คนไร้บ้าน ความเหลื่อมล้ำ และที่ตั้งหลักของชีวิต

คนไร้บ้าน ความเหลื่อมล้ำ และที่ตั้งหลักของชีวิต

ภาพประกอบ2

คอลัมน์: ในความเป็นคน    เรื่อง: อนรรฆ พิทักษ์ธานิน[1]     ภาพศิลปกรรม: จุฑารัตน์ ขยันสลุง

‘บ้าน’ มากกว่าสถานที่พักพิง เพราะมนุษย์ใช้บ้านเป็นทั้งสถานที่พักผ่อน สังสรรค์ รับประทานอาหาร ขับถ่าย ทำงาน และอื่นๆ อีกนับไม่ถ้วน การมี ‘บ้าน’ จึงมีความหมายลึกซึ้ง ทั้งในแง่หลักประกันความมั่นคงของชีวิต การประกอบอาชีพ และการตั้งหลักเพื่อเริ่มชีวิตใหม่ หลายคนที่ถูกเลิกจ้างงาน ได้ใช้บ้านเป็นฐานหลักของอาชีพใหม่ หรือเป็นที่ตั้งหลักในการตรึกตรองถึงชีวิตการทำงานในอนาคต

ในแง่นี้ ‘การไร้บ้าน’ จึงมีนัยของการไร้ความมั่นคงและหลักประกันทางชีวิต และกินความหมายมากกว่าเรื่องของการไร้ที่พักพิงทางกายภาพ

ข้อเขียนตอนที่แล้ว ผมได้ชี้ให้เห็นว่าการเป็นคนไร้บ้าน มีปัจจัยและแรงผลักดันในหลายระดับทั้งในเชิงปัจเจกและโครงสร้างทางสังคมเศรษฐกิจ และการเป็นคนไร้บ้านเป็นการตัดสินใจต่อชีวิตที่ไม่ง่ายนัก

พื้นที่สาธารณะ: พื้นที่อาศัยของคนไร้บ้าน

คนไร้บ้านดูเป็นปรากฏการณ์หนึ่งของความเป็นเมือง และสำหรับประเทศไทย คนไร้บ้านน่าจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อราว 30-40 กว่าปีที่ผ่าน ผมมีข้อสันนิษฐานอย่างหนึ่งว่า สังคมไทยมีลักษณะเช่นเดียวกับสังคมเอเชียจำนวนหนึ่ง ที่กลไกทางวัฒนธรรมมีส่วนช่วยในการจำกัดจำนวนและการขยายตัวของคนไร้บ้าน  ในอดีต สังคมไทยมี ‘วัด’ อันเป็นที่พึ่งพิงหลักและตั้งหลักของผู้คนที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือประสบอุบัติเหตุทางชีวิต  แต่ต่อมาหน้าที่ของวัดได้เริ่มเปลี่ยนแปลงไป เฉกเช่นกลไกทางวัฒนธรรมในสังคมเอเชียอื่นๆ ทำให้จำนวนคนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะเพิ่มจำนวนมากขึ้น

ในปัจจุบัน คนไร้บ้านในกรุงเทพฯ มากกว่าร้อยละ 80 ใช้ชีวิตทั้งกลางวันและกลางคืนอยู่ในที่สาธารณะ ไม่ว่าทางเท้า ใต้สะพาน เกาะกลางถนน สถานีรถไฟ สวนหย่อม/สวนสาธารณะ  แม้พื้นที่สาธารณะจะเป็นที่พักอาศัยของคนไร้บ้าน แต่ยากในการเรียกว่าที่นี่คือ ‘บ้าน’ ของพวกเขา เพราะการอาศัยในที่สาธารณะทำให้ในแต่ละวันคนไร้บ้านต้องประสบกับความไม่มั่นคงในการใช้ชีวิต ไม่เพียงแต่อาชีพและรายได้  แต่รวมถึงความไม่มั่นคงในการขับถ่าย ชำระล้างร่างกาย อาหาร และการหลับนอน ที่ผันแปรไปตามกฎระเบียบของสังคม

พื้นที่สาธารณะจึงมิอาจเรียกได้ว่าเป็น ‘บ้าน’ ของพวกเขา

ผมเคยคุยกับพี่น้องคนไร้บ้านหลายคน พบว่าในแต่ละวัน พวกเขาต้อง ‘เสี่ยงดวง’  ในการหาสถานที่อาบน้ำ ขับถ่าย และซักเสื้อผ้า ที่อยู่ที่นอนอาจปิดตายสำหรับพวกเขาไปเสียดื้อๆ  หรือบางทีต้อง ‘แอบเนียน’ เข้าไปใช้สถานที่ (ที่ต้องห้ามสำหรับพวกเขา) ในการชำระล้างร่างกาย

การ ‘เสี่ยงดวง’ ของพวกเขา หมายถึงความเสี่ยงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตด้วย เนื่องจากพวกเขามีชีวิตอยู่บนไม่แน่นอนของสุขภาวะ ความสะอาด โภชนาการ รวมถึงความหวาดระแวงในการหลับนอนตามที่สาธารณะต่างๆ

การใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะและความเสี่ยงที่คนไร้บ้านต้องประสบพบเจอ เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ทำให้คนไร้บ้านในพื้นที่สาธารณะส่วนมาก ยากที่จะตั้งหลักชีวิตที่มั่นคงและยั่งยืน

ศูนย์พักคนไร้บ้าน: ที่ตั้งหลักชีวิต

ในปัจจุบัน คนไร้บ้านจำนวนหนึ่ง ได้ย้ายที่พักพิงจากพื้นที่สาธารณะสู่ศูนย์พักคนไร้บ้าน ที่ปัจจุบัน มีดำเนินการอยู่ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พักคนไร้บ้าน สุวิทย์ วัดหนู ของมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย บ้านอิ่มใจ ของสำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร และบ้านมิตรไมตรี ของกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

03
ภาพ: ณัฐเมธี สัยเวช

ศูนย์พักคนไร้บ้านเหล่านี้ แม้เป็นที่พักลักษณะชั่วคราว (บางแห่งเป็นที่พักเฉพาะเวลากลางคืน) หากแต่ศูนย์พักเหล่านี้มีหน้าที่อย่างสำคัญในฐานะ ‘ที่ตั้งหลักชีวิต’ ให้แก่คนไร้บ้าน ไม่เพียงทำให้พวกเขาสามารถหลับนอนได้อย่างสนิทกว่าพื้นที่สาธารณะ มีอาหารการกินที่เหมาะสม สามารถดูแลสุขอนามัยของชีวิตได้  และยังช่วยเป็น ‘หลักยึด’ ในระหว่างการหางาน หรือเก็บหอมรอมริบเพื่อสร้างความมั่นคงของชีวิตด้วย

ในทางเดียวกัน คนไร้บ้านในศูนย์พักส่วนหนึ่งยังได้สร้างเครือข่ายในการช่วยเหลือระหว่างกัน และรวมตัวออกมาเช่าที่อยู่อาศัยภายนอกร่วมกันเพื่อตั้งหลักในการทำมาหากินและมีชีวิตที่มั่นคงอีกครั้ง  ขณะเดียวกันศูนย์พักแต่ละแห่งก็ยังมีแผนงานสนับสนุนทั้งในด้านการประกอบอาชีพและการหางานด้วย ภายใต้งบประมาณและบุคลากรที่ค่อนข้างจำกัด

นโยบายที่อยู่อาศัยและการเปลี่ยนผ่านชีวิต

คนไร้บ้านเป็นปรากฏการณ์ที่สัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับประเด็นและนโยบายด้านที่อยู่อาศัย ทั้งนี้เราอาจแบ่งความสัมพันธ์นี้ออกได้ 2 ระดับ

ระดับแรก คือ ระดับของการเป็นคนไร้บ้านที่ต้องการสถานที่พักพิงในการเป็นที่ตั้งหลักและพัฒนาศักยภาพชีวิตดังที่กล่าวมาข้างต้น

ระดับที่สอง คือ ระดับของกลุ่มเสี่ยงที่จะมาเป็นคนไร้บ้าน ทั้งกลุ่มที่มี “ความเปราะบาง” ของที่อยู่อาศัย[2] และกลุ่มที่ออกจากบ้านด้วยสาเหตุต่างๆ ผู้พ้นโทษ และผู้ป่วยเรื้อรัง ล้วนมีความสัมพันธ์และความต้องการสถานที่พักพิงที่มีส่วนช่วยตั้งหลักชีวิตในระยะเปลี่ยนผ่านของพวกเขา

01

ในแง่นี้ นโยบายที่อยู่อาศัย จึงควรดำเนินการทั้งในระดับสนับสนุนกลุ่มที่มีความเปราะบางในที่อาศัยให้สามารถมีที่พักพิงที่มั่นคงและยั่งยืน และในระดับของศูนย์พักพิงที่มีส่วนในการตั้งหลักของคนไร้บ้าน และกลุ่มคนที่เพิ่งออกจากบ้านหรืออยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านของชีวิต

นอกจากนี้ นโยบายที่อยู่อาศัย ควรเป็นสิ่งที่มาพร้อม ‘กลไกการส่งต่อ’ ผู้พ้นโทษ ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้ป่วยทางจิตด้วย เนื่องจากปัจจุบันยังขาดการทำงานระหว่างหน่วยที่ดูแลเดิมกับครอบครัวหรือชุมชน ซึ่งทำให้พวกเขาขาดการยอมรับและการดูแลเมื่อกลับไปยังครอบครัวของพวกเขา และพบคนไร้บ้านที่มาจากคนกลุ่มดังกล่าวนี้ค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนหนึ่งพวกเขาต้องได้รับการดูแลทางสุขภาพเป็นพิเศษอย่างต่อเนื่อง

จากที่กล่าวมาทั้งหมด ‘บ้าน’ หรือ ‘ที่อยู่อาศัย’ จึงมีความหมายและความสัมพันธ์เชื่อมโยงมากกว่าที่คุ้มหัวยามหลับนอน  ‘บ้าน’ เปรียบเสมือนดังเครื่องไม้เครื่องมือในการลุกขึ้นเพื่อไปต่อของชีวิต

“ที่นี่พวกเราเรียกว่าที่ตั้งหลักของชีวิต ที่ทำให้พวกเรากินอิ่มนอนหลับ เพื่อลุกขึ้นสู้อีกครั้ง” เป็นประโยคที่ ลุงดำ ผู้อาวุโส แห่งเครือข่ายคนไร้บ้าน กล่าวย้ำหลายต่อหลายครั้ง

—–

[1] นักวิจัยประจำโครงการเครือข่ายวิชาการเพื่อสังคมเป็นธรรม  และหัวหน้าโครงการวิจัยโครงการการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านและการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายอย่างเป็นระบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (สนับสนุนโดย สสส.) anukpn@gmail.com

[2] ไม่ว่าจะเป็นการได้รับผลกระทบจากการไล่รื้อชุมชนโดยปราศจากแผนรองรับ การมีหนี้สินของที่อยู่อาศัยที่มากกว่าศักยภาพในการจ่าย หรือการอยู่อาศัยในสภาพที่มีความเสี่ยงต่างๆ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ