การแจงนับคนไร้บ้าน: อย่างไร? และทำไม?

การแจงนับคนไร้บ้าน: อย่างไร? และทำไม?

10407539_1578138615733966_2927019359356843502_n

คอลัมน์: ในความเป็นคน       เรื่อง: อนรรฆ พิทักษ์ธานิน

เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา  โครงการการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านและการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการแจงนับคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพฯ โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายฯ อันได้แก่ มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย เครือข่ายคนไร้บ้าน เครือข่ายสลัม 4 ภาค มูลนิธิกระจกเงา บ้านมิตรไมตรีกรุงเทพ บ้านอิ่มใจ กรุงเทพมหานคร คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และอาสาสมัครทั้งที่เป็นนิสิตนักศึกษา และผู้สนใจทั่วไป ซึ่งได้มีการแถลงผลการแจงนับและลักษณะประชากรที่พบไปเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ทำไมต้องแจงนับคนไร้บ้าน?

คนไร้บ้านเป็นกลุ่มประชากรที่จัดได้ว่าอยู่ชายขอบสุดของสังคม เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากความไม่เป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงความเหลื่อมล้ำทางนโยบายและสวัสดิการของรัฐ ที่ทำให้พวกเขากลายมาเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ใช้ชีวิตท่ามกลางความเสี่ยงด้านต่างๆ

ในแง่นี้ การรู้จำนวนและลักษณะประชากร รวมถึงความเปลี่ยนแปลงทางประชากรของคนไร้บ้าน มีส่วนสำคัญในการผลักดันทางนโยบาย เพื่ออุดช่องโหว่ของความไม่เป็นธรรมและความเหลื่อมล้ำในสังคม ที่มิใช่เพียงคนไร้บ้านเท่านั้นที่ได้ประโยชน์ หากแต่ครอบคลุมถึงคนทุกกลุ่ม เป็น Safety Net สำหรับคนชายขอบหรือมีโอกาสเป็นคนชายขอบ ซึ่งมีชีวิตที่เปราะบางท่ามกลางความเสี่ยง

ยกตัวอย่าง สิทธิและประสิทธิภาพของการรักษาพยาบาล หากสามารถครอบคลุมและยกระดับคุณภาพชีวิต-สุขภาพของคนไร้บ้าน ซึ่งเป็น ‘กลุ่มชายขอบของชายขอบ’ ได้แล้ว ก็มีความเป็นไปได้ที่จะครอบคลุมทุกกลุ่มคนได้ เป็นต้น

หลายประเทศได้ใช้การเปลี่ยนแปลงประชากรคนไร้บ้าน เป็นพื้นฐานหนึ่งในการออกแบบนโยบายทางสังคม และเครื่องบ่งชี้ความมีประสิทธิภาพของสวัสดิการและนโยบายทางสังคมและสุขภาพ ถ้ามีคนไร้บ้านหน้าใหม่น้อยลง แสดงว่ามีประสิทธิภาพ แต่หากมีคนไร้บ้านเพิ่มมากขึ้นก็ต้องมาวิเคราะห์กันว่าเป็นกลุ่มใดที่เพิ่ม เพื่อหาสาเหตุของการเป็นคนไร้บ้านให้ชัดเจนและตรงจุด

การแจงนับคนไร้บ้านทำอย่างไร?

ช่วงเวลาที่ผ่านมา ในเขตกรุงเทพมหานครได้มีการแจงนับ/สำรวจคนไร้บ้านหลายครั้ง โดยภาคประชาสังคมและภาครัฐที่ทำงานเกี่ยวเนื่องกับคนไร้บ้าน บางหน่วยงานใช้วิธีประเมินจากผู้เข้ารับบริการ บางหน่วยใช้วิธีประเมินจากความหนาแน่นในพื้นที่ บางหน่วยใช้วิธีการนับแบบหลายวัน บางหน่วยใช้การนับแบบวันเดียว/คืนเดียว บางหน่วยครอบคลุมเฉพาะคนไร้บ้าน และบางหน่วยครอบคลุมผู้ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะทั้งหมด

ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับข้อมูลที่ต้องการว่าเป็นในเรื่องของจำนวนหรือลักษณะทางประชากร

ในส่วนการแจงนับของ โครงการการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านฯ มีเป้าหมายสำคัญในการรับรู้ ‘จำนวน’ และ ‘ลักษณะทางประชากรจากการสังเกตภายนอก’ ของคนไร้บ้าน ทำให้ทางทีมวิจัย เลือกใช้วิธีการแจงนับแบบคืนเดียวเป็นกรอบในการดำเนินงาน เนื่องจากการทบทวนการแจงนับในต่างประเทศพบว่า วิธีการดังกล่าวนี้มีความคลาดเคลื่อนของข้อมูลและจำนวนน้อยที่สุด

ทางทีมวิจัย ได้เริ่มกระบวนการในการสอบถามความต้องการของข้อมูลจากผู้ทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้านทั้งภาครัฐและประชาสังคมเพื่อมาเป็นกรอบในการออกแบบการแจงนับที่เน้นการสังเกตจากภายนอก ซึ่งสรุปแล้วประกอบด้วย เพศ ช่วงอายุ ความพิการที่เห็นได้ชัด อาการเมาสุราและอาการทางจิตที่เห็นได้ชัด บาดแผลที่เห็นได้ชัด ตำแหน่งและลักษณะของการอยู่ (คนเดียว เป็นกลุ่ม กับครอบครัว)

นอกจากนี้ เนื่องจากคนไร้บ้านเป็นกลุ่มประชากรที่เข้าถึงได้ยาก (Hard to reach Population) ทำให้ต้องมีการทำแผนที่สังเขปการกระจายตัวเบื้องต้นของคนไร้บ้าน จากความรู้ของเครือข่ายต่างๆ เพื่อเป็นแนวทางในการออกแบบเครื่องมือและแบ่งพื้นที่การแจงนับด้วย

0

เมื่อวางกรอบข้อมูลและออกแบบเครื่องมือแจงนับ รวมถึงข้อความเห็นจากคนทำงานอีกรอบแล้ว ทางทีมก็ได้ออกแบบพื้นที่ของการแจงนับ โดยแบ่งพื้นที่กรุงเทพฯ ออกเป็น  21 เขต และ 3 ศูนย์พักชั่วคราวของคนไร้บ้าน และจัดการเทรนนิ่งอาสาสมัครและทีมแจงนับทั้งหมด เพื่อสร้างความเข้าใจในการใช้แบบแจงนับ การสังเกต และความรู้ความเข้าใจต่อคนไร้บ้าน ก่อนลงแจงนับคนไร้บ้านจริงในคืนวันที่ 4 กันยายน ที่ผ่าน

ผลการแจงนับเป็นอย่างไร?

การแจงนับคนไร้บ้าน ในเขตกรุงเทพฯ ครั้งนี้ พบคนไร้บ้านทั้งหมด 1,307 คน แบ่งเป็นเพศชาย 1,087 คน (ร้อยละ 83) เพศหญิง 202 คน (ร้อยละ 15) เพศทางเลือก 13 คนและไม่สามารถระบุเพศได้ 5 คน (ร้อยละ 2)

02

ในส่วนของช่วงอายุพบว่าวัยกลางคน (อายุ 40-59 ปี) เป็นช่วงอายุที่มีสัดส่วนมากที่สุด (ร้อยละ 49) รองลงมาเป็นวันแรงงาน (อายุ 19-39 ปี) ร้อยละ 27 และวัยสูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) ร้อยละ 20

การอยู่อาศัยกว่าร้อยละ 90 (1,178 คน) อาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ และร้อยละ 10 (129 คน) อาศัยอยู่ในศูนย์พักชั่วคราว

แผนภาพที่1
แผนภาพที่ 1 ผู้เมาสุราอย่างเห็นได้ชัด

 

แผนภาพที่2
แผนภาพที่ 2 ผู้มีปัญหาทางจิตที่เห็นได้ชัด

ในส่วนของประเด็นสุขภาพ พบว่าในภาพรวมมีผู้เมาสุราที่เห็นได้ชัด (ร้อยละ 11.94) โดยวัยแรงงานมีสัดส่วนผู้ติดสุราที่เห็นได้ชัดสูงที่สุด (ร้อยละ 17) รองลงมาคือวัยสูงอายุ (ร้อยละ 10.90) และวัยกลางคน (ร้อยละ 10.45) เช่นเดียวกับ ผู้มีปัญหาทางจิตที่เห็นได้ชัด มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 9.64 ของภาพรวมทั้งหมด

แผนภาพที่3
แผนภาพที่ 3 สัดส่วนเพศกับการอยู่อาศัยของคนไร้บ้าน

 

แผนภาพที่4
แผนภาพที่ 4 สัดส่วนความพิการกับการอยู่อาศัยของคนไร้บ้าน

นอกจากนี้ มีข้อสังเกตที่น่าสนใจว่า เมื่อพิจารณาสัดส่วนของลักษณะประชากรกับการอยู่อาศัยแล้วพบว่าในศูนย์พักคนไร้บ้านพบสัดส่วนของคนไร้บ้านเพศหญิง (ร้อยละ 31.78) สูงกว่าคนไร้บ้านเพศหญิงที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ (ร้อยละ 13.67) เช่นเดียวกับ ในศูนย์พักคนไร้บ้านมีสัดส่วนคนพิการ (ร้อยละ 15.50) ซึ่งสูงกว่าพื้นที่สาธารณะถึงกว่า 7 เท่า

การแจงนับได้ข้อสังเกตอะไรบ้าง?

การแจงนับนอกจากทำให้ได้จำนวนและลักษณะประชากรของคนไร้บ้าน รวมถึงลักษณะการกระจายตัวทางประชากรคนไร้บ้านในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการอ้างอิงและขับเคลื่อนการทำงานประเด็นคนไร้บ้านแล้ว

การแจงนับครั้งนี้ ยังพบข้อสังเกตข้อมูลที่มีความสำคัญด้วยว่า…

ศูนย์พักชั่วคราวคนไร้บ้าน มีความสำคัญในการดูแลกลุ่มเปราะบางและผู้มีปัญหาทางสุขภาพ กล่าวคือ จากการแจงนับพบว่าศูนย์พักชั่วคราวสัดส่วนของผู้หญิง คนไร้บ้านที่มีความพิการ และมีบาดแผลที่เห็นได้ชัดสูงกว่าในภาพรวมและที่อาศัยในพื้นที่สาธารณะ

คนไร้บ้านสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากเกือบร้อยละ 70 ของคนไร้บ้านที่ถูกแจงนับเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือเป็นอยู่ในช่วงวัยกลางคนไปจนถึงวัยสูงอายุ จึงเป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีคนไร้บ้านที่เป็นผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ศูนย์พักชั่วคราวคนไร้บ้าน ซึ่งเป็นที่พักพิงให้คนไร้บ้าน ที่มีอิสระในการออกไปทำงานและประกอบอาชีพตามวิถีปกติ ยังน่าจะมีส่วนสนับสนุนอย่างสำคัญในการลดความเสี่ยงทางสังคม และทางสุขภาพทั้งกายและจิตของคนไร้บ้าน มิให้สภาพปัญหารุนแรงมากขึ้นตามกาลเวลาด้วยเช่นเดียวกัน ข้อมูลจากการพูดคุยจากพี่น้องคนไร้บ้านจำนวนหนึ่งพบว่าศูนย์พักที่ให้อิสระและความปลอดภัยในการใช้ชีวิตแก้พวกเขา ได้ทำให้สุขภาพทางกายและทางจิตของพวกเขามีสภาพที่ดีขึ้น มิต้องอยู่กับความหวาดระแวงและความไม่ปลอดภัยดังที่พบในพื้นที่สาธารณะ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ