เศรษฐศาสตร์ริมทุ่งของชาวนาสาว

เศรษฐศาสตร์ริมทุ่งของชาวนาสาว

f23f463c-0125-4119-b6ef-ebd7bffa1ef4

เรื่อง: สิริกัญญา ชุ่มเย็น                  ภาพ: ศักย์วริษฐ์ ทะกันจร

ณ ผืนนาเล็กๆ แห่งหนึ่งใน ตำบลทุ่งยั้ง อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ เราได้พบกับหญิงสาวนาม ปรารถนา เณรแย้ม เจ้าของ ‘สวนเพื่อนกิน’ วัย 28 ปี เธอบอกอย่างภาคภูมิใจว่าเธอเป็นชาวนา แม้เพิ่งเริ่มต้นได้เพียง 2 ปี แต่จากคนไม่เคยทำมาก่อน จนถึงวันที่สามารถบรรจุข้าวลงถุงและขายได้ ทำให้เธอเชื่อว่าเส้นทางการเป็นชาวนาในอนาคตไม่ใช่เรื่องยาก ทั้งสำหรับเธอและคนที่คิดเอาดีทางนี้

ปรารถนาชวนเราไปนั่งคุยที่ม้าหินอ่อนหน้ากระท่อมน้อย เธอบอกว่ากระท่อมหลังนี้เพิ่งแปลงเสร็จ ยังขนข้าวของเครื่องใช้มาไม่ครบ แต่มีเจ้าตุ๊กแกตัวหนึ่งมาเฝ้าให้ก่อน จากนั้นชี้ชวนให้ดูแปลงผักปลอดสารพิษที่พ่อกับแม่ช่วยกันปลูกบริเวณสวนด้านหน้า ขณะที่เราคุยกันเรื่องสัพเพเหระก่อนเริ่มคุยกันอย่างเป็นทางการ…  สังเกตเห็นว่าแววตาของเธอในยามที่เล่าถึง ‘วิถีชีวิต’ นั้นช่างดูเปล่งประกาย

เรื่องราวความบังเอิญเริ่มต้นขึ้น หลังความคิดอยากกลับบ้านของคนทำสื่ออย่างเรา วนเวียนอยู่ในหัวมาพักใหญ่ เพื่อหาพื้นที่เล็กๆ ปลูกพืชพรรณธัญญาหารไว้กินเอง วันหนึ่งเราได้พบหญิงสาวคนนี้บนเฟซบุ๊ค บังเอิญกว่านั้น บ้านเกิดและพื้นที่การเกษตรแบบอินทรีย์ที่เธอเพียรสร้างคือบ้านเกิดของเราด้วย และก็บังเอิญ (อีกครั้ง) ที่เรากำลังจะเดินทางกลับบ้าน… การนัดหมายแบบ ‘ตั้งใจ’ เพื่อขอเรียนรู้วิถีการทำเกษตรจากเธอจึงเกิดขึ้น

หลังจบการศึกษาจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อาชีพแรกของปรารถนาคือรับสอนพิเศษ กระทั่งไปเจออาจารย์ที่เคยเรียนด้วยสมัยมัธยม  จึงได้รับคำแนะนำให้ไปสมัครเป็นครูอัตราจ้างที่โรงเรียนชายประจำจังหวัด (โรงเรียนอุตรดิตถ์) ระหว่างนั้นก็ยังคงสอนพิเศษวิชาคณิตศาสตร์ไปตามปกติ

ช่วงเวลานั้นเกษตรอินทรีย์เริ่มเป็นกระแส ปรารถนาเองรู้สึกอยากให้คนในครอบครัวได้บริโภคผลผลิตแบบนี้ ทำให้เธอเริ่มต้นค้นคว้าข้อมูลด้วยความสนใจ ทั้งจากหนังสือ อินเทอร์เน็ต และไปเข้าอบรมที่มูลนิธิข้าวขวัญ กลับจากอบรมไม่นาน เธอจึงตัดสินใจลาออก หลังจากสอนในโรงเรียนได้ 2 ปี

สานฝัน

 470b18c8-5b4b-4a34-ae6f-472b88aad5cf

ลูกสาวชาวนา ที่รู้สึกมาตลอดว่าพ่อแม่ไม่เคยภูมิใจในอาชีพนี้ ช่วงเวลาที่กลับมาอาศัยในชุมชนที่ล้อมรอบไปด้วยทุ่งนาป่าเขา ปรารถนาคิดทบทวนจนได้คำตอบที่ชัดเจนว่า เธอจะต้องลงมือทำเสียที เพราะคิดว่ามีหนทางเปลี่ยนแปลงวิธีคิดบางอย่างเกี่ยวกับการทำเกษตรได้ เนื่องจากคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่ก็มีอาชีพทำนา แต่ไม่ได้ทำอย่างมีความสุข และทันทีที่เธอเอ่ยปากบอกกับพ่อถึงสิ่งที่คิดจะทำ เสียงคัดค้านก็ดังขึ้นอย่างหนักหน่วง “เหนื่อย” “ลำบาก” “คนไม่เคยทำ จะทำได้ยังไง” ที่สุดแล้ว เธอยื่นคำขาดไปว่า หากไม่ให้ทำ ก็จะไปเช่านาคนอื่น…

ในที่สุดพ่อจึงยอมแบ่งพื้นที่ให้ทดลองทำ 2 ไร่ เธอเริ่มต้นทำนาหยอดครั้งแรกด้วยการสั่งซื้อพันธุ์ข้าวไรซ์เบอรี่จากอินเทอร์เน็ต ราคากิโลกรัมละ 75 บาท รวมต้นทุนที่ใช้ไปทั้งหมดราว  4,000 บาท  และเนื่องเป็นช่วงศึกษาหาความรู้ เธอจึงไม่ได้ดูแลเอาใจใส่มากมาย นอกจากหว่านปุ๋ยคอก ระหว่างรอเก็บเกี่ยวก็มีต้นหญ้าขึ้นรกไปหมด แต่เมื่อผ่านพ้นฤดูกาลแห่งการรอคอย ปรารถนาพบว่าปริมาณของผลผลิตที่ได้รับ มากพอที่จะดึงความสนใจของพ่อและแม่ผู้ไม่เคยเชื่อมั่น ให้หันกลับมามองการเริ่มต้นที่งดงามของชาวนามือใหม่ได้

เมื่อก้าวเข้าสู่ปีที่ 2 ผืนนาที่อยู่ติดบริเวณบ้านทั้งหมด 7 ไร่ จึงกลายเป็นความรับผิดชอบหลักของปรารถนา เพราะพ่อแม่เริ่มเห็นแล้วว่าน่าจะมีโอกาสปลูกขายได้ราคาดี  เธอเล่าอย่างอารมณ์ดีว่า สิ่งที่มีติดตัวในเวลานั้นคือทุนรอนเล็กน้อยจากการสอนพิเศษ ความรู้ที่ได้จากการค่อยๆ ค้นคว้า และความเชื่อมั่นเต็มเปี่ยม เธอจึงพิถีพิถันกับทุกขั้นตอน แต่เพราะคุ้นเคยกับการทำนาเคมี พ่อแม่จึงเกิดความไม่มั่นใจว่าวิธีที่ลูกนำเสนอจะได้เรื่องได้ราวนัก เธอคิดว่าอาจมีบ้างที่พวกเขาคิดจะนำปุ๋ยเคมีไปใส่ แต่สุดท้ายก็หันไปช่วยกันดูแลแปลงผักปลอดสารพิษ (ปลอดสารพิษ – ใช้สารเคมี แต่ไม่มีสารตกค้าง) แทน

ในการทำนาแต่ละครั้ง เธอต้องจ้างคนมาช่วย เพราะขั้นตอนการทำเทือกหรือไถกลบ ต้องใช้รถไถ รวมถึงรถดำนา อุปกรณ์ขนาดใหญ่ซึ่งเธอไม่มี จะให้พ่อเช่ารถมาทำเองก็ไม่สะดวกเพราะอายุมากแล้ว ส่วนที่ทำเองได้อย่างหว่านเมล็ด หว่านปุ๋ย เธอก็ทำ แต่หน้าที่หลักของการเป็นชาวนาตามวิถีของเธอคือ คำนวณค่าใช้จ่ายที่ใช้ในขั้นเพาะปลูก ซึ่งจากการทดลองมาระยะหนึ่งพบว่า แม้จะมีการจ้างคน แต่เมื่อหักค่าใช้จ่ายจากการขายผลผลิตแล้ว ก็ยังคุ้มและถูกกว่าการทำนาเคมี เพราะไม่ต้องจ่ายค่าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง

ด้วยเหตุผลที่ว่า “ถ้าเราดูแลธรรมชาติ ธรรมชาติก็จะดูแลเรา” ปรารถนาตั้งใจจะทำพื้นที่บริเวณนี้ให้เป็นไร่นาสวนผสมอินทรีย์  เพื่อวันหนึ่งบริเวณนี้จะได้เป็น แหล่งอาหารสมบูรณ์ แหล่งอาหารที่เริ่มจากการปลูกไว้กิน ทำให้มีทั้งข้าวกล้องหอมปทุม ข้าวไรซ์เบอรี่ มะลิแดง ส่วนผักสวนครัวมีหลากหลายชนิด เช่น คะน้า กวางตุ้ง ผักบุ้งจีน ถั่วฝักยาว และยังมีไข่อินทรีย์ ผลผลิตจากไก่พันธุ์พื้นบ้านที่พ่อเลี้ยงไว้แบบปล่อยตามธรรมชาติ

ปรารถนาเสริมว่า เร็วๆ นี้ เธอวางแผนจะเลี้ยงปลาในนาซึ่งก่อนที่ปลาจะมาเป็นอาหาร มันยังทำหน้าที่กำจัดหญ้าในนาได้อีกด้วย เมื่อผลผลิตที่เป็นผักสวนครัวเกินความต้องการ แม่ก็นำจะไปขายในหมู่บ้าน มีลูกค้าประจำคือร้านก๋วยเตี๋ยว ทำให้ครอบครัวเกิดรายได้ประจำวัน นอกจากนั้นจะฝากไปขายในที่ทำงานของพี่สาว (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) สัปดาห์ละครั้ง

ความนิยมของเกษตรอินทรีย์

ลึกๆ แล้ว ปรารถนามั่นใจว่าเกษตรอินทรีย์สามารถนำไปสู่ความยั่งยืนของอาชีพเกษตรกรได้ คือมีความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และไม่ต้องกังวลถึงความผันผวนของราคาที่รัฐบาลกำหนดมากนัก แม้จะยังมีประสบการณ์ไม่มาก แต่เธอสามารถยกตัวอย่างระบบที่ดีได้

 

4a07dca6-f1b4-48f1-b3e8-096d5b975ee4

“ต่อให้เรามีผลผลิต แต่กระจายสินค้าไม่ได้ มันก็ไม่มีเงินเข้ามา ที่ทำอยู่ก็คือมองว่าตลาดต้องการอะไร เช่น ผักบุ้ง มีคนรับซื้อแน่นอน เราก็ปลูกผักบุ้ง ไม่ใช่ปลูกอย่างอื่นที่เขาไม่อยากกิน ใกล้บ้านมีร้านก๋วยเตี๋ยวกี่ร้าน ก็ไปติดต่อดู เพราะผักเราดีที่ปลอดสาร นี่ก็เรียกว่าทำเป็นระบบแล้ว”

ปรารถนาบอกว่า เธอไม่ถนัดเรื่องการขายหรือสร้างแบรนด์ แม้จะเปิดเพจชื่อ ‘สวนเพื่อนกิน’ ไว้ ตั้งใจจะสื่อสารกับกลุ่มคนที่สนใจข้าวอินทรีย์ ทั้งผู้ที่เป็นลูกค้าและผู้ที่สนใจเรียนรู้วิถีเกษตรอินทรีย์ แต่ก็ไม่ค่อยได้สร้างความเคลื่อนไหวนัก ขณะเดียวกัน เธอก็คิดอยู่เสมอว่า ต้องคิดว่าหาวิธีการสร้างความแตกต่างเพื่อดึงดูดคน ในแง่ผลผลิตที่จะเกิดมูลค่าเพิ่ม เธอยอมรับว่ามีบ้างเล็กน้อย เนื่องจากในกระบวนการผลิตแบบอินทรีย์ต้องใส่ใจเป็นพิเศษทุกขั้นตอน เธอคิดว่าข้าวไม่ใช่แค่ของขาย

“เราไม่อยากกดราคาข้าวที่เราตั้งใจดูแลเขามาตั้งแต่ต้นจนโต คือเราดูแลกันและกัน มาทุกกระบวนการ พอมีคนพูดในทำนองว่าไม่ต้องเป็นอินทรีย์แท้ก็ได้ แต่ราคาของเจ้าอื่นถูกกว่า เราก็เสียใจ เพราะถ้าให้พูดกันตามตรง ตลาดในเมืองไทยก็ยังไม่ได้เห็นประโยชน์ของผลผลิตแบบอินทรีย์เท่าที่ควร ผู้บริโภคยังเน้นราคามากกว่า แต่เรารู้สึกว่าก็ต้องยืนหยัด”

เมื่อตลาดในต่างจังหวัดยังสร้างได้ไม่ง่ายนัก เธอจึงส่งข้าวกลับไปขายในกรุงเทพฯ ทั้งส่งทางไปรษณีย์ นัดรับสินค้าเอง และฝากขายที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากยังมีเพื่อนอยู่ที่นั่น ในราคา 50 – 80 บาท เพราะรู้สึกว่าอยากให้ทุกคนมีโอกาสกิน

ด้วยหยาดเหงื่อ

ใครๆ ก็บอกว่าเป็นชาวนาแล้วจน ความมั่นคงอยู่ตรงไหน ปรารถนายืนยันว่าไม่ได้ต้องการเงินเยอะๆ เพื่อจะเอาไปทำอะไร

“แต่ช่วงแรกกดดันเหมือนกันว่าเราจะทำยังไงให้ขายได้ ซึ่งเรามองแค่ว่า ระบบที่มันดูเหมือนไม่แน่นอน มันสามารถทำให้มีรายได้ประจำ แต่เหมือนเราเพิ่งปรับ เพิ่งทำ มันก็พออยู่ได้ ถ้าถามว่าอยากรวยไหม เราเชื่อว่าวิถีแบบนี้  ถ้าทำระบบดีๆ รวยได้ แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำไหม”

“จริงๆ ทำแบบนี้ก็มีเงินมาหมุนเวียนใช้จ่ายในชีวิตประจำวันอยู่แล้วใช่ไหม” เราถาม

“ใช่” เธอตอบทันที

b20a2783-7a10-408f-beda-9f190e2ac68f

“ด้วยความที่เพิ่งเริ่ม ยังถ่ายทอดถึงความเป็นรูปเป็นร่างของมันไม่ได้ ตอนนี้สำเร็จอยู่ตรงไหน หนึ่ง… เรารู้แล้วว่าทำนาทำยังไง สอง… รู้แล้วว่าปลูกข้าวเราได้กิน พอข้าวออกรวงแล้วมันโคตรดีใจเลย นั่นคืออันแรกที่รู้สึกว่าสำเร็จ แล้วเริ่มขยาย เพราะเรามีวิธีใหม่ๆ มาเรียนรู้

“เราก็พยายามหาวิธีทำนายังไงที่ผู้หญิงคนหนึ่งทำได้ กำลังมองหาอยู่ เช่น อาจไม่ต้องไถเลย เพราะถ้าทุกคนมองว่าทำนาเป็นเรื่องลำบาก แล้วเขาจะอยากทำไหม ทำนาแล้วต้องมีนู่นนี่นั่น แล้วถ้าคนไม่มีล่ะ เราคิดว่ามันน่าจะมีคำตอบให้กับคำถามตรงนี้”

รวมกันเราอยู่

การมีเครือข่ายเกษตรกรจำเป็นแค่ไหน เพื่อให้เกิดความแข็งแรง

“จำเป็นมากนะ เพราะอย่างที่ทำอยู่ มองแค่เรื่องทำนา ไม่ได้ทำไร่นาสวนผสม เรามองว่าอยากให้ชุมชนเข้มแข็ง จะได้รวมกลุ่มได้ เพื่อประโยชน์ในการต่อรองอะไรกันได้บ้าง ไม่ใช่ว่าไปทำอะไรแล้วโดนกดตลอด ได้เท่านี้ก็ต้องเท่านี้ แต่อยากให้ชาวบ้านปรับเปลี่ยนรูปแบบด้วย ถ้าอยากให้ต้นทุนถูกลง ก็ต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำ ที่ไม่ต้องเอาเงินไปเข้ากระเป๋าทุน อย่างพวกปุ๋ย”

อย่างตลาดสีเขียวในอุตรดิตถ์ก็มีที่ศาลากลางจังหวัด เธอเคยไปวางขายอยู่ช่วงหนึ่ง

“ส่วนหนึ่งคือการจะไปวางขายได้ต้องปลอดสาร ต้องได้ GAP (Good Agricultural Practice)  คือถ้าใครไม่มี เขาก็จะให้ความรู้ ให้เข้าระบบว่าทำอย่างไรถึงจะได้ พอทำได้ก็จะให้จังหวัดเข้ามาตรวจ แล้วได้ใบรับรอง ฉะนั้น มาตรการคือทุกคนที่จะมาขายที่นี่ต้องมี GAP คือปลอดสารแน่ๆ

สุดท้าย เธอบอกกับเราว่า ถ้าเป็นเกษตรกรมือใหม่ ควรได้รับความช่วยเหลือด้านความรู้

“มีหลายวิธีที่เราจะไปหาความรู้ คิดว่าควรเริ่มที่ตัวเอง แต่ถ้าเข้มแข็งขึ้น แล้วให้เขามาช่วยในเรื่องงบประมาณ หรือมาตรฐานที่ดีขึ้น ก็เป็นอีกเรื่อง”

ก่อนกลับ เธอมอบข้าวจากสวนเพื่อนกินให้เรากลับไปชิม นับเป็นผลผลิตจากชาวนา สู่มือผู้บริโภคโดยตรงอย่างแท้จริง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ