‘รายงาน 1 ปีหลังรัฐประหาร’ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เวทีที่ถูกห้ามจัด

‘รายงาน 1 ปีหลังรัฐประหาร’ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เวทีที่ถูกห้ามจัด

5 มิ.ย. 2558 จากกรณีสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) สถานที่จัดงานแถลงข่าวเผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน 1 ปีหลังรัฐประหาร ช่วงเย็นวันที่ 4 มิ.ย.2558 ได้รับหนังสือขอความร่วมมือให้งดจัดเวที เนื่องจากอาจมีผู้ไม่หวังดีฉวยโอกาสสร้างสถานการณ์ ก่อให้เกิดการกระทำที่ผิดกฎหมายและไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน FCCT จึงพิจารณายกเลิกเวทีดังกล่าว (คลิกอ่านข่าว

ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่รายงาน “รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557” ชี้ทหารไม่ใช่คนกลาง 1 ปีที่ผ่านมา ทำประชาชนถูกละเมิดสิทธิตั้งแต่การแสดงออกขั้นพื้นฐาน จนไปถึงห้ามเรียกร้องปัญหาปากท้อง ชาวบ้านถูกปิดกั้นการมีส่วนร่วมในประเด็นที่ตนได้รับผลกระทบ ทั้งแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบตั้งแต่การควบคุมตัวจนไปถึงการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร เน้นแก้ปัญหาโดยปรับทัศนคติประชาชนให้ตรงกันทหาร สร้างกระบวนการยุติธรรมลายพราง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชน หนึ่งปีหลังการรัฐประหาร 2557 โดยนำเสนอใน 5 ประเด็น ได้แก่ (คลิกอ่านรายงานฉบับเต็ม)

1.การแสดงออกภายใต้สถานการณ์ความไม่มั่นคงของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ – พบว่าประชาชนอย่างน้อย 751 ถูกเรียกรายงานตัว ซึ่งอย่างน้อย 5 รายถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 ต่อ ด้านเสรีภาพการชุมนุมพบว่ากิจกรรมและเวทีเสวนาที่ถูกปิดหรือแทรกแซงอย่างน้อย 71 งาน มีข้อกังวลเรื่องการควบคุมประชาชนโดยปราศจากอำนาจ โดยนำมาลงบันทึกประจำวัน ซึ่งเป็นการคุกคามและสร้างความหวาดกลัว ด้านการใช้มาตรา 112 ประชาชนถูกดำเนินคดีไปแล้ว 67 ราย โทษจำคุกมาตรฐานศาลทหารอยู่ที่กรรมละ 10 ปี สูงกว่าศาลพลเรือน โดยส่วนใหญ่แล้วถูกดำเนินคดีจากการโพสเฟซบุ๊ค แชร์คลิป

2.ยุติธรรมลายพราง กฎอัยการศึกและการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร – พบประชาชน 18 รายร้องเรียนต่อศูนย์ทนายฯ ถึงการซ้อมทรมานระหว่างถูกควบคุมตัว ด้านการใช้ศาลทหารกับพลเรือน ประชาชน 700 รายถูกพิจารณาโดยศาลทหาร ซึ่งศูนย์ทนายฯกังวลถึงความเป็นกลางของตุลาการ การไม่สามารถอุทธรณ์ฎีกาได้ และกระบวนพิจารณาคดีที่ต่างไปจากปกติ แม้จะมีการยกเลิกกฎอัยการศึก แต่คำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ยังให้ทหารเป็นพนักงานสอบสวนซึ่งขัดกับหลักนิติรัฐ

3.การใช้อำนาจโดยปราศจากความรับผิดตามมาตรา 44 – ภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งแล้ว 18 ฉบับ ทั้งการแก้ไขกฎหมาย บริหารบุคคลและรักษาความสงบ โดยให้ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ในการป้องกัน ปราบปราม จับกุมและสอบสวนในคดีต่างๆ ซึ่งมาตราดังกล่าวให้อำนาจหัวหน้า คสช. อย่างกว้างขวางโดยปราศจากความรับผิดทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ไม่มีผู้ใดฟ้องร้องได้ อันก่อให้เกิดการผลิตซ้ำวัฒนธรรมการลอยนวลของผู้กระทำความผิด อีกทั้งยังมีการนิรโทษกรรมตนเอง อันเป็นการธำรงวัฒนธรรมการลอยนวลของผู้กระทำความผิดให้หยั่งลึกลงอีกในสังคมไทย

4.ทรัพยากรที่ถูก “บุกรุก” – พบว่าคำสั่ง คสช. 64/2557 และแผนแม่บทป่าไม้ มุ่งใช้กับการจับกุมประชาชน ไล่รื้อที่ดิน สร้างผลกระทบต่อผู้ยากจนและผู้ไร้ที่ดินทำกิน เอื้อประโยชน์นายทุน มาตรการต่างๆละเลยการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ เน้นใช้ปราบปรามและใช้อำนาจอย่างเด็ดขาด โดยในสนใจบริบททางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมของชุมชน โดย สตช. แถลงจับกุมผู้ต้องหา 1,622 คน ซึ่งขั้นตอนการจับกุมและดำเนินคดีล่วนสร้างความหวาดกลัวกับชาวบ้าน เช่น การเข้าตัดฟันทำลายพืชผลทางการเกษตร รวมทั้งรื้อถอนบ้านเรือนของประชาชน การรัฐประหารจึงเป็นการฉวยใช้อำนาจและโอกาสในการทำลายอำนาจต่อรองของประชาชนและให้เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน

5.ความยุติธรรมที่ยังมาไม่ถึง : การแทรกแซงกระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงและการดำเนินคดีต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุม เดือนเมษา-พฤษภา 2553 – ภายหลังการรัฐประหาร ศูนย์ทนายฯ ได้รับแจ้งจากกลุ่มผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ปี 2553 ว่ามีจดหมายจากกรมสอบสวนคดีพิเศษส่งถึงที่บ้านเพื่อเรียกเข้าให้ปากคำในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเวลาภายหลังที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและผู้คุมกำลังในเหตุการณ์ปี 2553 แต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงใหม่ กรณีที่เกิดขึ้นจึงมีข้อกังวลว่าจะสามารถสอบสวนได้อย่างเป็นธรรม ในฐานะคนกลางหรือไม่

โดยสรุป ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า แม้ คสช. จะพยายามเข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหาต่างๆ แต่นับแต่ปี 53 เป็นต้นมา กองทัพกลับเป็นคู่ขัดแย้งของประชาชน ทั้งการสลายการชุมนุม การจับกุม ไล่รื้อที่ การปรับทัศนคติ โดยเน้นให้ตรงกับ คสช. และการใช้เครื่องมือคือศาลทหารในการตัดสินประชาชน อันถือเป็นกระบวนการยุติธรรมลายพราง ซึ่งไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่แท้จริง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงยืนยันให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ

1. ยกเลิกและยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร

2. ยกเลิกและยุติการใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557

3. ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาจากประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้ง คืนอำนาจสู่ประชาชนโดยเร็ว

ด้วยความเคารพต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

 

คลิกที่ภาพเพื่ออ่านรายงานฉบับเต็ม

20150506210507.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ