จาก EU ถึง AEC อาณาจักรที่สร้างจากทราย

จาก EU ถึง AEC อาณาจักรที่สร้างจากทราย

unnamed

คอลัมน์: บทพูดคนเดียวของผี      เรื่อง: ทินกร หุตางกูร      ภาพ: ณฐพัฒญ์ อาชวรังสรรค์

อีกไม่ถึง 120 วัน ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน จะรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี จุดประสงค์เพื่อสร้างความเจริญ เพิ่มความสามารถของภูมิภาคในการแข่งขันทางการค้ากับตลาดโลก ลักษณะคล้ายสหภาพยุโรปหรืออียู ประเทศสมาชิกกลายเป็นหนึ่งตลาด หนึ่งฐานการผลิต การเคลื่อนย้ายทุนกับแรงงานระหว่างกันทำได้อย่างเสรี

ผีผอมซีดนั่งสูบบุหรี่บนหลังคารถไฟฟ้า นึกถึงสิ่งที่เกิดกับอียู เมื่อประเทศในยุโรปรวมเป็นอียู หลายคนเชื่อว่าต้องเป็นอาณาจักรทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ มีไม่กี่คนมองออกว่าเป็นอาณาจักรที่สร้างจากทราย

ประเทศสมาชิกของอียูผูกพันกันทางการเงิน ใช้เงินสกุลเดียวกันคือยูโร แต่ไม่ผูกพันทางการคลัง แต่ละประเทศยังดำเนินนโยบายการคลังอย่างอิสระ ใครอยากกู้เงินก็กู้ ตอนแรกอียูมีเงินให้กู้ไม่จำกัด ประเทศกรีซกู้เงินมหาศาลเพราะรัฐบาลมุ่งเอาใจประชาชนเพื่อหวังคะแนนเสียง มอบค่าแรงกับสวัสดิการสูงกว่าที่ควรเป็น 4-5 เท่า จนรัฐบาลมีรายจ่ายมากกว่ารายรับ หนี้เพิ่มดุจบักเตรีบนแผ่นแก้วเพาะเชื้อในห้องทดลองของ อเล็กซานเดอร์ เฟลมมิง นายกรัฐมนตรีต้องเรียกนักบัญชีไปตกแต่งตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือในการกู้เงินรอบต่อไป

ผีผอมซีดนึกภาพในคืนสงัดแห่งเอเธนส์ นักบัญชีจุดเทียน ไม่กล้าเปิดไฟ ใช้ยางลบลบเลข 0 แล้วใช้ดินสอเขียนใหม่เป็นเลข 12 แต่ความจริงก็ปรากฏ อดีตนายกรัฐมนตรี จอร์จ ปาปันเดรอู ของกรีซ ถูกบังคับให้เปิดประตูตู้นิรภัยที่เก็บเงินทุนสำรอง ในตู้นิรภัยใหญ่เท่าโรงเก็บเครื่องบินเหลือเพียงซากแมลงปีกแข็ง 1 ตัวกับใบแจ้งหนี้นับล้านล้านล้านยูโร

กรีซไม่อาจกู้เงินอีก รัฐบาลไม่มีเงินเดือนให้พนักงานของรัฐ ไม่มีเงินจ่ายหนี้ ต้องยอมรับความช่วยเหลือจากสมาชิกอียูประเทศอื่น แลกกับการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัดในประเทศ แต่ประชาชนกรีกผู้คุ้นกับการถูกปรนเปรอให้มีความสุขเหมือน “ซอร์บาเต้นรำบนชายหาด” ในนิยาย Zorba the Greek ของ นิคอส คาซานท์ซาคิส ไม่พอใจ พากันประท้วง เรียกร้องให้รัฐบาลจ่ายเงินเดือนกับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เช่นเดิม

การงดจ่ายหนี้ของกรีซส่งผลให้ธนาคารในประเทศเจ้าหนี้ขาดสภาพคล่อง ผู้นำประเทศสมาชิกของอียูประชุมหาวิธีแก้ปัญหากันหลายครั้ง เครื่องบินบิน พ่นควันสีขาวเป็นทางยาวบนฟ้า แองเกลา เมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนียืนยันว่าอียูต้องช่วยกรีซต่อ แม้กรีซจะทำตัวเหมือนไม่สำนึกในสถานะของตัวเอง แต่ผู้นำของประเทศอื่นลังเล ไม่มั่นใจว่าต้องให้เงินกรีซอีกเท่าใด กรีซจึงจะฟื้น

ช่างภาพของสถานีโทรทัศน์ถ่ายภาพแองเกลาขณะเดินออกจากห้องประชุม เธอดูอิดโรย เธอต้องพยายามทำความเข้าใจไม่เฉพาะกับผู้นำของประเทศอื่น แต่รวมถึงประชาชนในประเทศเยอรมนี ประเทศเยอรมนีมีความมั่นคงทางเศรษฐกิจมากที่สุดในยุโรป เป็นผู้บริจาคเงินอันดับ 1 แก่กองทุนต่าง ๆ ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อแก้วิกฤติ ชาวเยอรมันไม่เข้าใจว่าทำไมกรีซไม่รับผิดชอบตัวเอง ทำไมต้องนำเงินภาษีของพวกเขาไปช่วย พวกเขามีวินัย ทำงานหนัก รู้จักเก็บเงิน ผิดกับชาวกรีกที่ฟุ่มเฟือย รักสนุก ไม่ชอบทำงาน

นักข่าวของสถานีโทรทัศน์ถามแองเกลาว่าทำไม เธอตอบว่าปัญหาของกรีซคือรอยร้าวบนผนังบ้าน ถ้าคนในบ้านไม่ช่วยกันซ่อม รอยร้าวจะขยายจนบ้านพัง ถ้าอียูไม่ช่วยกรีซ ปัญหาจะขยายจนอียูพบจุดจบ

ผีผอมซีดคิดว่าคนซ่อมรอยร้าวบนผนังได้ ถ้าผนังเป็นปูน หิน ไม้ หรือโลหะ แต่คนจะทำอย่างไรหากผนังเป็นทราย รอยร้าวบนผนังทรายหากทิ้งไว้จะยิ่งขยาย แต่ถ้าคนขยับตัวช่วยกันซ่อม การขยับตัวจะสร้างรอยร้าวแห่งใหม่

ผีผอมซีดลองคิดต่อ ว่าสมมุติอียูผูกพันกันทางการคลังเช่นเดียวกับทางการเงินจะเกิดปัญหาไหม เขาเชื่อว่าต้องเกิด แต่ปัญหาอาจเปลี่ยนจากหนี้เป็นอย่างอื่น ถ้าประเทศสมาชิกของอียูต้องการผูกพันกันทางการคลัง ทุกประเทศต้องมอบสิทธิในการกำหนดนโยบายการคลังให้คณะมนตรีของสหภาพ กำหนดอย่างไรทุกประเทศต้องปฏิบัติตาม

คำถามคือนโยบายที่กำหนดจะยึดการมีวินัยการคลัง หรือการเอาใจประชาชนเพื่อหวังคะแนนเสียง ถ้าเป็นอย่างแรกชาวกรีกจะทนได้ไหม ถ้าเป็นอย่างหลังคนเยอรมันจะทนได้ไหม ถ้าทนได้ ความอดทนจะยืนนานเพียงใด ก่อนกลายเป็นความคับข้องจนกล้าฝืนนโยบายหรือริบอธิปไตยทางการคลังของตนคืน ถึงตอนนั้นบนผนังจะเกิดรอยร้าว ซึ่งสุดท้ายจะซ่อมหรือไม่ซ่อมก็ไม่ต่างกัน

อาณาจักรที่สร้างจากทรายต้องสลาย

ตอนอียูก่อตั้งปี 1999 หลายคนเชื่อว่าจะแข็งแกร่ง เพราะประเทศสมาชิกมีวัฒนธรรม ศาสนา มาตรฐานด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมืองใกล้กัน ไม่นึกว่าความต่างที่เป็นเหมือนรอยร้าวเล็กๆ ไม่สำคัญ เช่น รายละเอียดของลักษณะนิสัยประจำชาติ จะทำให้อียูประสบปัญหาเร็ว แรง และยังแก้ไม่ได้แบบนี้

ผีผอมซีดรู้สึกเศร้า ตระหนักว่าการรวมเป็นประชาคม สมาคม หรือสหภาพเพียงเพื่อความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจคือการรวมบนพื้นฐานของผลประโยชน์ ไม่มีวันแข็งแรง แต่จะเปราะบางเหมือนอาณาจักรที่สร้างจากทราย รอยร้าวเล็ก ๆ สามารถทำให้อาณาจักรพัง

ปัญหาของอียูกับเศรษฐกิจของอเมริกาซึ่งไม่เคยฟื้นเต็มที่หลังวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ทำให้กระแสการเงินโลกไหลสู่เอเชีย เศรษฐกิจของจีนกับอินเดียขยาย พม่าที่ปิดตัวอยู่กับการปกครองระบอบเผด็จการทหารมาหลายสิบปีเปิดประเทศเตรียมเป็นสมาชิกของเออีซี

ประเทศที่จะรวมเป็นเออีซีมองว่าอุปสรรคที่ทำให้ปัญหาหนี้ในอียูแก้ยากคือการใช้เงินสกุลเดียว เออีซีจึงจะให้ประเทศสมาชิกใช้เงินสกุลของตัวเอง รวมถึงมีอธิปไตยในการดำเนินนโยบายการคลัง แต่เปรียบกับอียู ประเทศที่จะรวมเป็นเออีซีมีความต่างทางศาสนากับวัฒนธรรม มาตรฐานด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การศึกษาของแต่ละประเทศเหลื่อมกันมาก

การเคลื่อนย้ายทุนกับแรงงานอย่างเสรี ขณะความเหลื่อมล้ำยังไม่ได้รับการแก้จะสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบจนก่อรอยร้าวบนผนังหรือไม่..

ต้องรอดู

ผีผอมซีดคิดว่าประชาคม สมาคม หรือสหภาพอาจมั่นคงถ้าทำได้ตามเจตนารมณ์ของการก่อตั้ง คือคำนึงถึงประโยชน์ส่วนร่วม สร้างความเจริญแก่ประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียม ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีความสุขอย่างที่ควรจะมี แต่ในความจริงประเทศสมาชิกมักเห็นแก่ประโยชน์ตัวมากกว่าส่วนรวม ประเทศสมาชิกที่แข็งแรงกว่าไม่เอื้อเฟื้อประเทศสมาชิกที่อ่อนแอกว่าถ้าตนไม่ได้ประโยชน์ ยิ่งไปกว่านั้นประโยชน์ก็ตกอยู่เฉพาะคนรวย ไม่เคยกระจายถึงประชาชนทุกภาคส่วน ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศสมาชิกประชาคม สมาคม หรือสหภาพที่ยังไม่เกิดปัญหาอาจจะสูงขึ้น แต่คนจนจะจนเท่าเดิม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ