ปฎิรูปการศึกษาให้ไร้บรรยากาศบูชายัญ

ปฎิรูปการศึกษาให้ไร้บรรยากาศบูชายัญ

 

10924759_10153573164794115_4280949461139593422_n

คอลัมน์: 5 dialogue         เรื่อง: สันติสุข กาญจนประกร

 

 

นอกจากงานที่ใช้ละครเป็นเครื่องมือสื่อสารในนาม มะขามป้อม ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษา พฤหัส พหลกุลบุตร  ยังร่วมกับเพื่อนๆ หลากหลายอาชีพ ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเถื่อน เพื่อนยกให้เขาเป็นอธิการบดี โดยใช้สถานที่ของมะขามป้อมอาร์ตสเปซ ที่อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เป็นแหล่งเรียนรู้

 

“ผมกับเพื่อนๆ นักกิจกรรมมีองค์ความรู้ เป็นพลังเล็กๆ ยี่สิบกว่าคน ปีแรกก็แลกกันเรียนคนละวิชาที่ทำอยู่ จัดระบบว่า ภาคเช้าเป็นเถื่อนทอล์ค ภาคบ่ายเป็นเถื่อนทำ เวิร์คชอปลงมือปฎิบัติ บางห้องใช้ท้องนาเป็นที่เรียนรู้ ค่ำๆ ก็ดื่มน้ำชาพูดคุย อยู่กันห้าวันสี่คืน เป็นอะไรที่สนุกมาก เพราะทุกคนอยากรู้ในสิ่งที่คนอื่นรู้และสอนเราให้ลงมือทำ ผลัดกันเรียน เปลี่ยนกันสอน” เขาเคยให้สัมภาษณ์บางสื่อไว้แบบนั้น

 

อยากรู้เรื่องปฏิรูปการศึกษา ถ้าไม่ถามคนที่มองที่คิดอะไรใหม่ๆ ดูบ้าง มันจะน่าตื่นเต้นอะไร

 

เอาแบบตรงกว่านั้น เขาเคยบอกว่าไม่เชื่อในเรื่องปฏิรูปการศึกษาด้วยซ้ำ เพราะทำมากี่ครั้งก็ไม่มีอะไรเปลี่ยน

 

ดังนั้น เขาว่าที่เคยทำมาเดิมๆ ควรหยุดได้แล้ว อย่างน้อยๆ ก็หยุดฟังกันบ้าง ประโยคหลังนี่ผมพูดเอง

 

 

01

เรามักได้ยินคำว่า ปฎิรูปการศึกษา เเล้วการปฏิรูป กับการกระจายการศึกษาออกไปให้ได้ทั่วถึง ในคุณภาพที่ดี เป็นเรื่องเดียวกันไหม อย่างไรครับ

  

สำหรับผม การปฏิรูปการศึกษาที่สำคัญสุด คือการปฏิรูปวัฒนธรรมอำนาจนิยมในสังคมไทย เรื่องนี้เป็นความสำคัญระดับชาติ อยู่ใน DNA คือมันฝังรากลึกมาก สังคมไทยอาจเป็นสังคมที่เชื่อเรื่องชาติกำเนิด กำหนดความเป็นชนชั้น แต่เราเชื่อเรื่องความเป็นมนุษย์บ้างหรือเปล่า เราเชื่อมั่นในศักยภาพที่อยู่ในมนุษย์หรือเปล่า เราเชื่อเรื่องความเท่าเทียม ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความแตกต่างหลากหลาย ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นคุณค่าสากล ผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้เป็นสารัตถะของการปฏิรูปการศึกษา เป็นเป้าหมายที่เราต้องไปให้ถึง

 

ผมคิดว่าเป็นการปะทะกันของโลกทัศน์ 2 ด้าน คือ แนวคิดที่เชื่อว่าการศึกษาต้องถูกควบคุม เราต้องมีหลักสูตรเหมือนๆ กัน ตำราเรียนที่เรียนเหมือนๆ กัน เพื่อบ่มเพาะทัศนคติบางอย่าง หรือสร้างประชาชนในแบบที่รัฐต้องการ เราต้องมีเครื่องแบบ เราต้องมีพิธีกรรม

 

แนวคิดเรื่องการศึกษาคือการปลดปล่อย ปลดปล่อยอะไร ปลดปล่อยศักยภาพที่แท้จริงของมนุษย์ เชื่อในเรื่องเสรีภาพ เชื่อในจิตวิญญาณความเป็นมนุษย์ ผมคิดว่าเราต้องหาสมดุลของโลกทัศน์ทั้ง 2 ด้านนี้ให้พบ ถ้าเราหาสมดุลได้ ผมคิดว่าเราปฏิรูปการศึกษาสำเร็จ

 

 

02

อีกข้อเสนอของฝ่ายก้าวหน้าคือ ให้ออกจากความเป็นชาตินิยม คำถามคือ ออกเเล้วไปไหน ชาตินิยมไม่ดีอย่างไร

สำหรับผมการรักชาติไม่ใช่เรื่องผิด แต่เราต้องรักษาระดับความรักให้พอดี ไม่ข้ามเส้นไปสู่ความหลง ความคลั่ง หรือความมืดบอด คำว่า ‘ชาตินิยมง’” มันมีนัยของการก้าวข้ามเส้นแบบนั้นอยู่ ผมว่าการที่เรารักอะไรมากๆ มันมักสร้างอัตตามายึดติด จนง่ายที่จะเพลี่ยงพล้ำไปสู่การดูถูกคนที่คิดไม่เหมือนเรา อาจนำไปสู่ความเกลียดชัง หรืออคติได้ง่าย เหมือนคำว่า สถาบันนิยม เราอาจรักสถาบันของเราได้ แต่ถ้าก้าวข้ามเส้นไปก็อาจเป็นแบบนักเรียนยกพวกตีกันอย่างที่เราเห็น

 

03

จากการงานคุณมักเน้นไปที่การศึกษานอกระบบ อะไรคือความเชื่อมั่นว่า โรงเรียนแบบนี้ จะไม่ทำให้ชีวิตของเด็กเสียหายในอนาคต

โดยส่วนตัวผมคิดว่า การศึกษาในระบบไม่ตอบโจทย์แล้วอย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะโรงเรียนไทย ถามจริงๆ จากใจว่า ถ้าวันนี้คุณเป็นพ่อแม่ คุณอยากให้ลูกเข้าโรงเรียนหรือเปล่า เด็กใช้เวลา 12-15 ปี ในโรงเรียนเพื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐาน เราใช้เวลาหนึ่งในห้าของชีวิตไปกับอะไร ใช้เงินทองไปเท่าไหร่ แล้วคุณภาพของการศึกษาที่เราได้มาคืออะไร ะฉะนั้น ถ้าถามว่าอะไรคือความเชื่อมั่น ผมตอบว่าเชื่อมั่นเพราะไม่มีอะไรที่จะเสียหายไปกว่านี้อีกแล้ว

.

04

มีข้อเสนออะไรในการทำให้การศึกษาไทยหล่อหลอมเด็กให้รู้จักคิด และตั้งคำถาม

เรื่องแบบนี้ เราสอนให้เด็กรู้จักคิด รู้จักตั้งคำถามไม่ได้ เราต้องสร้างสิ่งนี้ทั้งสังคม ต้องถามว่าเราเป็นสังคมตั้งคำถาม หรือรู้จักคิดจริงหรือเปล่า เราตั้งคำถามแล้วเราจะถูกจับมั้ย จะถูกบูชายัญไหม ถูกล่าแม่มดไหม บรรยากาศของทั้งสังคมจึงสำคัญมาก เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับเรื่องอำนาจนิยม และการเป็นสังคมที่ต้องการควบคุม ซึ่งผมถึงได้บอกว่ามันเป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา

.

05

เทคโนโลยีสำคัญเเค่ไหนกับการปฎิรูปการศึกษา

ผมคิดว่าเทคโนโลยีมีความสำคัญ แต่มันเป็นแค่เครื่องมือ ที่สำคัญกว่าคือคนใช้เครื่องมือนั่นคือมนุษย์ มันอยู่ที่คุณภาพคน เราจะเห็นได้เยอะมากตามโรงเรียนที่มีเทคโนโลยีนำสมัย เรามีกระดานอัจฉริยะแต่เอาไว้แขวนชุดพละ เรามีคอมพิวเตอร์ดีๆ ที่เด็กไม่ได้ใช้ เพราะเอาไว้โชว์ผู้ประเมินภายนอก เราพัฒนาสมองด้วยการทาสีอาคารเรียนและยางรถยนต์ในสนามเด็กเล่น สิ่งเหล่านี้เกิดจากอะไร ไม่ใช่เขาไม่รู้นะครับ แต่เขาทำตามผู้ใหญ่ ไม่กล้าขัดใจผู้ใหญ่ เพราะไม่มีอำนาจ ถ้าไม่ตระหนักถึงอำนาจในความเป็นมนุษย์ของเรา ก็ป่วยการจะไปพูดเรื่องปฏิรูปการศึกษา

 

หลายครั้งเรากลับมาถามตัวเองว่า สิ่งที่พยายามทำมาตลอด ในเรื่อง ‘ปฏิรูปการศึกษา’ ที่เรากำลังพูดถึงเรื่องกระจายอำนาจ เรากำลังพูดถึงเรื่องการฝึกให้เด็กมีความคิดเป็นของตนเอง กล้าแสดงความคิดเห็น มีจุดยืนต่ออุดมการณ์ของตน

 

เรากำลังพยายามสร้างอนาคต ฝากความหวังกับคนรุ่นใหม่ที่รู้ร้อนรู้หนาว ตระหนักถึงปัญหาสังคม เข้าไปมีส่วนร่วมกับการสร้างการเปลี่ยนแปลง เรากำลังพูดถึงความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ผมเลยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้ว เรากำลังปฏิรูปการศึกษา หรือเรากำลังหลอกตัวเอง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ