วิกฤตผู้ลี้ภัย… บทพิสูจน์ความอาทรของประชาคมโลก

วิกฤตผู้ลี้ภัย… บทพิสูจน์ความอาทรของประชาคมโลก

02

เรื่อง: กองบรรณาธิการ ภาพ: สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ

วันที่ 14 กันยายน ที่ผ่านมา คณะรัฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์ และสำนักเครือข่ายสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส ร่วมกันจัดสัมมนา หัวข้อ การเมืองแห่งความอาทร : วิกฤตผู้ลี้ภัยในยุโรปและเอเชีย ณ ห้องประชุม ร103 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์  โดยมีวิทยากรร่วมสัมมนาคือ คุณโรยทราย วงศ์สุบรรณ เครือข่ายที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ, อดีตเจ้าหน้าที่ International Rescue Committee (IRC)/ ผศ.ดร. นฤมล ทับจุมพล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย/ ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำเนินรายการโดย ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

งานสัมมนาเริ่มต้นขึ้นด้วยการกล่าวถึง ภาพการเสียชีวิตของเด็กชายอายุ 3 ขวบ ชาวเคิร์ทจากซีเรีย บริเวณชายทะเลตากอากาศของตุรกี จากเหตุการณ์เรือผู้อพยพล่ม

“นี่เป็นภาพที่เปลี่ยนแปลงโลก สั่นสะเทือนอารมณ์ความรู้สึกที่เรียกว่า ‘ความอาทร’ ของประชาคมโลก หรือการตระหนักรู้ของผู้คนเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยอย่างเห็นได้ชัด” ศ.ดร. ชัยวัฒน์ กล่าว

เด็กน้อยคนนี้เป็นเพียงเหยื่อคนหนึ่งในจำนวนเหยื่ออีกนับไม่ถ้วน แน่นอน เราสามารถอธิบายได้ว่า เหตุผลที่เป็นเช่นนี้ เพราะสงครามกลางเมืองในซีเรีย ซึ่งเป็นการเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ของหลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลาง ทั้งหมดนำมาสู่โศกนาฏกรรมแบบนี้ คำถามคือ ทำไมเราต้องรอจนเห็นภาพที่น่าสลด ถึงรู้สึกอะไรบางอย่าง สิ่งที่เราเห็นเป็นปลายเหตุของปัญหาทางการเมืองนับไม่ถ้วนที่เกิดขึ้น ปัญหาประการหนึ่งคือนโยบายของรัฐ อีกอย่างคือกฎหมายที่คุมอยู่ คือกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในประเทศที่ส่งผลกระทบต่อผู้ลี้ภัย…

“เป็นบุคคลที่อยู่ในประเทศที่ตัวเองอยู่อาศัยไม่ได้ ต้องการความคุ้มครองจากรัฐประเทศอื่น อาจเพราะตกอยู่ในภัยสงคราม หรือถูกประหัตประหาร จากความคิดเห็นทางการเมือง เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา หรือแม้กระทั่งเพศ กรณีหลักๆ ที่เราเคยได้ยินกันอาจเป็นการทำร้ายกลุ่มรักร่วมเพศในประเทศรัสเซีย

โรยทราย วงศ์สุบรรณ

นิยามคำว่า ผู้ลี้ภัย

เริ่มมีการกำหนดความหมายในหลายประเทศ เมื่อปี 1951 ตามอนุสัญญาผู้ลี้ภัย มีคำจำกัดความเฉพาะว่าเป็นบุคคลที่อยู่ในประเทศที่ตัวเองอยู่อาศัยไม่ได้ ต้องการความคุ้มครองจากรัฐประเทศอื่น อาจเพราะตกอยู่ในภัยสงคราม หรือถูกประหัตประหาร จากความคิดเห็นทางการเมือง เชื้อชาติ สีผิว ศาสนา หรือแม้กระทั่งเพศ กรณีหลักๆ ที่เราเคยได้ยินกันอาจเป็นการทำร้ายกลุ่มรักร่วมเพศในประเทศรัสเซีย ซึ่งทำให้ผู้คนที่เป็นรักร่วมเพศไม่สามารถทำได้แม้แต่จะเดินบนถนน เพราะว่าอาจโดนอันธพาลกลั่นแกล้ง

ทำไมโลกต้องให้ความสำคัญกับคำว่า ผู้ลี้ภัย

เพราะพลเมืองทุกคนอยากอยู่อาศัยอย่างปลอดภัย ตื่นเช้าขึ้นมาออกไปแสวงหางานสุจริตทำได้ แต่ผู้ลี้ภัยเป็นกลุ่มคนที่ในพื้นที่ที่เขาอาศัยอยู่เดิมมีความเป็นอันตรายหรือตัวเขาเองมีคนจ้องทำร้าย และรัฐบาลไม่สามารถคุ้มครองได้ ไทยเองก็มีประวัติการดูแลผู้ลี้ภัยมาตั้งแต่สงครามเวียดนาม-อินโดจีน เราจะได้ยินคำว่า ผู้ลี้ภัยทางเรือ ตั้งแต่ตอนนั้น

ส่วนในประเทศไทย เนื่องจากไม่ได้รับรองอนุสัญญาว่าด้วยผู้ลี้ภัย เวลารัฐบาลได้ยินคำว่าผู้ลี้ภัย หรือผู้ที่หนีภัยความตาย ที่ต้องการเข้ามาขอความคุ้มครองในเขตประเทศไทย รัฐแบ่งการจัดการเป็น 2 กลุ่ม คือ หนึ่ง… กลุ่มคนที่ไม่ได้มีเชื้อชาติพม่า หรือไม่ได้หนีมาจากพม่า ขณะนี้รัฐบาลไทยก็ทำงานร่วมกับ UNHCR (สำนักงานข้าหลวงใหญ่แห่งสหประชาชาติว่าด้วยผู้ลี้ภัย) ในการพิจารณาว่า คนคนหนึ่งที่อ้างว่าเขาอยู่ในประเทศตัวเองไม่ได้ หนีภัยประหัตประหารมาไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตาม เป็นเรื่องจริงหรือไม่

มันไม่ได้หมายความว่าทุกคนที่อ้างว่าตัวเองต้องการความคุ้มครองจากประเทศอื่น จะได้รับความคุ้มครองทันที ต้องมีการสัมภาษณ์ดูก่อนว่าทำไมถึงหนีมา เกิดอะไรขึ้น ทำไมรัฐบาลตัวเองถึงล้มเหลว ในการดูแลให้มีชีวิตปลอดภัย โดยขั้นตอนการยื่นขอสถานะผู้ลี้ภัยเรียกว่า Asylum Seeker ถ้าได้สถานะแล้วก็กลายเป็นผู้ลี้ภัย

ส่วนที่ 2 คือ… ผู้หนีภัยการสู้รบจากประเทศพม่า เหตุผลที่ไทยไม่ได้ให้ UNHCR มาพิจารณาเรื่องสถานะของผู้หนีภัยการสู้รบจากพม่า เนื่องจากจำนวนที่เยอะเป็นหลักแสน และเป็นการที่เราให้สถานะเป็นแบบกลุ่ม ซึ่งคล้ายในหลายๆ ประเทศทั่วโลก เช่น ตุรกี จอร์แดน เลบานอน เวลาเขาเห็นคนจากซีเรีย อิรัก

หรือตามสถานที่ดูแลผู้ลี้ภัยจำนวน 2 ล้านคน เขาก็ไม่ได้มานั่งสัมภาษณ์เป็นรายบุคคลว่า ทำไมถึงมา หมู่บ้านเกิดระเบิดเมื่อไหร่ ใครเข้าไปรังแก เขาก็จะให้การคุ้มครองชั่วคราว เรารับรู้กันได้ว่า  สถานการณ์ของประเทศที่เขาหนีมามันไม่สงบสุข ไม่ว่าคุณจะอยู่ประเทศนั้นในสถานะชาวบ้านธรรมดา ผู้นำหมู่บ้าน หรือมีอิทธิพลทางการเมือง เป็นทหารหรือไม่ คุณก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าไม่ปลอดภัย เวลาหนีข้ามมา รัฐก็จะอนุญาตให้อยู่อาศัยแบบกลุ่มไปก่อน แล้วค่อยมีพิจารณาบันทึกประวัติอีกที

ส่วนในยุโรป มีการใช้กระบวนการทางศาลมาพิจารณาสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งศาลเป็นผู้พิจารณาให้สถานะว่าจะอาศัยอยู่ในยุโรป หรือรอวันกลับคืนถิ่น และก็มีข้อเท็จจริงที่ว่า คนทั่วไปมักมองผู้ลี้ภัยว่าหนีไปประเทศร่ำรวย รอเข้าเยอรมนี ซึ่งมีสวัสดิการดี แต่จริงๆ แล้ว ประเทศที่มีน้ำใจให้ผู้ลี้ภัยที่ติด 5 อันดับ ของโลก กลับกลายเป็นประเทศที่อยู่ในฐานะมีรายได้ต่ำ บางประเทศก็เป็นประเทศพัฒนาขนาดกลาง

อย่างเมืองไทยเองมีประวัติศาสตร์ดูแลผู้ลี้ภัยมายาวนาน 30 กว่าปี ค่ายผู้ลี้ภัยในเมืองไทยใหญ่สุดประมาณ 50,000 คน แต่ใน จอร์แดน เลบานอน ตุรกี ปากีสถาน หรือประเทศในแอฟริกาจำนวนมาก ค่ายหนึ่งอยู่กัน 500,000 คน เป็นเมืองผู้ลี้ภัยเมืองหนึ่ง มีเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีการออกแบบพิเศษเฉพาะ เป็นภาพผู้ลี้ภัยของโลก

“ทำไมเราถึงต้องพิสูจน์ว่าใครคือผู้ลี้ภัย ทำไมสถานะผู้ลี้ภัยถึงสำคัญนัก จริงๆ ทุกประเทศทั่วโลกยังต้องการควบคุมพรมแดนและการเข้าออกของผู้คน แต่ว่าคำว่าผู้ลี้ภัย เกิดมาจากที่รัฐต่างๆ เข้าใจตรงกันว่า วันหนึ่ง เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เกิดขึ้นได้กับทุกประเทศบนโลกนี้ ทำให้ประชาชนอยู่อาศัยไม่ได้”

04

เกณฑ์ในการพิสูจน์สถานะของผู้ลี้ภัย

ประเด็นผู้ลี้ภัยเป็นประเด็นการเมือง ไม่เหมือนประเด็นช่วยเหลือมนุษยธรรมอย่างอื่น เช่น ภัยพิบัติ ทำไมผู้ลี้ภัยจึงเป็นประเด็นการเมือง? เพราะคือผลจากการกระทำของมนุษย์ ฉะนั้น อาจหนีโดยเหตุแห่งความเกลียดชังหรือผลกระทบของการไม่มีทางออกทางการเมือง

ทำไมเราถึงต้องพิสูจน์ว่าใครคือผู้ลี้ภัย ทำไมสถานะผู้ลี้ภัยถึงสำคัญนัก จริงๆ ทุกประเทศทั่วโลกยังต้องการควบคุมพรมแดนและการเข้าออกของผู้คน แต่ว่าคำว่าผู้ลี้ภัย เกิดมาจากที่รัฐต่างๆ เข้าใจตรงกันว่า วันหนึ่ง เหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เกิดขึ้นได้กับทุกประเทศบนโลกนี้ ทำให้ประชาชนอยู่อาศัยไม่ได้

ฉะนั้น จำเป็นต้องเปิดรับให้คนเหล่านี้เข้ามาอยู่อาศัย บางอย่างเป็นผลกระทบทางการเมืองก็จริง แต่เป็นสิ่งที่ผู้ลี้ภัยเปลี่ยนแปลงตัวเองไม่ได้ เช่น บุคคลที่เป็นกลุ่มรักร่วมเพศ หรือเกิดมานับถือศาสนาใดก็ตาม เขาไม่สามารถเปลี่ยนตัวเองได้ การพิสูจน์สถานะเป็นสิ่งจำเป็น เนื่องจาก หลักการสำคัญในการดูแลผู้ลี้ภัยคือต้องไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปสู่ภัยที่จะทำให้เขาเสียชีวิตหรือบาดเจ็บอีกครั้ง

การที่รัฐยังต้องควบคุมคนที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศ เพราะอยากแน่ใจในสถานะของคนที่อ้างว่าเป็นผู้ลี้ภัย มีเหตุหรือมีความเชื่อว่าเป็นผู้ลี้ภัยจริงๆ ดังนั้น จะมีกระบวนการตรวจสอบมูลเหตุให้เชื่อว่า เมื่อเขาไม่มาขอความช่วยเหลือจากอีกรัฐ แล้วต้องกลับไปอยู่ในรัฐที่เคยอาศัย เขามีสิทธิ์ที่จะได้รับอันตรายอย่างรุนแรงหรือเสียชีวิต

โรยทรายกล่าวว่า ประเทศไทยเองก็มีผู้ที่ออกไปขอสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศอื่น ไม่ว่าด้วยเหตุผลทางการเมือง ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในสามจังหวัดภาคใต้ หรือในประเทศพัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นที่ดูเหมือนไม่มีความขัดแย้ง แต่ก็มีผู้ลี้ภัยหนีกลุ่มยากูซ่า ซึ่งเป็นเครือข่ายอาชญากรรม

“จะมีคนแย้งว่าแล้วอาชญากร คนที่ก่อคดีอาญาในประเทศตัวเองล่ะ นั่นก็ต้องพิสูจน์ว่าคนที่หนี คดีมันเป็นสากล เช่น การล่วงละเมิด ทำร้ายร่างกาย ฆาตกรรม ในกฎหมายรับผู้ลี้ภัยระบุว่านั่นก็เป็นความผิดเช่นกัน ต้องดำเนินการส่งผู้ร้ายข้ามแดนตามปกติ”

แต่อย่างในเมืองไทย เช่น กรณีการวิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ในบางประเทศ อย่างเช่น แคนาดา ไม่ได้มีกฎหมายเรื่องนี้ บางคนอาจขอลี้ภัยได้ ในหลักสากลแล้วไม่ได้มีความผิดลักษณะเดียวกัน เขามองว่าคนแคนาดาสามารถวิจารณ์สิ่งเหล่านี้ได้ เช่นเดียวกัน คนที่ไปขอสถานภาพที่แคนาดาก็จะได้รับการดูแล เพราะไม่ได้ก่ออาชญากรรมที่เป็นภัยต่อคนอื่น ดังนั้นเงื่อนไขเบื้องต้นของการลี้ภัยคือการหาแหล่งหลบภัยของพลเรือน ไม่ใช่แหล่งหลบภัยของผู้ถืออาวุธ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใด 

­สภาพค่ายผู้ลี้ภัยในทางกฎหมายและหลักประกันความปลอดภัย

ประเทศที่รับส่วนใหญ่ใช้กฎหมายเดียวกัน คือ ห้ามถืออาวุธ แต่ทำไมภาพค่ายผู้ลี้ภัยในหลายๆ ที่ ดูเหมือนดินแดนเถื่อน  ยากต่อการดูแล

หนึ่ง… เพราะบางพื้นที่ต้องรับผู้ลี้ภัยหลักหลายหมื่นจนถึงหลายแสน ดังนั้น ขึ้นอยู่ว่ามีกำลังดูแลมากน้อยแค่ไหน ส่วนที่สอง… หลักความปลอดภัย เบื้องต้นต้องปลดอาวุธ อาจตกลงกันในกลุ่มคนที่เข้ามาอยู่ เช่น จะแยกโซนกลุ่มครอบครัว กลุ่มเด็กที่ไม่มีผู้ปกครองมาอยู่ในบ้านพักพิเศษ กลุ่มผู้หญิงในบางวัฒนธรรมที่อยู่อย่างลำพังอาจเกิดอันตราย ฯลฯ ขึ้นอยู่กับว่าประเทศที่รับผู้ลี้ภัย ตกลงกับองค์กรระหว่างประเทศหรือกลุ่มผู้ที่ลี้ภัยว่าจะดูแลอย่างไร

ประเทศไทยแบ่งผู้ลี้ภัยได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่ในค่ายตามชายแดนไทย-พม่า กับ กลุ่มที่ใช้ชีวิตตามปกติ เช่น ปากีสถาน ซีเรีย แอฟริกา คนเชื้อสายเวียดนามที่อาศัยอยู่ในกัมพูชา คนกัมพูชา หรือชนกลุ่มน้อยในเวียดนาม ปะปนอยู่กับเรา กลุ่มหลังก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายไทย ไม่มีสิทธิพิเศษใดๆ เหนือกว่าพลเมืองไทย หากทำผิดก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมของไทย

แต่เงื่อนไขที่ต่างกับคนต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยคือ ถ้าตำรวจพบว่ากระทำความผิด โดยหลักการแล้ว คนต่างชาติหลังจากการดำเนินคดีสิ้นสุดลงต้องมีการเนรเทศส่งกลับ ผู้ลี้ภัยจะไม่ถูกเนรเทศ แต่อาจต้องอยู่ในห้องกักคนเข้าเมืองเป็นระยะเวลาหนึ่งจนกว่าจะได้ไปประเทศที่สาม หรือสถานการณ์ในประเทศตัวเองดีขึ้นแล้วเดินทางกลับบ้าน

ว่ากันว่า ห้องกัก ตม. (กรมบังคับการตรวจคนเข้าเมือง) แย่กว่าคุก คือคุกเป็นที่รับรู้กันว่า ต้องกักคนที่รับโทษทางคดีอาญาเป็นเวลานาน บางคน 20 – 30 ปี แต่ไม่มีใครนอนอยู่ในห้องขังทั้งวัน เขาจะมีพื้นที่กายบริหาร ให้เล่นกีฬา มีพื้นที่รับประทานอาหาร แต่ห้องกัก ตม. หลักการของมันคืออยู่ชั่วคราว แล้วผลักดันส่งกลับ

ซึ่งมีกรณีโรฮิงญาที่เข้ามาในเมืองไทย แล้วถูกกักเป็นเวลา 3 ปี พออยู่ในห้องกัก ไม่มีแสงแดด โรคผิวหนัง โรคน้ำก็เกิดขึ้น เริ่มติดเพื่อนคนอื่น ติดเจ้าหน้าที่

จุดหนึ่ง นโยบายของไทยขาดความทันสมัย พ.ร.บ. คนเข้าเมือง มีตั้งแต่ 2522 ตอนนั้นยังไม่มีสายการบินราคาประหยัด คนยังไม่สามารถเดินทางเข้าเมืองไทยได้ง่าย คือเข้าเมืองถูกกฎหมายก็แล้วไป แต่พอเจอกรณีหนีภัย อยู่อาศัยชั่วคราว ก็ไม่สามารถผลักออกไปได้ จะทำให้ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ให้อยู่นานๆ ก็ไม่มีนโยบายจัดการว่าจะอยู่อย่างไรให้ไม่เป็นภาระ หรืออยู่อย่างไรให้มีส่วนร่วมสร้างเศรษฐกิจไทยได้ เพราะผู้ลี้ภัยหนีมาแต่ภัย ทักษะ แรงงาน ความรู้ ที่ติดตัวเขามาก็มี ทักษะเหล่านั้นใช้ประโยชน์ได้

“แรงงานข้ามชาติ 2.5 ล้านคนที่อยู่ในเมืองไทย ช่วยเศรษฐกิจไทยประมาณ ร้อยละ 5 ของจีดีพีทั้งประเทศ คือถ้าเราเห็นว่าผู้ลี้ภัยเป็นปัญหา เป็นอุปสรรค เป็นภาระ เราก็คิดผลักเขาออกไปอย่างเดียว เราไม่พยายามแม้จะทำความเข้าใจว่าเขาคือใคร ยกตัวอย่างหนึ่งในผู้ลี้ภัยที่ดังที่สุดคือ อัลเบิร์ต ไอสไตน์”

เคยมีงานวิจัยเกี่ยวกับแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองไทยช่วงปี 2546 ปรากฏว่า ร้อยละ 40 ของคนเหล่านั้นเคยถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจากกองกำลังฝ่ายรัฐหรือไม่ใช่ฝ่ายรัฐ ก่อนมาถึงเมืองไทย ถูกบังคับให้ไปเป็นลูกหาบ ถูกบังคับให้จ่ายภาษีแพง ทำให้บางคนอยู่ในพม่าไม่ได้ ก็จะไม่บอกว่าต้องการเป็นผู้ลี้ภัย แต่ต้องการไปขึ้นทะเบียน หานายจ้าง ทำงาน มีการประมาณการว่า แรงงานข้ามชาติ 2.5 ล้านคนที่อยู่ในเมืองไทย ช่วยเศรษฐกิจไทยประมาณ ร้อยละ 5 ของจีดีพีทั้งประเทศ คือถ้าเราเห็นว่าผู้ลี้ภัยเป็นปัญหา เป็นอุปสรรค เป็นภาระ เราก็คิดผลักเขาออกไปอย่างเดียว เราไม่พยายามแม้จะทำความเข้าใจว่าเขาคือใคร ยกตัวอย่างหนึ่งในผู้ลี้ภัยที่ดังที่สุดคือ อัลเบิร์ต ไอสไตน์

ที่น่ากลัวคือ สังคมไทยสูญเสียความรู้ว่า ตั้งแต่สงครามเวียดนาม เราจัดการกับผู้ลี้ภัยอย่างไร กระทรวงมหาดไทยเคยกระทั่งออกบัตรญวนอพยพ เป็นหนึ่งในใบอนุญาตให้ชนกลุ่มต่างๆ มีสิทธิ์อยู่อาศัยในประเทศไทย เรามีความรู้ถึงขนาดเข้าไปจัดการ พัฒนาสถานะให้เขาได้อยู่ในประเทศไทยถูกกฎหมาย เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจได้ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าจัดการบนพื้นฐานของความกลัว ความไม่รู้ว่าเป็นใคร

เราจึงไม่ค่อยเห็นงานจากฝ่ายรัฐ พูดว่าขบวนการขนผู้อพยพทั้งหลายทำงานอย่างไร มาเพราะอะไร ทำไมเขาเลือกไทย จึงกลายเป็นว่าเรามองทางออกระยะสั้นว่าถ้าเขาออกจากประเทศก็จบ แต่พรมแดนมันเปลี่ยนไป ซื้อตั๋วเครื่องบินยังถูกกว่าจ่ายค่าเรือ 60,000 บาท เพราะบางคนมีพาสปอร์ต แต่ถ้าเรามีทัศนคติว่าจะผลักคนที่เข้าประเทศโดยไม่มีวีซ่าออกไปอย่างเดียว ก็จะมีขบวนการหากินใต้ดินที่คอยเอาเปรียบคนเหล่านี้ไม่สิ้นสุด

ความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับที่พักพิงและค่าใช้จ่ายของผู้ลี้ภัยในประเทศไทย

ค่าใช้จ่ายของผู้ลี้ภัยในประเทศไทย เป็นเงินจากองค์กรระหว่างประเทศและรัฐบาลระหว่างประเทศ ซึ่งพอเพียงแบบขั้นต่ำ พอให้มีชีวิตอยู่รอดได้ ส่วนที่ 2 สำหรับผู้ลี้ภัย ถ้าเขาต้องการหนีภัยไปอยู่ที่อื่น เขาจะมีเงินเก็บ เตรียมไว้สำหรับค่าเช่าบ้าน จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ารถ ค่าอาหาร

ส่วนที่ 3 โรยทรายยืนยันว่า พ.ร.บ. คนเข้าเมือง กับ พ.ร.บ. สัญชาติ เป็นคนละฉบับ การเกิดในประเทศไทยไม่ได้นำมาซึ่งสัญชาติ อย่างที่หลายคนกังวลเรื่องการมามีบุตรในประเทศไทย

ส่วนค่าใช้จ่าย เวลามีคนพูดว่าประเทศไทยต้องรับภาระดูคนข้ามชาติ โรยทรายอธิบายว่า ประเทศไทยเก็บเงินค่าขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ 3,600 บาท ต่อคน ต่อปี ลองคูณด้วย 1.5 ล้านคน เธอถามว่าเงินส่วนนี้อยู่ตรงไหน คนไทยต้องตั้งคำถามกับการบริหารงบประมาณ

“ทำไมภาครัฐถึงพูดว่าเป็นภาระต้องดูแลคนข้ามชาติ ทั้งที่คนเหล่านี้ต้องขึ้นทะเบียน ขอใบอนุญาตทำงาน เข้าประกันสังคมจ่ายสมทบเต็ม ซื้อประกันสุขภาพ 1,600 บาท ระยะเวลา 10 กว่าปีที่จัดการก็เป็นหมื่นล้าน แต่หน่วยงานสาธารณสุขไทยก็บอกว่าขาดทุน”

โรยทรายว่า เราอาจต้องทำความเข้าใจใหม่ว่า คนข้ามชาติมาอยู่เมืองไทยทำไม ส่วนหนึ่งเพราะไทยเป็นประเทศที่พัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้กำลังคนเป็นแรงงานผลิต เรายังไม่มีความทันสมัยในการผลิตนวัตกรรม เช่น ไต้หวัน ใช้เครื่องจักรพัฒนาชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ใช้คนน้อย แต่เมืองไทยปลูกข้าว ทำเกษตร ตัดเย็บเสื้อผ้า ทุกอย่างเป็นแรงงานคน ประเทศไทยเป็นไม่กี่ประเทศในอาเซียนที่มีเด็กปั๊ม ประเทศอื่นไม่มีเด็กปั๊มแล้ว

“เรายังเคยชินกับการที่มีแรงงานราคาถูกอยู่ในระบบ ถ้าคนกลุ่มนี้เข้ามาแล้วมีสิทธิ์ทำงานหาเงินได้ เขาก็มา แต่ถ้าวันหนึ่งเมืองไทยไม่มีงานให้ทำ ประเทศไทยก็จะไม่ใช่จุดมุ่งหมายแรกๆ กลุ่มผู้อพยพอาจอยากไปมาเลเซีย เพราะว่าเงินดีกว่า เป็นประเทศมุสลิมด้วยกัน แต่ที่มาหยุดเมืองไทย เพราะเข้ามาเลเซียมีการแข่งขันสูง”

ปีที่แล้ว หลัง คสช. ยึดอำนาจ มีทหารแต่งตัวออกไปเดินตามถนนเยอะกว่าปกติ ปรากฏว่า แรงงานกัมพูชาตกใจ อพยพกลับประเทศไป 2 แสนคน สิ่งที่ประเทศไทยทำคือ เปิดศูนย์ที่ชายแดน ชวนคนกัมพูชามาขึ้นทะเบียนและกลับมาทำงานใหม่

“เวลามองผู้ลี้ภัย ต้องมองว่าทำอย่างไรให้เขาอยู่ในสังคมไทยได้ด้วย อย่าให้เขาอยู่แบบเป็นภาระ ต้องมีใครไปดูแล และกลไกเศรษฐกิจไทยมันมีงานเยอะ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ”

“อยากให้รัฐบาลทบทวน พ.ร.บ. กฎหมายคนเข้าเมือง เปิดให้มีการขอสถานภาพอย่างเป็นทางการ ไม่ได้หมายความว่าต้องให้สถานภาพผู้ลี้ภัยกับทุกคน แต่ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เข้ามามีสิทธิ์ขอสถานภาพ ข้อ 2 คือ ทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจได้ว่า ผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องน่ากลัว”

ข้อเสนอ…

โรยทรายอยากให้รัฐบาลทบทวน พ.ร.บ. กฎหมายคนเข้าเมือง เปิดให้มีการขอสถานภาพอย่างเป็นทางการ ไม่ได้หมายความว่าต้องให้สถานภาพผู้ลี้ภัยกับทุกคน แต่ควรเปิดโอกาสให้ทุกคนที่เข้ามามีสิทธิ์ขอสถานภาพ ข้อ 2 คือ ทำอย่างไรให้สังคมเข้าใจได้ว่า ผู้ลี้ภัยไม่ใช่เรื่องน่ากลัว ไม่ใช่เรื่องของการไหลบ่าของกองทัพมนุษย์ข้ามพรมแดนพร้อมหิ้วหม้อขึ้นหลังมา

เธอว่าสื่อมวลชนมีความสำคัญมาก ในภาวะวิกฤตของผู้อพยพยุโรป Aljazeera เป็นสื่อแรกที่ออกมาพูดเลยว่าจะไม่ใช้คำว่า migrant (ผู้อพยพ) แต่จะใช้คำว่า refugee (ผู้ลี้ภัย) ฟังแล้วเข้าใจได้ว่า เพราะคนมีภัย ใช่ว่าอยากมาโดยไม่มีสาเหตุ

ในขณะเดียวกัน หน่วยงานของเธอเคยขอกับสื่อไทยหลายครั้งแล้วว่า คำว่า ‘แรงงานต่างด้าว’ อาจพิจารณาใช้ว่า ‘แรงงานข้ามชาติ’ หรือการพูดถึงโรฮิงญา น่าจะทำข่าวที่มีมากกว่าภาพเรือลอยอยู่กลางทะเลแล้วรอความช่วยเหลือ เธอไม่เคยเห็นภาพไมโครโฟนไปจ่อที่ตัวผู้อพยพ แต่มักจ่ออยู่กับคนตัดสินนโยบายว่าจะจัดการอย่างไรกับคนเหล่านี้

03

ผศ.ดร.นฤมล ทับจุมพล

การเมืองแห่งความอาทรตกลงเป็นการเมืองของใคร? และที่ว่าอาทร รูปธรรมคืออะไร แบบไหน

ในสื่อต่างๆ พูดถึงเรือของผู้อพยพซีเรียที่เสียชีวิต ปีก่อนๆ หรือปีนี้ก็มีภาพโรฮิงญา ผศ.ดร. นฤมล กล่าวว่า เราไม่รู้มีคนเสียชีวิตหรือไม่ เพราะข่าวไม่ได้โชว์ แต่จะเห็นว่าท่าทีการตอบสนองของรัฐก็ต่างกันไป ในเอเชีย มีการจ่ายเงินให้แก่กัมพูชาเพื่อช่วยเหลือ รับผู้ลี้ภัยไปออสเตรเลียมากกว่ายอมให้ขึ้นฝั่ง หรือกรณีของไทย ก็พยายามอธิบายว่าให้ข้าวให้น้ำ แต่ให้อยู่บนเรือ จะเติมน้ำมันให้อย่างเต็มที่ แต่ก็ขอให้อยู่บนเรือ…

“ถ้าเราจำได้ เมื่อปี 1978 Boat People ตอนนั้นเราก็ต้อนรับอย่างดี ให้ขึ้นฝั่ง มีการดูแลอย่างดี”

“การเมืองแห่งความอาทรของไทยคือ ยังยืนยันแบบบูรณภาพเหนือดินแดน ประเทศไทยไม่ใช้คำว่า refugee และไม่ใช้คำว่าค่ายผู้ลี้ภัย เราจะใช้คำว่า พื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบ ซึ่งตั้งมา 27 ปีแล้ว”

คำถามคือ ทำไมมีความอาทรไม่เท่ากัน ในกรณีของไทยซึ่งไม่ได้รับรองอนุสัญญาผู้ลี้ภัย ถ้าพูดในทางกฎหมาย ถึงแม้จะไม่ได้รับรอง แต่สามารถรับผู้ลี้ภัยได้ คำอธิบายของรัฐไทยคือ ประเทศไทยไม่มีศักยภาพ แม้กระทั่งผู้ลี้ภัยพม่าที่อยู่ในค่าย เราให้เขาอยู่ชั่วคราว

ดังนั้น การเมืองแห่งความอาทรของไทยคือ ยังยืนยันแบบบูรณภาพเหนือดินแดน ประเทศไทยไม่ใช้คำว่า refugee และไม่ใช้คำว่าค่ายผู้ลี้ภัย เราจะใช้คำว่า พื้นที่พักพิงชั่วคราวของผู้หนีภัยจากการสู้รบ ซึ่งตั้งมา 27 ปีแล้ว ไม่ใช้คำว่าผู้ลี้ภัยเพราะจะถือว่ามีสถานะในทางกฎหมาย แปลว่าคนเหล่านี้เมื่อออกพ้นพื้นที่จะมี  สถานะเป็นผู้หลบหนีเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย มีสิทธิ์ถูกจับและส่งกลับ ดังนั้น นี่เป็นคำตอบของฝ่ายความมั่นคง ว่าทำไมจึงไม่ให้โรฮิงญาขึ้นฝั่ง อธิบายว่าไม่ได้หนีภัยจากการสู้รบ ไม่ใช่ผู้ลี้ภัยตรงตามความหมาย

วิกฤตผู้ลี้ภัย สัมพันธ์กับบริบทแห่งห้วงเวลา

เห็นได้ว่าในอดีต ที่ประเทศไทยยอมรับผู้หนีภัยสงครามจากการสู้รบในพม่า เราไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ปกติกับพม่า เรามองรัฐกะเหรี่ยงแบบรัฐกันชน แม้ช่วงหลังประเทศไทยเปลี่ยนไปแล้วในเรื่องนโยบาย แต่ในช่วง 20 ปีที่แล้ว รัฐไทยมีท่าทีต่างจากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นกระแสการอธิบายในทางเศรษฐกิจ หรืออีกส่วนอาจมองว่ามีการเปลี่ยนแปลงในพม่าที่มากขึ้น

“สิ่งที่เราเห็นตามบริบทในห้วงเวลาที่เปลี่ยนคือ ในช่วง 1988 หลังการลุกขึ้นสู้ของนักศึกษาพม่า ประเทศไทยยอมรับให้นักศึกษาพม่าอยู่ในกรุงเทพ ได้สถานะ person of concern แม้ว่าเราจะไม่รับเขาเป็นผู้ลี้ภัย หลังจากมีวิกฤตในเมืองไทยจากท่าทีของนักศึกษา ก็ให้เขาไปอยู่ที่ค่ายมณีลอย สวนผึ้ง ในที่สุดก็ได้สถานะผู้ลี้ภัยผ่านทาง UNHCR แล้วก็ไปประเทศที่สาม

“ขณะนี้ไทยมีทั้งหมด 9 พื้นที่ โดย 2 พื้นที่เป็นฉาน 2 พื้นที่เป็นกะเหรี่ยงแดง และอีก 5 พื้นที่เป็นกะเหรี่ยง แต่จำนวนคนที่อยู่ในพื้นที่พักพิงก็เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นผู้หนีภัยสงคราม มาเป็นครอบครัว จำนวนหนึ่งก็ได้สถานะไปแล้ว แต่ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาคือ คนที่เกิดในพื้นที่พักพิง ไม่เคยรู้ว่าเขาอยู่ในสถานะไหน นี่คือสิ่งที่ประเทศไทยยังไม่ตอบ ยังคิดไม่ออกว่าจะให้อะไรเขาดี ล่าสุดมีการเถียงกันว่า จะให้ไปเป็นแรงงานข้ามชาติดีไหม จะได้ทำงาน หรือจะให้ไปพบปะกับครอบครัวที่ได้สถานะผู้ลี้ภัยแล้วในประเทศที่ 3 เช่น สหรัฐฯ ซึ่งเป็นประเทศที่รับผู้ลี้ภัยจากพม่ามากที่สุด

“แต่โครงการที่มีมาโดยตลอดเพิ่งปิดตัวลง เพราะฝ่ายความมั่นคงไทยบอกว่า เป็น pool factor คือ ทำให้คนอยากเข้ามาในค่าย เพื่อจะได้สถานะ แปลว่าในบริบทปัจจุบัน หรืออย่างน้อยที่สุด เทียบตั้งแต่ 2010 ซึ่งพม่ามีการเลือกตั้ง สิ่งที่เราเห็นชัดเจนก็คือบริบทในรอบ 5 ปี ที่ผ่านมา ท่าทีของรัฐไทยต่อผู้ลี้ภัยหรือหนีภัยสงครามเปลี่ยนไปแล้ว เช่น พยายามจะสนับสนุนให้กลับประเทศ หรือถ้าใครอ่านคำอธิบายเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ โจทย์หนึ่งที่ไม่มีการพูดออกมาอย่างเป็นทางการก็คือ พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ จะเป็นไปเพื่อรองรับการแก้ปัญหาของผู้ลี้ภัยหรือเปล่า เพราะประเทศไทยไม่สามารถจะส่งกลับได้ ถ้าหากว่าไม่เป็นการกลับโดยสมัครใจ

“อีก 2 เดือนข้างหน้า หากคุยเรื่องนี้กันใหม่ วิกฤตผู้ลี้ภัยเฉพาะกรณีของพม่าอาจเปลี่ยนในแง่ของผลการเลือกตั้งก็ได้ ประเทศไทยอาจเลิกพูดเรื่องพื้นที่พักพิง และให้ไปประเทศที่ 3”

“ดังนั้นในค่ายเหมือนอีกประเทศหนึ่ง อีกพื้นที่หนึ่ง รัฐไทยเองอาจยังไม่มีคำตอบว่าจะจัดการอย่างไร ได้แต่หวังว่าช่วงเปลี่ยนผ่านของพม่า ถ้าเผื่อเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เปิดมากขึ้น โอกาสของการที่จะกลับไปรวมกันก็มีมากขึ้น แต่ในส่วนความมั่นคงและกองทัพพม่า ก็ไม่มีคำว่าโรฮิงญาอยู่ในคำอธิบาย เพราะเขาไม่ได้มองว่าคนเหล่านี้คือผู้ลี้ภัย ผู้หนีภัยสงคราม นี่เป็นโจทย์ของสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าตกลงเวลาเราพูดเรื่องความอาทร มันจบแค่ไหน”

สถานการณ์ปัจจุบันของผู้ลี้ภัย

ไม่ว่าอยู่ในพื้นที่พักพิง หรือว่าอยู่ใน Internal Displace (IDP) หรืออยู่ในฝั่งพม่า ผศ.ดร.นฤมล บอกว่า เราก็ถือสถานะเขาเป็นผู้หนีภัยสงคราม รวมทั้ง Urban Refugee…. เรามีวิธีคิดว่านี่คือที่พักพิงชั่วคราว หลักการแรกคือห้ามขยายพื้นที่ โดยมีคำอธิบายว่าห้ามใช้วัสดุที่เป็นถาวร แปลว่าต้องเป็นไม้ไผ่ทุกปี จะต้องไม่มีถนนลาดยาง ต้องเป็นลูกรัง และห้ามใช้เครื่องมือสื่อสาร เพราะกลัวมีการส่งสัญญาณ ดังนั้น เวลาไปเยี่ยมค่าย เราจะรู้ทันทีว่าหมดเขต อบต.ตรงไหน

“ในแง่สภาพของคนในนั้น จะมีการแบ่งโซน แบ่งตามกลุ่มชาติพันธุ์หรือบางทีก็แบ่งตามปีที่อพยพมา และในช่วงหลังมีความพยายามจะยุบค่ายรวมกัน ให้เป็นค่ายขนาดใหญ่ขึ้น ให้เหลือจำนวนน้อยลง มีการตั้งโซนเพิ่ม และภายในโซนนั้นจะมีตัวผู้ลี้ภัยที่เขาดูแลในลักษณะของ refugee committee ในแง่สวัสดิการก็เป็นการสนับสนุนขององค์กรระหว่างประเทศ ขณะที่ฝ่ายความมั่นคงคอยดูแลก็เป็นอาสาสมัครป้องกันตนเอง และข้างนอกเป็นกองทัพ

“ดังนั้นในค่ายเหมือนอีกประเทศหนึ่ง อีกพื้นที่หนึ่ง รัฐไทยเองอาจยังไม่มีคำตอบว่าจะจัดการอย่างไร ได้แต่หวังว่าช่วงเปลี่ยนผ่านของพม่า ถ้าเผื่อเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เปิดมากขึ้น โอกาสของการที่จะกลับไปรวมกันก็มีมากขึ้น แต่ในส่วนความมั่นคงและกองทัพพม่า ก็ไม่มีคำว่าโรฮิงญาอยู่ในคำอธิบาย เพราะเขาไม่ได้มองว่าคนเหล่านี้คือผู้ลี้ภัย ผู้หนีภัยสงคราม นี่เป็นโจทย์ของสถานการณ์ปัจจุบัน ว่าตกลงเวลาเราพูดเรื่องความอาทร มันจบแค่ไหน”

การดำรงอยู่ของขบวนการค้ามนุษย์กลายเป็นส่วนหนึ่งของการเมืองแห่งความเอื้ออาทร เพื่อทำให้คนที่อยู่ในที่ซึ่งอยู่ไม่ได้ สามารถย้ายออกมาได้

ขบวนการค้ามนุษย์ต่างกับขบวนการขนคนอยู่ข้อหนึ่งคือ มีการเรียกค่าไถ่ ผศ.ดร.นฤมล กล่าวว่า ในอดีตเราอาจไปให้พ้นจากนิยามแบบกฎหมายที่บอก ห้ามมิให้มีการเอาคนเป็นทาส กรณีโรฮิงญามี 3 มิติ ที่ปนกันอยู่

“หนึ่ง… เป็นการเมืองแบบอัตลักษณ์ อย่าลืมว่าการสู้กันระหว่างโรฮิงญากับพุทธในยะไข่ เป็นสงครามตัวแทน เพราะยะไข่ประกาศตนเองว่าเป็นรัฐชนกลุ่มน้อย ที่น่าสนใจที่สุดคือ กลุ่มที่ค้านโรฮิงญาอาจไม่ใช่รัฐบาลพม่า แต่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ทั้งหลายต่างหาก ที่ประกาศว่าโรฮิงญาไม่ใช่ชาติพันธุ์ดั้งเดิม เป็นคนที่อังกฤษเอาเข้ามาเพื่อปลูกข้าวหลังจากล้มพระเจ้าธีบอได้ นี่คือคำอธิบายมิติแห่งความชอบธรรมของอัตลักษณ์

“สอง… เป็นการเมืองแบบความกลัว เพราะยิ่งมีการอธิบายเรื่องมุสลิม การต่อสู้ของกลุ่มอิสลามทั้งหลายจึงมาเสริมความกลัว เพราะโรฮิงญาก็เป็นมุสลิม มิเช่นนั้นไม่สามารถอธิบายว่าทำไมพระพม่าถึงมาประกาศว่าฉันต้องจัดการคนมุสลิมโรฮิงญา ถึงขนาดตั้งกลุ่ม 969 คือ ไม่อนุญาตให้คนมุสลิมเข้าไปซื้อของหรือค้าขาย หรือที่คนไทยลุกขึ้นมาประกาศว่าไม่เอาโรฮิงญา ด้วยคำอธิบายแบบเดียวกัน

“สาม… คนที่เห็นปัญหาแบบนี้ในเรื่องกลุ่มค้ามนุษย์ สมัยก่อนถ้ามีนายหน้าอาศัยเก็บเงิน เราอาจรับได้ แต่กรณีโรฮิงญา มันถูกมองว่าแย่มากกว่าเดิม ตรงที่ใช้วิธีการเรียกค่าไถ่ คือคนที่ไปเป็นคนจน ดังนั้น ญาติพี่น้องในประเทศที่ 3 ซึ่งทำงานแล้ว ต้องเอาเงินมาไถ่ ถ้าไม่มี คนที่อยู่บนเรือก็ต้องทำงาน แลกกับการอยู่

“และรัฐก็ไม่สนใจว่ามันมีมิติซับซ้อนในเรื่องนี้ รู้เพียงว่าเอาออกไปให้พ้นดินแดนก็จบ นี่คือสิ่งที่รัฐอาจต้องคิดใหม่ รัฐอาจไม่ต้องรับก็ได้ เพราะกลัวอยู่นาน 27 ปีแบบพม่า แต่รัฐต้องคิดวิธีอื่น คนถามว่ามีพื้นที่ว่างที่ปิดไปตั้งมาก ทำไมรัฐไม่ให้อยู่ รัฐก็ตอบว่ากลุ่มนี้ไม่มีสถานะทางการเมืองระหว่างประเทศ

“สิ่งที่น่าเศร้าใจเมื่อเทียบกรณีโรฮิงญากับซีเรียคือ พลเมืองในยุโรปเดินขบวน เรียกร้องให้รัฐบาลยุโรปแสดงท่าทีที่ดีต่อผู้ลี้ภัยจากซีเรีย ส่วนของไทย พลเมืองไทยบอกว่ารัฐบาลไม่ควรทำอะไร มันเกิดอะไรขึ้นกับ civil society?”

อีกข้อหนึ่งที่อาจารย์อยากตั้งข้อสังเกตคือเรื่องชนชั้น เรามีคนข้ามชาติจำนวนมาก เป็นคนมีเงิน เป็นนักท่องเที่ยว เราไม่รู้สึกเลยว่าเขามาทำไม มาได้อย่างไร แต่ถ้าดูเป็นคนยากจนนั่นเป็นอีกเรื่อง

“กรณีวิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาที่ดูเหมือนเกิดในอาณาบริเวณแคบๆ หรือหลายครั้งเกิดขึ้นในรัฐหนึ่ง สามารถส่งผลกระทบถึงคนที่ไม่ได้เป็นคู่กรณีในสงครามด้วย”

ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ

วิกฤตผู้ลี้ภัยตั้งแต่ช่วง 90s ถึงปัจจุบัน

ดร.จันจิรา ฉายภาพว่า เป็นผลของสงครามที่นักวิชาการเรียกว่า สงครามใหม่.. เราอยู่ในสังคมโลกที่ปัญหาสงคราม ความขัดแย้งรุนแรงในประเทศอื่นๆ ส่งผลกระทบถึงเราทั้งหมด และมันข้ามพรมแดน กรณีวิกฤตผู้ลี้ภัยเป็นตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าปัญหาที่ดูเหมือนเกิดในอาณาบริเวณแคบๆ หรือหลายครั้งเกิดขึ้นในรัฐหนึ่ง สามารถส่งผลกระทบถึงคนที่ไม่ได้เป็นคู่กรณีในสงครามด้วย…

“ลักษณะของสงครามที่เรียกว่าสงครามใหม่ทำให้เกิดกระแสผู้อพยพเป็นจำนวนมาก รูปแบบของสงครามแบบนี้พอมาถึงหลังเหตุการณ์ 9/11 ซึ่งเปลี่ยนจากสงครามใหม่เป็นสงครามแบบผสม เป็นทั้งสงครามรูปแบบเก่า สงครามระหว่างรัฐชาติผสมกับสงครามที่ข้ามพรมแดนรัฐชาติ

“สงครามในยุค 90s เป็นสงครามแบบการเมืองเรื่องอัตลักษณ์ เหตที่ผู้ลี้ภัยสงครามต้องลี้ภัยเพราะเขาเปลี่ยนตัวตนของเขาไม่ได้ หลายคนเป็นชนกลุ่มน้อย เช่น รวันดา เรารู้ว่าเกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ระหว่างฮูตูกับทุซซี เมื่อคนทุซซีซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยในประเทศบุรุนดี ถูกนิยามว่าเป็นคนทุซซีแล้วมันเปลี่ยนลำบาก ก็หนีออกจากประเทศเพราะเป็นเหยื่อจากการนิยาม ฉะนั้น ความช่วยเหลือกองกำลังติดอาวุธระหว่างทุซซีในรวันดากับบุรุนดีก็เชื่อมโยงกัน กลายเป็นว่าพรมแดนรัฐชาติไม่สามารถแบ่งได้อีกต่อไป

“สงครามเช่นนี้ทำให้เกิดลักษณะที่เรียกว่า รัฐอ่อนแอหรือรัฐล้มเหลว ผลของมันคือการใช้ความรุนแรงของตัวละครในความขัดแย้งที่กระจายมาก โดยทั่วไปเวลารัฐสู้กับรัฐ จะเป็นทหารสู้กับทหาร ซึ่งในบางลักษณะควบคุมได้ บางลักษณะมีการใช้กฎหมายข้อบังคับเรื่องการรบ คุณไม่ควรโจมตีพลเมืองในพื้นที่ แต่ในสงครามใหม่แบบนี้ กลายเป็นกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่เป็นพลเมือง เช่น ในกรณีบอสเนีย คนอย่างเราๆ ถูกเกณฑ์ไปเป็นกองกำลังรบ ใช้วิธีการที่รุนแรงและโหดร้ายแบบไม่มีขีดจำกัด และเป็นการโจมตีแบบไม่เลือกเหยื่อ

 01

“ฉะนั้น เป้าหมายสำคัญของสงครามใหม่คือพลเมือง คือการขู่ให้กลัวแล้วย้ายออกจากพื้นที่ ผลของสงครามคือการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนประชากร นี่คือเหตุที่ทำให้คนต้องอพยพออก มันทำให้จำนวนผู้อพยพตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 90s มีจำนวนมากมายมหาศาล อย่างผู้อพยพจากรวันดามีมากถึง 2.5 ล้านคน ในบอสเนีย 1.2 ล้านคน ยังไม่รวมผู้ที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นภายในประเทศ

“และที่สงครามมีแนวโน้มยืดเยื้อยาวนาน เพราะมีสิ่งที่เรียกว่าเศรษฐกิจสงคราม หมายความว่าขณะที่คนถูกทำร้าย ถูกล่าสังหารทุกวัน ปรากฏว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ได้ประโยชน์จากสงคราม คือกลุ่มค้าอาวุธ ค้ามนุษย์ กลุ่มธุรกิจใต้ดิน อย่างบอสเนีย ใช้เวลาถึง 3 ปี กว่าจะลงนามในสนธิสัญญาหยุดยิงได้”

สงครามในซีเรียเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ Arab Spring ในปี 2011 คนประท้วงด้วยสันติวิธี หลังจากนั้นมีความพยายามแทรกแซงของประเทศต่างๆ เช่น กองกำลังที่แยกออกมาจากผู้ประท้วงด้วยสันติวิธี อย่าง Free Syrian Army ก็เรียกร้องการสนับสนุนและฝึกฝนอาวุธจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศส ขณะเดียวกันฝ่ายรัฐบาลอัล-อัสซาด ซึ่งเป็นคู่กรณี ก็ไม่ยอมลงจากอำนาจง่ายๆ ผู้สนับสนุนหลักคือ อิหร่าน รัสเซีย จีน ส่วนผู้ที่สนับสนุนกองกำลังติดอาวุธต่อต้านรัฐบาล ซึ่งฝักใฝ่อุดมการณ์อิสลามซุนหนี่ คือซาอุดิอาระเบีย ทั้งหมดนี้เราเห็นภาพจำลองของสงครามเย็น คือมันเป็นสงครามตัวแทนที่พักหนึ่งหายไป แล้วกลับมา

“มีคำอธิบายหลายอย่างว่าทำไมสงครามซีเรียถึงหยุดยาก ทำไมการเจรจาสันติภาพที่ผ่านมาถึงล้มเหลว ก็เพราะว่าแต่ละฝ่ายมีความพยายามรักษาสิ่งที่เราเรียกว่าระเบียบทางภูมิรัฐศาสตร์ คือจะทำอย่างไรให้พันธมิตรของตัวเองคงอยู่ในอำนาจได้ หรือทำอย่างไรให้โค่นล้มศัตรูของพันธมิตรได้

“อีกอย่างคือ สงครามในซีเรียที่ผลิตผู้ลี้ภัยจำนวนมากนี้ เป็นผลมาจากมิติบางประการของสงครามใหม่ หมายความว่าเราเห็นสงครามที่มีอัตลักษณ์เป็นองค์ประกอบ ทั้ง 2 ฝ่ายในซีเรียตอนนี้เป็นการสู้รบระหว่างกลุ่มนิกายซุนหนี่และชีอะห์ ของอิสลาม เราเรียกว่า Mark of Identity เป็นตัวแบ่งแยกกลุ่มพวกและเป็นตัวระดมความหวัง ความฝัน ของคนที่สู้รบว่าเรากำลังจะสร้างรูปแบบการปกครองใหม่ที่ดีกว่าระบอบเดิม

“ฉะนั้น เราเห็นมิติของอัตลักษณ์โดยอาศัยศาสนาอิสลาม และเนื่องจากมิติทางศาสนาข้ามพรมแดนอย่างมาก คนที่เกี่ยวข้องกับการสู้รบในซีเรียจึงถูกระดมมาจากหลายที่ มีการรับสมัครนักรบจากอังกฤษ จากหลายประเทศในยุโรป จากอินโดนีเซีย ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้อำนาจศูนย์กลางของรัฐล่มสลาย ล้มเหลว เกิดภาวะสุญญากาศในซีเรีย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือมี ISIS ที่เคลื่อนย้ายมาจากอิรัก ซึ่งเป็นผลมาจากการบุกรุกของสหรัฐฯ ในปี 2003 ทำให้คู่กรณีในความขัดแย้งนี้ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น

“สุดท้ายคือ สงครามในซีเรียมีมิติของเศรษฐกิจสงคราม ไม่ว่าจะกลุ่มใดก็ตามที่เกี่ยวข้องกับสงคราม มีความพยายามประคับประคองสงครามนี้ และหาเงินมาทำสงคราม เช่น ที่เราเห็นการไปยึดและทำลายพิพิธภัณฑ์ในซีเรีย เราคิดว่าเป็นการทำเพื่ออุดมการณ์ แต่ว่ามีคนที่ศึกษาวิจัยเรื่องนี้ แล้วพบว่าของหลายอย่างในพิพิธภัณฑ์หรือในโบราณสถาน ถูกนำไปขาย เพื่อเอาเงินมาทำสงครามต่อ ฉะนั้น สงครามในซีเรียก็จะไม่จบง่ายๆ เพราะมีเม็ดเงินที่ไหลเวียนอยู่ในสงคราม”

“รัฐและประชาชนที่ยังเห็นว่าปัญหาผู้ลี้ภัย ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา ให้ลองคิดดูว่า ถ้าต้องตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเผชิญสงครามกลางเมืองทุกวี่วัน จะทำอย่างไร”

ผู้ลี้ภัยคือผลกระทบต่อความมั่นคง?

ดร.จันจิรา บอกว่า รัฐและประชาชนที่ยังเห็นว่าปัญหาผู้ลี้ภัย ไม่เกี่ยวอะไรกับเรา ให้ลองคิดดูว่า ถ้าต้องตกอยู่ในสภาวะที่ต้องเผชิญสงครามกลางเมืองทุกวี่วัน จะทำอย่างไร สอง… เป็นไปได้ไหมว่า ถ้าพวกไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มอาชญากร กลุ่มค้ามนุษย์ หรือกลุ่มก่อการร้ายข้ามชาติ การที่เราเอื้อให้เขาอยู่หรือเอื้อให้เขาไปประเทศที่ 3 ไปอยู่ร่วมกับสังคมใหม่ได้ ก็ทำให้ความมั่นคงของโลกหรือในประเทศเรามีมากขึ้น

ดังนั้น การแก้ปัญหาผู้ลี้ภัย คงต้องชี้ให้เห็นว่า ความมั่นคงของผู้ลี้ภัยคือความมั่นคงแห่งชาติของเราด้วย

ทำไมคนถึงกลัวผู้อพยพ เราจะทำอะไรได้ไหมต่อความรู้สึกเหล่านี้

“มีได้ 2 ลักษณะ” ดร.จันจิราว่า “หนึ่ง… มาจากทัศนคติบางอย่างคนนั้นๆ เราคงต้องลองฟัง แทนการต่อว่า ต้องอธิบายว่าความจริงแล้วผู้อพยพมีคุณูปการต่อเศรษฐกิจของประเทศ เขาไม่ได้เป็นภัยอย่างที่เราคิด สอง… ความเห็นแบบนี้เกิดจากการที่ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีส่วนในการทำ เพื่อให้ตัวเองมีความชอบธรรมในการทำนโยบายบางอย่างต่อผู้อพยพ”

เธอบอกว่า ต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์รัฐได้ มีการเปิดพื้นที่ให้สังคมคุยกันว่าตกลงแล้ว เราช่วยเหลือได้เท่าไหร่ ไม่ได้หมายความว่าต้องทำทุกอย่าง เพราะเศรษฐกิจประเทศไทยไม่ได้เข้มแข็งอย่างประเทศในยุโรป แต่ภารกิจเหล่าคือการร่วมกันรับภาระ เรามีอาเซียนไว้ไม่ใช่เพื่อเปิดเสรีทางการค้าอย่างเดียว แต่มีความรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่ร่วมผลักภาระ บ่ายเบี่ยงให้คนเหล่านี้ไปประเทศอื่นๆ

“จากประวัติศาสตร์การเมืองโลกที่ผ่านมา คล้ายว่ายังไม่มีประเทศไหนล่มจมจากการที่มีผู้อพยพหลั่งไหลเข้ามา ส่วนใหญ่ประเทศที่เละเทะราบคาบเป็นผลจากสงคราม แต่ประเทศที่รับผู้อพยพเข้ามา ยกตัวอย่างสหรัฐฯ สร้างประเทศเป็นมหาอำนาจได้ กึ่งหนึ่งคือผู้อพยพมาจากยุโรปตะวันออก อิตาลี ชาวยิว ความกลัวภัยคุกคามเหล่านี้ เป็นเหมือนผี บางทีเป็นจิตมโนขึ้นแล้วไม่ได้ตรวจสอบ

“ในแง่การเมืองระหว่างประเทศ กรณีผู้ลี้ภัยกำลังท้าทายรูปแบบการปกครอง รูปแบบรัฐแบบใหม่ หมายความว่ารัฐไทยที่เราอยู่ทุกวันนี้ เกิดมาประมาณ 300 – 400 ปี มันใหม่มาก ฉะนั้น มันเปลี่ยนได้ วิวัฒนาการได้ ปัญหาผู้อพยพที่ข้ามพรมแดนมันอาจกำลังเปลี่ยนวิธีคิดของเราเกี่ยวกับการเมืองการปกครอง เราต้องไปพ้นจากระบบรัฐชาติที่มีพรมแดนที่แน่นอน ผูกติดกับจำนวนประชากรที่แน่นอน…”

ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์

“วิธีดูว่าความเอื้ออาทร ความเมตตาในตัวมนุษย์ขึ้นหรือลง ไม่ได้อยู่ที่ว่าเราดีกับคนที่เหมือนเรา แต่อยู่ที่เราดีกับคนที่ต่างจากเรา เวลาที่เราปฏิบัติต่อคนแปลกหน้า โดยเฉพาะคนแปลกหน้าที่ลี้ภัยมา นั่นจะบอกว่าเราเป็นอย่างไร และผมคิดว่าการเมืองแห่งความอาทรสำคัญ เพราะในที่สุดแล้วมันจะบอกว่าเราอยู่ตรงไหน และจะเผชิญกับความท้าทายของโลกในอนาคตได้มากน้อยแค่ไหน”

ศ.ดร. ชัยวัฒน์ กล่าวไว้ในตอนท้าย

06
จากซ้ายไปขวา – ดร.จันจิรา สมบัติพูนศิริ / คุณโรยทราย วงศ์สุบรรณ / ศ.ดร. ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ / ผศ.ดร. นฤมล ทับจุมพล

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ