‘มพบ.-รสนา’ ย้ำจุดยืนตรวจสอบเพื่อสิทธิผู้บริโภค หลัง ปตท.ฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ก๊อดจิ

‘มพบ.-รสนา’ ย้ำจุดยืนตรวจสอบเพื่อสิทธิผู้บริโภค หลัง ปตท.ฟ้องละเมิดลิขสิทธิ์ก๊อดจิ

กรรมการ-เจ้าหน้าที่ มพบ.ร่วมกับ รสนา โตสิตระกูล แถลงจุดยืนต่อกรณีถูก ปตท. ยื่นฟ้องข้อหาจัดทำเสื้อระดมทุน “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิ

20152403213111.jpg

24 มี.ค. 2558 เมื่อเวลา 11.30 น. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ร่วมแถลง “จุดยืนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต่อกรณี ปตท. ยื่นฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ข้อหาจัดทำเสื้อระดมทุน ‘กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน’ ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิ”

จากกรณีเมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2557 บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยนายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เหรัญญิกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 3 นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 4 และนางสาวรสนา โตสิตระกูล เป็นจำเลยที่ 5 ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไร ร่วมกันทำซ้ำ ดัดแปลง โดยตั้งชื่อว่า ‘คายมาจิ’ พร้อมนำไปลงประกาศขายเสื้อยืดที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิผ่านเว็บไซต์ consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เฟซบุ๊ก “ไม่เคยลัก แบริเออร์” ของนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา และ เฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” ของนางสาวรสนา โตสิตระกูล

20152403213139.jpg

รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีจุดประสงค์การทำงานที่ชัดเจน ทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค เป้าหมายของมูลนิธิฯ ต้องการสร้างพลเมืองที่เป็นผู้บริโภคที่เข้มแข็งในทุกด้าน จะเห็นชัดว่าเรื่องพลังงานผู้บริโภคแทบจะไม่มีสิทธิมีเสียงเข้าไปกำหนดอะไรเลยในบ้านเมืองนี้ ฉะนั้นการตั้งกองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงานเป็นสิ่งที่มูลนิธิฯ เห็นว่าสำคัญ ต้องหาทุนเข้ามาในกองทุนนี้ เพราะต้องการให้ประชาชนเข้าถึงพลังงานในราคาที่เป็นธรรม การผลิตเสื้อเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม เป้าหมายคือต้องการสื่อว่าเป็นเส้นทางปฏิรูปพลังงานไทย

“ประเด็นที่สำคัญจะเห็นชัดว่าเป้าหมายของสื่อที่เราออกไปนั้น เราเขียนชัดว่าเป็นเส้นทางปฏิรูปพลังงานไทย เราไม่อยากให้เส้นทางปฏิรูปพลังงานไทยเป็นเส้นทางที่หนีเสือตอนนี้เราปะจระเข้ตัวใหม่ของระบบปฏิรูปใหม่ที่มันจะเป็นปัญหาสำคัญประเทศไทย นั่นคือสิ่งที่เราต้องการจะสื่อสาร” ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง ชี้แจงว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ มิใช่องค์กรแสวงหาผลกำไร ใครที่สนับสนุนมูลนิธิฯ จะได้รับการยกเว้นภาษี และเป็นองค์กรสมาชิกของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ตลอด 19 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้ดำเนินการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในการคุ้มครองสิทธิอันพึงได้ของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะด้านพลังงานมีผลงานเป็นที่ประจักษ์ต่อสาธารณชน อาทิ การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อเพิกถอนการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เมื่อปี พ.ศ. 2548 จนศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการแปรรูป กฟผ. ฯลฯ

นางสาวสารี กล่าวต่อไปว่า การจัดตั้ง กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของเครือข่ายผู้บริโภคที่มุ่งปฏิรูปกิจการพลังงานของประเทศให้มีความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนส่วนใหญ่ การเบิกถอนต้องใช้ชื่อ 2 ใน 3 ของผู้ร่วมเปิดบัญชี ภายใต้กฎเกณฑ์ด้านการเงินการบัญชีของมูลนิธิฯ ที่กำหนดไว้อย่างรอบคอบรัดกุม การจัดทำเสื้อยืดออกจำหน่ายเพื่อการระดมทุน รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดนำเข้าบัญชี ‘กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน’ รายได้ทั้งหมดถือเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยู่ภายใต้การดูแลของกรรมการมูลนิธิฯ มิได้มีการนำกำไรมาแบ่งปันให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

“กรณี นางสาวรสนา ได้ใส่เสื้อและถ่ายรูปประชาสัมพันธ์เสื้อยืดนั้น นางสาวรสนา ไม่ได้เป็น หรือเคยเป็นกรรมการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเลยแต่อย่างใด และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในกองทุน เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ได้ขอความอนุเคราะห์ให้คุณรสนาได้ช่วยถ่ายรูปประชาสัมพันธ์เสื้อยืดและกิจกรรมของกองทุนโดยมิได้มีผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

ทางด้านนางสาวรสนา โตสิตระกูล ตั้งข้อสังเกตว่า ขณะนี้ ปตท. ได้ฟ้องประชาชนหลายๆ คนที่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบเรื่องพลังงาน การมีธรรมาภิบาลเรื่องพลังงาน ซึ่งการฟ้องของ ปตท.เป็นการขัดขวางการตรวจสอบของประชาชน

“เราอยู่ในยุคปฏิรูปก็ต้องยอมรับการตรวจสอบ ดิฉันคิดว่า การฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคนั้น มันไม่ค่อยมีสาระเท่าไหร่ ถ้าคิดว่าการฟ้องจะทำให้ประชาชนลดการตรวจสอบลงคิดว่าเป็นเรื่องที่ผิด ในโลกที่เจริญแล้วเครือข่ายผู้บริโภคจำเป็นต้องเข้มแข็ง และจำเป็นต้องมีประชาชนที่เป็นพลเมืองที่จะลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิรวมถึงการตรวจสอบเรื่องธรรมาภิบาล การยิ่งฟ้องประชาชนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นการฟ้องตัวเองมากเท่านั้นด้วย ว่าคนที่ถูกตรวจสอบพยายามยับยั้งการตรวจสอบเหล่านี้” นางสาวรสนา กล่าว

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คดีดังกล่าวศาลยังไม่รับฟ้อง โดยอยู่ระหว่างนัดไต่สวนมูลฟ้อง ซึ่งในวันที่ 30 มี.ค. 2558 เวลา 09.00 น. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้อง

 

แถลงข่าวเรื่อง
“จุดยืนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคต่อกรณี ปตท. ยื่นฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 
และนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 
ต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง 
ข้อหาจัดทำเสื้อระดมทุน “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” 
ละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิ”

ด้วยเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม พ.ศ.2557 บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) โดยนายไพรินทร์  ชูโชติถาวร ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ได้มอบอำนาจให้ทนายความยื่นฟ้องมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 1 นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 2 นายวีรพงษ์  เกรียงสินยศ เหรัญญิกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 3 และ นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นจำเลยที่ 4 และนางสาวรสนา  โตสิตระกูล เป็นจำเลยที่ 5 ในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อหากำไร

ปตท. ได้บรรยายในคำฟ้องว่า ปตท. เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด โดยในการดำเนินธุรกิจปิโตรเลียม ปตท. ได้คิดประดิษฐ์และสร้างสรรค์ตัวการ์ตูนไดโนเสาร์ที่ใช้ชื่อว่า “ก๊อดจิ” ซึ่งมีลักษณะท่าทางที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว และใช้พื้นสีน้ำเงินขาว ซึ่งเป็นสีประจำของบริษัท ปตท.ฯ ในตัวการ์ตูนไดโนเสาร์ก๊อดจิ โดยกลางหน้าอกของตัวก๊อดจิมีเครื่องหมายการค้าของ ปตท. พร้อมทั้งตัวย่ออักษรคำว่า “PTT” ซึ่งมาจากชื่อบริษัทของ ปตท. ว่า “Petroleum Authority of Thailand” และ ปตท. ได้ใช้ตัวการ์ตูนก๊อดจินี้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ในธุรกิจของ ปตท. ในรูปแบบต่างๆ เรื่อยมาถึงปัจจุบันจนเป็นลิขสิทธิ์การ์ตูน และเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายในประเทศไทย

ปตท. ได้บรรยายคำฟ้องเพิ่มเติมว่า เพื่อให้ตัวการ์ตูนก๊อดจิมีความแพร่หลายมากขึ้น  ปตท. ได้ว่าจ้างให้บริษัท ออพติมัน มีเดีย ไดเรคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ทำการผลิตสติ๊กเกอร์ตัวการ์ตูนก๊อดจิที่มีลักษณะท่าทางและอากัปกิริยาต่างๆ ในการสื่อความหมายแทนคำพูด เพื่อให้ผู้ใช้บริการโปรแกรมแอพพลิเคชั่นไลน์(Line) ดาวน์โหลดไปใช้งานอันเป็นการโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจการของ ปตท. อีกรูปแบบแก่ประชาชน

นอกจากนี้ ปตท. ยังได้ดำเนินการนำตัวการ์ตูนก๊อดจิที่ ปตท. คิดพัฒนาและใช้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ไปจดแจ้งลิขสิทธิ์ประเภทงานศิลปกรรมต่อ กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ โดยมีสำเนาหนังสือรับรองการแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์เลขที่ 315504 ให้ไว้ ณ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2557 และคำขอแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์ ลงวันที่ 31 ตุลาคม 2557 แนบเป็นเอกสารท้ายฟ้อง

ปตท. ได้กล่าวหามูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและจำเลยทั้งหมดว่า  เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2557  ปตท. ซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิซึ่งเป็นงานประเภทศิลปกรรมได้ตรวจสอบพบว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและจำเลยทั้งหมด ได้ร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิของ ปตท. เพื่อหากำไร ร่วมกันทำซ้ำ ดัดแปลง โดยการนำเอาตัวการ์ตูนก๊อดจิในลักษณะท่านอนมาทำซ้ำ ดัดแปลงให้เป็นตัวการ์ตูนที่มีสีฟ้าและขาวเช่นเดียวกับงานลิขสิทธิ์ของ ปตท. แต่เปลี่ยนลักษณะเป็นท่ากำลังนอนอ้าปากซึ่งมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายกับตัวการ์ตูนก๊อดจิ แล้วนำมาประกอบกับลวดลายต่างๆ และได้มีการตั้งชื่อว่า “คายมาจิ” 

ปตท. ยังได้กล่าวหาต่อไปว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและจำเลยทั้งหมด ได้กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์ต่อไปอีกโดยการลงประกาศขาย จำหน่าย รวมทั้งเป็นผู้ขาย เสนอขาย เสื้อยืดที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิผ่านทางเว็บไซต์ consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค , เฟสบุ๊ค “ไม่เคยลัก แบริเออร์” ของนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และ  เฟสบุ๊ค “รสนา โตสิตระกูล” ของนางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ 

โดยมีข้อความประกาศว่า มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีการจัดทำเสื้อคายมาจิตัวละ 150 บาท ซึ่งรายได้ทั้งหมด จำเลยทั้งห้าจะนำเอาเข้ากองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงานซึ่งกำกับดูแลโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยได้มีการระบุวิธีสั่งซื้อเสื้อยืดคายมาจิ 2 วิธีคือ (1) วิธีการสั่งซื้อทางไปรษณีย์ โดยให้โอนเงินบัญชี “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” (2) ซื้อด้วยตนเอง ณ ที่ทำการสำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยมีนางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ เหรัญญิกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และนายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นเจ้าของบัญชีผู้มีอำนาจในการรับและถอนเงินจากบัญชี

ปตท. ได้บรรยายในคำฟ้องเพิ่มเติมว่า เมื่อ ปตท. ได้รับทราบถึงการละเมิดลิขสิทธิ์ จึงได้ทำการสืบสวนและพบว่าในการจำหน่ายงานละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและจำเลยทั้งหมด ได้ค่าตอบแทนจากการละเมิดลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิ โดยผู้ซื้อสินค้าต้องโอนชำระค่าเสื้อเข้าบัญชี “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีเลขที่ 405-420031-3 ก็พบว่ามูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายวีรพงษ เกรียงสินยศ เหรัญญิกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  และนายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นผู้ดูแลจัดการและได้รับผลประโยชน์จากการขายเสื้อยืดที่ประชาชนโดยทั่วไปสั่งซื้อ และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็จะนำส่งเสื้อยืดให้ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน

ปตท.ยังได้บรรยายคำฟ้องอีกว่า ในส่วนของนางสาวรสนา โตสิตระกูล จำเลยที่ 5 นั้น ได้เสนอและสนับสนุนให้มีการจำหน่ายและแจกจ่ายเสื้อยืด โดยนางสาวรสนา ได้โพสต์เขียนข้อความเสนอและสนับสนุนการจำหน่ายเสื้อยืดว่า “….ภาพการ์ตูนนี้เอามาใช้เป็นแบบเสื้อเพื่อรณรงค์และหาทุนให้กับ “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” เพื่อกิจกรรมปฏิรูปพลังงานของภาคประชาชน…”

“…จะถามให้นะคะว่าจำนวนมากพอไหมถ้าสั่งเป็น 100 และมีค่าจัดส่งไหมจะมาบอกค่ะ หรือจะโทรสอบถามตรงเลยก็ได้ที่ 0-2248-3734-7 ต่อ 110-127”

นอกจากนี้ เพื่อดำเนินการส่งเสริมการขายเสื้อยืดให้แพร่หลายมากขึ้น นางสาวรสนา ได้นำเสื้อยืดมาใส่โดยแสดงตนเป็นพรีเซนเตอร์(Presenter) จากการกระทำดังกล่าว ปตท. ได้กล่าวหานางสาวรสนาว่า จึงเป็นร่วมกันการทำซ้ำ ดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชน รวมถึงมีเจตนาขาย มีไว้เพื่อขาย เสนอขาย เผยแพร่ต่อสาธารณชนและแจกจ่ายซึ่งงานลิขสิทธิ์ตัวการ์ตูนก๊อดจิ ในลักษณะที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ ปตท.เพื่อหากำไร

ปตท. ได้กล่าวหา การกระทำของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและจำเลยทั้งหมด เป็นความผิดตามมาตรา 27 , 31 , 69 และ 70 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537  และในการฟ้องร้องคดีนี้ ปตท. ได้ดำเนินการร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อแล้ว แต่เนื่องจากการดำเนินคดีของพนักงานสอบสวนล่าช้า ปตท.จึงนำคดีมาฟ้องต่อศาลด้วยตนเอง  
จากคำกล่าวหาทั้งหมดของ ปตท. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอชี้แจงต่อท่านสื่อมวลชนและประชาชนโดยทั่วไป ดังนี้

1.    มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ ลำดับที่ 576 ตามประกาศของกระทรวงการคลัง มิใช่องค์กรแสวงหาผลกำไร และเป็นองค์กรสมาชิกของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล ( Consumers International ) และเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสภาผู้บริโภคอาเซียน ( SEACC ) และตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา มูลนิธิฯได้ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคตามวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิอันพึงพึงได้ของผู้บริโภคมาอย่างต่อเนื่องมั่นคงในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภค โดยในการดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคด้านพลังงานนั้น มีผลงานอันที่ประจักษ์ต่อสาธารณชนหลายประการ อาทิเช่น การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อเพิกถอนการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เมื่อปี พ.ศ.2548 จนศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาให้เพิกถอนการแปรรูป(กฟผ.) , การยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดเพื่อเพิกถอนการแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย(ปตท.) เมื่อปี พ.ศ.2549 แม้ศาลปกครองสูงสุดจะมิได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนการแปรรูป ปตท. แต่ศาลปกครองสูงสุดก็ได้มีคำสั่งให้รัฐบาลและ ปตท. ต้องร่วมกันแบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน แบ่งแยกสิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)  ซึ่งได้นำมาสู่การจัดตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และ ปตท. ได้แบ่งแยกคืนระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่กระทรวงการคลังในเวลาต่อมาบางส่วน มีมูลค่าประมาณ 16,000 ล้านบาท โดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินได้รายงานว่า มีระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ ปตท. ยังไม่ได้แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดอีกประมาณ 32,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล และในปัจจุบันมูลนิธิฯยังเรียกร้องให้กระทรวงพลังงานดำเนินการจัดการโครงสร้างราคาพลังงานที่เป็นธรรม และรวมถึงการลดค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น

2. การจัดตั้ง กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน เป็นการดำเนินการภายใต้การดูแลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนสนับสนุนส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมต่างๆของเครือข่ายผู้บริโภค เครือข่ายภาคประชาชน ที่มุ่งประสงค์การปฏิรูปกิจการพลังงานของประเทศให้มีความเป็นธรรมและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนส่วนใหญ่ โดยเปิดบัญชี “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” ธนาคารไทยพาณิชย์ บัญชีเลขที่ 405-420031-3 เพื่อใช้เป็นช่องทางการรับบริจาคจากประชาชนทั่วไป การเบิกถอนต้องใช้ชื่อ 2 ใน 3 ของผู้ร่วมเปิดบัญชี ภายใต้กฎเกณฑ์ด้านการเงินการบัญชีของมูลนิธิฯที่กำหนดไว้อย่างรอบคอบรัดกุม และมีการจัดทำผลิตภัณฑ์เสื้อยืดออกจำหน่ายเพื่อการระดมทุน โดยนำรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดเข้าบัญชี “กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงาน” รายได้ทั้งหมดถือเป็นทรัพย์สินของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค อยู่ภายใต้การดูแลของกรรมการมูลนิธิฯ มิได้มีการนำกำไรมาแบ่งปันให้แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

3. กรณีนางสาวรสนา  โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ สาขาปฏิรูปพลังงาน ได้ใส่เสื้อและถ่ายรูปประชาสัมพันธ์เสื้อยืดนั้น มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอชี้แจงว่า นางสาวรสนา ไม่ได้เป็นหรือเคยเป็นกรรมการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเลยแต่อย่างใด และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องในกองทุนที่จัดตั้งแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิฯ ได้ขอความอนุเคราะห์ให้คุณรสนาได้ช่วยถ่ายรูปประชาสัมพันธ์เสื้อยืดและกิจกรรมของกองทุนโดยมิได้มีผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ การให้ความอนุเคราะห์ของนางสาวรสนาจึงเป็นการช่วยเหลือด้วยจิตอาสา ด้วยความสมัครใจและบริสุทธิ์ใจเพื่อช่วยให้ประชาชนได้รู้จักช่องทางการบริจาคเงินให้กองทุนประชาชนปฏิรูปพลังงานเป็นสำคัญ

โดยในวันที่ 30 มีนาคม 2558 เวลา 09.00 น. ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ได้มีคำสั่งนัดไต่สวนมูลฟ้อง อย่างไรก็ดี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ใคร่ขอเรียนถึงคณะกรรมการ ปตท. ทั้งหมดผ่านทางสื่อมวลชนว่า บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) แม้จะมีสถานะเป็นบริษัทมหาชนจำกัด แต่ ปตท. ก็มีสถานะเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงพลังงาน และมีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่เกินกึ่งหนึ่ง ประชาชนในฐานะผู้เป็นเจ้าขององค์กรจึงย่อมมีสิทธิที่จะตรวจสอบการดำเนินการใดๆ ของ ปตท.ได้ และหาก ปตท. เป็นองค์กรที่มีธรรมาภิบาลจริงก็มิควรจะมองว่าการทำหน้าที่ตรวจสอบของประชาชนและผู้บริโภค จะเป็นการสร้างความเสียหายแก่ ปตท. แต่อย่างใดเพราะแท้จริงจะเป็นการเสริมสร้างการประกอบการของ ปตท. ให้มีความเข้มแข็งและน่าเชื่อถือต่อสายตาประชาชนเสียด้วยซ้ำ

จึงขอให้คณะกรรมการ ปตท. ได้พิจารณาทบทวนการยื่นฟ้องและให้ถอนฟ้องคดีนี้ออกไปจากสารบบคดีความของศาลเสีย เพื่อมิให้ต้องเสียเวลาเสียงบประมาณทั้งของ ปตท. และของศาล อันเป็นภาษีของประชาชนทั้งสิ้นจะเป็นการดีที่สุด 

ผู้ร่วมแถลงข่าว
•    รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำเลยที่ 1
•    นางสาวสารี  อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำเลยที่ 2
•    นายวีรพงษ์  เกรียงสินยศ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำเลยที่ 3
•    นายอิฐบูรณ์  อ้นวงษา เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จำเลยที่ 4

แถลงข่าว ณ วันที่ 24 มีนาคม 2558
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ