‘แอมเนสตี้ฯ’ ร้องสมาชิกทั่วโลก ‘ส่ง จม.ถึงทางการไทย’ ชี้เสี่ยงทรมานผู้ถูกคุมตัว

‘แอมเนสตี้ฯ’ ร้องสมาชิกทั่วโลก ‘ส่ง จม.ถึงทางการไทย’ ชี้เสี่ยงทรมานผู้ถูกคุมตัว

23 มี.ค. 2558 สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงผู้บัญชาการทหารบกและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทย เพื่อแสดงความห่วงใยกรณีผู้ถูกควบคุมตามกฎอัยการศึกเสี่ยงต่อการถูกทรมาน โดยการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 30 เม.ย.2558

ปฏิบัติการด่วนดั่งกล่าว เผยแพร่เมื่อวันที่ 20 มี.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าผู้ถูกควบคุมตามกฎอัยการศึกเสี่ยงต่อการถูกทรมาน โดย นายสุรพล เอี่ยมสุวรรณ และนายวสุ เอี่ยมละออ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ระเบิดด้านนอกของอาคารศาลอาญาที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 มี.ค. 2558 เสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย 
 
ส่วนนายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรภัทร เหลือผล นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และนายวิชัย อยู่สุข ซึ่งในขณะนี้อยู่ในเรือนจำของพลเรือนได้กล่าวหาว่า พวกเขาตกเป็นเหยื่อการทรมานระหว่างการควบคุมตัวของทหาร และต้องการให้มีการตรวจร่างกายจากแพทย์ที่เป็นอิสระและรักษาอาการบาดเจ็บ

คำแปล ปฏิบัติการด่วนกรณีผู้ถูกควบคุมตามกฎอัยการศึกเสี่ยงต่อการถูกทรมาน ในเว็บไซต์แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มีดังนี้

ปฏิบัติการด่วน

ผู้ถูกควบคุมตามกฎอัยการศึกเสี่ยงต่อการถูกทรมาน

ชายสองคนที่ถูกทหารควบคุมตัวเสี่ยงต่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย ส่วนชายอีกสี่คนซึ่งในขณะนี้อยู่ในเรือนจำของพลเรือนได้กล่าวหาว่า พวกเขาตกเป็นเหยื่อการทรมานระหว่างการควบคุมตัวของทหาร และต้องการให้มีการตรวจร่างกายจากแพทย์ที่เป็นอิสระ

ชายทั้งสองคนได้แก่ นายสุรพล เอี่ยมสุวรรณและนายวสุ เอี่ยมละออ ซึ่งเชื่อว่าถูกทหารควบคุมตัวโดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2558 กรณีระเบิดด้านนอกของอาคารศาลอาญาที่กรุงเทพฯ พวกเขาเสี่ยงจะตกเป็นเหยื่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้าย 

ส่วนชายอีกสี่คนได้แก่ นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรภัทร เหลือผล นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และนายวิชัย อยู่สุข กล่าวว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายระหว่างถูกทหารควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก และไม่มีการตั้งข้อหา ในช่วงวันที่ 9 ถึง 15 มีนาคม ปัจจุบันทั้งสี่คนถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และต้องการให้มีแพทย์อิสระเข้ามาตรวจร่างกายและรักษาอาการบาดเจ็บ

ชายทั้งสี่คนแจ้งต่อทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า พวกเขาถูกจี้ด้วยไฟฟ้า ถูกชก ถูกเตะที่ศีรษะ ที่หน้าอกและที่หลัง และถูกขู่จะทำร้ายระหว่างการสอบปากคำเพื่อรีดข้อมูล โดยหนึ่งในสี่มีร่องรอยบาดเจ็บอย่างชัดเจนบนหน้าอก และรอยจากการจี้ไฟฟ้าที่ต้นขา

พวกเขาเป็นผู้ถูกควบคุมตัวส่วนหนึ่งจากจำนวน 15 คนที่ถูกทหารควบคุมตัวไว้ตามกฎอัยการศึก โดยเป็นการควบคุมตัวในสถานที่ลับ หลังเกิดเหตุโยนระเบิดมือใส่ลานจอดรถของศาลอาญากรุงเทพฯ ในช่วงค่ำของวันที่ 7 มีนาคม

กรุณาเขียนจดหมายโดยทันทีเป็นภาษาอังกฤษ ไทย หรือภาษาของท่านเอง

– แสดงข้อกังวลต่อทางการเกี่ยวกับรายงานว่านายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรภัทร เหลือผล นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน และนายวิชัย อยู่สุข ซึ่งตกเป็นเหยื่อการทรมานและถูกควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก และกระตุ้นทางการไทยให้ประกันว่าจะไม่ทรมานนายสุรพล เอี่ยมสุวรรณและนายวสุ เอี่ยมละออ และให้มีการนำตัวไปฝากขังในเรือนจำของพลเรือน

– กระตุ้นให้ทางการสั่งการให้หน่วยงานพลเรือนดำเนินการสอบสวนโดยพลัน อย่างไม่ลำเอียง เป็นอิสระ และมีประสิทธิภาพ ต่อรายงานที่ระบุว่ามีการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเกิดขึ้น ให้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการสอบสวนและนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ รวมทั้งผู้สั่งการหรือผู้บังคับบัญชาอื่น 

– กระตุ้นให้ทางการอนุญาตให้นายชาญวิทย์ จริยานุกูล นายนรภัทร เหลือผล นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน นายวิชัย อยู่สุข และผู้ถูกควบคุมตัวคนอื่นๆ ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงครอบครัว ทนายความ ศาลพลเรือนที่เป็นอิสระ และแพทย์อิสระตามที่ตนเลือกได้อย่างเต็มที่และไม่มีการปิดกั้น และกำหนดให้มีหลักประกันทางกฎหมายและการบังคับใช้เพื่อประโยชน์ของผู้ถูกควบคุมตัว

ข้อมูลเพิ่มเติม

นายชาญวิทย์ จริยานุกูล อายุ 61 ปี นายนรภัทร เหลือผล อายุ 40 ปี นายสรรเสริญ ศรีอุ่นเรือน อายุ 63 ปีและนายวิชัย อยู่สุข อายุ 49 ปี ถูกกองทัพไทยควบคุมตัวไว้ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2558 พวกเขาถูกเจ้าหน้าที่ของกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ ส่งตัวไปยังตำรวจเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 

บุคคลทั้งสี่ถูกควบคุมตัวตามอำนาจของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ. 2457 ซึ่งมีการประกาศบังคับใช้ทั่วประเทศไทยภายหลังรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งให้อำนาจกองทัพในการควบคุมตัวบุคคลเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์โดยไม่ต้องมีข้อกล่าวหา เป็นการควบคุมตัวในที่ลับและไม่มีหลักประกันใด ๆ เชื่อว่าที่ผ่านมามีการควบคุมตัวบุคคลจำนวนมากเกินระยะเวลาที่กำหนด และทางการยังได้ปฏิเสธว่าไม่มีการควบคุมตัวบุคคล แต่ในเวลาต่อมามีการยอมรับโดยอ้างว่าเป็นการ “เชิญตัวเพื่อมาพูดคุย”

มีบุคคลจำนวน 15 คนที่ถูกควบคุมตัวเชื่อมโยงกับกรณีการโยนระเบิดใส่ที่จอดรถศาลอาญากรุงเทพฯ ในช่วงค่ำวันที่ 7 มีนาคม และมีข้อกล่าวหาว่ามีแผนการวางระเบิดในที่อื่นๆ อีกหลายจุดในกรุงเทพฯ ในบรรดาผู้ถูกควบคุมตัวเหล่านี้ได้แก่ นส.ณัฏฐธิดา มีวังปลา ซึ่งถูกทหารควบคุมตัวเมื่อวันที่ 11 มีนาคมและถูกนำตัวไปไว้ในสถานที่ลับโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอกเป็นเวลาหกวัน ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ปฏิเสธว่าไม่ได้ควบคุมตัวเธอไว้ ก่อนจะมีการส่งตัวไปให้กับตำรวจ และมีการตั้งข้อหาก่อการร้ายและปฏิเสธไม่ให้ประกันตัว

การปฏิบัติต่อนายชาญวิทย์ จริยานุกูลและชายอีกสามคน มีลักษณะคล้ายคลึงกับข้อกล่าวหาการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายที่เคยเกิดขึ้นกับบุคคลที่ถูกกองทัพควบคุมตัวโดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก และอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึก การทรมานที่เกิดขึ้นมีทั้งการทุบตี การขู่สังหาร การจำลองการสังหาร และการพยายามทำให้ขาดอากาศหายใจ โดยเป็นการกระทำที่เกิดขึ้นขณะที่เหยื่อถูกคลุมศีรษะและปิดตา และใช้เทปกาวรัดเอาไว้ รวมทั้งมีการมัดมือและเท้าเป็นเวลาถึงหนึ่งสัปดาห์ ในบางกรณีมีการนำตัวผู้ถูกควบคุมตัวไปยังสถานที่ต่าง ๆ โดยไม่ให้ติดต่อกับโลกภายนอก

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเป็นข้อห้ามโดยสิ้นเชิงตามกฎหมายระหว่างประเทศ ในฐานะเป็นรัฐภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) และอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน (Convention against Torture) ประเทศไทยมีพันธกรณีที่จะต้องห้ามและป้องกันไม่ให้เกิดการทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายไม่ว่าในพฤติการณ์ใดๆ ข้อห้ามดังกล่าวมีลักษณะเบ็ดเสร็จไม่อาจยืดหยุ่นได้แม้ในช่วงประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายเป็นข้อกังวลด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นเป็นเวลานานในไทย ประเทศไทยส่งสัญญาณที่จะยุติการกระทำดังกล่าว โดยการให้สัตยาบันรับรองอนุสัญญาต่อต้านการทรมาน แต่ที่ผ่านมามีการดำเนินงานไม่มากนักเพื่อยุติการกระทำดังกล่าว ในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดยังคงลอยนวลไม่ต้องรับโทษ ในเดือนพฤษภาคม 2557 คณะกรรมการต่อต้านการทรมานแห่งสหประชาชาติแสดงข้อกังวลอย่างจริงจังต่อข้อกล่าวหาว่า ยังมีการใช้การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอย่างต่อเนื่องและกว้างขวางต่อผู้ถูกควบคุมตัวในไทย รวมทั้งผู้ถูกควบคุมตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 โดยผู้ควบคุมตัวเป็นทั้งทหาร ตำรวจ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ 

คณะกรรมการต่อต้านการทรมานเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อทบทวนและแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายความมั่นคง เพื่อประกันว่าผู้ถูกควบคุมตัวโดยไม่มีข้อกล่าวหาตามกฎหมายความมั่นคง จะต้องถูกนำตัวไปยังศาล และได้รับอนุญาตให้ติดต่อกับครอบครัวของตนเอง ทนายความ และแพทย์ที่เป็นอิสระ และมีการร้องขอให้ทางการไทยให้ข้อมูลกับคณะกรรมการฯ ภายในเดือนพฤษภาคม 2558 เกี่ยวกับมาตรการที่นำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และข้อเสนอแนะที่เร่งด่วนอื่น ๆ ซึ่งรวมทั้งข้อเสนอแนะที่ไม่ให้มีการบังคับบุคคลให้ต้องให้การเป็นปรปักษ์กับตนเองหรือบุคคลอื่น หรือต้องรับสารภาพผิด และต้องไม่นำคำรับสารภาพเช่นนั้นมาใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิจารณาคดีของศาล เว้นแต่ใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าทำการทรมานหรือปฏิบัติอย่างโหดร้าย                

*** สมาชิกแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศไทยไม่ได้รับการร้องขอให้ส่งจดหมายยื่นข้อเรียกร้องสำหรับกรณีนี้ ปฏิบัติการณ์ด่วนนี้ใช้สำหรับเป็นข้อมูลแจ้งให้ทราบเท่านั้น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ