่างกันชัดเจนจำนวนมากขึ้นอยู่กับบริบท การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม แน่ล่ะ เมื่อผมต้องไปโรงเรียน และโรงเรียนสอนให้ผมเข้าใจว่าผมเป็นคนไทย

12 ปีที่อยู่ในการศึกษาภาคบังคับ แต่เล็กจนโตนั้นมากพอที่จะทำให้ผมใจเต้นทุกครั้งเวลาที่นั่งดูนักฟุตบอลทีมชาติไทยลงเตะในฟุตบอลรายการต่างๆ เมื่อถึงห้วงยามนั้น ผมคิดว่านั่นกระมังที่เราเรียกว่า ‘ความรู้สึกรักชาติ’

แต่ก็อีกนั่นแหละ ในเมื่อความรักเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับบริบท หลายครั้งที่ผมเห็นว่าผู้มีอำนาจใช้ชาติ หรืออย่างน้อยก็ความมั่นคงของชาติในการประหัตประหารประชาชนคนมือเปล่า ไม่ว่าจะเป็นคราบเลือดเมื่อ 6 ตุลา 19 คราบน้ำตาที่ตากใบ เมื่อปี 2547 หรือริ้วรอยความเศร้าโศกครั้งล่าสุดในเดือนพฤษภาคม ปี 2553

ครานั้นกระมัง ที่ผมเองตั้งคำถามถึงความรักชาติว่า มันมีความหมายอย่างไร และมันยังเป็นสิ่งสวยงามอยู่หรือไม่ หากชาติไม่ได้นับรวมเอาประชาชนเข้าไปอาศัยอยู่ได้ด้วย

เอาเข้าจริง เราลองถามตัวเองกันอย่างจริงจังสิว่า ความรักความสามัคคีของคนในชาตินั้น ในอดีตที่ผ่านมามีหน้าตาเป็นอย่างไร

สำหรับผมเองแล้ว นอกจากเวลาฟุตบอลทีมชาติไทยลงเตะ กับ สมรักษ์ คำสิงห์ ขึ้นชกในเวทีโอลิมปิก ผมแทบจินตนาการบรรยากาศของการที่คนไทย สมัครสมานสามัคคี รักใคร่กลมเกลียว แทบไม่ออก

ผมว่าในแทบทุกครั้งที่เราหยิบยกคำว่า ‘รักชาติ’ หรือ ‘เรารักกัน’ ขึ้นมาในสังคมพหุวัฒนธรรมของประเทศนี้ บริบทที่แตกต่างกันจะทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่ได้รู้สึกถึงสิ่งนั้นได้ลึกซึ้งเท่ากัน

ยกตัวอย่างเวลาที่เห็นป้าย Strong Together Bangkok หรือ Strong Together Thailand ถูกติดอยู่ที่ข้างถนนใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ผมคิดว่าคน 3 จังหวัดก็ไม่ได้รู้สึกคล้อยตามไปกับการรณรงค์นั้น ตรงข้าม มันกลายเป็นการโฆษณาที่สวนทางกับความเป็นจริงเพราะในพื้นที่ 3 จังหวัดยังคงมีการฆ่ากันอยู่รายวัน

ในเวลาที่ป้ายรณรงค์ปรองดอง สมานฉันท์ คืนความสุข ถูกปักอยู่ใกล้หมู่บ้านที่กำลังถูกเวนคืนที่ดินด้วยนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ ผมคิดว่าชาวบ้านในบริเวณนั้นคงไม่ได้มีความสุขเหมือนที่คนอื่นๆ อาจกำลังรู้สึก

ในทางปรัชญา อธิบายว่าความรักเป็นคุณธรรมแสดงออกซึ่งความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจ และความเสน่หาทั้งหมดของมนุษย์ ในหนังสือ ปรัชญาความรัก จากเรื่อง Symposium ของเพลโต มีการวิวาทะกันเรื่องความรัก ซึ่ง โซเครติส กล่าวว่า ความรักอยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 อย่าง เช่น ระหว่างความโง่เขลาและความฉลาด ความรักไม่ใช่เทพเจ้า เพราะเทพเจ้าท่านสมบูรณ์ดีแล้วทั้งความสุขและความสวยงาม แต่ความรักเป็นความขาดหรือความพร่อง จึงต้องแสวงหาสิ่งที่ขาดที่พร่องนั้น

ถ้าคนไทยใช้ความรักชาติ ในแง่ของความรักที่เป็นคุณธรรมแสดงออกซึ่งความเมตตา ความเห็นอกเห็นใจกัน พร้อมๆ กับทำความเข้าใจในสิ่งที่โซเครติสบอกว่าความรักไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์ แต่เป็นความขาดหายและบกพร่อง ต้องการเติมเต็ม เราอาจรักชาติกันได้แท้จริงมากขึ้น

เพราะการรักชาติแบบไร้ความเมตตาต่อเพื่อนร่วมชาติบางคนซึ่งเห็นต่างจากเรา ย่อมไม่ใช่ความรักที่แท้จริง เพราะเราแค่โอบกอดสถาปนาความรักชาติเอาไว้แต่ฝ่ายเดียว และกีดกันคนอื่นออกจากความรักที่เรายึดถืออยู่ จนสุดท้ายเมื่อเขาไม่ได้แสดงออกซึ่งความรักชาติแบบเดียวกับที่เราต้องการ เราก็พร้อมลงมือฆ่าเขา

การฆ่าคนภายใต้คำอธิบายเพื่อชาติหรือรักชาติ คงไม่สามารถทำให้เกิดความปราถนาดีต่อชาติได้อย่างแท้จริง

ผมชอบนิยามความรักที่เขียนอยู่ในคำพิพากษาศาลฎีกา ของคดีฆาตกรรมอดีตคนรักนักเรียนหมอคนหนึ่งซึ่งเคยเป็นข่าวคึกโครมในอดีต ศาลท่านนิยามไว้ว่า “ความรักเป็นสิ่งที่เกิดจากใจ ไม่อาจบังคับกันได้ ความรักที่แท้จริง คือ ความปรารถนาดีต่อคนที่ตนรัก ความยินดีที่คนที่ตนรักมีความสุข การให้อภัยเมื่อคนที่ตนรักทำผิด และการเสียสละความสุขของตนเพื่อความสุขของคนที่ตนรัก จำเลยปรารถนาจะยึดครองผู้ตายเพื่อความสุขของจำเลยเอง เมื่อไม่สมหวัง จำเลยก็ฆ่าผู้ตาย เป็นความผิด และการกระทำที่เห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้ของจำเลยโดยฝ่ายเดียว มิได้คำนึงถึงจิตใจและความรู้สึกของผู้ตาย หาใช่ความรักไม่

สุดท้าย ผมคิดว่าเราอาจไม่ต้องรักกันมากก็ได้ เพราะเราไม่ได้เคยรักกันมาก่อน เพียงแค่เราอยู่ร่วมกันอย่างไม่เกลียดกัน มีเมตตาธรรมต่อกัน คุณจะใช้หลักศาสนา ปรัชญาหรืออะไรก็ได้ ขอแค่อย่าได้ใช้ความรักของตนเองไปสนับสนุนการใช้ความรุนแรงต่อคนอื่นก็พอแล้วครับ

อ้างอิง

ความรักคืออะไรhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%81

Symposium หนังสือในชุด ปรัชญาของ เพลโต
เขียนโดย เบนจามิน โจเวตต์ (Benjamin Jowett)
แปลโดย ดร.พินิจ รัตนกุล

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๐๘๓/๒๕๔๖https://th.wikisource.org/wiki/%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%9E%E0%B8%B4%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%A9%E0%B8%B2%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%8E%E0%B8%B5%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88_%E0%B9%96%E0%B9%90%E0%B9%98%E0%B9%93/%E0%B9%92%E0%B9%95%E0%B9%94%E0%B9%96

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ