ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ | พาราความขัดแย้ง : ข้อเสนอทางออกสำหรับสาธารณชนที่เอาและไม่เอาการเลือกตั้ง 2 กุมภาฯ

ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ | พาราความขัดแย้ง : ข้อเสนอทางออกสำหรับสาธารณชนที่เอาและไม่เอาการเลือกตั้ง 2 กุมภาฯ

โดย ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี สกว. ภาพ: อนุช ยนตมุติ

คำว่า “พารา” แปลว่าเมือง บ้านเมืองของเราตกอยู่ในเงาของความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ว่าด้วย ปัญหาการครองอำนาจรัฐและฐานแห่งความชอบธรรมในการครองอำนาจนั้น ความขัดแย้งครั้งนี้ทำให้บ้านเมืองแตกแยก ความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนร้าวรานอย่างที่ไม่เคยพบเห็นกันมาก่อน

จะคิดถึงความขัดแย้งครั้งนี้โดยไม่คำนึงถึงเบื้องหน้าเบื้องหลังของคู่ขัดแย้ง ไม่ว่าจะเป็นกปปส.กับรัฐบาลและกลุ่มต่างๆก็คงไม่ได้ ขณะเดียวกันก็คงต้องเข้าใจด้วยว่าความขัดแย้งครั้งนี้เกี่ยวพันกับเงื่อนไขในเชิงโครงสร้างอย่างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมืองกับองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ระหว่างระบบราชการกับระบอบการเมือง และอิทธิพลของทุนที่มีต่อทิศทางการเมืองในประเทศเป็นต้น

แต่ประเด็นขัดแย้งที่ชัดเจนที่สุดขณะนี้ น่าจะเป็นเรื่องการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 รัฐบาล พรรคเพื่อไทย และพรรคการเมืองต่างๆ นปช. และ พันธมิตรสายวิชาการเช่น สปป. เห็นว่า การเลื่อนหรือไม่มีเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้ ขณะที่ฝ่าย กปปส. พรรคประชาธิปัตย์ และ พันธมิตรฝ่ายต่างๆ ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยเฉพาะ กปปส. เห็นว่าต้องทำทุกอย่างเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557

จากมุมมองของการแปลงเปลี่ยนขับเคลื่อนความขัดแย้ง (conflict transformation) ควรต้องเริ่มต้นจากการมองประเด็นขัดแย้งจากมุมมองของคู่ขัดแย้ง คือต้องพยายามเข้าใจว่า ในมุมมองของคู่ขัดแย้งนั้นเองสิ่งที่พวกเขาปรารถนาชอบธรรมด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้นทางออกที่พึงเสนอต้องเป็นทางออกที่ทำให้ ทั้งฝ่ายที่เอาและไม่เอาวันเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 เห็นพ้องต้องด้วย และในยามนี้ก็ควรต้องเป็นทางออกที่เป็นรูปธรรมกระทำได้จริงในเวลาไม่ถึงเดือนที่เหลืออยู่

ทางออกที่เป็นรูปธรรม กระทำได้ภายในเวลาอันสั้น ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและสะท้อนความปรารถนาของคู่ขัดแย้งที่ขัดกันในเรื่องนี้ คือ ให้แก้บัตรเลือกตั้งที่จะใช้ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ให้มีอีกช่องหนึ่งสำหรับผู้มาใช้สิทธิทางการเมืองของตนได้เลือกกาว่า “ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557”

การแก้ไขบัตรเลือกตั้งเช่นนี้ตอบสนองความต้องการของทั้งฝ่ายที่ต้องการให้มีการเลือกตั้งและไม่ต้องการเลือกตั้ง เพราะฝ่ายที่ต้องการเลือกตั้งก็ได้แสดงสิทธิของตนปกป้องประชาธิปไตยจากการเลือกตั้ง ด้วยการเลือกพรรคการเมืองที่ตนประสงค์ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งก็ได้ใช้สิทธิแสดงเสียงของตนว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งครั้งนี้

ในแง่นี้การไปทำบัตรเสียหรือไปกาช่องไม่เลือกพรรคใดหรือกระทั่งไม่ไปใช้สิทธิในวันนั้น แตกต่างจากการกาช่อง “ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557” ตรงที่ การที่ผู้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งเดินออกจากบ้านเรือนของตน ไปยังคูหาเลือกตั้งเพื่อกาช่องดังกล่าว เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของฝ่ายคัดค้านการเลือกตั้งอย่างตรงไปตรงมาที่สุด และยังนับได้ด้วยว่า ที่สุดแล้วมีผู้ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557เป็นจำนวนเท่าใดกันแน่

ผลของการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 จะเป็นอย่างไร?

แม้พรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้ง แต่ถ้านับจำนวนผู้กาช่องไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 แล้วปรากฏว่า มากมายล้นหลามเป็นมวลมหาประชาชนจริง ความชอบธรรมของพรรคที่ได้รับเลือกตั้งก็ย่อมสั่นคลอน ยิ่งถ้าจำนวนดังกล่าวมากกว่าจำนวนคนที่เลือกพรรครัฐบาล ก็หมายความว่า รัฐบาลที่ปรากฏขึ้นจะไม่แข็งแรง ไม่อาจใช้อำนาจบาตรใหญ่ใดๆ ได้ จึงน่าจะหมายความต่อไปด้วยว่า คงไม่อาจแข็งขืนต่อประเด็นสำคัญทางการเมืองที่ฝ่ายต่างๆในสังคมเรียกร้องให้มีการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งได้ พรรคการเมืองที่ขึ้นมาดำรงตำแหน่งคงต้องถูกบีบให้ทำจริงดังที่เคยได้ประกาศแนวทางปฏิรูปไว้ โอกาสที่รัฐบาลเช่นนี้จะอยู่ได้นานก็มีน้อย เมื่อการปฏิรูปที่จำเป็นเสร็จสิ้น ก็อาจยุบสภาเลือกตั้งใหม่อีกครั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลอันเป็นผลจากการปฏิรูปทางการเมืองที่แทบทุกฝ่ายปรารถนาต่อไป

ในทางกลับกัน ถ้าคนที่ไปกาช่องนี้มีน้อย ความชอบธรรมของข้อเรียกร้องต่างๆของกปปส.ก็ย่อมคลอนแคลนไม่อาจกล่าวอ้างได้อีกต่อไปว่า มวลมหาประชาชนของประเทศหนุนหลังอยู่

ถ้ามีช่องให้กาเช่นนี้ในบัตรเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 สาธารณชนที่สนับสนุน กปปส. ก็คงไม่ต้องพยายามทำการต่างๆ ไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง เพื่อจะแสดงเจตนาว่าไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง เพราะในฐานะพลเมืองไทยเขาสามารถทำเช่นนี้ได้ด้วยการกาบัตรเลือกตั้งในช่องดังกล่าว

ยิ่งกว่านั้นช่วงเวลานับจากนี้ กปปส.ก็ไม่จำเป็นต้องไปขัดขวางการเลือกตั้งด้วยวิธีการต่างๆ แต่ไปรณรงค์ให้ผู้คนได้ไปใช้สิทธิกาช่องไม่เอาการเลือกตั้งอย่างเข้มข้น เพราะยิ่งทำได้มากเท่าใด ก็จะยิ่งสะท้อนชัยชนะในการรณรงค์ชิงชัยความชอบธรรมครั้งนี้ได้ชัดเจนขึ้นชนิดที่นานาอารยะประเทศก็คงต้องประจักษ์และยอมรับ ที่สำคัญคือ การทำเช่นนี้ไม่ผิดกฎหมายด้วย (ไม่เหมือนกับความคิดทำอารยะขัดขืนด้วยการฉีกบัตรเลือกตั้ง หรือการรณรงค์ไม่ให้คนไปเลือกตั้ง) เพราะเป็นการรณรงค์ให้ไปเลือกตั้ง(แต่ไปกาช่องไม่เอาการเลือกตั้ง) คนที่สนับสนุน กปปส.ก็ได้ใช้สิทธิของตนโดยชอบ โดยยังสามารถรักษาสิทธิอื่นๆที่รัฐธรรมนูญและพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญให้ไว้ (เช่นสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา)

ที่จริงวิธีการเช่นนี้ไม่ใช่อะไรอื่น แต่เป็นการหวนกลับไปอาศัยพลังแห่งความหมายที่สำคัญที่สุดของการเลือกตั้ง ซึ่งไม่ใช่เพียงเรื่องสิทธิพลเมืองแต่เป็นกลไกของประชาธิปไตยในการแก้ไขความขัดแย้งไม่ให้คนซึ่งเห็นต่างกันในเรื่องคอขาดบาดตายทางการเมืองเผชิญหน้ากันด้วยความรุนแรง วิธีการแก้ไขความขัดแย้งเช่นนี้เริ่มต้นจากการถือว่า ทุกคนเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิมีเสียงด้วยกัน ขณะที่ก็ถือด้วยว่าคนเราเห็นต่างกันอย่างจริงจัง และดังนั้นแก้ความขัดแย้งด้วยกระดาษลงคะแนนไม่ใช่ด้วยปืนผามีดไม้หรือแก๊ซน้ำตา

ถามว่าทำเช่นนี้แล้วได้อะไร? สำหรับฝ่ายที่อยากเลือกตั้งก็ได้ปกป้องประชาธิปไตยผ่านการเลือกตั้ง แต่สำหรับฝ่ายที่ไม่อยากเลือกตั้งก็ได้แสดงให้เห็นว่า พวกตนไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งครั้งนี้โดยไม่ต้องอยู่บนถนน หรือปิดอาคารสถานที่ใดๆอีก เป็นการลดความเสี่ยงจากภัยความรุนแรง เพราะจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นถึงเวลาที่เขียนบทความนี้ ก็มีคนเสียชีวิตไปกับความขัดแย้งครั้งนี้แล้ว 3 คน บาดเจ็บไปก็หลายคน (ไม่นับกรณีรามคำแหง)

วิธีการนี้แก้ทุกปัญหาหรือไม่? คำตอบก็คือวิธีเพิ่มช่องไม่เอาการเลือกตั้งในบัตรเลือกตั้ง ย่อมไม่สามารถแก้ปัญหาต่างๆได้หมดแน่ หลังเลือกตั้งก็ยังจะมีความขัดแย้งต่อไปอีก แต่ความขัดแย้งโดยตัวของมันเองไม่ใช่ปัญหา วิธีการที่เราขัดแย้งกันต่างหากเป็นปัญหา เพราะบางวิธีทำให้สังคมสะดุดติดกับดักแห่งความรุนแรงดังที่สังคมไทยมีประสบการณ์เจ็บปวดมาแล้วหลายครั้ง

ถ้าเช่นนั้นจะแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้ไปทำไม? คำตอบคือ วิธีนี้ก็เหมือน ยาพาราสำหรับความขัดแย้ง ยาพารา (paracetamol)เป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใครๆก็รู้จัก มีไว้ใช้เพื่อแก้ปวดหัวเป็นไข้ แน่นอนยาพาราไม่ได้แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่การแก้อาการอย่างมีไข้ตัวร้อนก็สำคัญ เพราะถ้าปล่อยไว้ให้ไข้สูงเกินขนาดก็อาจมีผลร้ายแรงจนถึงแก่ชีวิตก็ได้เช่นกัน

ทำนองเดียวกันวิธีที่เสนอนี้เป็น”พาราความขัดแย้ง” ที่ไม่ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งที่รากฐาน เพราะทราบกันทั่วไปว่า ถ้าจะทำเช่นนั้นคงต้องดำเนินการปฏิรูปกันในปัญหาระดับโครงสร้างมากมาย แต่วิธีนี้เป็นการลดความเสี่ยงต่อความรุนแรง เคารพสิทธิของทุกฝ่าย เปิดโอกาสให้ใช้กลไกประชาธิปไตยในระบบอย่างการเลือกตั้งช่วยจัดการกับความขัดแย้งเฉพาะหน้า

เพราะถ้าไม่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า แล้วปล่อยให้ความรุนแรงเกิดขึ้นจากปัจจัยเสี่ยงมากหลายที่รายล้อมสังคมอยู่ในขณะนี้ แนวทางประชาธิปไตยและการปฏิรูปทั้งหลายคงต้องถอยกรูดไปหลายก้าว ถ้าเกิดบาดแผลจากความรุนแรงทางการเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นอีก นอกจากความสูญเสียต่อชีวิตของผู้คน ความเจ็บปวดของญาติมิตรแล้ว สังคมไทยก็คงจะอ่อนแอลงทางวัฒนธรรมและความสามารถในการจัดการความขัดแย้งไปอีกนาน



5 มกราคม 2557

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ