ตอบความคิด เรื่องนักสิ่งแวดล้อมไม่สนับสนุนประชาธิปไตย

ตอบความคิด เรื่องนักสิ่งแวดล้อมไม่สนับสนุนประชาธิปไตย

IMG_6342

เรื่อง: ศศิน เฉลิมลาภ  ภาพ: นิตยสาร WAY (อนุช ยนตมุติ)

โดยไม่รู้จักกันเป็นการส่วนตัว เมื่อถูกขอให้เขียนเรื่องรับเชิญลงใน  AfterShake จากน้องบรรณาธิการหนุ่ม และผมก็แทบไม่ทราบว่าเขาและคอลัมน์นี้สนใจเรื่องอะไรเป็นพิเศษ

ผมถามเขากลับไปว่า “อยากอ่านเรื่องอะไร?” ซึ่งไม่ใช่ความหมายเดียวกันนักกับ “อยากให้เขียนเรื่องอะไร?”

คำตอบที่ได้กลับมาเป็นเรื่องหนักใจ หนักจริงถ้าจะเขียน เพราะความอยากอ่านของเขาคือเรื่อง

ทำไมนักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมถึงไม่สนับสนุนประชาธิปไตย?

ถ้าให้เขียนตอบกันตามอารมณ์คงไม่ยาก แต่เมื่อน้องเขาให้เกียรติและอยากอ่านจากผม ซึ่งเดาเอาเองว่าเขาคงเห็นว่าผมเป็น ‘นักเคลื่อนไหว’ เรื่องสิ่งแวดล้อมที่มีคนรู้จักอยู่

เขาให้เกียรติเขียน ก็เข้าใจว่าคงอยากอ่าน และไม่ได้ต้องการให้ไปเป็นประเด็นถกเถียงอะไรกับฝ่ายไหน

เดาว่าคงเป็นคำถามจากภายในน้องเขาจริงๆ ผมซึ่งปฏิเสธภาพความเป็นนักเคลื่อนไหวดังกล่าวไม่ออก ก็ยินดีเขียน

โดยสติปัญญาของผมไม่สามารถไปวิเคราะห์ ขบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งขบวน ว่าจริงๆ แล้วพวกเขาสนับสนุนหรือไม่สนับสนุน ประชาธิปไตย และจริงๆ แล้วขบวนเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมในยุคสมัยปัจจุบันก็แทบไม่มีการทำงานเครือข่ายกันเป็นเรื่องเป็นราว

แต่ยังพอมีองค์กรแต่ละองค์กรที่ต่างเคลื่อนไหวในประเด็นที่ตัวเองสนใจ ไม่ต้องนับว่าองค์กรทางสิ่งแวดล้อมจริงๆ ก็แทบไม่มีคนสังกัดในองค์กรขนาดเป็นสำนักงาน หรือมีโครงสร้างการทำงานอะไรใหญ่โต แต่ละองค์กรที่ยัง เคลื่อนไหว ก็มีบุคลากรประจำเพียงไม่กี่คน

แค่ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมยังเห็นไม่ตรงกันตั้งหลายเรื่อง ดังนั้น นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมต้องมาคิดเหมือนกัน ย่อมไม่จำเป็น และไม่มีการเซตขบวนการเรื่องนี้ขึ้นมาเลย เราล้วนทำงานเป็นปัจเจกกันมาโดยตลอด

เรื่องที่จะเขียนคงได้แค่เพียงเล่าจาก ภายใน ของผมเองคนเดียว ส่วนจะไปตรงกับนักเคลื่อนไหวเรื่องสิ่งแวดล้อมคนอื่นหรือไม่ต้องรบกวน คนอยากอ่าน ไปวิเคราะห์เอาเอง

จริงๆ แล้ว การไม่สนับสนุนประชาธิปไตย และการสนับสนุนด้านตรงข้ามอย่างคำว่า เผด็จการ เป็นคนละเรื่องกัน และแน่นอนว่า การสนับสนุน รัฐประหารสองครั้ง (49, 57) ที่ผ่านมา ก็เป็นอีกประเด็นที่คนละความหมายกัน หากจะมองจากความรู้สึกของสังคมในภาพรวม

ถ้านับความรู้สึกของผู้คนที่ไม่ได้เคลื่อนไหวทางการเมือง ผมเดาเอาว่า สังคมไทยส่วนหนึ่งแล้วไม่ได้ อิน กับอุดมการณ์ประชาธิปไตยมากมายนะครับ เพียงแต่เป็นการปกครองที่ออกแบบมาแล้วปรับใช้ในบริบทของสังคมปัจจุบัน และส่วนใหญ่ก็รับได้ ไม่ได้อึดอัดแน่นหน้าอกอะไรนักหนา แต่ขณะเดียวกัน โครงการอย่าง 30 บาท รักษาทุกโรค และกองทุนหมู่บ้าน ก็เป็นประชาธิปไตยที่จับต้องได้ครั้งแรกๆ ของพี่น้องในภูมิภาค

แต่ถามจริงๆ ว่ามันได้ดังใจตามคำสั่งสอนว่าประชาธิปไตยคือการปกครองที่ดีที่สุดหรือไม่ นี่มันคนละเรื่องกันนะครับ ระหว่างความเชื่อเรื่องประชาธิปไตย และผลของประชาธิปไตยที่ผ่านมา หากนับการเมืองที่ปกครองโดยคุณภาพของนักการเมืองรุ่นก่อนๆ

แม้ว่าจริงๆ แล้วก็ไม่ได้ผลประโยชน์ หรือ พออกพอใจอะไรกับระบบผู้แทนทั้งบุคคลและพรรคการเมือง ว่าจะทำอะไรให้แก่พวกเขาได้จริงๆ จังๆ แต่เป็นระบบที่ทำให้แต่ละคนมีชีวิตอยู่ประจำวันอย่างสบายใจกว่าแบบอื่น นานๆ ก็จะมีอะไรที่จับต้องได้ออกมาสักที จริงๆ แล้วที่ผ่านมาผมก็นึกความแตกต่างของยุคสมัยที่พรรคการเมืองต่างๆ ผลัดเวียนมาปกครอง ผมว่าแต่ละยุคแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ

ชนชั้นกลางทั่วไปในเมืองส่วนใหญ่ อาจใช้ความรู้สึกว่า หน้าตา ท่าทาง และบุคลิก ของพรรคประชาธิปัตย์ ตรงจริตกับตัวเอง ก็เชื่อว่า เขาคงอยู่ฝ่ายไม่โกงเท่าไหร่ แม้รู้อยู่เต็มอกว่า ไม่จริง

คนชนบทส่วนใหญ่อยู่กับความหวังที่มีคนคอยมามอบให้ และโดยใช้บุคลิกอีกแบบทำการตลาด และเมื่อพรรคการเมืองแบบนี้ที่ผสมผสานความเป็นสมัยใหม่เข้าไปด้วย ก็ได้ใจคนในเมืองอีกกลุ่มหนึ่ง และดูว่าจะชนะในเกมประชาธิปไตย แน่นอนว่าไม่ใช่ใคร คือพรรคของคุณทักษิณ

การเลือกตั้งแต่ละครั้งก็เพียงแค่ได้ลุ้นความเชื่อ ได้ตื่นเต้นสะใจ สมหวัง ผิดหวัง แต่ในความหมายที่ไม่ได้ต่างจากการเชียร์ประกวดร้องเพลง หรือเชียร์บอล นั่นคือมันไม่ใช่ความหวังใหญ่โตอะไร
ที่ว่ามาคนละความหมายกับการต่อสู้เพื่อให้ได้ประชาธิปไตย หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อแปดสิบกว่าปีที่แล้ว การเปลี่ยนแปลงหลัง 14 ตุลาคม 2516 และหลังเหตุการณ์ พฤษภาปี 2535

และคุณค่าความหมายตลอดจนการเลือกข้างของบุคคลที่เคยอยู่ฝ่ายเดียวกันมาทั้ง 3 เหตุการณ์ก็แตกต่างกันอย่างมากมายในเหตุการณ์ประชาธิปไตยปัจจุบัน

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสังคมไทยจะเคย หรือเปลี่ยนเป็นเพรียกหาเผด็จการ ไม่เคย ผมยืนยันว่าไม่มี และไม่เคย

แต่การรัฐประหารที่ขัดหลักประชาธิปไตยโดยทหารเท่าที่ผมเห็น ก็มีเหตุผลต่างๆ กัน แต่ละครั้งก็มีเหตุมีผล พอสมควรทั้งสิ้น หากนับแต่การล้มรัฐบาลชาติชาย หรือ ล้มทักษิณ และล้มยิ่งลักษณ์ โดยแต่ละเหตุการณ์ผมว่า ล้มยิ่งลักษณ์มีน้ำหนักมากที่สุด หากนับเรื่องบ้านเมืองที่เกิดภาวะแบบนั้น ล้มทักษิณยังไม่มากเท่า แต่นั่นก็ยังมากกว่าล้มชาติชาย และผมก็จะไม่รู้สึกแปลกใจ หากรัฐบาลอภิสิทธิ์จะโดนล้มแบบนี้ เมื่อเทียบเรื่องราวที่เข้มข้นไม่ต่างกัน

ส่วนจะว่าใครเป็นพวกใครก็ว่ากันไป แต่สังคมไทยไม่ได้โหยหาเผด็จการหรือการรัฐประหารอย่างแน่นอน

รวมถึงคนที่ทำงานเคลื่อนไหวด้านไหนผมก็ไม่เคยเห็นใครเพรียกหาเผด็จการ แต่อาการโล่งใจเมื่อมีการรัฐประหารตามเหตุการณ์ดังกล่าว ถ้าไม่สุดโต่งกันเกินไปนัก คงต้องยอมรับกันว่าหลายๆ เรื่องดีกว่าปล่อยให้เหตุการณ์บานปลายออกไป

ตอนม็อบพันธมิตรเวอร์ชั่น 2 ม็อบนปช. จนถึงม็อบ กปปส. จริงๆ ก็มีฝ่ายเรียกทหาร และฝ่ายอยากปฏิวัติโดยประชาชนนัวๆ กัน และบทเรียนขิงแก่ ก็มีส่วนให้ผู้คนไม่ไว้ใจฝีมือบริหารงานของทหารทั้งสิ้น

ม็อบนกหวีดเองก็น่าจะมีทั้งฝ่ายที่เชียร์ทหาร และฝ่ายที่หวังตั้งรัฐโดยแกนนำม็อบ แต่นั่นก็เป็นแนวคิดทางการเมืองของมวลชน ซึ่งเท่าที่ผมรู้จักคนที่เรียกตัวเองเป็นภาค NGO ทางสิ่งแวดล้อม ก็ไม่เห็นใครยอมรับการปฏิวัติ แต่ทั้งนี้ไม่ใช่ว่าคนทำงานวิชาการทางสิ่งแวดล้อม และมวลชนที่สนับสนุนการอนุรักษ์จะเป็นแบบนั้นทั้งหมด ก็หาได้ไม่ การตอบโต้ของอีกฝ่ายก็มีแนวโน้มที่จะพ่วงรวมไปเป็นพวกเดียวกัน นั่นก็ว่ากันไปตามการรับรู้และชักนำของปัญญาชนฝ่ายตัว

ย้อนกลับมาที่ขบวน นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ที่โดนข้อหาไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ถ้าเอาเพียงว่า นักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมไม่ไปต่อสู้ และแสดงออกว่าไม่ชอบรัฐประหาร กระทั่ง มีปัจเจกที่เชียร์ ที่ชอบ ไม่ชอบ แอบๆ อะไรนี่ก็น่าจะรับได้ เพราะเป็นเหตุผลรวมอย่างที่ผมอธิบายมา

แต่ถึงขนาดว่าจะไป เลียตีนทหาร อย่างที่ฝ่าย ประชาธิปไตยปัจจุบัน หลุดออกมาขนาดนั้น คนมีเหตุมีผลก็คงเห็นพ้องกันว่ามันไม่ใช่หรอก หรือแค่ถูกโยนข้อกล่าวหาว่า คุณไปเรียกเขาออกมา หรือ ต้องขอบคุณบางวลีที่อุตสาห์แยกแยะขนาด คุณมีส่วนไปเรียกเขาออกมา และหมายรวมไปถึงว่าเราเป็นพวกเดียวกับขบวน นกหวีด และมีเป้าหมายที่แท้คือเพรียกหาทหาร มันก็ไม่น่าจะใช่ และฝ่ายที่อ้างตัวเองว่าสนับสนุนประชาธิปไตย และมองเห็นใครก็ตามที่ไม่ได้ร่วมขบวนกับฝ่ายตัวเองเป็นฝ่ายไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ที่กำลังขับเคลื่อนขบวนไปในทิศทางเสริมพลังกับฝ่ายหมดอำนาจ นั่นก็ย่อมเป็นเรื่องของเขา และจะบอกกล่าวเพียงใดคงไม่เปิดใจเข้าใจกัน

ที่สำคัญคือ ใครที่หมายรวมอะไรแบบนั้นมันมีขบวนการที่จัดการสร้างเครื่องมือการต่อสู้ แบ่งฝ่าย การสร้างพลังออกมา เพื่อหล่อเลี้ยงขบวนการเคลื่อนไหวของตน และก็ว่าตามๆ กัน

ซึ่งไม่ปฏิเสธว่าอีกฝ่ายก็ทำเช่นนั้นมาเหมือนกัน เป็นธรรมดา

ผมว่าผมก็คิดแบบนี้มาตลอด และทำงานเหมือนๆ กันมาในทุกๆ ฝ่ายที่ขึ้นมา

แต่หากถามโดยพื้นฐาน ผมเป็นคนไม่ชอบตัวตนของคุณทักษิณ ชินวัตร แต่ชื่นชมวิธีการบริหารงานบางเรื่องของเขา ขณะเดียวกันผมชอบความรู้ ความคิดแบบอภิสิทธิ์ แต่ไม่ศรัทธากับวิธีการบริหารของเขา นี่เป็นเรื่องที่ผม เปิดเผย และก็ชัดว่า ทั้ง 2 คนเป็นปรากฏการณ์พิเศษ แต่ไม่มีความหวังในเชิงระบบ

เพราะสองคนนี้ขาดสิ่งที่เรียกว่า อุดมการณ์  ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในทุกๆ ระบอบการปกครอง และโคตรเห็นแก่ตัวเมื่อเทียบกับความเสียสละในแบบผู้นำตามอุดมคติ

และนี่คงไม่ใช่ผมคนเดียวที่คิดอย่างนี้

และคำถามที่ว่าทำไม นักเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อม ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ในความหมายของการต่อต้านรัฐบาลประยุทธ์ หรือ ออกมาประกาศตัวปกป้องรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เรื่องนี้ยิ่งไม่น่าจะเป็นเนื้อหาสาระ และการที่ไม่ออกมาสนับสนุนประชาธิปไตยในความหมายที่เคลื่อนไหวลำบาก ศศินเคยเดินประท้วงสมัยยิ่งลักษณ์แต่ไม่กล้ากับทหาร อันนี้ยิ่งไม่เห็นเหตุเป็นผล และผมก็คิดว่าพวกคิดแบบนี้ จงใจที่จะมองข้ามความเคลื่อนไหวที่ผม นั่งประท้วงสามวันสองคืน หน้าสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม ภายใต้กฎอัยการศึกของประยุทธ์ จนเกินไป

และยิ่งไม่ใช่หากจะโยนข้อหาว่าการเดินแม่วงก์เป็นหนึ่งในขบวนล้มยิ่งลักษณ์ ผมก็ยังยืนยันว่าผมประท้วง EHIA แม่วงก์ตามยุทธศาสตร์ของเราที่ต้องหยุดให้ได้ และก็ทำต่อเนื่องมา คนที่คิดอย่างที่ว่าอาจไม่ได้ตามข่าวว่าขบวนของเราก็เคลื่อนไหวเรื่องเขื่อนมาอย่างต่อเนื่อง อะไรที่ไม่เป็นข่าวไม่ได้หมายความว่าเราไม่ได้เคลื่อนไหว

แต่ขบวนการสนับสนุนส่วนใหญ่ ที่อาจจะไปร่วมกับม็อบนกหวีด หรือไม่ นั่นไม่น่าจะเกี่ยวกับนักเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อม ที่ทำงานกับขบวนการที่เป็นองค์กร นักวิชาการอิสระที่ทำงานสิ่งแวดล้อม และประชาชนที่สนับสนุนการเคลื่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมที่จะตัดสินใจร่วมเคลื่อนไหวล้มรัฐบาลเลือกตั้งอันนั้นก็เป็นอีกเรื่อง

และก็เป็นคนละเรื่องกับเรียกทหารออกมา และไม่สนับสนุนประชาธิปไตย

แม้ว่าจะมีคนอยากให้เป็นเรื่องเดียวกัน หรือ อ้างตามทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ใดๆว่าเกี่ยวเนื่องกัน

แต่เมื่อมีความต่างระหว่างผลของการรัฐประหารที่แก้ไขปัญหามันถูกการปกครองที่สืบทอดอำนาจการปกครองเผด็จการ อันนี้ค่อยมาดูกัน ส่วนตอนนี้การเคลื่อนไหวของปัจเจกที่ท้วงติงแตะประยุทธ์ในเรื่องเผด็จการเรื่องที่ท่านเห็นก็ย่อมเป็นสิทธิของบุคคล และกล้าหาญที่จะเสี่ยงรับผลนั้น

เหตุผลที่ว่ายุคนี้เคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่เหมือนตอนเป็นประชาธิปไตย จริงๆ แล้วไม่ใช่ปัญหาของผม ผมยืนยันว่าผมยังเคลื่อนไหว และเห็นแย้งกับนโยบายทำลายสิ่งแวดล้อมตลอดมาไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล เพียงแต่อยากรู้สึกว่าพวกที่ว่าผมไม่มีใครรู้จักผมไปมากกว่าคนเดินแม่วงก์ คนออกมาพูดเรื่องน้ำท่วมที่ดูไม่เชื่อคุณยิ่งลักษณ์เมื่อปี 54 และไม่มีข่าวอะไรตอนรัฐบาลทหาร ผมว่าเรื่องนี้คนที่ติดตามข่าวสารย่อมรู้ว่า ผมทำงานอยู่ตลอดทั้งก่อนและหลังเรื่องราวต่างๆที่ว่ามา

ส่วนบางเรื่องที่ว่ากันไปว่าทีเรื่องนี้ค้านสมัยรัฐบาลเก่าตอนนี้ไม่กล้า หรือไม่กล้ากับเรื่องของประชาธิปัตย์ หรือ ทหาร ผมว่าคนที่รู้เรื่องในการเคลื่อนไหว จริงๆ เขาไม่พูดกันเพราะเขารู้ว่ามันคนละเรื่องกัน

เริ่มเรื่องไว้แค่นี้ ในฐานะที่ยังไม่เคยรู้จักหรือคุยกันส่วนตัว หากน้องบรรณาธิการยังอยากอ่านอยู่ ก็ได้แค่บอกว่า ว่างๆ มาคุยกันต่อ พี่เลี้ยงเองมื้อนั้น ถ้ามีโอกาสนะน้อง

ด้วยสติปัญญาอันตื้นเขิน ไม่ได้อ่านทฤษฎีแบบนักคิดสายแข็ง ผมก็ยังยืนยันตัวเองที่อยู่จำพวก ขวาไม่ได้ ซ้ายไม่พอ ส่วนจะสนับสนุนประชาธิปไตยหรือไม่ ผมก็ยืนยันว่าผมสนับสนุนประชาธิปไตย และเคยได้ยินมาแต่ว่าศัตรูของประชาธิปไตย คือ นายทุน ขุนศึก ศักดินา เรียงมาแบบนี้ ขณะที่คนมีประสบการณ์ และเครือข่ายอย่างผมก็ย่อมมองออกว่า ขบวนการฝ่ายอ้างประชาธิปไตยปัจจุบัน ฝักใฝ่และสวามิภักดิ์ทุน และมีอุดมการณ์แฝงที่ไม่ปิดไม่มิดในเรื่องอันใด ใน 3 ศัตรูที่ผมว่ามา

และในส่วนตัวแล้ว ผมไม่มีสติปัญญาพอที่จะแยกแยะทุนนิยมเสรี กับเสรีนิยมประชาธิปไตยออกจากกันได้ ในบริบทของขบวนการต่อสู้ของขบวนฝ่ายที่อ้างตัวว่าเป็นพวกสนับสนุนประชาธิปไตย และมั่นใจว่าหนทางนำของปัญญาชน และนักการเมืองที่เพรียกหาการเลือกตั้งที่เห็นอยู่ไม่ได้มุ่งนำหนทางไปสู่การสร้างสังคมที่ดีกว่า ตามที่เชื่อมาแต่เก่าก่อนในแนวทางอุดมคติแบบที่ผมเชื่อ

จบแค่นี้ดีกว่าครับ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ