สถานะที่แท้จริงของการปฏิรูป

สถานะที่แท้จริงของการปฏิรูป

11705212_1622576724668064_1782954728456681109_n

คอลัมน์: รับเชิญ     เรื่อง: วาด รวี

“ก่อนที่จะประกาศกฎอัยการศึก พลเอกประยุทธ์บอกกับผมว่า ‘คุณสุเทพกับมวลมหาประชาชนเหนื่อยมาพอแล้ว ตอนนี้เป็นหน้าที่ของกองทัพที่จะรับงานต่อ’”

สุเทพ เทือกสุบรรณ,

กล่าวในงานเลี้ยงอาหารค่ำเพื่อการระดมทุนที่ แปซิฟิค คลับ จากการรายงานของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ วันที่ 23 มิถุนายน 2014

การปฏิรูปประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของคณะทหารที่ยึดอำนาจอยู่ในขณะนี้ คือผลจากการต่อสู้ของกลุ่มการเมือง 2 ขั้ว ตั้งแต่ราวปี 2548 คือ กลุ่มที่ต่อต้าน และกลุ่มที่สนับสนุน ทักษิณ ชินวัตร โดยกลุ่มการเมืองทั้ง 2 ฝ่าย มีฐานที่มาของอำนาจทางการเมืองแตกต่างกัน

ฐานอำนาจของกลุ่มต่อต้านทักษิณส่วนใหญ่เป็นฐานอำนาจโดยจารีตประเพณี กล่าวคือ เป็นกลุ่มบุคคลที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับกันในวงสังคมของชนชั้นนำ อันเนื่องจากสถานะทางสังคมและตำแหน่งยศฐา เช่น ผู้พิพากษา นายทหารระดับสูง ข้าราชการระดับสูง แพทย์ บุคคลในตระกูลที่เคยมีฐานันดรหรืออำนาจบารมี เป็นต้น

ส่วนฐานอำนาจฝ่ายสนับสนุนทักษิณ คือเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย

เพราะระบอบประชาธิปไตยกำหนดให้ฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต้องมาจากประชาชน ขั้วทักษิณซึ่งมีฐานอำนาจจากคนส่วนใหญ่จึงเป็นฝ่ายได้อำนาจรัฐในส่วนนี้ การโค่นล้มฝ่ายทักษิณจึงต้องกระทำด้วยการรัฐประหารยึดอำนาจ ครั้งแรกในปี 2549 หลังจากยึดอำนาจได้มีการแต่งตั้งองคมนตรีเป็นหัวหน้ารัฐบาล คือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (ลาออกจากองคมนตรี มารับตำแหน่งนายกฯ พ้นจากตำแหน่งนายกฯ แล้วได้กลับไปเป็นองคมนตรีต่อ)

ในระหว่างครองอำนาจ ฝ่ายต่อต้านทักษิณได้ร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ซึ่งภาพรวมมีลักษณะเพิ่มอำนาจของศาลและองค์กรอิสระ และลดอำนาจของฝ่ายที่มาจากการเลือกตั้ง โดยหนึ่งประเด็นสำคัญคือ การเปลี่ยนที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) จากเดิมที่รัฐธรรมนูญ 2540 กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน เปลี่ยนเป็น มาจากการเลือกตั้ง 77 คน และมาจากการสรรหา 73 คน รวมเป็น 150 คน

นอกจากนี้ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาการเมืองยังได้ตัดสินลงโทษจำคุกทักษิณ ชินวัตร 2 ปี จากคดีที่ดินรัชดา โดยมีคำตัดสินออกมาในสมัยรัฐบาล สมัคร สุนทรเวช ซึ่งเป็นรัฐบาลของฝ่ายสนับสนุนทักษิณ

เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้น กลับเข้าสู่การเลือกตั้ง ฝ่ายทักษิณได้ชัยชนะจากการเลือกตั้ง กลับเข้าสู่อำนาจอีกครั้ง โดยมีสมัคร สุทรเวช เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาล ฝ่ายต่อต้านทักษิณ นำโดยกลุ่ม พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เริ่มเคลื่อนไหวต่อต้านในสมัยรัฐบาลสมัคร และในที่สุด นายสมัครก็พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีทำกับข้าวออกรายการโทรทัศน์

นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้รับเลือกขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน จากเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร กลุ่มพันธมิตรฯ เคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลนายสมชายต่อ โดยเข้ายึดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อกดดันให้นายสมชายลาออก ในที่สุด รัฐบาลสมชายก็สิ้นสุดลงด้วยคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ให้ยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย

หลังคำตัดสินยุบพรรคซึ่งทำลายพรรคการเมืองหลักเกือบทั้งหมดที่สนับสนุนทักษิณ ได้มีการล็อบบี้และกดดันนักการเมือง ดังที่ปรากฏเป็นข่าวทั่วไปในขณะนั้นว่า นายทหารระดับสูงเรียกนักการเมืองเข้าไปพบยังค่ายทหาร เพื่อเจรจาให้ยุติการสนับสนุนตัวแทนจากขั้วทักษิณ และสนับสนุนให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีแทน ซึ่งก็สามารถกดดันได้สำเร็จ โดยพรรคชาติไทยพัฒนา (พรรคชาติไทยเดิม) พรรคภูมิใจไทย (พรรคมัชฌิมาธิปไตยเดิม) และ ส.ส.บางส่วนของพรรคเพื่อไทย (พรรคพลังประชาชนเดิม) นำโดย นายเนวิน ชิดชอบ ได้หันไปสนับสนุนนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ฝ่ายสนับสนุนทักษิณได้ทำการตอบโต้ โดยระดมมวลชนผู้สนับสนุนทักษิณ มี แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เป็นแกนนำในการจัดการชุมนุมกดดันให้อภิสิทธิ์ยุบสภา ครั้งแรกในปี 2552 และครั้งต่อมาในปี 2553

ประเด็นสำคัญที่เป็นจุดกำเนิดให้เกิดความขัดแย้งที่กินลึกลงไป และเป็นชนวนของเหตุการณ์ขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในปี 2556-2557 ของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ก็เกิดขึ้นในปี 2553 นี้เอง โดยเหตุการณ์ที่เป็นแกนของเหตุการณ์ทั้งหมดคือ การสลายการชุมนุมที่ถนนราชดำเนินในวันที่ 10 เมษายน และการสลายการชุมนุมที่สี่แยกราชประสงค์ในเดือนพฤษภาคม

เหตุการณ์รุนแรงในปี 2553 นี้ มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้ง ประชาชน ทหาร และผู้สื่อข่าว แม้ว่าดูเหมือนฝ่ายต่อต้านทักษิณเป็นฝ่ายได้ชัยชนะ หลังจากล้อมปราบฝ่ายสนับสนุนทักษิณได้สำเร็จที่สี่แยกราชประสงค์ แต่เพียงไม่กี่เดือนต่อมา คนเสื้อแดงซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของฝ่ายสนับสนุนทักษิณก็มารวมตัวกันใหม่ที่สี่แยกราชประสงค์ การกลับมารวมตัวกันในคราวนี้ไม่ได้มี นปช. เป็นแกนนำอีกต่อไป แต่ส่วนใหญ่ล้วนคือ แดงอิสระ และผู้ที่สนับสนุนระบอบประชาธิปไตย เพราะเหตุการณ์รุนแรงได้ปลุกให้ฝ่ายประชาธิปไตยจำนวนมาก นำโดย นักวิชาการ นักเขียน เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ยุติธรรม คนเหล่านี้แม้ว่าไม่ใช่ผู้สนับสนุนทักษิณ แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจออกมายืนเคียงข้างประชาชนที่เป็นฝ่ายสนับสนุนทักษิณ เพราะไม่อาจยอมได้กับเหตุการณ์ที่ประชาชนเป็นฝ่ายถูกปราบปรามจนเสียชีวิตจำนวนมาก

กระแสโต้กลับข้างต้นนี้เอง ในที่สุดจึงนำไปสู่การยุบสภาโดยนายอภิสิทธิ์ และกลับไปสู่การเลือกตั้งอีกครั้ง และเป็นผลให้พรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย ได้ รัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมากุมอำนาจบริหารและนิติบัญญัติ

อีกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2553 เช่นเดียวกันซึ่งพัวพันและกลายเป็นปัญหาสำคัญในเวลาต่อมากคือ กรณียึดทรัพย์ทักษิณ โดย ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์ทักษิณกว่าสี่หมื่นหกพันล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ก่อนเหตุการณ์ชุมนุมใหญ่ของ นปช.

ทั้งกรณีทักษิณ (จำคุก 2 ปี ที่ดินรัชดา, ยึดทรัพย์) และกรณีสังหารประชาชนในวันที่ 10 เมษายน และเดือนพฤษภาคม ได้กลายเป็นเงื่อนปมขัดแย้งที่ลงลึกจนเกินกว่าจะปรองดองกันได้ ระหว่างฝ่ายต่อต้านและสนับสนุนทักษิณ ทั้งในระดับของชนชั้นนำของทั้งสองฝ่าย และในระดับประชาชนทั้ง 2 ขั้ว

สถานการณ์ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ในช่วงเริ่มต้นนั้นไม่มีการต่อสู้กันอย่างดุเดือดบนท้องถนนเช่นที่ผ่านมา เพราะต่างก็บอบช้ำกันไปทั้ง 2 ฝ่าย ต่างฝ่ายต่างมีคดีความร้ายแรงติดตัว และอารมณ์ของสังคมต้องการให้ยุติความขัดแย้งมากกว่าห้ำหั่นกันต่อไป อย่างไรก็ตาม ความเป็นปฏิปักษ์กันระหว่าง 2 ขั้วยังคงดำรงอยู่ และดูเหมือนจะขยายกว้างไปยิ่งกว่าเดิม

หลังเป็นรัฐบาลไปได้ราว 2 ปีกว่า ชนวนขัดแย้งจึงปะทุขึ้นอีกครั้ง เมื่อพรรคเพื่อไทยเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม เข้าสู่วาระการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ในต้นเดือนสิงหาคม 2556  และในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. ในปลายเดือนเดียวกัน คณะกรรมการวิสามัญได้แก้ให้ ส.ว. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด และเพิ่มจำนวนจาก 150 คนเป็น 200 คน โดยมีรายละเอียดกลับไปคล้ายคลึงกับที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2540

โดยเฉพาะแก้ไขยกเลิกข้อห้าม มาตรา 115 (5) ที่ระบุว่าผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภาจะต้อง “ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของผู้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” (รัฐธรรมนูญ 2550 มี รัฐธรรมนูญ 2540 ไม่มีข้อห้ามนี้)

ในกรณี พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เป็นประเด็นหลักของการลุกฮือขึ้นต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์นั้น เสนอเข้าสู่รัฐสภาโดย นายวรชัย เหมะ ส.ส. พรรคเพื่อไทย โดยร่างที่เสนอโดยนายวรชัยนี้ เป็นที่ชัดเจนว่าไม่มีกรณีของทักษิณ ชินวัตรมาเกี่ยวข้อง (คดีที่ดินรัชดา, กรณียึดทรัพย์) แต่เป็นร่าง พ.ร.บ. ที่มีเนื้อหามุ่งนิรโทษกรรมให้เก่ประชาชนทั้ง 2 ฝ่ายที่ต่อสู้กันทางการเมืองจนได้รับโทษ
ให้สังเกตว่าในชั้นนี้ แม้มีฝ่ายต่อต้านทักษิณออกมาชุมนุมประท้วงในนามของ กองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท. หรือ องค์การพิทักษ์สยาม เดิม) ก็ยังไม่สามารถสร้างกระแสการต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์ขึ้นมาได้ กระแสต่อต้านรัฐบาลยิ่งลักษณ์เกิดขึ้นและมีผู้ลุกฮือขึ้นเป็นจำนวนมากจริงๆ เกิดขึ้นเมื่อเป็นที่ชัดเจนแล้วว่า มีการแก้ไขหลักการที่เสนอเข้าไปในวาระแรก ให้ พ.ร.บ.นี้ ครอบคลุมไปถึงกรณีของทักษิณ ชินวัตร ด้วย

เรื่องที่น่าตลก และทำลายความชอบธรรมของฝ่ายสนับสนุนทักษิณ ชินวัตร คือ ผู้นำการต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ ‘ลักไก่’ หรือที่เรียกกันว่า ‘สุดซอย’ นี้ คือ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จาก พ.ร.บ.นี้ด้วย ในฐานะผู้ต้องหาคดีสังหารประชาชนในปี 2553 และไม่เพียงแต่ฝ่ายต่อต้านทักษิณ แม้แต่คนเสื้อแดงและฝ่ายประชาธิปไตยซึ่งเป็นแนวร่วมของคนเสื้อแดงหรือฝ่ายสนับสนุนทักษิณ ก็ออกมาต่อต้าน เพราะเป็นการนิรโทษกรรมให้กับคนสังหารประชาชน

กล่าวคือ ทั้งคนที่ (ถูกกล่าวหาว่า) ฆ่า และคน (ที่เป็นฝ่ายเดียวกับผู้) ถูกฆ่า ต่างพร้อมใจกันต่อต้าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และในที่สุด ก็ทำให้ฝ่ายสนับสนุนทักษิณต้องถอน พ.ร.บ.นี้ออกไปในชั้นวุฒิสภา แต่มันก็สายเกินไปแล้ว

หลังจาก คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศยึดอำนาจ และฝ่ายต่อต้านทักษิณได้รับชัยชนะในคราวนี้แล้ว นายสุเทพได้เปิดเผยดังที่ยกขึ้นมาเปิดนำบทความชิ้นนี้ และตามรายงานของ หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ชิ้นเดียวกัน นายสุเทพยังกล่าวด้วยว่า  พล.อ.ประยุทธ์มีส่วนแข็งขันในการวางแผนที่จะโค่นล้ม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงช่วงเวลาก่อนหน้าที่จะนำไปสู่การรัฐประหาร ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมด้วย (สำนวนแปลของผู้จัดการออนไลน์ เผยแพร่เมื่อ 23 มิถุนายน 2557) กล่าวคือ แผนล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์นี้ มีการวางกันมาตั้งแต่ก่อนหน้าที่นายวรชัย เหมะจะเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นเวลาเกือบ 3 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา ถือเป็นหนึ่งในผู้ ‘ได้รับประโยชน์’ จาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับ ‘ลักไก่’ เนื่องจากเป็นผู้บัญชาการทหารคนสำคัญที่ล้อมปราบคนเสื้อแดงในปี 2553

“การใช้กำลังทหารโดยสุจริตเพื่อความมั่นคงของรัฐจากภัยที่มีมาจากภายในและนอกราชอาณาจักร ไม่ต้องรับโทษทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง”

บางส่วนจาก หนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช./491 ลงวันที่ 11 พฤศจิการยน 2558 เรื่อง ขอความร่วมมือแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ถึงนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)

สถานะที่แท้จริงของการปฏิรูปประเทศภายใต้อำนาจของ คสช. ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ใช่การปฏิรูปประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย หากแต่เป็นการพยายามลดอำนาจของฝ่ายเลือกตั้งอีกครั้ง หลังจากที่ทำมาแล้วครั้งหนึ่งในปี 2549 แต่ไม่สำเร็จ โดยครั้งนี้พวกเขาได้รับบทเรียนตลอดเกือบสิบปีของความขัดแย้งที่จะนำมาใช้ควบคุมและจำกัดอำนาจจากการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นฐานอำนาจของฝ่ายทักษิณ หาทางทำให้ฝ่ายทักษิณไม่สามารถกลับมาชนะการเลือกตั้ง หรือแม้ชนะการเลือกตั้งก็จะมีอำนาจที่จำกัดและถูกควบคุมโดยกลไกที่ฝ่ายต่อต้านทักษิณได้วางไว้ ซึ่งต้องเข้มข้นกว่ากลไกที่วางไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 (เช่น ศาลและองค์กรอิสระ)

และสถานะที่แท้ซึ่งอ้างตัวเป็นการปฏิรูปนี้เองที่สะท้อนให้เห็นว่า ไม่มีผู้มีอำนาจในฝ่ายใด ไม่ว่าเป็นฝ่ายต่อต้านทักษิณ หรือฝ่ายสนับสนุนทักษิณ ที่พร้อมรับผิดชอบต่อการกระทำและปฏิบัติการทางการเมืองของตน

ทักษิณ ชินวัตร ต้องการนิรโทษกรรมโดยใช้คดีความของฝ่ายตรงข้ามเป็นเครื่องต่อรอง ฝ่ายต่อต้านทักษิณใช้การยึดอำนาจเพื่อยุติหรือชะลอและแทรกแซงการต้องเข้าสู่คดีความของตัว การพิสูจน์ความผิดของทักษิณนั้น ผิดตั้งแต่แรกเรื่องการเลือกใช้วิธี คือยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญ แทนการพยายามบีบให้รัฐบาลทักษิณแก้รัฐธรรมนูญและยอมถูกตรวจสอบ และผิดซ้ำซ้อนเรื่อยมาด้วยการใช้วิธีการนอกระบบต่าง ๆ และใช้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระบิดเบือนหลักการ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการทำลายประชาธิปไตยมากกว่าทำลายทักษิณ และส่งผลให้ฝ่ายสนับสนุนทักษิณยิ่งรวมตัวกันเหนียวแน่นยิ่งขึ้น มากกว่ายินยอมเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบทางกฎหมายที่ถูกต้องยุติธรรม

แก่นแกนของการปรองดองหรือการปฏิรูปประเทศให้กลับสู่ภาวะสงบสุข ผ่อนคลายความเป็นปฏิปักษ์ระหว่างสองขั้วการเมืองนี้ จึงมีกรณีนิรโทษกรรมเป็นหัวใจ อันประกอบด้วยคำถาม 2 ข้อ ที่ทั้ง 2 ขั้วไม่สามารถตกลงกันได้

คำถามที่หนึ่ง จะเอาอย่างไรกรณีทักษิณ จะนิรโทษกรรมและคืนเงินให้ หรือจะขับไล่ให้อยู่ต่างประเทศถาวรโดยไม่ให้กลับมายุ่งกับการเมืองอีก หรือจะแก้ไขด้วยการดำเนินคดีใหม่ภายใต้กระบวนการที่ยุติธรรม?

สอง… จะเอาอย่างไรกับกรณีสังหารประชาชน จะนิรโทษกรรมให้โดยแลกกับกรณีทักษิณ หรือจะปล่อยให้ทุกอย่างเงียบลงหลังการยึดอำนาจเช่นทุกครั้งในอดีตไม่ว่าเป็น 14 ตุลา 6 ตุลา พฤษภา 35 หรือจะต่อสู้ให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยแท้จริง และยืนยันให้คนผิดต้องได้รับโทษ?

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ