แปลและเรียบเรียง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ
“ความลับของเธอจะปลอดภัยเมื่ออยู่กับฉัน” เหมือนโปรเจ็กต์บอร์ดดิจิทัลอาร์ต (Digital Arts) ที่สถานีรถไฟ ไบรตัน ประเทศอังกฤษกำลังบอกแบบนี้ในขณะที่มันกำลังโชว์คำสารภาพของบุคคลนิรนามไปเรื่อยๆ
หรือนี่จะเป็นเพียงแค่การปลดปล่อยอารมณ์ของใครสักคน หรือกิจกรรมพิเรนทร์ๆ ของพวกชอบป่วน
ระหว่างวันที่ 21-27 กันยายนนี้ The Waiting Wall จะโยนความคิดส่วนตัวของใครก็ตามใส่สายตาสาธารณะโดยการจัดแสดงมันไว้ในบอร์ดโฆษณาดิจิทัลประจำสถานีรถไฟไบรตัน ข้อความเกี่ยวกับคำสารภาพต่อการใช้ชีวิตเคลื่อนไหวเป็นสายธารในบอร์ดดิจิทัลโดยไม่มีการลงชื่อกำกับ มันปะปนอยู่กับโฆษณาปกติตัวอื่นๆ
Alan Donohoe นักดนตรีและนักพัฒนาซอฟแวร์ (Software developer) ร่วมมือกับครีเอทีฟคู่หูของเขา Steven Parker คิดโปรเจ็กต์ The Waiting Wall ขึ้นเพื่อเทศกาลเฉลิมฉลองวัฒนธรรมดิจิทัลในไบรตัน (Brighton digital festival) โดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือ Religion for Atheists ที่ตีพิมพ์ในปี 2555 ของ อัลเลน เดอ โบตอง (Alain de Botton)
ง่ายๆ และสามัญ ไอเดียของ The Waiting Wall ก็คือความคิดในหัวของคนธรรมดาๆ นี่แหละที่มีพลังมากพอจนสามารถนำไปแปะไว้บนบอร์ดโฆษณาและฉายได้เลยทั่วเมือง อีกนัยหนึ่งโปรเจ็กต์นี้ก็สื่อสารล้อกับเรื่องราวของกำแพงร้องไห้ (Wailing Wall) ที่กรุงเยรูซาเล็ม (Jerusalem)ด้วย
Donohoe เชื่อมสิ่งที่เขาอยากนำเสนอให้เข้ากับโลกจริงในชีวิตประจำวัน ไอเดีย ‘กำแพงร้องไห้ในบอร์ดดิจิทัลทางโลก’ (secular, digital Wailing Wall) จึงคลอดออกมาเป็นข้อความสั้นผลุบๆ โผล่ๆ ขึ้นระหว่างโฆษณาประกันรถยนต์ และมันฝรั่งทอดที่สถานีรถไฟไบรตัน คุณสามารถอ่านความคิดลึกตื้นหนาบางของคนแปลกหน้าที่เลือกสุ่มมาจาก 100 กว่าข้อความ หรือความเลวร้ายโรยราของพวกเขาได้เลย กำแพงร้องไห้ดิจิทัลอนุญาตให้คุณวนไปวนมาในโลกแห่งความคิดของคนอื่นได้ประมาณ 2 นาที
เหมือนเป็นเวลาแค่ 2 นาทีหรือตั้ง 2 นาที
ข้อความส่วนมากมักอยู่ในหมวดหมู่ของการสารภาพยามค่ำคืน คุมโทนสีเทาชัดเจน เหงาจับใจในตัวอักษร รู้สึกอาดูรกับความสัมพันธ์ที่กลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ ความสำเร็จ และร่องรอยความกังวล การงานและครอบครัว ไปจนถึงความล้มเหลวแสนแห้งเหี่ยวในชีวิต นักดนตรีหนุ่ม Donohoe อ้างถึงความกดดันทางสังคมที่รั้งให้คนต้องใช้ความสุขสำเร็จรูปเป็นแรงขับเคลื่อนในการทำงาน
“เรามักจะถูกกรอกหูอยู่เรื่อยๆ ว่าต้องมีความสุขตลอดเวลา แต่ความจริงมนุษย์ไม่ได้สมบูรณ์แบบขนาดนั้น เราสามารถทำเรื่องผิดพลาดร้ายแรงได้ และไม่วายโดนหลอนอยู่กับเรื่องความรักที่จากเราไปหรือความล้มเหลวในชีวิต ผมเข้าใจว่าการที่ใครสักคนจะออกมาบอกว่าเขามีปัญหาที่ควรค่าต่อการแบ่งปัน เป็นเรื่องต้องห้าม (taboo) ใหญ่หลวงในสังคมอยู่” เขาชี้แจง
ไอเดีย The Waiting Wall ค่อนข้างพุ่งเข้าใส่ Donohoe ในเวลาที่ถูกที่ควร เพราะเขากำลังยืนรอรถไฟอยู่ที่สถานีไบรตันนี่แหละ
“ผมรู้สึกตอนนั้นเลยว่าที่นี่มันใช่ เพราะมีความรู้สึกแปลกๆ ที่ติดมา เวลายืนรอรถไฟในสถานที่วุ่นวายจัดๆ เป็นที่ที่เราอยู่แค่เดี๋ยวเดียวก็ต้องจากไปแล้ว” เขาเสริม
ถึงแม้ว่า Donohoe จะสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ล้มล้างการรับรู้เดิมๆ ด้วยการดึงผู้คนให้มองเห็นความคิดมืดหม่นสิ้นหวังระหว่างโทนสายรุ้งของโฆษณาธนาคารและเบียร์ แต่ก็ใช่ว่าโปรเจ็กต์กำแพงร้องไห้นี้จะผ่านฉลุยโดยไม่มีกำแพงอะไรเลย The Waiting Wall ใช้เวลาในการต่อรองกับองค์การสังคมสงเคราะห์อยู่เป็นเดือนๆ กว่าจะสำเร็จ องค์กร Samaritan และ Mind ยื่นมือเข้าช่วยในการระดมทุน แต่ก็ไม่สำเร็จอีกเช่นกัน จึงช่วยสนับสนุนด้านข้อมูลแทน ไล่ไปจนถึงปัญหาของการจัดการในสถานีและผู้จำหน่ายโฆษณา JCDecaux แต่สุดท้ายโครงการ Free the Trees ก็สามารถขอแรงหนุนจากสมาคมศิลปะในการช่วยเช่าพื้นที่ในบอร์ดโฆษณาใหญ่ของสถานีได้ การวางแผนงานจึงเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา
แต่การเปิดข้อความนิรนามต่อสาธารณชนก็เป็นเรื่องที่ดูเสี่ยงไม่น้อยเลยในยุคนี้ Donohoe ไม่กลัวหรือว่าเขาอาจโดนสังคมประชาทัณฑ์
“ความจริงสิ่งที่จับใจผมคือการได้รู้ว่า ข้อความหลายๆ ข้อความมีความหมายในตัวมันมากแค่ไหน เพราะจริงๆ เรื่องเหล่านี้อาจเป็นแค่สิ่งที่หนักกว่าเปลือกตาในเวลากลางคืน พวกเรื่องความรักที่จากเราไป ความล้มเหลวในชีวิตหรือการดำรงชีวิตอยู่ และยังมีข้อความสวยงามหลายชิ้นเลยที่พูดเกี่ยวกับเรื่องความเศร้า” เขากล่าว แล้วกระแสตอบรับที่คาดไม่ถึงล่ะ
“มีคนจิตใจดีงามบางคนได้อ่านข้อความดาร์คๆ พวกนี้แล้วพยายามทำสถานการณ์ให้สวยงามขึ้น พวกเขาสวมบทเป็นผู้ปลอบประโลมและพิมพ์ข้อความจรรโลงใจเข้าไปบ้าง ซึ่งมันผิดจุดสุดๆ เลยครับ! บางครั้งก็เจอพวกสแปม เช่น โดนัทฟรีทางนี้ครับ! ล้อเล่นน่ะ ลองเข้ามาในเว็บไซต์ผมดูสิ อะไรแบบนั้น ความจริงเรากะจะไม่กรองสารพวกนี้เลยเพราะอยากให้มีความสดใหม่ แต่สุดท้ายก็ต้องตรวจสอบเพื่อไม่ให้มีอะไรไม่ดีหลุดออกไป เราพยายามชั่งน้ำหนักให้ข้อความเป็นเสรีมากเท่าที่เราจะทำได้ แต่ก็ต้องกันไม่ให้มีวาจาที่สร้างความเกลียดชัง (Hate speech)หลุดออกไปด้วย”
คงเป็นฉากที่น่าสนใจทีเดียวถ้าได้เห็นว่าคนที่สัญจรไปมาแถวนั้นจะมีท่าทีอย่างไรกับข้อความลึกซึ้ง ดิบๆ เหล่านี้ ในขณะที่พวกเขากำลังเคี้ยวครัวซองชืดๆ และก่นด่ารถไฟที่ยังมาไม่ถึงเสียที
“ผู้คนน่าจะรู้สึกสบายใจที่มีพื้นที่ในการแบ่งปันความคิดของพวกเขา อย่างที่โบตองเขียนไว้ในหนังสือของเขาว่า มีคำถามจำนวนมากที่เกิดในชีวิตเรา แต่ไม่มีใครเขียนคำตอบไว้เลย ในขณะที่มันมีภาวะการปลอบประโลมบางอย่างที่ทำให้เรารู้ว่าไม่ได้เป็นคนเดียวในโลกนี้ที่ถูกลงโทษ เรากำลังต่อสู้อยู่กับสิ่งเดียวกันกับที่คุณสู้อยู่นั่นแหละ” เขาคาดหวัง
“เราอยากทำให้สเกลมันใหญ่ขึ้นอีกในปีหน้า ความฝันของเราคือมีการทำให้ข้อความพวกนี้เดินทางไปเล่นอยู่ในจอของ Times Square สักวันหนึ่ง…
“แต่ใครจะไปรู้ล่ะ”
——-
ดูข้อมูลและเขียนข้อความออนไลน์ใน the Waiting Wall ได้ที่ http://www.thewaitingwall.com/thewall
http://brightondigitalfestival.co.uk/event/the-waiting-wall/