“เสรีภาพ จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศที่มีประสิทธิภาพ” ประธานกลุ่มล้อการเมือง มธ.ฝากถึง คสช.

“เสรีภาพ จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศที่มีประสิทธิภาพ” ประธานกลุ่มล้อการเมือง มธ.ฝากถึง คสช.

20151202154252.jpg

หลังปีที่แล้วถูกยกเลิกจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง  ปีนี้กลับมาเรียกเสียงฮือฮาอีกครั้ง จนทำให้สื่อกระแสหลักและสื่อออนไลน์จับจ้องมาที่งานฟุตบอลประเพณีจุฬา-ธรรมศาสตร์   จากผลงานแสดงขบวนพาเหรด ของกลุ่มอิสระล้อการเมือง  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่แสดงอีกแง่มุม ด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ผ่านมุมมองของนักศึกษากว่า 60  คน  วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 นักข่าวพลเมืองได้พูดคุยกับ ‘วชิรวิทย์ คงคาลัย’ ประธานกลุ่มล้อการเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงแนวความคิดและเหตุการณ์ในวันนั้น

+ วินาทีเผชิญหน้า

ในส่วนของเจ้าหน้าที่กับผู้จัดงานช่วงก่อนเข้าสนาม  เขาก็เข้ามาตรวจสอบว่ามันมีอะไรที่เขาไม่ต้องการไหม ตอนนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรมาก แต่ตอนที่จะเข้าประตูเนี่ยเขาก็มาดึงผ้าออกบางส่วน เราก็พยายามจนสามารถเข้าไปในสนามได้ เราก็รู้สึกแฮบปี้มากครับ เพราะสามารถดำเนินกิจกรรมตามที่เราคาดหวังไปได้ จนกระทั่งออกมา….ทางกลุ่มประเมินว่าอาจเกิดความเสี่ยงระหว่างเจ้าหน้าที่ จึงสั่งสลายตัวแล้วค่อยมาเก็บของ แต่ในส่วนสังคมผลตอบรับวันนั้นก็ค่อนข้างดีพอสมควร คือ คนดูส่วนใหญ่ และสมาคมธรรมศาสตร์เองก็เห็นด้วยกับการแสดงหุ่นล้อการเมือง

+ ความรู้สึก ความดีใจความกลัว

อารมณ์มันมีสองอย่างอ่ะครับ คือดีใจที่ทำได้แล้ว อย่างที่สอง  คือ “กลัว” กลัวว่าหลังจากนี้มันจะมีอะไรเกิดขึ้นเพราะว่าทางเจ้าหน้าที่ก็จับตามองเราว่าเราจะทำอะไรตามที่เขาไม่ต้องการ ซึ่งเราก็เหมือนจะทำ เลยสั่งสลายตัวไว้ก่อน

+ กระแสตอบรับ

ก็มีทั้งสองกระแสอันนี้เป็นเรื่องปกติในสังคมประชาธิปไตย คือ การล้อการเมืองก็เป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างหนึ่ง มันไม่มีอะไรที่มันมีความสมบูรณ์ หรือ ถูกต้องในตัวมันเอง เพราะฉะนั้นการที่เรานำเสนอออกมาและมีการวิจารณ์ต่ออันนั้นเป็นสิ่งที่ดี เราไม่ได้กังวลกับมันมาก แต่ประเด็นสำคัญคือ เราจะได้เแสดงไหม อันนั้นสำคัญกว่า เราควรไปตั้งคำถามกับสิ่งนี้มากกว่า ว่าเราจะสามารถมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นได้อย่างไร

+ เราเปิดพื้นที่แสดงทัศนะได้

โดยส่วนตัวผมว่ามันสำเร็จแล้ว ในแง่ที่ว่าเราสามารถเปิดพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็นทางสังคมและทางการเมือง เศรษฐกิจอะไรก็แล้ว  แต่อย่างน้อยที่สุดมันทำให้คนในสังคมตระหนักรู้ว่า อย่างน้อยเราสามารถเปิดพื้นที่ได้เอง

+ ประเมินความเสี่ยง

เราก็ประเมินนะครับว่า อาจมีการโดนเรียกคุยเพื่อปรับความเข้าใจ อันนี้เราประเมินและยอมรับความเสี่ยงแล้ว คนในกลุ่มทุกคนก็พร้อมที่จะเจอกับสถานการณ์อย่างนั้น  แต่ว่าดูแล้วอาจจะไม่ได้รุนแรงถึงขนาดนั้น คงจะแค่เรียกตักเตือน

+ ความหมาย “เสรีภาพ”

เสรีภาพเนี่ยเป็นสิ่งที่บางคนอาจมองว่ามันทำให้เกิดความขัดแย้งได้ แต่ผมคิดว่าหากบ้านเมืองมันไปสู่ระเบียบสังคมที่มีความพอดิบพอดี มันอาจจะเป็นไปตามประชาธิปไตยก็ได้ ซึ่งทำให้ทุกคนทุกกลุ่มสามารถแสดงความเห็นได้  นั่นผมคิดว่ามันสามารถทำให้สังคมเกิดอะไรใหม่ๆ  และเกิดการยอมรับได้ หากใช้กฏเกณฑ์ตามประชาธิปไตย แต่การปล่อยให้เป็นแบบปิดไว้อย่างนี้ หรือไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็น อาจจะนำมาสู่ความขัดแย้งได้ เพราะผู้คนไม่มีพื้นที่ในการแสดงออก

+ บทบาทนักศึกษา ต่อ เสรีภาพทางการเมือง

ผมพูดในฐานะนักศึกษาคนหนึ่งแล้วกัน ผมว่าคนทุกคนหรือแม้แต่นักศึกษาเองควรที่จะมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น

และผมคิดว่าการแสดงสิทธิเสรีภาพด้วยตัวมันเองมันไม่ได้เป็นเรื่องที่อันตรายแต่ผมคิดว่ายิ่งมีการแสดงความเห็นมากเท่าไร สังคมจะเรียนรู้และมีการพัฒนามากยิ่งขึ้น

+ ขอบเขตของเสรีภาพ

เสรีภาพของผมนะครับ คือ ตราบใดที่มันไม่ทำให้คนอื่นบาดเจ็บ หรือนำไปสู่ความรุนแรง สิ่งเหล่านั้นก็สามารถที่จะทำได้

+ ฝากถึง คสช.

ก็อาจจะขอบคุณเขาก็ได้นะครับ ที่ไม่พยายามยกเลิกงานของเราอย่างจริงจัง อย่างน้อยที่สุดคือทำให้เห็นว่าหากต้องการปฏิรูปการเมืองอย่างแท้จริง อย่างน้อยนี่จะเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่สามารถทำได้ หากให้ทุกคนมีสิทธิในการแสดงความคิดเห็น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ