น้ำท่วมโขง ในฤดูหนาว

น้ำท่วมโขง ในฤดูหนาว

คำปิ่น อักษร : นักข่าวพลเมือง ออกอากาศ : 31 ธันวาคม 2556

น้ำโขงที่เอ่อท่วมอย่างผิดปกติ หรือที่เรียกว่า “ปรากฏการณ์น้ำหลงฤดู” ได้สร้างผลกระทบและความเสียหายอย่างหนักให้แก่ชาวบ้านที่อาศัยตลอดริมแม่น้ำโขง ตั้งแต่เชียงราย นครพนม มุกดาหาร และเรื่อยมาจนกระทั่งถึง จ.อุบลราชธานี

ระดับน้ำที่บ้านตามุย ต.ห้วยไผ่ อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี เริ่มสูงขึ้น ตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2556 เป็นต้นมา จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม  น้ำจึงค่อยๆ ลดระดับ ชาวบ้านต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์ ถึงผลกระทบและสาเหตุของมวลน้ำที่ไหลเอ่อท่วมสูงขึ้น อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ซึ่งทำให้เครื่องมือประมง และเกษตรริมโขงได้รับความเสียหายอย่างหนัก

“หายไปหมดเลย ลงทุนไปพันกว่าบาท ตาข่ายสูญหายไป 3-4 ตอน  ขับเรือเลาะหาก็ไม่เจอ” ปากคำของบุญนอง ใต้โพธิ์ ชาวประมง บ้านตามุย

ขณะที่ “สวน ขยันการ” ผู้เป็นทั้งชาวประมงและชาวเกษตรริมโขงก็บอกเช่นกัน

“เสียหายเยอะเลย คนที่เขาใส่เยอะ ของตัวเองก็เสียหาย เก็บกู้ไม่ทัน ตาข่าย (มอง) เสียหายไป 2-3 ตอนเลยล่ะ ก็ได้แต่ช่างมัน แล้วไป จะทำอย่างไรได้ จะให้ทำอย่างไร ทุกปีทุกเดือนไม่เคยเป็นแบบนี้นะ ขึ้นปกติ สมัยพ่อแม่เราขึ้นนะ แต่เป็นธรรมชาติ พอน้ำลงก็ลงเลย แต่นี่สิขึ้นมาแล้ว ปลูกผักเต็มโขง น้ำมารวบเอาไปกินหมด ประชาชนคนไทยจะกินอะไรล่ะทีนี้ ให้กินดินก็คงกินไม่เป็นหรอก มันไม่เหลือเลย ท่วมของพ่อ 3-4 แปลงไม่เหลือสักแห่งเลย ไม่เหลือเลย” เขาเล่าไปหัวเราะไป มันเป็นเสียงหัวเราะปนความขนขื่น

“น้ำมันอยู่ในระหว่างนี้ ขึ้นลงๆ อยู่ 3-4 ครั้ง 4 กับครั้งนี้นี่ล่ะ ผมเสียมองไปนี่ 10 กว่าตอนแล้ว เอาไม่ได้ เอาไม่ทัน” แปลง ปัญญาสู้ ชาวประมงอีกคนเล่าให้ฟัง สายตาของเขาทอดออกไปที่สายน้ำโขง

ระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่ท่วมสูงอย่างกะทันหันในครั้งนี้ สร้างความเสียหายไม่น้อย ชาวบ้านกลุ่มที่มีอุปกรณ์เครื่องมือหาปลา เสียหายกว่า 20 ราย ส่วนริมโขงนั้น มีผู้ที่ได้รับผลกระทบ 28 ราย ทั้งนี้ ยังไม่รวมรายย่อยๆ ที่ปลูกผักแปลงเล็กๆ น้อยๆ ไว้เป็นผักสวนครัวด้วย

“แม่วัน : มณีวรรณ ปัญญาสู้” หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบ ได้พาลงสำรวจพื้นที่ความเสียหาย และชี้ให้ดูบริเวณที่น้ำท่วมสวนผักริมโขง ภาพที่เห็นเพียงยอดพืชผักปริ่มน้ำ เป็นเพียงส่วนหนึ่งของเกษตรริมโขงที่ได้รับความเสียหายเท่านั้น

“เก็บไว้เผื่อน้ำลดได้ปลูกกินใหม่ ที่ปลูกไว้คิดว่าพอแล้ว ปลูกถั่วไป 7-8 ก.ก. เริ่มงามแล้วด้วย ถ้าเป็นน้ำฝนเหมือนฤดูฝนมาก็ไม่เสียใจ เพราะเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ น้ำมันขึ้น ลด ลงตามธรรมชาติอยู่แล้ว แต่นี่มันฤดูแล้ง เราเคยปลูกเคยทำ เดือน 11-12 เราปลูกไว้ พอเดือน 3-4 เราก็เก็บผลผลิตขาย ปลูกแล้วก็แล้วไป ไม่เคยเป็นแบบนี้เลยตั้งแต่เกิดมา” แม่วันบอกอย่างนั้น ในปากของหญิงชราเปื้อนน้ำหมากสีแดง มันเป็นสีคล้ายกับแม่น้ำโขงในวันที่น้ำท่วมสูง

ต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น วันที่ 25 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ได้แถลงว่า เหตุที่ระดับน้ำโขงสูงขึ้นอย่างฉับพลันนั้น เป็นเพราะฝนที่ผิดฤดูในทางเหนือของลาว ตะวันออกเฉียงเหนือของพม่า และทางใต้ของยูนนาน ซึ่งเกิดขึ้นครั้งแรกในรอบ 50 ปี

อย่างไรก็ตาม ประชาชนท้ายน้ำในประเทศไทยจำนวนหนึ่งก็ยังไม่ปักใจเชื่อเนื่องจากทางตอนเหนือขึ้นไปนั้น มีเขื่อนจีน 5 แห่งที่กั้นน้ำโขง และอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ระดับน้ำเอ่อท่วมกระทันหัน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คงไม่ใช่ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายอย่างแน่นอน ชาวบ้านต่างพากันวิตกกังวลต่อสถานการณ์ผลกระทบข้ามพรมแดนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

แม่น้ำโขง ในวันที่น้ำลดลงแล้ว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ