ศิลปะจากสวนครัว

ศิลปะจากสวนครัว

ค่ายศิลปะ ลงพื้นที่สำรวจชุมชน
ค่ายศิลปะ ลงพื้นที่สำรวจชุมชน

 

เรื่อง: สิริกัญญา ชุ่มเย็น                       ภาพ: ห้องสมุดลูกข่าง

‘ห้องสมุดลูกข่าง’ ชื่อของนักกิจกรรมกลุ่มเล็กๆ ที่ปักหลักทำงานกันที่จังหวัดอุตรดิตถ์ เป็นเวลาหลายปีแล้ว เนื่องจากสนิทสนมกับทางกลุ่มพอควร กิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยการได้ทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ นั้น ฉันสังเกตเห็นว่าการจัดกระบวนการโดยใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือ สามารถใช้กับเด็กได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่วัยรุ่นทั่วไปที่มีความสนใจศิลปะด้านต่างๆ จนถึงเด็กปฐมวัย

สิ่งที่น่าตื่นเต้น คือการได้เห็นบทกวีของเด็กๆ ผ่านหน้าเพจของห้องสมุดลูกข่าง จากกิจกรรม ‘ศิลปะจากสวนครัวเพื่อส่งเสริมเด็กและเยาวชนในการบริโภคอาหารปลอดภัย’ ที่ห้องสมุดลูกข่างได้จัดขึ้นภายใต้การทำงานร่วมกับเครือข่ายกินเปลี่ยนโลก (Food4Change)

นี่เป็นตัวอย่างบทกวีสั้นๆ ที่ยังไม่ได้มีการตั้งชื่อ อ่านแล้วก็แอบอมยิ้ม

น้องเหน่ง ป.1

มังกร

ออกไปหากิน ที่ในป่า

เจอแตงโม

แดงเหมือนพริก

แต่พริกมันแหลมกว่า

แตงโมเป็นวงกลม

น้องเอิร์น ป.4

เช้าวันรุ่งขึ้น ถั่วงอก

เจริญเติบโต ขึ้นมาจากดิน

ทุกคนช่วยกันล้างถั่วงอก

และยังมีถั่วงอกอีกมากมาย

ยังคงรอ งอกออกจากดิน

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจอีกหลายอย่างที่ฉันรู้สึกว่า ถ้าวัยเด็กของฉันและใครอีกหลายคนได้ผ่านกิจกรรมสนุกๆ เช่นนี้บ้าง คงเป็นเรื่องดีไม่น้อย ฉันจึงชวนกลุ่มห้องสมุดลูกข่างพูดคุยเกี่ยวกับกิจกรรมดังกล่าว ไม่สั้น ไม่ยาว แต่บอกได้ว่าน่าใคร่ครวญ

กิจกรรมเล่านิทาน
กิจกรรมเล่านิทาน

เพราะอะไรจึงตัดสินใจเลือกทำประเด็นส่งเสริมการบริโภคอาหารปลอดภัยเป็นอันดับแรก

เรารู้จักชุมชนท่าอิฐล่างตอนทำกิจกรรมร่วมกับโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ที่วัดไผ่ล้อมมาระยะหนึ่ง และมองเห็นศักยภาพของผู้นำชุมชน ชาวบ้าน อสม. หลายคน ได้รู้ว่ามีหลายครัวเรือนทำอาหาร และเป็นแหล่งผลิตอาหารที่หลากหลาย ทั้งขนมจีน ถั่วงอก เต้าหู้ หน่อไม้ มีครอบครัวที่ปลูก (สะสม) ผักพื้นบ้าน ปลูกผักอินทรีย์ และมีคนทำอาหารขายในตลาด ขายน้ำพริก ผักต้ม ฯลฯ คือเป็นชุมชนที่อุดมไปด้วยอาหาร

ต่อมาได้รู้จักผู้อำนวยการโรงเรียน ซึ่งก็ชอบทำกิจกรรม ได้ทราบข้อมูลโภชนาการของนักเรียน มีเด็กอ้วนเยอะ ไม่กินผัก ชอบขนมกรุบกรอบ ชอบน้ำตาลหนักๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมของเด็กทั่วไป ประกอบกับโรงเรียนอยากสนับสนุนทักษะด้านศิลปะให้นักเรียน ซึ่งเครื่องมือของห้องสมุดลูกข่างคือการใช้ศิลปะพอดี จึงสรุปว่าจะใช้ศิลปะทำประเด็นอาหาร ให้เด็กๆ รู้จักการกินผักผลไม้ เรียนรู้เรื่องความหลากหลายและความปลอดภัยของแหล่งอาหาร

ผลตอบรับจากการจัดกิจกรรมเป็นอย่างไรบ้าง

ก็ตรงตามที่หวัง เยอะกว่าด้วยซ้ำ โรงเรียนให้ความร่วมมือเต็มที่ พี่ๆ ในชุมชนก็มาอยู่ช่วยดูแลเด็กตลอดค่าย เป็นวิทยากรสอนเด็กทำขนม แม่ครัวในโรงเรียนก็ยกทีมกันมา บางส่วนที่เป็นอสม. มาทำอาหารให้เด็กๆ ในค่าย ก็เหมือนมาเข้าค่ายกับเราด้วย เพราะเขาจะเห็นเราทำกิจกรรม ได้ยินเรื่องที่เราพูด และเราก็แจกเอกสารเขาด้วย เหมือนได้เรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งถือว่าดีเพราะเรายังไม่ได้ทำกระบวนการเชิงลึกกับผู้ใหญ่ แต่จุดที่อยู่ร่วมกันก็เป็นธรรมชาติไป

ส่วนการตอบรับของเด็กๆ จากกิจกรรมอย่างแรกที่เราทำก็คือ วาดนิทานด้วยสีน้ำมันบนเฟรม 11 ภาพ เขียนเนื้อหา แล้วเล่านิทานให้เด็กฟัง เล่าจบก็ให้เด็กๆ วาดผักผลไม้ในชุมชนที่เขารู้จักด้วยกัน ทำแผนที่ชุมชน เด็กๆ ก็สนุกที่ได้เล่น ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ ได้ทำงานศิลปะ กิจกรรมที่เตรียมไปก็สอดคล้องกับความต้องการของเขา หรือต่อให้เป็นกิจกรรมไม่มีสาระ เด็กก็คงสนุก (หัวเราะ)

ฉะนั้นในส่วนของการตอบรับกับในแง่ความร่วมมือจากเด็กๆ ก็น่าพอใจ ส่วนเนื้อหาสาระ เด็กมีความเข้าใจเรื่องต้องกินผักและผักต้องปลอดภัยในภาพกว้างอยู่แล้ว แต่เราได้ให้ข้อมูลที่ลึกลงไป เน้นย้ำหรือกระตุ้นให้เด็กเห็นความสำคัญ ว่าการใส่ใจรายละเอียดเรื่องอาหารการกินเป็นสิ่งที่ต้องไม่ละเลย และทำให้เขาเห็นว่ายังมีอะไรที่ยังไม่รู้อีกเยอะมาก

การสื่อสารผ่านงานศิลปะนี่น่าสนใจ เด็กจะรู้สึกถึงความสวยงาม ความละเอียดอ่อน มีสุนทรียะ ยกตัวอย่าง การที่เด็กฟังนิทานเรื่องของม้าที่กินอาหารปลอดภัยกัน ทำให้เด็กฉุกคิดตาม และนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ แล้วการที่พี่ๆ เป็นคนแต่งนิทานเองวาดรูปเองทำให้เด็กๆ สนใจประวัติพี่ๆ ผู้แต่งกับผู้วาดภาพประกอบขึ้นมาทันที นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้เด็กสนใจเรื่องการทำงานศิลปะในมิติต่างๆ เพิ่มขึ้น

หัวใจของการเรียนรู้ในค่ายศิลปะจากสวนครัว คือเรื่องการสัมผัสอาหารปลอดภัยในชุมชน กับการให้เด็กสร้างงานศิลปะเพื่อสื่อสารให้คนในชุมชนรับรู้ หรือมากกว่านั้นก็คือขยายการรับรู้ไปยังสังคมนอกชุมชน ค่ายนี้มีช่วงที่ยากอยู่บ้าง เช่นตอนเขียนบทกวี เนื่องจากเราเตรียมกระบวนการสำหรับ ป.3 – ป.5 แต่วันจริงมีเด็ก ป.1-ป.2 มาด้วย  หลงๆ มาบ้าง ตามพี่มาบ้าง แม่เขาเห็นกิจกรรมแล้วอยากให้ลูกมาบ้าง เราก็ยินดีต้อนรับ

แต่เนื่องจากกิจกรรมช่วงนี้ซับซ้อนไปสำหรับเด็กเล็ก ภายใต้เวลาที่จำกัดและเรียนคละอายุกันแบบนี้ ช่วงที่ต้องมีการเขียนก็ต้องให้พี่เลี้ยงช่วย ครั้งหนึ่งเราเขียนคำว่า ทุเรียน ให้น้อง ป.1 พอเราเขียน น้องก็จ้องคำนั้นนะ นานมาก แล้วพึมพำว่า นี่คือคำว่าทุเรียนเหรอครับ คือซึ้งมาก เขาชอบการเรียนรู้นะ เขียนคำว่า ชะมวง เขาก็ตื่นเต้น ชี้ให้เพื่อนดูใหญ่เลย ว่าเขียนแบบนี้ คือเด็กๆ กระตือรือร้น ทำให้เรารู้สึกว่าถึงจะผิดแผนไปบ้างเรื่องกลุ่มอายุก็ไม่เป็นไร เพราะ ป.1 ป.2 เขาก็สมควรจะได้เรียนรู้ในเรื่องอาหารปลอดภัยเช่นกัน แม้ว่ายังไม่พร้อมเท่าพี่ๆ แต่ก็เป็นประโยชน์ต่อชีวิตเขาเอง

ค่ายศิลปะ หลังจากพี่หมอสอนล้างผัก
ค่ายศิลปะ หลังจากพี่หมอสอนล้างผัก

ความเข้าใจใหม่ที่เด็กๆ ได้รับ

เราว่าน่าจะเป็นเรื่องของการเชื่อมโยงเนื้อหากับกิจกรรมที่เด็กได้ทำ สิ่งที่เขาไม่ค่อยได้คิดถึงในวิถีชีวิตประจำวัน ซึ่งจะแบ่งกว้างๆ เป็น 3 กิจกรรม

หนึ่ง ช่วงลงพื้นที่ พบว่าเด็กๆ ตื่นตัวและสนใจผักหญ้าในชุมชนมาก จำได้ว่าหลังเล่านิทานหรือเล่นเกมเช้าวันแรกในค่าย ถามอะไรก็ตอบ ผักกาด คะน้า แครอท ฟักทอง แต่พอลงพื้นที่แล้วกลับมาเล่นเกม เขาสนุกกันมากที่ได้รู้จักของใหม่ ผักกะแยง ผักหวาน ผักกูด เพกา ฯลฯ การได้จับ ได้เก็บ ได้ชิมอาหารจากต้นก็มีผลมาก เห็นได้ชัดว่าเขารู้สึกดีกับอาหารพื้นบ้าน

ตอนที่ไปเจอใบชะมวงก็ฮือฮากันมาก พอพี่ผ่องใส เจ้าของบ้านให้ชิมใบชะมวงก็ชอบใหญ่ พี่เขาหักยอดเป็นหอบๆ ให้เอามาฝากเพื่อนกลุ่มอื่นในค่าย เราจะช่วยถือยังไม่ให้ช่วย อยากถือเอง กอดไว้ในอ้อมแขนเชียว อุ้มใบชะมวงยังกะอุ้มตุ๊กตา และนั่นทำให้เรารู้สึกว่าเด็กๆ เริ่มมองต้นไม้ด้วยสายตาใหม่ สังเกต สงสัย ตอนเดินกลับโรงเรียนมีไม้ยืนต้นใบหยักๆ อยู่แถวหน้าโรงเรียนเขาก็ชี้ชวนกันดู หันมาถามเรา เราก็ไม่รู้จัก เลยบอกว่าวันหลังให้ลองแวะถามเจ้าของต้นไม้ดู ใครรู้แล้วช่วยมาบอกพี่ด้วย

อีกกลุ่มได้ไปรู้จักลุงเสนอ ซึ่งหันมาปลูกผักกินเอง เพราะตอนแรกป่วย ร่างกายทรุดโทรม พอเปลี่ยนระบบการกิน สุขภาพก็ดีขึ้น ทำให้อายุยืนยาว ความเข้าใจใหม่ของเด็กก็น่าจะเป็นการได้สัมผัสของจริง ผักจริง ต้นไม้จริง คนจริงๆ มีตัวตน ยืนอยู่ตรงหน้าเขา เด็กได้เห็น ได้ฟังลุงพูดออกมาจากประสบการณ์ตรง มีน้ำเสียง เรื่องราว ความตั้งใจ ความจริงใจ มีปัญหา และการคลี่คลายในเรื่องเล่า มันชัดเจนอยู่ในนั้น ทำให้เด็กเห็นว่าเรื่องอาหารเป็นเรื่องจริงจังในชีวิตคน

สอง คือช่วงที่เราเชิญให้พี่ๆ ป้าๆ ในชุมชนมาสอนเด็กๆ กลัดกระทงและทำขนมครก เด็กไม่เบื่อที่จะเรียนรู้และมีส่วนร่วมเลย ต้องชื่นชมทางโรงเรียน เพราะเขาทำพื้นฐานเรื่องการเปิดรับและความกระตือรือร้นไว้ดีมาก เราไม่เห็นใครอ้อยอิ่ง เฉยเมย ส่วนใหญ่จะต่อแถวกันหยอดขนมครก ล้อมวงกลัดกระทงใบตองสำหรับเป็นภาชนะ ถึงน้องเล็กๆ จะกลัดไม่เป็น แต่เขาก็พยายามดูพี่แล้วทำตาม ไม่มีทิ้งแล้ววิ่งหนีไปเล่นนะ ความตั้งใจเป็นเครื่องแสดงว่าเขาเห็นคุณค่าของสิ่งที่กำลังทำ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราคาดหวังในกิจกรรม

สาม คือช่วงที่เราเชิญพี่หมอแหม่ม จากโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ มาสอนเด็กเรื่องสารเคมีในผักและสอนเด็กๆ ล้างผัก อันนี้ก็สนุกมากเพราะมีกะละมังกับน้ำ ซึ่งเป็นของเล่นชั้นดี พี่หมอมีเนื้อหามาแจก แล้วก็แบ่งกลุ่มล้างผักกัน ทุกกลุ่มก็มีตัวแทนออกมาอธิบายวิธีล้างผักของตัวเอง จากนั้นก็ไปตวงน้ำ เราชอบเพราะมันวุ่นวายดีเหลือเกินตามประสาเด็กกับน้ำ เมื่อจบกิจกรรม เด็กๆ ตอบได้เลยว่าผักของตัวเองแช่กี่นาที ใช้น้ำกี่ลิตร ผสมอะไร เท่าไหร่ น่าประทับใจที่พี่หมอทำให้เกิดการเรียนรู้ข้อมูลได้ท่ามกลางความเซ็งแซ่ขนาดนั้น

เราคิดว่าสามกิจกรรมนี้เป็นการเรียนรู้ใหม่และความเข้าใจใหม่ของเด็ก ส่วนการวาดรูประบายสี หรือทำชิ้นงาน เป็นสิ่งที่ทั้งเราทั้งเด็กๆ รู้จักอยู่แล้ว ก็เลยไม่นับว่ามันเป็นอะไรที่ใหม่นัก ถ้าเทียบกับตัวเนื้อหา ศิลปะเป็นเพียงเครื่องมือที่จะนำไปใช้ในการสื่อสารสิ่งที่เขาได้เรียนรู้ได้เข้าใจมา ถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ทั้งใกล้และไกลตัวได้รับรู้

การสร้างผลงานศิลปะจากความเข้าใจในเนื้อหากิจกรรมของเด็กๆ ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์หรือไม่

คิดว่าได้ตามที่วางไว้ เพราะเราคาดหวังให้เด็กได้สัมผัสชุมชนและได้สื่อสารสิ่งที่เห็นออกมา เขาก็ถ่ายทอดสิ่งที่เห็น ประทับใจออกมาเป็นภาพวาด เด็กโรงเรียนนี้ส่วนใหญ่มั่นใจก็เลยกล้าวาดรูป และวาดได้ค่อนข้างตรงกับสิ่งที่คิด รายละเอียดอาจจะไม่เนี้ยบ แต่เราว่าไม่เป็นไร ทักษะฝึกฝนได้ ข้อมูลสืบค้นต่อได้ ถ้ามีเวลาสำหรับต่อเติมรายละเอียด เราก็ไม่ห่วง

แต่ที่ยังได้ไม่เต็มที่ก็คือเรื่องบทกวีกับเด็กเล็กๆ เพราะมันมีการตีความ การเปรียบเทียบ อุปมาอุปมัย และเด็กเล็กหลายคนยังเขียนหนังสือไม่ได้ ยังไม่ค่อยเข้าใจการเปรียบความ หรือเรื่องชั้นเชิงทางภาษาต่างๆ นี่คือสิ่งที่ต้องลงไปช่วยกันขัดเกลาเรียบเรียงให้ดีขึ้น และที่สำคัญคือ ต้องให้เป็นสิ่งที่เขาเขียน ไม่ใช่ว่าเราไปชี้นำ เราต้องรู้จักเด็กแต่ละคน รู้ความสนใจ และกระตุ้นให้เขารู้ว่าเขาจะเขียนอะไรออกมา เพราะประสบการณ์ บุคลิก และคลังภาษาของแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน

ตอนแรกเขาก็งงว่าบทกวีคืออะไร พอเรายกตัวอย่างคำที่เป็นภาษากวี เขาก็ตาโตวาวเลยนะ ว่าคำมันคมและสวย เขียนแค่สั้นๆ แต่ก็เต็มไปด้วยจินตนาการ เขายังถามว่า แค่นี้เหรอ บทกวี เราบอกว่า ใช่ นี่แหละบทกวี ถามว่าชอบไหม เขาบอกว่าชอบ แล้วรีบไปเขียนของตัวเอง

ต้องบอกว่าจริงๆ อาจไม่ได้ความรู้หรือเนื้อหาจากการเขียนบทกวี แต่จะได้ความเข้าใจว่าเด็กได้รู้ ได้ทำอะไรมา แล้วเด็กกำลังให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องอะไร นั่นก็คือการสะท้อนความต้องการของเด็ก ผ่านเรื่องเล่าของเขา อาจจะได้ความตลกด้วย (หัวเราะ) แต่ผลของมันก็คือการชี้ให้เห็นว่าเด็กเริ่มและเด็กทำ

ค่ายศิลปะฯ ทำขนมครก
ค่ายศิลปะฯ ทำขนมครก

อะไรคือประโยชน์ที่เด็กจะได้จากการเรียนรู้ในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งไม่ใช่ในตำราเรียนแบบเดียวกันหมด

ทั้งการเรียนรู้จากท้องถิ่นและตำรา สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของการช่วยให้เด็กตระหนักถึงคุณค่าของตนเองและอำนาจในตนเอง สิ่งนี้จะเป็นแกนให้เกิดอะไรอื่นหมุนตามมาอีกมากมาย ถ้าคนถูกสั่งให้จำ ให้รู้แต่เรื่องราวไกลตัว เขาก็ไม่รู้จะเรียนไปทำไม เพราะเหนื่อยล้าและรู้สึกสูญเสียตัวตนไปทุกที ภาพรวมของการศึกษาตอนนี้ เราก็เห็นๆ อยู่ว่ามันเอียง ส่วนใหญ่เด็กจะต้องเรียนจากตำรา ในขณะที่ความเป็นจริง เด็กแต่ละพื้นที่จะมีความแตกต่างกันมาก เขามีความรู้รอบตัวเยอะ แต่ยังคงขาดมิติที่เข้าถึงชีวิตจริงและสิ่งที่แวดล้อมตัวเองอยู่

ประโยชน์ของการเรียนรู้จากท้องถิ่นก็คือ ความเป็นชุมชนจะช่วยเปิดสัมผัสได้มาก ที่เห็นชัดคือเด็กได้สัมผัส มีประสบการณ์ตรง เห็น ฟัง ชม ชิม จดจำและได้สัมผัสกับผู้คน ผู้ใหญ่ น้องเล็กๆ ผู้พิการ รวย จน ต่างชาติต่างภาษา ในชุมชนเดียวกัน ทำให้เขานอบน้อมและให้เกียรติผู้อื่น เด็กเห็นความสำคัญและเชื่อมโยงองค์ความรู้จากสิ่งรอบตัวได้ง่าย การเรียนรู้ท้องถิ่นซึ่งเป็นต้นทุนชีวิตที่รองรับเขาอยู่จะทำให้เขามีทักษะในการนำสิ่งใกล้ตัวมาประยุกต์ใช้ในชีวิตจริง

และความแตกต่างของแต่ละท้องถิ่นเป็นอะไรที่น่าสนใจ เพราะเด็กจะมองเห็นและเข้าใจที่มาที่ไปของตนเอง ทำให้เขาเข้าใจบุคลิกภาพ วัฒนธรรม พฤติกรรม รู้จักการตั้งคำถาม เข้าใจความแตกต่างตามพื้นเพ ภูมิหลัง อาหาร เชื้อชาติ ทำให้เด็กมีหัวใจที่เปิดกว้าง ยอมรับตัวเองและคนอื่น ไม่เหยียดหยาม ไม่คิดว่าตนเองดีที่สุดเหนือใคร จริงๆ หนังสือก็ให้ตรงนี้ได้ แต่การมีปฏิสัมพันธ์กับชุมชน จะทำให้เด็กเรียนรู้ผ่านการซึมซับ และทำให้เขาเข้าใจได้ง่ายขึ้น

ทางกลุ่มได้ออกแบบ วางแผน การขยายผลเกี่ยวกับการบริโภคอาหารปลอดภัยไว้อย่างไรบ้าง

กิจกรรมต่อเนื่องถัดจากนี้ ก็จะมีการจัดเวทีนำเสนองานศิลปะของเด็กๆ ให้ผู้ใหญ่ในชุมชนได้เห็น เป็นนิทรรศการเล็กๆ มีภาพวาดบนผ้าที่วาดตอนเล่านิทานเรื่องฝนประหลาดจบ ภาพวาดของเด็กๆ ตอนลงพื้นที่ แล้วก็มีรวมเล่มบทกวีของเด็ก และจะจัดพิมพ์นิทานเรื่องฝนประหลาดเป็นรูปเล่มด้วย

เสร็จแล้วก็จะประเมินว่าคนในชุมชนให้ความร่วมมือขนาดไหน ถ้าระดับที่ฝัน ก็อยากให้มีตลาดหรือศูนย์รับซื้ออาหารปลอดภัยในชุมชน ให้เป็นระบบ คือเด็กสามารถมารับต่อได้ ส่วนแผนถัดจากนี้ที่ฝันเอาไว้อีก และที่เชื่อมไว้บ้างแล้ว ก็คือการทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในจังหวัดอุตรดิตถ์ ในเบื้องต้นที่คิดไว้มี 2 แห่ง อันที่จริงทางโรงพยาบาลเองก็ทำกิจกรรมเชิงรุกและพื้นที่ไว้บ้างแล้ว นั่นคือตลาดนัดสุขภาพทุกวันศุกร์ของโรงพยาบาลอุตรดิตถ์ และตลาดสีเขียวทุกวันพุธของโรงพยาบาลลับแล เราก็ดูว่าจะเชื่อมจุดต่างๆ ให้เป็นภาพงานที่ชัดเจนในระดับจังหวัดร่วมกันได้ยังไง

แล้วก็อยากทำให้ชุมชนรอบๆ หรือตลาดในเมือง ตระหนักถึงเรื่องนี้ด้วยกัน อาจจะให้เด็กกลุ่มนี้ไปช่วยเคลื่อน เพราะคนในตลาดเขาไม่ค่อยมีที่ดินปลูกผัก ต้องซื้อกิน เราก็จะชี้ให้เห็นว่า อาหารปลอดภัยซื้อจากที่ไหนได้บ้าง ซึ่งการขยายพื้นที่ตลาดอาหารก็เป็นแผนของปีหน้า จะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็รอประเมินความพร้อมของหลายๆ ฝ่าย

บรรยากาศหลังเล่านิทาน
บรรยากาศหลังเล่านิทาน

ขอขอบคุณ ทีมงานห้องสมุดลูกข่าง

1. นายมูหัมหมัดฮาริส กาเหย็ม
2. น.ส.ลัดดา สงกระสินธ์
3. นายนิวัฒน์ ต๊ะถาลี

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ