Mission Possible for Homeless ห้องสมุดหลังอุ่นของนักอ่านพเนจร

Mission Possible for Homeless ห้องสมุดหลังอุ่นของนักอ่านพเนจร

9lib2

แปลและเรียบเรียง: ณัฐชานันท์ กล้าหาญ

หากนักอ่านมีห้องสมุดเป็นบ้านหลังที่ 2 นักพเนจรก็เช่นกัน เพียงแต่พวกเขาไม่มีบ้านสักหลัง ห้องสมุดจึงอาจเป็นบ้านหลังแรกและหลังสุดท้ายที่พวกเขาหาความสงบได้ท่ามกลางชีวิตร่อนเร่

ห้องสมุดเริ่มเป็นหลุมหลบภัยอันสำคัญสำหรับเหล่าคนไร้บ้าน โฮมเลส (homeless) หรือคนร่อนเร่ที่มีอาการทางจิตมากขึ้นเรื่อยๆ น่าสงสัยว่าเมื่อพวกเขาเป็นผู้ใช้งานห้องสมุดขึ้นมา ฟังก์ชันของห้องสมุดจะสามารถตอบโจทย์ด้านสังคมและสาธารณประโยชน์ต่อพลเมืองของรัฐได้มากน้อยเพียงใด

โฮมเลสมากมาย กระจายตัวในสหรัฐฯ

ในทุกๆ ค่ำคืนของปี 2557 ผู้คนกว่าครึ่งล้านในสหรัฐอเมริกาพบว่าตัวเองไม่มีบ้านอยู่ เป็นความจริงที่ส่วนมาก (69%) หาที่พักพิงได้อุ่นใจเป็นคืนๆ ไป หรือในระยะยาว แต่สถานสงเคราะห์อีกหลายแห่งก็ไม่สามารถอุปถัมภ์โฮมเลสได้ทั้งหมด ช่องว่างตรงนี้ผลักดันให้หลายคนเริ่มคิดหาวิธีแก้ไข ทั้งการส่งเสริมกิจกรรมภาคกลางวันและที่นอนหมอนอุ่นในยามค่ำคืน

ซ้ำร้ายไปกว่านั้น พวกเขาอาจไม่ใช่คนเร่ร่อนธรรมดาที่รับมือได้ง่ายๆ โฮมเลสจำนวนมากมีอาการทางจิตที่เกิดจากอาการอ่อนเพลีย (Debilitating mental illnesses) เมื่อเอ่ยถึงโฮมเลส คำว่า จิตไม่ปกติ จึงมักห้อยท้ายมาติดๆ และดูเหมือนว่าอาการนี้จะฉายชัดเกินไปในกลุ่มโฮมเลสส่วนใหญ่ของสหรัฐฯ

อาจเท้าความได้ว่าในช่วงยุค 1960 แผนกจิตเวชของโรงพยาบาลต่างๆ เปลี่ยนการรักษาจากการรับผู้ป่วยในเป็นผู้ป่วยนอก และโรงพยาบาลจิตเวชในรัฐแต่ละรัฐก็เริ่มปิดตัวลง โฮมเลสที่มีอาการผิดปกติทางจิตจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้นและไม่มีวี่แววลดลงเท่าใดนัก แม้มีการปรับเปลี่ยนจำนวนประชากร เพราะโรงพยาบาลจิตเวชของสหรัฐฯ ในปัจจุบันรองรับผู้ป่วยได้เพียง 10% จากที่เคยรับได้

จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรเลย ถ้าห้องสมุดประชาชนต้องสืบทอดหน้าที่เหล่านี้ไป เพราะถือเป็นสถานที่ที่ต้อนรับพลเมืองทุกคนของรัฐ

พักพิงที่ห้องสมุดมหานคร

ณ ห้องสมุดมหานครของสหรัฐอเมริกา บิ๊กบ็อบ ในวัย 40 เป็นชายร่างใหญ่ที่ชอบสร้างความเพลิดเพลินหูให้บรรณารักษ์ด้วยเรื่องราวสมัยที่ตัวเองเป็นหน่วยรบปฏิบัติการพิเศษ (special ops forces) และยังมี จอห์น ชายสันโดษที่ชอบแต่งตัวในชุดคอมแบทเต็มยศพร้อมบูทส์ทหารหนักๆ แต่กลับต้องขดตัวท่ามกลางอากาศในฤดูหนาวและต่อสู้กับการโดนน้ำแข็งกัด และหญิงสาวนามว่า เจน ที่ดูเหมือนจะใช้ชีวิตอยู่ในรถยนต์ของเธอชั่วคราว และก็มักเตือนบรรณารักษ์ด้วยเสียง “ชู่ว์” เพราะกลัวคนอื่นๆ จะรับรู้สภาพความเป็นอยู่อันเลวร้ายของเธอ

บางส่วนของผู้ใช้ห้องสมุดเป็นคนเร่ร่อน ที่เหลือก็ตรวจพบว่ามีอาการผิดปกติทางจิต เช่น เป็นพวก 2 บุคลิก (bipolar) โรคจิตเภท (schizophrenia) โรคซึมเศร้า (depression) หรือติดสารเสพติด (substance dependence) โชคร้ายที่บางคนก็ควบทั้ง 2 โรค บรรณารักษ์คาดคะเนผู้ใช้บริการขาประจำกว่าครึ่งเป็นคนพเนจรหรือไม่ก็ผู้ป่วยทางจิต

พวกเขามาใช้บริการห้องสมุดด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เพื่อหาความอบอุ่นและที่พักพิง เพื่อใช้ห้องน้ำ เพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต เพื่อพบปะเพื่อนฝูง และแน่นอน พวกเขามาอ่านหนังสือ

9lib4

ในห้องสมุดที่เมืองแซคราเมนโต (Sacramento) นักอ่านโฮมเลสมีจำนวนมากจนน่าตกใจ ผู้หญิงคนหนึ่งนั่งคร่ำเคร่งอยู่ในโซนเงียบ เธอมองออกไปนอกหน้าต่างอย่างใคร่ครวญและจดบันทึกลงบนสมุด ข้างกายมีหนังสือเล่มหนาเกี่ยวกับศาสตร์การพยาบาลตั้งอยู่ เธอต้องศึกษาด้วยตัวเองเพราะอยากเป็นพยาบาล

Jeffrey Matulich โฮมเลสชายกำลังหาหนังสือของ เฮนรี มิลเลอร์ (Henry Miller) แต่เมื่อเขาเจองานของ เคิร์ต วอนเนกัต (Kurt Vonnegut) เขาสะท้อนออกมาว่า

“บางครั้งบนถนนก็มีละครหลายฉากให้ดูมากมาย ผมดีใจที่เจอพื้นที่ที่สงบและเงียบเหมือนที่นี่”

Edward Rideau โฮมเลสอีกคนก็กำลังอ่าน Statutes and Amendments to the Codes of California เพื่อศึกษาและอยากเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่มีอยู่ให้รองรับปรับปรุงคุณภาพชีวิตของพวกเขามากขึ้น

สถานะคนเร่ร่อนทำให้พวกเขาถูกตัดขาดจากการใช้ชีวิตกระแสหลัก จากอินเทอร์เน็ต อีเมล์ หรือสื่อประสมสายธาร (streaming media) ห้องสมุดประชาชนจึงเป็นสถานที่ที่เชื่อมต่อพวกเขาเข้ามาในระบบมากขึ้น

9lib3

Mission Possible ของบรรณารักษ์

ภารกิจการช่วยเหลือเหล่าโฮมเลสและผู้ป่วยทางจิตไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แต่ดูจะไม่เป็นปัญหาหนักอกของเหล่าบัณฑิตที่จบบรรณารักษศาสตร์มาสักเท่าไหร่ เพราะพวกเขาและเธอผ่านหลักสูตรพื้นฐานเรื่องการช่วยเหลือผู้ป่วยทางจิตมาหมดแล้ว รู้ซึ้งเทคนิคของการจัดการงานบริการห้องสมุดด้วยเทคโนโลยี โดยเฉพาะการสอนผู้ใช้เหล่านี้ให้เข้าถึงข้อมูลได้

สมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association) มีมาตรการการจัดการให้คนยากไร้ใช้บริการห้องสมุดอย่างเท่าเทียม โดยการจัดตั้งสมาคมเพื่อผู้ยากไร้และเร่ร่อน (Hunger, Homelessness, and Poverty Task Force) ขึ้นในปี 2539 ห้องสมุดประชาชนซานฟรานซิสโก (The San Francisco Public Library) เป็นที่แรกที่รับนักสังคมสงเคราะห์เข้ามาเป็นพนักงานประจำ รวมถึงห้องสมุดใหญ่ๆ ทั่วสหรัฐฯ ก็ฝึกฝนบุคลากรให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านนี้

บรรณารักษ์คนหนึ่งที่ห้องสมุดมหานครเพียรสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันจิตเวชท้องถิ่นกับบ้านอุปถัมภ์ต่างๆ เธอติดต่อกับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชของโรงพยาบาลในเขตเพื่อจัดกิจกรรมให้การศึกษาแก่พนักงานของห้องสมุดเกี่ยวกับเรื่องทางจิตเวชและการติดสารเสพติด

นอกจากกองหนังสือและดัชนีข้อมูลแล้ว ภารกิจสำคัญไม่น้อยไม่กว่ากันเลยคือการดูแลผู้ใช้ห้องสมุดที่มีปัญหาทางสภาพจิตใจ พวกเขาอาจจิตไม่ปกติ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นนักอ่านที่ดีไม่ได้

“ห้องสมุดต้องทำหน้าที่เป็นที่พักพิงของใครก็ตามซึ่งไม่มีที่ไป พวกเขามาที่นี่ได้เสมอ มาหาความอบอุ่น ความปลอดภัย และความบันเทิง ตอนแรกฉันไม่รู้หรอกว่าห้องสมุดสำคัญกับพวกเขาแค่ไหน แต่มีอยู่วันหนึ่ง วันนั้นเป็นวันก่อนวันหยุด ผู้ใช้บริการคนหนึ่งมา บอกกับฉันว่า ‘ฉันคงจะคิดถึงพวกคุณเอามากๆ ในวันรุ่งขึ้น’ จริงอยู่ที่บางคนอาจไม่ค่อยพอใจนักกับการที่มีคนจิตไม่ปกติอยู่ในห้องสมุด แต่เท่าที่ฉันเข้าใจ ทุกคนมีสิทธิใช้พื้นที่นี้ร่วมกันทั้งนั้น”

เป็นคำกล่าวลอยๆ ของบรรณารักษ์ที่ทำงานมาร่วม 30 ปี

ที่มา+รูป :         http://time.com/4003275/library-homeless-america/

http://proof.nationalgeographic.com/2015/04/24/public-library-portraits-californias-homeless-connect-in-a-quiet-place/

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ