รายงานโดย: ตาล วรรณกูล
ถ่ายภาพ: ณัฐวุฒิ อุปปะ
23 ก.ค. 2559 เครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง จัดกิจกรรมประชุมเสวนาหัวข้อ “ทิศทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในยุคเปลี่ยนผ่านของชุมชนคนเหนือล่าง” ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 2559 ณ วัดบ่อไมหว้า ต.น้ำรึม อ.เมืองตาก จ.ตาก โดยมีตัวแทนจากเครือข่ายต่าง ๆ เข้าร่วม อาทิ สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมประกาศ จำนวนกว่า 100 คน จาก 7 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่างเข้าร่วม
ภาพ: บรรยากาศการประชุมเสวนาหัวข้อ “ทิศทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในยุคเปลี่ยนผ่านของชุมชนคนเหนือล่าง” ระหว่างวันที่ 22-23 ก.ค. 2559
วันนี้ (23 ก.ค. 2559) ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการจัดกิจกรรม กลุ่มเครือข่ายทรัพยากร ดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง และเครือข่ายได้ร่วมกันแสดงเจตนารมณ์ ทิศทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในยุคเปลี่ยนผ่านของชุมชนคนเหนือล่าง ดังนี้
คำประกาศเจตนารมณ์ “ทิศทางทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในยุคเปลี่ยนผ่านของชุมชนคนเหนือล่าง” ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภาคเหนือตอนล่าง เป็นต้นทุนในการดำเนินชีวิตของคนในชุมชน เป็นต้นทุนการผลิตที่พัฒนาเป็นเศรษฐกิจของชุมชนฐานราก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินชีวิต ประกอบกับการเปลี่ยนแปลง เปลี่ยนผ่านทางการเมืองทำให้เกิดแผนและนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนหน้าที่ โครงสร้างของระบบนิเวศน์ภายในภาคเหนือตอนล่าง ที่มีหน้าที่ตอบสนองการดำเนินชีวิตสู่การตอบสนองและเป็นต้นทุนการผลิตสู่การพัฒนา ล้วนแล้วแต่ไม่ตอบสนองความต้องการของชุมชน การเปลี่ยนแปลงส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างนายทุนกับชุมชน ชุมชนกับรัฐ นี่คือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในภาคเหนือตอนล่าง ในห้วงเวลาของการกล่าวถึงการปฏิรูป และการพยายามกำหนดกติการ่วมกันของประเทศ การเคารพสิทธิและการรับฟังเสียงประชาชน เปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างเสรี และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ คือส่วนสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการกำหนดทิศทางและนโยบายพัฒนา เพื่อให้การดำเนินมาตรการใด ๆ ของฝ่ายนโยบายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนคนในประเทศอย่างตรงจุด การดำเนินการที่ผ่านมา กระบวนภาคประชาชนพยายามสร้างพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น และเรียกร้องสิทธิในการตัดสินใจในการกำหนดแผนพัฒนาที่เคารพสิทธิชุมชนและก่อเกิดประโยชน์สูงสุดกับสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติอย่างแท้จริงมาโดยตลอด ผ่านการระดมและประมวลสถานการณ์สิ่งแวดล้อม ไปสู่การพัฒนาข้อเสนอและขับเคลื่อนนโยบาย เช่น พ.ร.บ.ป่าชุมชน พ.ศ.2540, กฎหมายโฉนดชุมชนปี พ.ศ. 2548 กฎหมาย 4 ฉบับเพื่อคนจน ปี พ.ศ.2555 และ พ.ร.บ.น้ำ และพ.ร.บ.แร่ฉบับภาคประชาชน รวมถึงนโยบายในการปกป้องสิทธิชุมชนและทรัพยากร ซึ่งได้เสนอต่อรัฐบาลและฝ่ายนโยบายมาทุกยุคทุกสมัยมาโดยตลอด จากสถานการณ์ปัจจุบันที่เกิดขึ้นพบว่า การดำเนินนโยบายในหลายส่วนนำไปสู่ความกังวลของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและแผนการพัฒนาด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคำสั่งที่ 64/2557 และ 66/2557, การพัฒนาโครงข่ายคมนาคม, การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ, การขยายพื้นที่สัมปทานเหมืองแร่และโรงโม่หิน, การพัฒนาโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะ, ความพยายามในการนาพื้นที่ป่ามาสร้างเขื่อน การปรับแก้ผังเมืองเพื่อรองรับอุตสาหกรรมด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่มีความเสี่ยงที่จะกระทบกับสิ่งแวดล้อม โดยการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่าการทำงานบางส่วนขาดการให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการที่รอบด้านและกระบวนการมีส่วนร่วมและรับฟังข้อมูลจากชุมชน รวมถึงพื้นที่และกลไกที่ให้ชุมชนได้แสดงสะท้อนปัญหาและความคิดเห็นยังเกิดขึ้นไม่มากนัก ก่อเกิดความกังวลของชุมชนถึงผลกระทบซึ่งอาจเกิดขึ้น นอกจากนั้นมีเร่งรัดกระบวนการและขาดการทาความเข้าใจถึงแผนการดำเนินการและการจัดการผลกระทบที่ชัดเจน ดังนั้น เพื่อเป็นการแสดงความจริงใจการกำหนดนโยบายในฐานะผู้บริหารประเทศที่รัฐบาลควรเคารพกระบวนมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้มีการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรี เพื่อเป็นการสร้างบรรทัดฐานและสร้างธรรมาภิบาลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การแสวงหาทางออกร่วมกันในห้วงการเปลี่ยนผ่านของกติการ่วมของคนไทย เพื่อให้ชุมชนมีความสุข มีความมั่นคงในวิถีชีวิต สู่การเข้าถึง จัดการทรัพยากร สิทธิชุมชน บนฐานคิด “แบ่งปัน เท่าเทียม เป็นธรรม” เพื่อความยั่งยืนต่อไป ด้วยจิตคารวะ เครือข่ายทรัพยากรดิน น้ำ ป่า ภาคเหนือตอนล่าง ประกาศ ณ บ้านบ่อไมหว้า ตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก |