ประมวลจาก twitter โดย: นักศึกษาวิชาการเขียนข่าวเชิงวารสารศาสตร์
สาขาวิชานิเทศศาสตร์ คณะวิทยาการสื่อสาร
ภาพจาก: เครือข่ายช่างภาพชายแดนใต้
28 ก.พ. 2558 ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ สถาบันวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จัดงาน “วันสื่อสันติภาพชายแดนใต้/ปาตานี ครั้งที่ 2” สันติ (ที่มองเห็น) ภาพ Visible/Visionary Peace โดยมีตัวแทนองค์กรภาคประชาสังคม ประชาชน นักศึกษา นักวิชาการ และตัวแทนจากต่างประเทศเข้าร่วมกว่า 800 คน ที่หอประชุมชั้น 2 คณะวิทยาการสื่อสาร มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี)
ในเวที มีการกล่าวรายงานโดย ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (DSW) และสถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จากนั้น ผศ.สมปอง ทองผ่อง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นผู้กล่าวเปิดงาน โดยระบุว่า สื่อสันติภาพชายแดนใต้ในความหมายของตนเองคือ ‘ทุกคนสามารถสื่อสารเรื่องราวในพื้นที่ได้’
‘ภาพ’ การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ จากคน 2 ฝั่ง
ดุลยปาฐกหัวข้อ ‘ภาพ’ การพูดคุยสันติภาพรอบใหม่ พล.ต.ชินวัฒน์ แม้นเดช ผู้อำนวยการศูนย์สันติสุข กองอำนวยการรักษาความสงบภายในภาค 4 ส่วนหน้า (ผู้แทนแม่ทัพภาคที่ 4) กล่าวว่า นโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ ในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้จะเป็นไปโดยสันติวิธีและอยู่บนรากฐานการขับเคลื่อนไปสู่การพูดคุย เพื่อให้เกิดสันติสุขในพื้นที่ให้ได้ และสิ่งสำคัญที่สุดแม่ทัพภาคที่ 4 ทำอยู่ในขณะนี้ คือ การลดความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่รัฐทั้งหมดก่อน และพยายามจะไม่ใช้กฎหมายพิเศษมาแก้ปัญหาในพื้นที่
หน้าที่ของรัฐจะรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเปิดรับการมีส่วนร่วม กำหนดแนวคิด วิธีการ ในการดูแลทรัพย์สินท้องถิ่น มาตรการถัดไปทหารและเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมดจะต้องเป็นคนดี สำหรับกำลังในส่วนประชาชนอย่างอาสาสมัครรักษาดินแดน และชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน จะตรวจสอบเช็ดกระสุนปืนเหมือนเจ้าหน้าที่เช่นกัน เพื่อไม่ให้ทำหน้าทีเกินอำนาจ ทั้งนี้ รัฐกำลังดำเนินการ ขอให้มั่นใจ บทเรียนจากครั้งที่แล้วจะถูกนำมาใช้วางยุทธศาสตร์การพูดคุยครั้งใหม่ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์หลักนั่นก็คือการสร้างสันติสุขร่วมกันในสังคมแห่งนี้ให้ได้
พล.ต.ชินวัฒน์ กล่าวด้วยว่า สันติภาพคือการบ่งชี้การอยู่ร่วมกันโดยสันติสุขของสังคม หากมนุษย์มุ่งจะให้เกิดความเกลียดขันกัน แน่นอนว่านั้นไม่ใช้สันติภาพ นั้นคือต้นเหตุที่ตรงข้ามกับสันติภาพ ฉะนั้นการขับเคลื่อนกระบวนการสันติภาพให้สำเร็จได้นั้น ไม่ใช้อยู่ที่นโยบายของรัฐบาล แต่อยู่ที่ทุกองคาพยพที่จะต้องช่วยกันขับเคลื่อนไปด้วยและเชื่อว่าสันติสุขอยู่ไม่ไกล
ส่วน อาบูฮาฟิส อัลฮากีม สมาชิกกลุ่มผู้มีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างจากรัฐ แถลงผ่านคลิปวีดิโอ (อ่านแถลงเต็ม https://thecitizen.plus/node/4814) โดยตอนหนึ่งได้ให้ความเห็นว่า แม้มีการสนับสนุนอย่างกว้างขวางต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพและมีความคาดหวังอย่างสูงจากประชาชน แต่การพูดคุยสันติภาพย่อมไร้ความหมาย ถ้า 1.รัฐบาลทหารต้องการแค่ลดหรือขจัดความรุนแรงโดยไม่สนใจรากเหง้าของความขัดแย้ง 2.ไม่มีการสำรวจ ทบทวน และแก้ไขความอ่อนแอและล้มเหลวของกระบวนการก่อนหน้านี้
3.ความอยุติธรรม การกักขังหน่วงเหนี่ยวทางการเมือง การกลั่นแกล้งข่มเหงรายบุคคล การวิสามัญฆาตกรรม และการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชาวมลายูปาตานียังรุนแรงกว้างขวาง 4.ยังไม่มีหลักประกันเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยปราศจากการกดดันและข่มขู่คุกคามต่อประชาชนมลายูปาตานี 5.ชีวิตประจำวันของประชาชนปาตานียังถูกกดขี่และตกอยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคง 3 ฉบับ และ 6.สิทธิการสืบทอดจากบรรพบุรุษ สิทธิอธิปไตยเหนือดินแดนปาตานี และสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเองของชาวปาตานียังไม่ถูกยกขึ้นมาอภิปราย
วาระสันติภาพจากพื้นที่ แถลงการณ์จากเครือข่ายภาคประชาสังคม
เวทีสะท้อนความคิดเห็นและข้อเสนอของเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ต่อกระบวนการสันติภาพ จาก 14 เครือข่าย อาทิ กลุ่มสภาประชาสังคมชายแดนใต้ เรียกร้องขอสนับสนุนรัฐบาลแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ สื่อควรเปิดพื้นที่ให้ผู้หญิงได้มีโอกาสสื่อสาร และมีโอกาสเสนอสิ่งที่ถูกต้อง ส่วนชาวพุทธเพื่อสันติภาพ เรียกร้องรัฐบาลและขบวนการฯ เปิดโอกาสภาคประชาชนร่วมโต๊ะพูดคุย เปิดพื้นที่ความปลอดภัยเพื่อให้เกิดสันติภาพ กลุ่มด้วยใจ เรียกร้องความปลอดภัยของเด็ก ไม่ให้ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน ไม่เลือกปฏิบัติตามศาสนา
ส่วนสมาคมผู้หญิงเพื่อสันติภาพ เรียกร้องให้เร่งรีบดำเนินการเอาคนผิดมาลงโทษตามกฎหมาย ด้านสมาคมรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ภาคใต้ เรียกร้องให้เคารพในศักดิ์ศรีให้เท่าเทียมกันของทุกฝ่าย กลุ่มช่างภาพเพื่อสันติชายแดนใต้ เรียกร้องความปลอดภัยในการถ่ายภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ เครือข่ายสาธารณสุขยะรัง เรียกร้องสร้างพื้นที่ความปลอดภัย มีความเป็นกลาง เป็นธรรม การกระทำกับทุกฝ่าย เป็นต้น
ดูแถลงการณ์ทั้งหมดได้ที่: http://www.deepsouthwatch.org/node/6899
ทบทวนบทบาท อัฮหมัดสมบรูณ์ บัวหลวง ‘ตัวเชื่อมต่อ’ กระบวนการสันติภาพ
มูฮำมัดอายุบ ปาทาน บรรณาธิการอาวุโส ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นำเสนอเรื่องราวของ อัฮหมัดสมบรูณ์ บัวหลวง ผู้เป็นตัวเชื่อมสำคัญในสถานการณ์ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ว่า ปัจจุบันนายอัฮหมัดสมบรุณ์เสียชีวิตลงแล้วจากโรคหัวใจที่ประเทศสวีเดน แต่ผลงานยังคงเหลือให้เห็นอยู่ในกระบวนการสันติภาพ
ประเด็นของการพูดคุยในวันนี้ต้องการให้ความขัดแย้งเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนได้รับรู้ ได้ยิน และเห็นรอบด้าน ไม่ว่าจะเป็นประชาสังคม รัฐ ผู้เห็นต่างจากรัฐ เพื่อให้ทุกภาคส่วนได้ประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คิดค้นหาทางเลือกให้สอดคล้องกับความเป็นจริงทั้งหมด อัฮหมัดสมบรูณ์ บัวหลวง เปรียบเสมือนบุคคลที่อยู่บนสันกำแพงที่เห็นทั้งสองด้านการเป็นตัวเชื่อมต่อทำให้สิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เป็นไปได้
มูฮำมัดอายุบ กล่าวด้วยว่า นักสื่อสารที่แท้จริงต้องกล้าที่จะคิดต่าง สร้างทางเลือกโดยไม่ใช้ความรุนแรง ถ้าหากไม่มีการสื่อสารก็ไม่สามารถดึงเสียงจากข้างล่างสู่สาธารณะได้ เราควรแสวงหาทางเลือกและประสบการณ์ที่สามารถพลิกการสื่อสารให้เป็นทางออกในการแก้ปัญหา โดยสร้างสันติภาพเพื่อให้เกิดสันติสุข
ขมวด “ภาพ” กระบวนการสื่อสารและพลังการสื่อสาร
ผศ.ดร.กุสุมา กูใหญ่ คณะวิทยาการสื่อสาร มอ.ปัตตานี กล่าวว่า พื้นที่สาธารณะของ ฮาเบอร์มาส (Jurgen Habermas) คือ พื้นที่ที่ทุกคนมองเห็นซึ่งกันและกัน ที่เราสามารถมองเห็นความแตกต่างเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสาร ซึ่งจะช่วยให้นำไปสู่เหตุผลและความคิดที่ดี ในการเสวนาครั้งนี้เราได้ก้าวข้ามพรมแดนข้อจำกัดของพื้นที่ ทั้งในด้านพื้นที่ทางกายภาพ วัฒนธรรม ร่วมทั้งภาษาต่างๆ เราเห็นการทำงานที่สามารถมองเห็นเสียงด้านนอกและด้านในเพื่อสะท้อนภาพกระบวนการสื่อสารและพลังการสื่อสารใหม่ และนำไปสู่พื้นที่สาธารณะที่จะเป็นจุดที่สร้างแรงบันดาลใจให้เราก้าวเข้าไปสู่การใช้เหตุผลที่ดีด้วย
ผศ.ดร.กุสุมา กล่าวด้วยว่า เมื่อสื่อทำหน้าที่เป็นตัวกลางที่ถ่ายทอดข้อมูลเหตุการณ์และข่าวสารที่มีขอบเขตแบ่งไว้อย่างชัดเจน ผู้รับสารต่างหากที่ต้องสะท้อนความจริงเหล่านั้น ซึ่งมันจะนำไปสู่การมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ และสื่อควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้คนอื่นเข้าใจด้วย เพื่อที่จะสะท้อนภาพกระบวนการสื่อสารและพลังการสื่อสารใหม่ เราถูกขับเคลื่อนด้วยความรุนแรงมาตลอดจึงทำให้เราขาดการมองเห็นภาพที่ดีๆ ที่ควรจะเกิดขึ้น
ดังนั้น การสื่อสารใหม่ คือ การนำประเด็นข้อเรียกร้องของประชาชนและสังคมเข้าสู่กระแสหลัก และก่อร่างเป็นนโยบายและเกิดการเปลี่ยนแปลงได้ การสร้างสมดุลของความรู้สึก การเชื่อมต่อของนักสื่อสาร ถือเป็นการเปิดพื้นที่การเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง
สรุปปิดท้ายเวที
ดร.นอร์เบิร์ต โรเปอส์ นักวิจัยอาวุโส สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) กล่าวว่า จุดเชื่อมต่อของการหาสันติภาพมันมีความสำคัญในเรื่องการสื่อสาร เพื่อการพูดคุยถึงสภาพและมองเห็นอนาคต ทั้งสองมุมมองมีสิ่งที่เหมือนกันและต่างกัน ทั้งความคิดเอและบีมีสิ่งที่เหมือนกันคือการมองเห็นความหวังในอนาคต และฝ่ายตรงข้ามมองว่าสันติภาพคือสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างคุยกันได้ และสามารถอยู่ร่วมกันได้ทั้งสองฝ่าย ร่วมถึงการมองเห็นบทบาทของการพัฒนาทางสังคม เพราะสันติภาพเป็นการอยู่ร่วมกัน เท่าเทียมกันในความหลากหลาย และเป็นการยอมรับสาเหตุรากเง้าของปัญหา
เราต้องตั้งมาตรการในการเชื่อมต่อความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้นแก่ทั้งสองฝ่าย และทั้งสองฝ่ายต้องสร้างแผนที่เพื่อเดินทางไปด้วยกันเพื่อกระโดดข้ามความแตกต่าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน จุดเริ่มต้นของทุกฝ่ายล้วนมาจากความคิดต่างๆ แต่มีเป้าหมายหรือจุดมุ่งหวังที่เหมือนกันคือสันติที่มองเห็นภาพ ผู้สร้างการเชื่อมต่อประสานสันติภาพ เป็นจุดสำคัญที่จะก่อให้เกิดการพูดคุยของแต่ละฝ่ายได้มากขึ้น
จุดที่สำคัญของสันติภาพ คือ การมองเห็นทัศนะคติของอีกฝ่าย และหาจุดเปลี่ยนเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน เพราะการสื่อสารมีสองความหมาย 1.การสื่อสาร 2.เนื้อหาการสื่อสาร ดังนั้นเราพยายามหาช่องทางทุกช่องทางเพื่อแก้ไขความขัดแย้ง และสิ่งสำคัญที่สุดคือเพื่อให้เกิดสันติภาพ สุดท้ายขอแสดงความยินดี กับคนตั้งชื่อ “สันติ (ที่มองเห็น)ภาพ” เพื่อให้เกิดความเข้าใจและมองไปข้างหน้าได้