คอลัมน์: รับเชิญ เรื่อง: บูรพา เล็กล้วนงาม
เมื่อต้นปีที่ผ่านมา ผมได้รับมอบหมายจากสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม ช่องข่าวการเมืองเลือกข้างที่ผมสังกัด ให้รับหน้าที่เป็นผู้ดำเนินรายการและเตรียมประเด็นเองทั้งหมด ในรายการสนทนาซึ่งมีทิศทางสอดคล้องกับการปฏิรูปประเทศตามโร้ดแมปของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีการตั้งสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) ขึ้นมาเพื่อทำงานด้านปฏิรูป
ผมคิดอยู่สักพักก็ได้ไอเดียว่า ผู้ที่ผมสมควรเชิญมาเป็นแขกในรายการควรเป็นคนรุ่นใหม่ อาทิ นักเรียน นักศึกษา และ ผู้ที่อยู่ในช่วงเริ่มต้นของการทำงาน เนื่องจากคนเหล่านี้น่าจะเป็นกลุ่มคนที่ยังมีอนาคตและต้องใช้ชีวิตไปอีกยาวนาน
การปฏิรูปในความหมายของผมในเวลานั้นคือ การเปลี่ยนแปลงโดยมองไปข้างหน้า มองไปยังอนาคต โดยให้คนที่ต้องใช้ชีวิตในอนาคตเป็นผู้ออกแบบและเลือกเองว่า ต้องการทางเดินแบบไหน
การปฏิรูปของผมตรงกันข้ามกับสิ่งที่ คสช.ดำเนินการ ด้วยการแต่งตั้งสมาชิก สปช.ที่ล้วนแต่เป็นผู้ที่ผ่านโลกมาเยอะ และมากด้วยประสบการณ์
ที่เป็นเช่นนั้น เพราะผมเห็นว่า ผู้อาวุโสที่มีอายุเฉลี่ย 60 ปี เหล่านั้นผ่านพ้นยุคสมัยของตัวเองมาแล้ว คนกลุ่มนี้ไม่เหมาะในการวางแผนปฏิรูปเพื่อสร้างอนาคตให้ใครได้อีก (ยกเว้นแต่บางคนที่ไม่ยึดติดกับประสบการณ์เดิมๆ ของตัวเอง) คนกลุ่มนี้จึงไม่น่าจะคิดถึงสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอีก 20-30 ปีข้างหน้า
แต่เมื่อมองให้ลึกลงไปจะพบข้อเท็จจริงอีกด้านคือ การปฏิรูปไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำได้สำเร็จเสร็จสิ้นโดยสมบูรณ์ ตามที่มีการณรงค์ให้ ‘ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง’ เนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การปฏิรูปที่คิดว่าเหมาะสมแล้วในวันหนึ่ง เมื่อเวลาแปรเปลี่ยนไป สิ่งนั้นๆ อาจไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสมอีกต่อไปก็ได้
เช่น เรื่องของศาสนาที่สังคมไทยยึดถือต่อๆ กันมาว่า คนทุกคนต้องนับถือศาสนา แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนค่านิยมที่ว่าคนเราต้องนับถือศาสนาอาจไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้องก็ได้ เพราะคนเราอาจอยู่ได้โดยไม่ต้องมีศาสนา
หรือ เรื่องเกี่ยวกับเพศสภาพ ที่แต่เดิมสังคมไทยยอมรับว่ามีแค่เพศชายกับหญิง ส่วนผู้ที่เลือกเพศตรงกับกายภาพของตัวเอง ถือว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความผิดปกติ แต่ระยะหลังๆ การที่คนเราจะเลือกเพศไหน อย่างไร ได้รับการยอมรับมากขึ้น และถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เป็นเรื่องส่วนตัว
แค่ 2 เรื่องที่ยกตัวอย่างมา ก็แสดงให้เห็นว่า ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนผันแปร ฉะนั้น การปฏิรูปให้เสร็จสิ้นสมบูรณ์ตามโร้ดแมปของคสช.จึงสามารถเรียกได้ว่าเป็นภารกิจที่เป็นไปไม่ได้
สำหรับผมแล้ว ความหมายของการปฏิรูปรอบนี้จึงไม่มีอะไรมากไปกว่าข้ออ้างของคนกลุ่มหนึ่งในการคั่นเวลาการใช้อำนาจของประชาชน (เจ้าของอำนาจสูงสุดที่แท้จริง) ผ่านการเลือกตั้ง ซ้ำยังทำการปฏิรูปแบบเดินถอยหลังโดยให้ สปช. ที่ต่อมากลายร่างเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เป็นผู้ดำเนินการ
การปฏิรูปในมุมมองของผมเท่าที่คิดได้จึงเป็นงานที่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่ต้องทำไปเรื่อยๆ และทำอย่างต่อเนื่อง โดยไม่สามารถบ่งบอกได้ว่าการปฏิรูปเรื่องนี้เรื่องนั้นแล้วเสร็จสมบูรณ์ มีเพียงแต่ว่าเสร็จสิ้นไปในระดับหนึ่งหรือไม่เท่านั้น