“เรียนรู้สื่อ ก่อนใช้สื่อ”

“เรียนรู้สื่อ ก่อนใช้สื่อ”

“เรียนรู้สื่อ ก่อนใช้สื่อ” 

                “สื่อ” เป็นเครื่องมือหนึ่งที่ถูก มองว่าทรงอิทธิพลที่สุด เมื่อใดที่“ปัญหา”ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงบนพื้นที่สื่อ จากเรื่องที่เงียบๆก็จะกลายเป็นเรื่องใหญ่ จากเรื่องที่อาจไม่มีอะไรก็จะกลายเป็นประเด็น นั่นคือคุณสมบัติของสื่อที่หลายๆคนคิดถึง และให้ความหวังว่า เมื่อใดที่สื่อเข้ามาให้ความสนใจ ประเด็นปัญหาของตนก็จะได้รับการแก้ไข

                  “ปัญหา” ไม่ว่าจะเรื่องใด เกิดขึ้นที่ไหน ก็มักทำให้คนภายในพื้นที่บางส่วนรู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจ อยากช่วยแก้ไข หรือเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลจัดการ แต่บางครั้งหันไปทางไหนก็พบแต่คำว่า พวกพ้องและผู้มีอำนาจ ที่ได้รับประโยชน์จากการที่ปัญหานั้นมีอยู่ จึงเห็นว่า การสื่อสารให้สังคมรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น จึงน่าจะช่วยให้เกิดการจับตา และตรวจสอบแก้ไขได้

                แต่หากปัญหาที่สื่อสารไป ถูกปล่อยไว้เหมือนเดิม เหตุผลหนึ่งที่ถูกกล่าวอ้างคือเพราะสื่อไม่ตามต่อ  อันที่จริงแล้ว เราคงต้องยอมรับว่า สื่อไม่สามารถเข้าถึงทุกปัญหาที่ทุกคนต้องการได้ พื้นที่สื่อทั้งจอโทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ล้วนมีจำกัด  รวมถึงตัวนักข่าวก็มีจำกัดและต้องติดตามเรื่องราวหลายประเด็น 

ที่สำคัญ  การสื่อสารมิใช่กลไกหลลักขอการแก้ไขปัญหา หากเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมหาทางออก ด้วยการเป็นพื้นที่ให้ข้อมูลและสร้างความเข้าใจกับสังคมวงกว้าง

              กรณีการสื่อสารของชาวบ้านกลุ่มสมัชชาคนจนหัวนา-ราศีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ที่ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อให้รัฐบาลทุกยุคทุกสมัยเข้ามาแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อนราษีไศล และเขื่อนหัวนา ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญของการใช้สื่อเพื่อช่วยสร้างความเข้าใจและนำไปสู่การหาทางออกร่วมกันของภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

   ย้อนไปเมื่อประมาณ 4 ปีที่แล้ว สิ่งที่กลุ่มสมัชชาคนจนหัวนา-ราษีไศลทำคือ ยกระดับรูปแบบการชุมนุมด้วยการนำเอาวัฒนธรรมประเพณี ภูมิปัญญา และวิถีชีวิตการพึ่งพาอาศัยป่าบุ่งป่าทามมาปรับใช้ในการชุมนุมเพื่อให้รัฐและสังคมภายนอกได้รับรู้และเข้าใจถึงการสูญเสียที่ดินทำกินและการสูญเสียป่าบุ่งป่าทามของพวกเขา โดยการตั้งเป็นหมู่บ้านคนจน ณ สันเขื่อนราษีไศล

นอกจากการปรับเปลี่ยนการชุมนุมรูปแบบใหม่แล้ว พวกเขายังให้ความสำคัญกับการสื่อสารกับสังคมภายนอกและภายในกลุ่มของพวกเขาเอง โดยมีการจัดตั้งทีมข่าวพลเมือง “กลุ่มเสียงคนอีสาน” เพื่อสื่อสารกับสังคมภายนอกโดยผ่านทางโทรทัศน์ ช่องทีวีไทย ทีวีสาธารณะ ช่วงรายการข่าวพลเมือง ส่วนการสื่อสารกับบุคคลภายในกลุ่มได้จัดตั้งทีมข่าวสมัชชาคนจนนิวส์ โดยสื่อสารผ่านหนังสือพิมพ์ข่าวกำแพง และเคเบิ้ลทีวี


[SIZE=1]Thanks:   ฝากรูป[/SIZE]

จากการสื่อสารผ่านรายการข่าวพลเมืองทำให้ผู้คนในสังคมทั้งภาครัฐและประชาชนเข้าใจปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาของทั้ง 2 เขื่อนมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเรื่องของชาวบ้านได้รับค่าชดเชยแล้วทำไมยังไม่จบอีก จนมีคำกล่าวที่ว่า“ชาวบ้านได้ไม่รู้จักพอ” เป็นต้น แต่หากความเป็นจริงที่ถูกนำเสนอนั้นคือชาวบ้านได้รับค่าชดเชยเพียงบางส่วน ซึ่งเป็นส่วนน้อยของผู้ที่ได้รับผลกระทบเท่านั้นเอง

   จากการที่ได้มีประสบการณ์ในการต่อสู้เรียกร้องการแก้ไขปัญหาจากภาครัฐ และการปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดจากการสูญเสียที่ดินทำกินมานานถึง 16  ปี ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้และหาทางออกในการแก้ไขปัญหาให้กับตนเองมาโดยตลอด แต่ปัญหายังคงมีอยู่เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้วิถีชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไป”

               ความเข้าใจถึงบทบาทหน้าที่สื่อ  ทำให้พลเมืองสามารถใช้สื่อเป็นได้ทั้งเครื่องมือการสื่อสาร และช่องทางการสื่อสารที่จะสร้างความเข้าใจให้กับสังคมวงกว้าง    เรื่องราวที่สื่อสารจึงไม่ได้นำเสนอเพียงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เป็นเสียงที่สะท้อนจากคนในพื้นที่ถึงเรื่องราว วิถีชีวิต คุณค่า และบริบทสังคมอีกมากมายเพื่อให้เกิดความเข้าใจและตระหนักในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน หาใช่การชี้ถูกผิด การต่อว่า หรือร้องทุกข์ เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่ได้นำไปสู่การหาทางออก เป็นเพียงการระบายความทุกข์เท่านั้น ซึ่งความทุกข์อย่างเดียว ไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง หากไร้ซึ่งข้อมูลและพื้นที่ที่จะนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน
 
              การสื่อสารเพื่อสร้างความเข้าใจ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง จึงไม่ได้กำหนดจำนวนครั้ง ไม่ได้ระบุช่องทาง
              เราอาจต้องใช้ความพยายามและความใจเย็นในการสื่อสารกับสาธารณะ
              เราอาจต้องเปลี่ยนมุมมองจากศัตรูที่ทำผิด เป็นมิตรที่เราต้องช่วยกันทำความเข้าใจ
              เราอาจต้องใช้สื่อที่หลากหลายเพื่อประสานข้อมูลและองค์ความรู้ต่างๆ
              และเราอาจต้องลงมือสื่อสารเองจากความเป็นเจ้าของเรื่องราวของเรา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ