รู้เรื่องประชากรเสี่ยงก่อนเสี่ยงมาเป็นฟรีแลนซ์

 รู้เรื่องประชากรเสี่ยงก่อนเสี่ยงมาเป็นฟรีแลนซ์

คอลัมน์: ในความเป็นคน        เรื่อง: อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

free

กว่าค่อนศตรวรรษที่ผ่านมา คำอธิบายชนชั้นทางสังคมคล้ายเน้นหนักไปที่เรื่องของ ‘รายได้’ หรือ ‘ลักษณะงาน’ ที่ทำ ไม่ว่าในชนชั้นแรงงานอุตสาหกรรม ชนชั้นนายทุน แรงงานเกษตรติดที่ดิน คนจน คนรวย คนชั้นกลาง หรือคนชั้นสูง

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานของโลกในปัจจุบัน ดูส่งผลให้การอธิบายชนชั้นทางสังคมดูไม่เพียงพออีกต่อไป เพราะผู้ถูกกดขี่ที่สุดหรือด้อยโอกาส อาจมิใช่คนยากจนหรือเป็นแรงงานระดับล่าง หากแต่อาจเป็นได้ทั้งผู้มีการศึกษา / ไม่มีการศึกษา มีรายได้ระดับต่ำ / ระดับกลาง /กลางค่อนไปทางสูง

Precariat เป็นคำเรียกที่ใช้อธิบายชนชั้นผู้ถูกกดขี่และด้อยโอกาสกลุ่มใหม่นี้

คำคำนี้ ผมได้ยินจากที่อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าให้ฟัง ถึงแนวโน้มและความเป็นไปของโลกในอนาคตอันใกล้ที่จะมี The Precariat เพิ่มมากขึ้น

หากแปลอย่างตรงตัว Precaria อาจคือ ประชากรเสี่ยง

อันนำไปสู่คำถามต่อมาว่า เสี่ยงอย่างไร?

ในหนังสือ The Precariat: The New Dangerous Class ผู้เขียน กาย สแตนดิง (Guy Standing) ได้ให้คำอธิบายอันพอสรุปได้ว่า ประชากรเสี่ยงคือกลุ่มคนที่ประสบความเสี่ยงทั้งในด้าน ‘การจ้างงาน’ และ ‘การทำงาน’

ความเสี่ยงในการจ้างงานหมายถึง การได้รับสัญญาจ้างในระยะสั้น หรือไม่ได้มีการทำสัญญาจ้าง ส่งผลต่อความต่อเนื่องและมั่นคงทางค่าจ้างและรายได้ รวมถึงการขยับฐานค่าจ้างของตนเองในอนาคตตามความสามารถของการทำงานที่เพิ่มมากขึ้น บางคนอาจประสบกับการจ้างงานในระดับต่ำกว่าที่ควรเป็น อันส่งผลต่อรายได้ของตน

ส่วนความเสี่ยงในการทำงานคือ การที่กลุ่มคนเหล่านี้มักไม่ได้รับหลักประกันอันตรายและอุบัติเหตุทางตรงและทางอ้อมจากการทำงาน โดยนายจ้างมักผลักภาระการดูแลส่วนนี้ให้ลูกจ้างหรือคนทำงานห้ต้องแสวงหาหลักประกันของตนเอง อันส่งผลต่อต้นทุนการใช้ชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าลูกจ้างประจำทั่วไปที่นายจ้างมีหน้าที่รับผิดชอบอันตรายจากการทำงาน

นอกจากนี้ การจ้างงานที่ทั้งระยะสั้นและอาจรับค่าจ้างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ยังส่งผลให้บางคนมีความเสี่ยงทางสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น จากการต้องรับงานมากกว่าหนึ่งที่ หรือมีเวลาทำงานมากกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป

ในแง่นี้ หัวใจสำคัญของ ‘ประชากรเสี่ยง’ อาจคือ ‘ความไม่มั่นคง’ ทั้งในทางรายได้ การทำงานที่ต่อเนื่อง หลักประกันทางสุขภาพ และการว่างงาน รวมถึงการเติบโตของทักษะการทำงาน ซึ่ง ‘ความไม่มั่นคง’ อาจมากกว่าสภาพที่เป็นจริง แต่มันกินความไปถึง ‘ความรู้สึก’ ของผู้ถูกจ้าง

ไม่ว่าจะรายได้สูงหรือต่ำอาจมิใช่ปัญหา และอยู่ร่วมกันเป็น The Precariat ได้ ขอแค่มีความไม่มั่นคง ร่วมกันพอ

ถ้าคิดไม่ออกลองคิดภาพของ ยุ่น ในหนังเรื่อง ฟรีแลนซ์: ห้ามเหนื่อย ห้ามพัก ห้ามรักหมอ ดูครับ นั่นแหละเป็นตัวอย่างหนึ่งของประชากรเสี่ยง หรือ The Precariat ที่หมายรวมตั้งแต่ฟรีแลนซ์นานาชนิด นักเขียน/คอลัมนิสต์ คนรับจ้างรายวัน คนที่ทำงานตามสัญญาระยะสั้น หรือพวกพาร์ทไทม์ คนทำงานตามฤดูกาล หรือแม้แต่อาจารย์มหาวิทยาลัย (ทั้งพิเศษและหน้าใหม่) ในหลายประเทศที่ประสบกับสัญญาจ้างระยะสั้นและไร้หลักประกันทางสุขภาพ

ชีวิตการทำงานของประชากรเสี่ยง อาจเป็นสิ่งที่ไม่ขึ้นอยู่กับพื้นที่ หลายคนทำงานที่บ้าน อีกหลายคนทำงานที่ออฟฟิศจำลองที่รับงานจากอีกซีกโลก หลายคนทำงานในออฟฟิศหรือโรงงานเฉกเช่นคนงานปกติทั่วไป

แต่ทุกวันนี้ประชากรเสี่ยงเหล่านี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว (ไม่เชื่อลองดูรอบตัวเราสิ!) สาเหตุสำคัญมาจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางการผลิตในหลายพื้นที่และหลายภาคส่วน ที่อุตสาหกรรมหรือกิจการโอนความเสี่ยงและภาระการดูแลให้กับคนทำงาน และเลือกการจ้างงานหลายประเทศในลักษณะสัญญาระยะสั้น เพื่อความคล่องตัวและความสะดวกในการบริหารต้นทุน ท่ามกลางบรรยากาศการแข่งขันทางการผลิตที่รุนแรงมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีที่ทำให้การจ้างงานและเลือกคนทำงานมีช่องทางเพิ่มมากขึ้นและดำเนินการแบบทางไกลได้

ทั้งนี้ ปัญหาของประชากรเสี่ยงในทุกวันนี้ อาจมิได้อยู่ที่ว่ากลุ่มคนพวกนี้กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วเท่านั้น หากแต่ดูขึ้นอยู่กับหลักประกันด้านแรงงานที่ยัง ไม่เท่าทัน ปรากฎการณ์หรือครอบคลุมประชากรกลุ่มนี้

หลักประกันทางแรงงานในช่วงที่ผ่านมาดูจะอิงอยู่กับภาพของกิจการที่มีความแน่นอน ทั้งสถานที่ทำงาน ชั่วโมงการทำงาน ช่วงวันการทำงาน ซึ่งแรงงานจะมีความมั่นคงระยะยาวในกิจการหรืออุตสาหกรรมที่ตนเองอยู่ พูดง่ายๆ คือถ้าไม่ลาออกหรือทำผิดร้ายแรงเองก็ยากที่จะตกงาน หรือถึงแม้ถูกให้ออกจากงานก็ต้องมีการชดเชยที่เหมาะสมหรือที่มากพอ

กรอบของหลักประกันแรงงานที่ว่านี้ดูต่างจากชีวิตและแทบไม่ครอบคลุมเหล่าประชากรเสี่ยง พวกเขาอาจไม่ต้องการความมั่นคงในสถานที่ทำงาน หรือเวลาการทำงานที่แน่นอน แต่พวกเขาต้องการ “ความมั่นคง” ทั้งในสภาพจริงของชีวิตและความรู้สึก รวมถึงความเป็นธรรมจากการทำงาน/จ้างงาน และหลักประกันทางชีวิตและสุขภาพที่พวกเขาไม่ต้องแบกรับด้วยต้นทุนที่สูง ภายใต้สภาพของสัญญาการทำงานระยะสั้น

เห็นทีเรื่องราวของเหล่า ประชากรเสี่ยง หรือ The Precariat จำเป็นต้องได้รับการคิดและถกเถียงอย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองกลุ่มคนเหล่านี้ ภายใต้บรรยากาศที่หลายคนอยาก และเชิญชวนกันมาเป็น ฟรีแลนซ์

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ