“ทุกคนต่างก็มีภารกิจของการทำความดี” จรัญ มะลูลีม ความเห็นกรณีมัสยิดเมืองน่าน

“ทุกคนต่างก็มีภารกิจของการทำความดี” จรัญ มะลูลีม ความเห็นกรณีมัสยิดเมืองน่าน

5 มี.ค.2558 ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นักวิชาการด้านตะวันออกกลางศึกษาและโลกมุสลิม ให้สัมภาษณ์ กรณีกระแสคัดค้านการก่อสร้างมัสยิดแห่งแรกของ จ.น่าน จากชาวบ้านส่วนหนึ่งในชุมชน บ.น้ำแก่น ต.ม่วงตึด อ.ภูเพียง พื้นที่ก่อสร้าง ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

20150503204900.jpg

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ภาพจาก: thaimuslim.com

000

มีมุมมองอย่างไรกับการต่อต้านการสร้างมัสยิด จ.น่าน?

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม: ความคิดเห็นในเรื่องนี้มีหลากหลาย แต่มีกลุ่มคนอยู่กลุ่มหนึ่งที่เชื่อมโยงเรื่องของมัสยิดไปรวมกับเรื่องของความไม่สงบทางภาคใต้ ซึ่งความจริงประชาชนชาวมุสลิมมีมากมายหลายพันล้านคนที่อาศัยอยู่ในแต่ละภาค แต่ละจังหวัด จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีมัสยิดที่กระจายออกไปในทุกพื้นที่ เพื่อเป็นศูนย์รวมจิตใจให้คนทำดี อยากให้มองในมิตินี้มากกว่าเรื่องของความรุนแรง เพราะอันที่จริงแล้วประชาชนชาวมุสลิมในประเทศไทยโดยปกติมีความสัมพันธ์ที่ดีกับทุกศาสนา ทั้งวัด โบสถ์ มัสยิด ก็สามารถอยู่ร่วมกันได้มีการติดต่อพบปะพูดคุยกัน 

ที่ผ่านมามัสยิดที่เกิดขึ้นในแถบภูมิภาคต่างๆ ก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ จึงอยากให้นึกถึงว่า ชาวมุสลิมที่อยู่จังหวัดน่านเองก็จำเป็นที่จะต้องเคารพสักการบูชาพระผู้เป็นเจ้าของเขาเช่นกัน ความต้องการสร้างมัสยิดทำให้เกิดปัญหามากมายในหลายๆ ประเทศทั่วโลก แต่เชื่อว่าในประเทศไทยเองไม่น่าจะก่อให้เกิดปัญหามากมายขนาดนั้น เพราะในประเทศไทยก็มีศาสนสถานเป็นของตนเองอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นกรณีการสร้างมัสยิดไม่อยากให้เป็นประเด็นที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด หรือไม่เข้าใจกันของศาสนิกชนทั้งหลายในประเทศ

การกระจายตัวไปทั่วโลกของชาวมุสลิม มองว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อย่างไร?

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม: ชาวมุสลิมมีอยู่มากที่สุดในฝรั่งเศส และในอังกฤษก็มีจำนวนมากพอกัน มันทำให้เห็นว่าโลกมีความเข้าใจซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันทางศาสนาน่าจะเป็นเรื่องของคุณความดีมากกว่าความอันตรายหรือความไม่มั่นคงต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยเองไม่มีเหตุการณ์แบบนี้อย่างแน่นอน เพราะทุกศาสนาก็มีหลักคิดประจำใจ อีกทั้งรัฐธรรมนูญไทยเองก็ส่งเสริมเรื่องของศาสนามาโดยตลอด จึงไม่อยากให้จังหวัดน่านกลายเป็นดินแดนที่ไม่ให้เกียรติ ไม่เข้าใจกันหรือไม่พูดคุยกัน 

ทั่วโลกในทุกวันนี้ก็ยังมีความขัดแย้ง มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้น แต่เราก็ยังสามารถอยู่ร่วมกันได้ ทุกคนต่างก็มีภารกิจของการทำความดีกันทั้งนั้น การมีสมัชชาเหตุผลหลักก็คืออยากให้คนมีคุณธรรม และคนจะมีคุณธรรมได้ก็จะต้องมาจากการมีศาสนสถาน การรวมตัวกันทำคุณงามความดี คนที่มีแนวความคิดที่จะมุ่งสู่การทำความดี จึงควรได้รับการสนับสนุน ไม่ใช่การคัดค้าน

กระบวนการสร้างมัสยิดจะต้องขออนุญาตใครหรือทำอย่างไร?

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม: ตามหลักการเมื่อมีคนรวมตัวกันหลายหลังคาเรือน เช่นในกรณีที่จังหวัดอุดรธานี กาฬสินธุ์ เพชรบูรณ์ หรือที่อื่นๆ ที่ผ่านมามีการรวมตัวกันสร้างมัสยิด ถ้ามีจำนวนตามที่คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยกำหนดไว้ สามารถที่จะจัดตั้งมัสยิดที่เป็นทางการและขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลได้ เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทยมีให้เห็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะมีมัสยิดเกิดใหม่ และถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็คือ ชาวพุทธก็มีวัดเกิดใหม่อยู่มากมาย ชาวคริสต์ก็มีโบสถ์เกิดใหม่เพราะชุมชนมันเกิดขึ้น อันนี้เป็นกระบวนการที่พบเห็น ถ้าเราไปแถบต่างภูมิภาคอย่างเช่นภาคเหนือหรือภาคอีสาน บางคนไม่สามารถไปร่วมพิธีกรรมกับพี่น้องได้เพราะอยู่ไกล อันนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในประเทศไทยมาช้านาน

กรณีของจังหวัดน่านเราไปคิดถึงเรื่องของชาวมุสลิมที่เกิดปัญหาในที่ต่างๆ อย่างชาร์ลี เอ็บโด หรือจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในแคนาดา ออสเตรเลีย ทั้งๆ ที่มันไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ในกรณีภาคใต้ของไทยเป็นเรื่องของการเมืองทำให้เกิดความขัดแย้งที่ลามไปยังที่ต่างๆ ทุกภาคในประเทศไทยส่งเสริมให้คนในศาสนสถานมีจริยธรรมมั่งคง มีจิตใจที่งดงาม มีความร่วมมือกันมากขึ้น

ท้ายที่สุดแล้ว กรณีของจังหวัดน่านในทางปฏิบัติทั้งชาวพุทธ ชาวมุสลิม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะเข้ามาจัดการหรือเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง? 

ศ.ดร.จรัญ มะลูลีม: สิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะเชื่อมความสัมพันธ์กันในระยะหลังคือ การพูดคุยกัน ทุกวันนี้เราใช้หลักศาสนาในการดำรงอยู่ อย่างชาวพุทธใช้ทางสายกลางมัชฌิมาปฏิปทา ส่วนชาวมุสลิมใช้ชีวิตแบบประชาชาติสายกลาง เพราะเราสามารถทำงานร่วมกันได้ หลักศาสนาแต่ละคนก็ปฏิบัติไป แต่ตามหลักสังคมนั้นเราสามารถคุยกันได้ ตัวอย่างที่ดีที่อยุธยา คือวัดและสุเหร่าติดกันก็สามารถที่จะทำงานกันได้ ลักษณะเช่นนี้มันทำให้เกิดสุนทรียภาพความงามมากกว่าจะนำไปสู่ความขัดแย้ง

000

ทั้งนี้ ต่อกรณีปัญหาดังกล่าว ในวันที่ 7 มี.ค. 2558 คณะกรรมการอิสลามแห่งประเทศไทยจะลงพื้นที่ จ.น่าน เพื่อหาทางออกให้ดีที่สุด

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ