อดีตทีมบริหารไทยพีบีเอส ยกเว้น ‘วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์’ ร่วมยื่นฟ้อง ส.ส.ท.และกรรมการนโยบายทั้งคณะ ต่อศาลปกครองกรณีถูกเลิกจ้าง ‘สมชัย สุวรรณบรรณ’ อดีต ผอ.เผยไม่ขอคุ้มครองชั่วคราวกลับเข้าทำงาน หวั่นสร้างความบอบช้ำให้องค์กร แต่ฟ้องคดีร้องความเป็นธรรม-ชื่อเสียงเสียหาย ทั้งเตรียมทำหนังสือแจงพนักงานกรณีถูกกรรมการนโยบายพาดพิงลับหลัง
สมชัย สุวรรณบรรณ อดีต ผอ.ไทยพีบีเอส แถลงก่อนการยื่นฟ้องศาลปกครอง กนย.ส.ส.ท.เลิกจ้างไม่เป็นธรรม ชี้สัญญาเลิกจ้างผิดขั้นตอน และกระบวนการประเมินผิดขั้นตอน ย้ำไม่ขอคุ้มครองชั่วคราวกลับไปทำงาน หวั่นสร้างความสบสน ความเจ็บช้ำให้องค์กร แต่ฟ้องเยียวยาความเสียหายต่อรายได้และชื่อเสียง
Posted by นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) on Monday, October 26, 2015
27 ต.ค. 2558 เวลาประมาณ 10.30 น. ที่ศาลปกครอง นายสมชัย สุวรรณบรรณ อดีตผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส และนายมงคล ลีลาธรรม รองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.พร้อมทนายความ เข้ายื่นฟ้ององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) และคณะกรรมการนโยบาย (กนย.) ส.ส.ท.ทั้งคณะ กรณีเลิกจ้างไม่เป็นธรรม เรียกร้องให้เยียวยา
ทั้งนี้ การฟ้องคดีดังกล่าวมีโจทก์ร่วมคือกรรมการบริหารที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมด ยกเว้นนายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ อดีตรองผู้อำนวยการ ส.ส.ท.
สืบเนื่องจากกรณีเมื่อวันที่ 9 ต.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุม กนย.มีมติเลิกจ้าง นายสมชัย สุวรรณบรรณ ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ทำให้รองผู้อำนวยการ 3 คน คือ นายมงคล ลีลาธรรม นายสุพจน์ จริงจิตร นายวันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ และกรรมการบริหารอีก 2 คนพ้นจากตำแหน่งตามไปด้วย โดย กนย.อ้างสิทธิ์เลิกจ้างโดยไม่ต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่ต้องจ่ายค่าเสียหาย หรือค่าสินไหมทดแทนใดๆ
นายสมชัย กล่าวให้สัมภาษณ์ว่า จะดำเนินการต่อสู้คดีในประเด็นสัญญาเลิกจ้างผิดขั้นตอน และกระบวนการประเมินผิดขั้นตอน ซึ่งโดยขั้นตอนแล้วตนเองต้องยื่นผลการปฏิบัติงานก่อนจึงจะมีการประเมิน และในปีที่แล้วก็มีการประเมินผลช่วงเดือนพฤศจิกายน และตัดสินในเดือนธันวาคม ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าทำไมจึงมีการเร่งรีบประเมินไม่ทำตามขั้นตอน นอกจากนั้นในส่วนการประเมินผู้บริหารของพนักงานพบว่ามีความพึงพอใจเกินครึ่ง กรณีที่เกิดขึ้นจึงสร้างความมึนงงให้แก่พนักงาน
นายสมชัยกล่าวด้วยว่า จะมีการจัดทำหนังสือชี้แจงข้อมูลแก่พนักงานอีกครั้ง ในประเด็นการกระทำผิดสัญญาจ้างและการพาดพิงลับหลัง จากกรณีที่ กนย.ได้เปิดประชุมชี้แจงพนักงานเมื่อวันที่ 12 ต.ค.ที่ผ่านมา เพื่อเป็นการให้ข้อมูลอีกด้านหนึ่ง
ส่วนการขอคุ้มครองชั่วคราวเพื่อกลับเข้าทำงานในตำแหน่ง นายสมชัยกล่าวว่า ขณะนี้ได้เริ่มกระบวนการสรรหากรรมการบริหารชุดใหม่แล้ว ส่วนตัวไม่อยากแย่งอำนาจบริหารอีก เกรงว่าจะก่อให้เกิดความสับสนในการทำงานและสร้างความบอบช้ำมากขึ้นแก่องค์กร การฟ้องคดีเนื่องจากต้องการความเป็นธรรม และเรียกร้องให้เยียวยา เพราะได้รับความเสียหายจากการเลิกจ้างทั้งความสูญเสียเรื่องรายได้ ความสูญเสียจากภารกิจต่างๆ รวมทั้งชื่อเสียงของตนเองในฐานคนที่ทำงานในวงการสื่อมากว่า 40 ปี
“สิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นบาดแผลต่อองค์กรด้วย ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับความน่าเชื่อถือ หลักธรรมาภิบาล และการกำกับดูแลองค์กรใหญ่ขนาดนี้ และขณะนี้องค์กรก็อยู่ในภาวะสับสนหลายๆอย่าง ก็มีความรู้สึกว่ากรรมการนโยบายเองไม่สามารถที่จะตอบคำถามหลายๆ อย่าง ทำให้เกิดความสับสน มีปัญหาเรื่องขวัญกำลังใจ” นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้ กนย.ให้เหตุผลการเลิกจ้าง ในวันเดียวกันที่มีมติเมื่อวันที่ 9 ต.ค. 2558 ว่า นายสมชัยไม่ให้ความสำคัญกับข้อเสนอแนะ ไม่มีแผนบริหารความเปลี่ยนแปลงและแผนกลยุทธ์เพื่อการแข่งขัน และผิดสัญญาจ้าง กรณีอนุมัติโครงการที่มีวงเงินเกิน 50 ล้านบาท โดยไม่ได้รับอนุมัติจากกรรมการนโยบายถึง 4 ครั้ง ต่อมา (คลิกอ่านข่าว https://thecitizen.plus/node/6847)
ต่อมาในช่วงบ่ายวันที่ 12 ต.ค.2558 พนักงานไทยพีบีเอส กลุ่มหนึ่ง ได้รวมตัวกันยื่นจดหมายถึงนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ ประธานคณะกรรมการนโยบาย (กนย.) ส.ส.ท. เพื่อให้ชี้แจงกรณีการเลิกจ้างผู้อำนวยการ ส.ส.ท.และคณะกรรมการบริหาร เนื่องจากพนักงานเห็นว่ามติดังกล่าวทำให้เกิดความสับสนในองค์กร และกระทบต่อภาพลักษณ์ของ ส.ส.ท.ในการทำหน้าที่สื่อสาธารณะ โดยขอให้ชี้แจงเหตุผลและตอบคำถามต่อพนักงานภายในวันดังกล่าว (12 ต.ค.)
จากนั้น กนย.ได้จัดการประชุมชี้แจงแก่พนักงานเมื่อเวลา 17.00 น. และในวันเดียวกันนั้น (12 ต.ค.) กนย. ออกประกาศ (ฉบับที่ 2) ชี้แจงกรณีที่เกิดขึ้นว่า ตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์และตั้งข้อสงสัยกรณีที่คณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. มีมติเป็นเอกฉันท์เลิกจ้างผู้อำนวยการ ส.ส.ท.เมื่อวันที่ 9 ต.ค. โดยชี้แจงว่า ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ได้กระทำผิดสัญญาจ้างนั้น กนย.ขอชี้แจงว่าเป็นการกระทำตามอำนาจและหน้าที่ของ กนย.ตาม พ.ร.บ.องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2551 โดยปราศจากการแทรกแซงจากภายนอกแต่อย่างใด
เหตุที่ต้องดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพราะวันที่ 9 ต.ค. เป็นวันที่ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ทำงานตามสัญญาจ้างครบ 3 ปี และจะต้องถูกประเมิน
ทาง กนย.ได้ดำเนินกระบวนการประเมินอย่างละเอียดรอบคอบมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 2 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยมอบหมายให้ผู้แทนแจ้งผลการประเมินเบื้องต้นแก่ผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ในเช้าของวันที่ 9 ต.ค. พร้อมทั้งเสนอทางเลือกในการตัดสินใจ ระหว่างการลาออก กับการประเมินไม่ผ่าน ซึ่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท. แจ้งแก่ผู้แทนคณะกรรมการนโยบายว่าเลือกไม่ลาออก
อย่างไรก็ตามนอกจากการประเมินไม่ผ่านแล้ว ผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ยังได้กระทำการผิดสัญญาจ้างอีกด้วย โดยกระบวนการประเมินผู้อำนวยการ ส.ส.ท.เป็นการประเมินตามสัญญาจ้าง และเอกสารแนบท้ายสัญญา ซึ่งเป็นการตกลงร่วมกันระหว่าง ส.ส.ท. ในฐานะผู้จ้าง กับผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ในฐานะผู้รับจ้าง
โดยการประเมินดังกล่าวประเมินจากความสามารถด้านการบริหารจัดการ รวม 6 หัวข้อ ได้แก่ การบริหารงานเชิงกลยุทธ์, การแก้ปัญหาและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์,ความสามารถในการสื่อสาร, ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์, การบริหารความเปลี่ยนแปลง และคุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาล โดยมีเป้าหมายการประเมินที่ระดับดี ถึงดีเด่น ซึ่งปรากฏว่า กนย.มีมติเป็นเอกฉันท์ว่าผู้อำนวยการ ส.ส.ท. มีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด
ทั้งนี้ ท้ายประกาศ กนย.ได้ชี้แจงว่าการดำเนินการทั้งหมดนี้มีความมุ่งมั่นที่จะรักษาองค์กรให้ดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ คุ้มค่า โปร่งใส และมีธรรมาภิบาล ตามเจตนารมณ์ของสื่อสาธารณะอย่างแท้จริง และกำลังอยู่ในกระบวนการสรรหาผู้อำนวยการ ส.ส.ท. คนใหม่ต่อไป