คำกล่าวลา

คำกล่าวลา

12226396_10156247272880436_1152392378_n

ภาพ: นิธิ นิธิวีรกุล

สารภาพตามตรง, เดิมทีผมตั้งใจว่าคงไม่เขียนอะไรเพื่อเป็นการบอกกล่าวอำลา เนื่องจากการยุติตำแหน่ง บรรณาธิการ เว็บไซต์ AfterShake.Net ในสิ้นปีนี้ ไม่ใช่เรื่องที่ควรนำมาฟูมฟาย ทุกอย่างเป็นไปตามข้อตกลงที่ทำกันไว้ตั้งแต่ต้น.
แต่ที่ตัดสินใจใหม่นั้น เป็นด้วยผมมานั่งทบทวนแล้วว่า อย่างน้อยๆ ตอนเริ่มทำ ผมได้มีการเกริ่นกล่าวถึงที่มาที่ไปไว้ ถึงคราวจะเลิก ก็ควรต้องมีมารยาทกับท่านผู้อ่านที่ให้ความกรุณาติดตามเรา รวมไปถึงนี่น่าจะเป็นโอกาสดีในการสื่อสารอะไรบางอย่างที่ติดค้างในใจ.

ตอนที่มิตรสหายรุ่นน้องท่านหนึ่งชักชวนผมมาร่วมภารกิจ เขาบอกกล่าวกับผมว่า อยากให้ช่วยมาทำคอนเทนส์เกี่ยวกับการ ‘ปฏิรูป’ ผมนั่งมองหน้าเขานิ่งๆ ภายใต้แสงสลัวของร้านอาหารแห่งหนึ่ง โดยมี คุณสิริกัญญา หนึ่งในกองบรรณาธิการนั่งอยู่เคียงข้าง.

มิตรรุ่นน้องยกแก้วขึ้นดื่ม ก่อนเอื้อนเอ่ยต่อว่า.

“เป็นการปฏิรูปแบบที่เราเห็นควร”.

ผมพยักหน้า ตอบรับคำชวนของเขาทันที เพราะรู้ดีว่า ความหมายที่ต้องการสื่อคืออะไร ซึ่งเอาเข้าจริง จากที่รู้จักนิสัยใจคอและความคิดความอ่าน เขาไม่ต้องพูดประโยคหลังออกมาก็ได้.

ในสังคมที่ความขัดแย้งทำท่าจะเกินเยียวยา ใครๆ ต่างก็มีโมเดลการปฎิรูปของตนในใจ แต่สำหรับเรา ในฐานะสื่อสารมวลชน หลังประชุมหารือกันพอสมควรว่าจะทำเว็บไซต์ขึ้น ชื่อที่ถูกอกถูกใจพวกเรามากที่สุดคือ AfterShake แปลแบบตรงตัวเลยคือ ‘หลังจากการเขย่า’ นั่นคือการเขย่าความคิดช้าๆ นำเสนอสารอย่างค่อยเป็นค่อยไป แน่นอนที่สุด ในฐานะสื่อมวลชน มากบ้าง น้อยบ้าง เราควรมีน้ำเสียงท่าทีที่เป็นมิตรกับคนทุกกลุ่ม.

อย่างที่ผมได้เคยเขียนชี้แจงไปแล้วในตอนแนะนำตัวว่า มันคงเป็นการดีที่สังคมไทยจะได้เรียนรู้ในการเปิดพื้นที่ให้คนหลากหลายได้ร่วมแสดงความคิดความเห็น ไม่ผูกขาดอำนาจการจัดการประเทศไว้ที่ใครกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นการกระจายอำนาจไปสู่คนเล็กคนน้อย ทั้งหมดทั้งมวลบนพื้นฐานของการเคารพความแตกต่าง และอยู่ร่วมกันอย่างมีวุฒิภาวะทางปัญญา.

เพราะในสังคมไทยที่ประกอบไปด้วยความหลากหลายอย่างเหลือเชื่อ คงเป็นเรื่องเหนือจินตนาการและขาดน้ำหนักไปหน่อย ที่จะเนรมิตทุกสิ่งได้ในชั่วระยะแค่ไม่กี่ปี มีเพียงกระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่ถูกพิสูจนแล้วว่า สามารถดึงคนจากทุกภาคส่วนมาร่วมกันวินิจฉัยโรคที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่.

เมื่อเราเห็นด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง นอกจากความรู้ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นแล้ว การอดทนอดกลั้นต่อกันและกัน ก็นับเป็นศิลปะอย่างหนึ่งในการอยู่ร่วมกันแบบไม่ต้องหยิบปืนมาไล่ยิงผู้อื่นบนท้องถนน.

ส่วนเนื้อหาที่ทำออกมาสู่สาธารณะ จะเป็นได้อย่างที่เราคุยโวไว้ไหม ข้อนั้นผมขอรับผิดชอบคำตำหนิไว้แต่เพียงผู้เดียว.

ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองตกอยู่ในสภาวะ ‘ไม่ปกติ’ ใครที่พอมีสติและยังพูดคุยกันได้นั้น น่าจะรับทราบเหมือนๆ กันว่า ความเชื่อที่พูดกันอย่างเอาจริงเอาจังว่า มีแต่นักการเมืองเท่านั้นที่โกง และเราสามารถปฏิรูปประเทศโดยไม่ฟังเสียงส่วนใหญ่ได้นั้น.

เป็นเรื่องเหลวไหลโดยสิ้นเชิง.

และไม่ต้องเสียเวลาพูดถึงสาเหตุกันอีก ใครที่ติดตามข่าวสารอยู่บ้างคงพอทราบดี ซึ่งของแบบนี้ ยังพอเข้าใจได้ ก็พฤติกรรมของนักการเมืองแต่ไหนแต่ไรมา มันสร้างความขุ่นเคืองอารมณ์เหลือเกิน แต่การยอมหลับตาข้างเดียว ไม่รู้ไม่เห็นในสิ่งที่กำลังปรากฎอยู่ตรงหน้า ผมว่าเราควรต้องทบทวนกันอย่างเร่งด่วน.

กล่าวสำหรับสื่อสารมวลชน ถ้าไม่นอบน้อมเชื่อฟังผู้ใหญ่จนเป็นนิสัย คงไม่มีใครปฏิเสธใช่ไหมว่า เราทำงานกันได้ยากเพียงใด.

ผมทราบดีว่า มีพี่น้องสื่อมวลชนจำนวนมากที่รู้สึกอึดอัด อยากนำเสนอในสิ่งที่ควรพูด แต่มันทำไม่ได้ และผมเข้าใจดีว่ามิใช่พวกเขาและเธอขาดความกล้าหาญ ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างในโลกความจริงนั่นต่างหาก ที่ขีดเส้นไม่ให้ก้าวเท้าข้ามไป.

ทั้งปัจจัยที่มาจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ และปัจจัยที่ถูกยัดเยียดโดยไม่เต็มใจ.

สุดท้าย ผมขอพูดกับสื่อสารมวลชนทุกท่านที่ตระหนักอยู่ในใจเสมอมาว่า เสรีภาพเป็นสิ่งควรหวงแหน.

ผมขอเป็นกำลังใจให้ และเราเป็นเพื่อนกันครับ.

ด้วยมิตรภาพ
สันติสุข กาญจนประกร
บรรณาธิการ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ