นักข่าวพลเมือง : ทะเลไทย…ทำลายเพื่อสร้างใหม่ หรืออนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่

นักข่าวพลเมือง : ทะเลไทย…ทำลายเพื่อสร้างใหม่ หรืออนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่

ทะเลไทย…ทำลายเพื่อสร้างใหม่ หรืออนุรักษ์ไว้ให้คงอยู่

ธรรมชาติ คือ แม่แห่งชีวิตที่ต้องใส่ใจและเรียนรู้ ทั้งป่าเขา หรือแม้กระทั่งทะเล ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่สถานที่ท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ยังเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำรวมถึงเป็นแหล่งทำมาหากินของชาวบ้าน ซึ่งเป็นบ่อเกิดของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันดีงามของชุมชน   

เป็นเวลากว่า 6 เดือน ที่ ‘ประสาท นิรันดรประเสริฐ’ ศิลปินอิสระที่สนใจสิ่งแวดล้อมได้ออกเดินทางปั่นจักรยานไปกว่า 11 จังหวัดในภาคใต้ คือ กระบี่ พังงา ภูเก็ต ระนอง ชุมพร สุราษฎ์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา  สตูล และตรัง โดยมีระยะทางทั้งหมด 3,638 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม-23 กันยายน 2557 รวม 6 เดือน 13 วัน เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิตของคนในแต่ละชุมชนรวมถึงธรรมชาติสองฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามัน โดยถ่ายทอดเรื่องราวที่พบเจอระหว่างการเดินทางด้วยภาพวาดสีน้ำ ซึ่งครั้งนี้ได้จัดการแสดงในนิทรรศการจักรยานเร่ วาดทะเลสองฝั่ง

ประสาท นิรันดรประเสริฐ กล่าวว่า สิ่งแวดล้อมทางภาคใต้ที่ตนลงไปช่วยหลายปีนั้น  ทำให้มีความรู้สึกอยากจะทำงานศิลปะสักชุดหนึ่งเกี่ยวกับทะเลภาคใต้

“เราไม่มีรถไม่มีเงิน ก็เลยใช้จักรยานเดินทาง ทะเลไทยมีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร ก็เลยพยายามจะสื่อสารด้วยภาพวาดแล้วก็ฉีกมัน

จริงๆ รูปวาดเนี่ย ฉีกเราก็วาดใหม่ได้ แต่ว่าความสำคัญไม่ได้อยู่ตรงนั้น ความสำคัญก็คือ ถ้าธรรมชาติถูกทำลายมันเอาคืนมาไม่ได้ ภาคใต้กำลังจะถูกพัฒนาให้เป็นเมือง

อุสาหกรรมเกือบทั้งภาคเลย มีทั้งท่าเรือน้ำลึก ทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินมันกระทบ แล้วทะเลนี้ถือเป็นแหล่งอาหารของเรา” ประสาท เล่าถึงแนวคิดการสร้างงานศิลปะของเขา

สิ่งที่เขาได้พบเจอ จากการเดินทางแต่ละครั้ง นอกเหนือจากภาพวาดที่ถ่ายทอดเรื่องราววิถีชีวิตของคนในแต่ละชุมชน ก็คือ ความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศใต้ทะเล หากความอุดมสมบูรณ์เหล่านั้นหายไปเราจะรู้สึกอย่างไร นี่คือเสียงพูดของความคิดจากผู้เข้าเยี่ยมชมนิทรรศการ

ธนพร เกาะแก้ว นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนสตรีวิทยา กรุงเทพฯ บอกว่า น่าเสียดาย ถ้าเกิดวันหนึ่งจะไม่ได้เห็นมันอีกแล้ว มันก็เหมือนส่วนหนึ่งของประเทศไทยหายไป

ทางด้าน ธนวันต์  แซ่ตัน นักศึกษามหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยราชมงคลพระนคร วิทยาเขตพระนครเหนือ  มองว่าสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นเหมือนเป็นดาบสองคม

“ส่วนดีก็คือเศรษฐกิจเราคงดีขึ้น เพราะว่าพวกต่างชาติก็คงมาผ่านทางนี้เยอะ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็คือ ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ถ้าเกิดมันต้องเปลี่ยนไปหรือว่าเสียหายไปมันก็แย่นะ”

เช่นเดียวกับสร้อยสุดา ไชยเหล็ก นักศึกษาปริญญาโท จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่าการหยุดและรักษาให้ทุกอย่างคงอยู่เหมือนเดิมอาจไม่ใช่แนวทางของโลกยุคนี้

“เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเดี๋ยวนี้โลกมันต้องพัฒนาขึ้น เราจะไปฉุดรั้งให้ทุกอย่างอยู่มันเหมือนเดิมก็คงเป็นไปไม่ได้ แต่ว่าหน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาดำเนินการควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการพัฒนาที่มีความสมดุล ให้ธรรมชาติยังคงอยู่ แต่อุตสาหกรรมก็ยังสามารถก้าวไปพร้อมๆ กันได้”

สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน-12 กรกฎาคม 2558 บริเวณห้องโถงชั้น L หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร และสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ bacc.or.th

ติดตามจากนักข่าวพลเมือง C-REPORTERS
ออกอากาศวันที่ 9 กรกฏาคม 2558 เวลา 12.00 น.

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ