‘ไม่เกินความคาดหมาย…’ ดร.สมิตโพสต์ หลังกลุ่ม ‘ผู้นำชุมชน-ปชช.’ รอบเหมืองทองพิจิตรร้องปลด

‘ไม่เกินความคาดหมาย…’ ดร.สมิตโพสต์ หลังกลุ่ม ‘ผู้นำชุมชน-ปชช.’ รอบเหมืองทองพิจิตรร้องปลด

20163004183635.jpg

30 เม.ย. 2559  ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวานนี้ (29 เม.ย. 2559) ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว Smith Tungkasmit พร้อมลิงค์ข่าวกรณีผู้ใหญ่บ้านรอบเหมืองทองร้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ปลด 2 นักวิชาการ อ้างเอียงข้างพวกไม่เอาเหมือง ระบุว่า “ไม่เกินความคาดหมาย…ผู้ใหญ่บ้านรอบๆ เหมืองทองคำร้องให้ปลดผมออกจากกรรมการแก้ไขปัญหาเหมืองทองคำ” ซึ่งมีผู้ติดตามคลิกแสดงความรู้สึกและแชร์ต่อเป็นจำนวนมาก

สืบเนื่องจากความเคลื่อนไหวของเครือข่ายผู้นำชุมชนและประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร เข้ายื่นหนังสือผ่านศูนย์ดำรงธรรม จ.พิจิตร ถึงดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ขอให้ปลด ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต และนางสมลักษณ์ หุตานุวัตร ออกจากคณะกรรมการ 5 ฝ่ายที่ทำหน้าที่หาข้อเท็จจริงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากไม่เป็นกลางและไม่โปร่งใส โดยมีนายพิษณุ เสนาวิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตรรับเรื่อง เมื่อวานนี้ (29 เม.ย. 2559)

จากนั้น ดร.สมิทธ์ โพสต์สตัสแสดงความเห็นต่อเนื่องระบุการที่เข้ามาทำงานช่วยเหลือชาวบ้านในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เสียทั้งเงิน เสียงาน เสียเวลา แต่สิ่งที่ได้มาอย่างเดียวคือกำลังใจ และอาจมีการฟ้องหมิ่นประมาท

การที่กลุ่มผู้ใหญ่บ้านรอบเหมืองทองคำบางคนยื่นหนังสือให้ปลดผมออกจากกรรมการแก้ไขปัญหาเรื่องเหมืองทองคำนั้น…คิดๆ ดูก็นับเป็นข้อดีสำหรับชีวิตคนธรรมดาคนนึงอย่างผมที่จะได้ปลดภาระที่เป็นงานอาสาสมัครนี้สักที…เพราะด้วยใจจริงแล้วอยากจะเดินหนีไปจากเรื่องนี้ให้ไกลหลายครั้งแล้วด้วยเพราะทุกวันนี้งานการอื่นใดไม่ได้ทำ สุขภาพย่ำแย่ทั้งร่างกายและจิตใจ เข้าทำนองเนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แถมได้กระดูกมาแขวนคอ…

หากแต่ว่าพอผมได้สัมผัสได้รู้ความจริงตื้นลึกหนาบาง ความฉ้อฉล ความไร้ประสิทธิภาพ ความไร้ยางอายของผู้เกี่ยวข้องและผู้รับผิดชอบมากขึ้น…ผมกล้าท้าเลยว่าคนไทยทั่วๆ ไปที่มีจิตสำนึกหากได้สัมผัสเรื่องเชิงลึกอย่างผม…รับรองว่าไม่มีใครกล้าเดินหนีทิ้งชาวบ้านที่เดือดร้อนได้ลงคอหรอกครับ…

แล้วอีกเรื่องหนึ่ง…เรื่องที่บอกว่านักวิชาการเอาเงินไปตรวจเลือดชาวบ้านและตรวจสิ่งแวดล้อมรอบๆเหมืองแล้วไม่รายงาน…ขอเรียนเลยว่ามีการรายงานผู้ว่าราชการจังหวัดทุกครั้ง…เงินทั้งหมดนั้นจังหวัดเป็นผู้บริหารจัดการให้มีการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งการตรวจเลือดชาวบ้านได้ถึง 2 ปีหรือกว่า 2,000 คน…การตรวจสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำ ดิน พืชผัก…การแจกจ่ายน้ำ…การแจกจ่ายผักเพื่อการบริโภค…ผมและทีมอาสาเป็นคนลงแรง…ไม่เคยทำสัญญาจ้างใดๆกับจังหวัดหรือใครๆ…ทำด้วยใจ…ทำด้วยจิตสำนึกที่คนไทยต้องดูแลกัน…แถมยังต้องเสียเวลา…เสียเงิน…เสียสุขภาพ…ไม่เคยได้อะไรเลยจากงานนี้นอกจากกำลังใจจากชาวบ้าน…แล้วพวกคนที่มีหน้าที่โดยตรงอย่างพวกคุณทำอะไรให้ชาวบ้านบ้าง?

การพูดพล่อยๆ แบบนี้ผมคงต้องฟ้องหมิ่นประมาทกันบ้าง…เพราะที่ผ่านมา 2 ปีมีแต่เสียตังค์ เสียงาน เสียเวลา…ได้มาอย่างเดียวคือกำลังใจ…และบุญที่ติดตัวไปบอกยมบาลว่า “ชีวิตนี้ผมได้ทำดีถึงที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้วเพื่อประเทศไทย”!

ทั้งนี้ หนังสือของเครือข่ายผู้นำชุมชนและประชาชนรอบเหมืองแร่ทองคำชาตรี ต.เขาเจ็ดลูก อ.ทับคล้อ จ.พิจิตร ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) (ชื่อเดิม อัครา ไมนิ่ง จำกัด) ลงนามโดย นายศิวกร ค้ำชู ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.เขาเจ็ดลูก นางศิริรัตน์ บ่วงวัดท่า ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 9 ต.เขาเจ็ดลูก นายบล สร้อยทอง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 1 ต.วังโพรง น.ส.จิราพร ประภัสสร ตัวแทนภาคประชาชน นายธงชัย ธีระชาติดำรง ตัวแทนภาคประชาชน และนางสุนีย์ สาดี ตัวแทนภาคประชาชน

หนังสือร้องเรียนระบุว่า พฤติกรรมและการดำเนินกิจกรรมนับตั้งแต่ ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต และนางสมลักษณ์ หุตานุวัตรได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกรรมการ 5 ฝ่าย  ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณรอบเหมืองทองรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและตกเป็นเครื่องมือของบุคคลทั้ง 2 คน จากเหตุผลคือ 

1.เป็นแกนนำนำประท้วงไม่เอาเหมืองทองคำ โดยมีการรวบรวมรายชื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้ชาวบ้านรอบเหมืองเห็นว่าทั้ง 2 คนนี้ไม่มีความเป็นกลางและได้ตัดสินใจอยู่ข้างที่ไม่เอาเหมืองแร่ทอง มากกว่าการทำหน้าที่ เพื่อประชาชนรอบเหมืองอย่างแท้จริง 

2. ทำการตรวจเลือดและปัสสาวะชาวบ้าน แต่ไม่ได้นำผลสรุปมาแจ้งให้ชาวบ้านได้รับทราบ แต่กลับนำไปบอกนักข่าวแทน ซึ่งทำให้ชาวบ้านเกิดความตกใจและไม่ทราบว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่ ทั้งยังพูดว่าพืชผักกินไม่ได้ ทำให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิตเกษตรของจังหวัดพิจิตร ชาวบ้านก็กินพืชผักและข้าวที่ปลูกในพื้นที่ตลอดเวลาไม่เคยเจ็บป่วยตามที่เป็นข่าว

3. นำเงิน 4.7 ล้านบาท ของกองทุนประกันความเสี่ยงที่ทางบริษัทอัคราฯ ตั้งไว้ไปใช้ในการตรวจสุขภาพชาวบ้านไปทั่ว บางคนก็ไม่ได้อยู่รอบเหมืองในพื้นที่ และได้ทราบว่าไม่ได้เปิดเผยหลักฐานการใช้เงินให้ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านเกิดความไม่สบายใจ และเกิดความสงสัยว่าทั้งสองคนนำเงินไปใช้อะไรบ้าง มีความโปร่งใสมากน้อยแค่ไหน อีกทั้งเห็นว่าเงินดังกล่าวควรนำมาใช้พัฒนาชุมชนและชีวิตมากกว่า เช่น การนำมาบรรเทาภัยแล้ง เป็นต้น

20163004184051.jpg

20163004184057.jpg

ด้าน สมลักษณ์ หุตานุวัตร ยังคงโพสต์ข้อมูลผ่าน Somlak Hutanuwatr เกี่ยวกับการดำเนินโครงการเหมืองแร่ทองคำอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเกี่ยวกับเหมืองทองของบริษัทอัคราฯ เป็นสรุปการตรวจสอบผลกระทบด้านสุขภาพประชาชนรอบเหมืองทองคำ ลงวันที่ 29 เม.ย. 2559

20163004184652.jpg

20163004184700.jpg

 
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 เม.ย. 2559 ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมิต  และนางสมลักษณ์ หุตานุวัตร ได้นำเครือข่ายประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากเหมืองแร่ทองคำจังหวัดพิจิตร ชาวบ้านเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อคัดค้านการต่ออายุใบอนุญาตประกอบโลหกรรมเหมืองแร่ทองคำ ของบริษัทอัคราฯ ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 13 พ.ค.นี้ พร้อมรายชื่อผู้ลงนามคัดค้านกว่า 20,000 รายชื่อจากการรณรงค์ผ่านเว็ปไซต์ Change.org  รวมถึงแถลงการณ์จากคณะปูชีนียบุคคล ซึ่งมี ศ.ระพี สาคริกเป็นประธาน (คลิกอ่านข่าว: ยื่นนายกฯ 20,000 ชื่อ ระงับต่อใบอนุญาตเหมืองทองพิจิตร)

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ