‘ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ยืนหนังสือนายอำเภอใหม่-ผู้ว่าฯ

‘ไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน’ ฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ ยืนหนังสือนายอำเภอใหม่-ผู้ว่าฯ

20153011235050.jpg

ที่มาภาพ: ฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์

30 พ.ย.2558 กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ และตัวแทนชาวบ้าน 95 หมู่บ้าน ใน ต.บ้านตาล ต.หัวทะเล และ ต.บ้านเพชร อ.บำเหน็จณรงค์ เดินสายเข้ายืนหนังสือคัดค้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ขนาดกำลังการผลิต 55 เมกะวัตต์ ใน อ.บำเหน็จณรงค์ จ. ชัยภูมิ ส่วนหนึ่งของโครงการซึ่งดำเนินการโดยบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับประทานบัตรการทำเหมืองแร่โปแตช จากกระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา 

กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ เข้ายืนหนังสือพร้อมรายชื่อผู้คัดค้านการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน ต่อนายชูศักดิ์ ตรีสาร ผู้ว่าราชการจังหวัดชัยภูมิ อีกทั้งยังเดินหน้ายื่นหนังสือขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยุติการดำเนินงานโครงการดังกล่าว อาทิ นายไพฑูรย์ มหาชื่นใจ นายอำเภอบำเหน็จณรงค์คนใหม่ สำนักงานโยธาธิการและผังเมือง‬ จ.ชัยภูมิ  สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ชัยภูมิ‬ กรมทรัพย์พยากรณ์และสิ่งแวดล้อม จ. ชัยภูมิ และสำนักงานพลังงาน จ.ชัยภูมิ

นายนิคม ศรีประเทศ กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดบำเหน็จณรงค์ กล่าวว่า ชาวบ้านไม่ทราบมาก่อนว่าโครงการเหมืองโปรแตชจะมีโรงไฟฟ้าถ่านหิน ทำให้เกิดความกังวลเรื่องผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม กลัวว่าจะมีปัญหาเหมือนที่แม่เมาะ อีกทั้งมีการศึกษาในหลายจังหวัดแล้วถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน พร้อมตั้งคำถามว่าหลายประเทศมีการยกเลิกโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่ทำไมกลับมีการผลักดันให้ก่อสร้างในประเทศไทย

นายนิคม กล่าวว่ากลุ่มชาวบ้านมีประเด็นคำถาม 3 ข้อหลักที่ยืนให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อคือ 1.ทั้งที่รู้ว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินจะก่อให้เกิดผลกระทบให้กับคนในพื้นที่ ทำไมจึงยังมีการผลักดันให้ก่อสร้าง 2.โครงการอุตสาหกรรมอาเซียนที่รัฐบาลไทยเสนอคือโครงการเหมืองแร่โปแตช แต่กลับมีการเสนอโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มมาถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ 

และ 3.การวางแผนใช้แหล่งน้ำสาธารณะของชาวบ้าน คือ บึงทะเลสีดอพื้นที่กว่า 300 ไร่ ซึ่งเป็นแหล่งหาอาหารและทำเกษตร มาเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำที่ผันมาจากลำน้ำคันฉูเพื่อใช้สำหรับโรงไฟฟ้า เป็นการทำร้ายประชาชนหรือไม่

20153011235305.jpg

ที่มาภาพ: เหมืองแร่ ชัยภูมิ

“หากโปรแตชอาเซียนยังผลักดันโรงไฟฟ้าถ่านหิน จะขยายจำนวนชาวบ้านที่คัดค้านโครงการเหมืองโปรแตชมากขึ้น และชาวบ้านอาจแยกไม่ออกระหว่างเหมืองโปรแตชและโรงไฟฟ้า ซึ่งก็ไม่รู้ว่าอันไหนแย่กว่ากัน” นายนิคม กล่าว

นายนิคม กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาในพื้นที่มีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นไปแล้ว และจะมีการรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 ธ.ค.นี้ หากการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานราชการครั้งนี้ไม่เป็นผล ประชาชนกว่า 6,000 คนซึ่งไม่เห็นด้วยกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินพร้อมที่จะเดินหน้าแสดงพลังในการเข้าร่วมเวทีประชาคมที่จะมีขึ้น

“ชาวบ้านไม่ต้องการโรงไฟฟ้าถ่านหิน นี่คือสิทธิที่ชาวบ้านควรจะมี เพราะนี้คือชีวิตของเขา” นายนิคม

ทั้งนี้ ประทานบัตรการทำเหมืองแร่โปแตช ของบริษัท เหมืองแร่โปแตชอาเซียน จำกัด (มหาชน)  ที่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ ครอบคลุมพื้นที่ 9.7 พันไร่ มีอายุประทานบัตร 25 ปี ตามแผนจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 3 ปี หรือแล้วเสร็จภายในปี 2561 ใช้เงินลงทุนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท ด้วยกำลังการผลิต 1.1 ล้านตันต่อปี แต่การดำเนินโครงการล่าช้า เนื่องจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าที่จะใช้ภายในโครงการถูกชาวบ้านคัดค้าน โดยอ้างถึงความไม่ปลอดภัยในชีวิตจากการปล่อยมลพิษ และผลกระทบที่จะเกิดกับพืชผลทางการเกษตร 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ