8 เครือข่ายลุ่มน้ำโขง ติดตามกรณีพัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี

8 เครือข่ายลุ่มน้ำโขง ติดตามกรณีพัฒนาโครงการเขื่อนไซยะบุรี

   วันนี้เครือข่ายภาคประชาชน 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง เดินทางมายังกรุงเทพมหานครเพื่อติดตามกรณีการพัฒนาโครงการในแม่น้ำโขงเพราะมีความกังวลใจต่อโครงการเขื่อนไซยะบุรี   หลังจากทราบข่าวว่ามีการเริ่มดำเนินการโครงการ ในขณะที่ก่อนหน้านี้คณะกรรมาธิการลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศมีมติให้ชะลอโครงการเพื่อศึกษาผลกระทบก่อน ติดตามรายงานนักข่าวพลเมือง จ.อุบลราชธานี

ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ริมน้ำโขงจากจังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี  ตัดสินใจเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร
เพราะอยากถามหาหลักธรรมในการประกอบกิจการของบริษัทเอกชนและธนาคารของไทยที่ร่วมลงทุนก่อสร้างเขื่อนไซยะบุรี ในประเทศลาว โดยเดินทางไปยังบริษัทช.การช่าง และธนาคารไทยพาณิชย์

การถามหาหลักธรรมในการประกอบกิจการของนักลงทุนครั้งนี้  เกิดขึ้นเพราะปลายปี 2554  คณะมนตรีแม่น้ำโขง จากประเทศสมาชิก MRC 4 ประเทศคือกัมพูชา ลาว ไทย และเวียตนามมีมติให้ชะลอการสร้างเขื่อนไซยบุรีและศึกษาผลกระทบเพิ่มเติมก่อน  แต่กลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สื่อมวลชนได้รายงานว่าเอกชนของไทยคือ บริษัท ช.การช่าง ซึ่งเป็นผู้รับเหมาได้เดินหน้าก่อสร้างโครงการนี้ไปแล้ว โดยได้รับการปล่อยเงินกู้จากธนาคารหลายแห่งในไทย

ชาวชุมชนริมน้ำโขง จ.มหาสารคาม   ปล่อยเสียง….พี่น้องที่มาก็เป็นพี่น้องลุ่มน้ำโขงที่ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการสร้างเขื่อนของ ช.การช่าง กิจการรับสัมปทาน ก็คิดว่าหลายๆเรื่องน่าจะเกิดกับคนลุ่มน้ำอย่างแน่นอน ปัญหาอย่างหนึ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ภัยธรรมชาติ อย่างเช่น สึนามิ  แล้วแหล่งน้ำ ที่ไปสร้างคือแหล่งน้ำที่มีขนาดใหญ่มหึมา ถ้าเกิดเขื่อนรับไม่ได้ สึนามิ ย่อมเกิด คิดดูว่าสึนามิจะอยู่ภาคเหนือของน้ำโขงตอนบน

การมีคุณธรรมในการประกอบกิจกรรมหรือการมีหลักธรรมาภิบาลของการลงทุนหรือคำนึงถึงผลที่จะเกิดขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องคือสิ่งที่ผู้ลงทุนกล่าวถึงเสมอ  แต่เมื่อสถานการณ์กลับตรงกันข้ามเช่นนี้  ชาวบ้านแถบแม่น้ำโขงของไทยจึงถามหาหลักธรรมาภิบาลจากผู้เกี่ยวข้อง

นิวัติ ร้อยแก้ว   เครือข่ายรักษ์น้ำของ จ.เชียงราย….. น่าจะมีการทบทวนว่าสิ่งที่ได้อนุมัตินั้น มันจะสร้างความเสียหายให้ประชาชนไปมากแค่ไหน วันนี้เรามีพี่น้องทั้งหมด 8 จังหวัดลุ่มน้ำโขง ตั้งแต่เชียงรายลงมาจนถึงอีสาน ลงมาช่วยกัน

เขื่อนบนแม่น้ำโขงไม่ว่าจะสร้างขึ้นประเทศใด  ย่อมเกิดผลกระทบข้ามพรมแดนอย่างปฎิเสธไม่ได้ เพราะแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ  และเมื่อมติของ 4 ประเทศได้ให้ชะลอโครงการเพื่อหาข้อมูลผลกระทบที่ชัดเจนก่อน   กลับมีการละเลยสิ่งที่เป็นข้อตกลงร่วมโดยฝ่ายการลงทุนของไทย  การที่ชาวบ้านในแถบลุ่มน้ำโขงของไทยออกมาถามหาธรรมมาภิบาลก็เพื่อหวังให้การอยู่ร่วมกันในสังคมอาเซียนที่เราล้วนเป็นสมาชิกมีความเป็นธรรมในการปฏิบัติอย่างแท้จริง 
คำปิ่น อักษร นักข่าวพลเมือง จ.อุบลราชธานี รายงาน…..
ออกอากาศวันอังคารที่    24 เมษายน 2555

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ