2 ก.ค. 2558 สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ซึ่งอยู่ที่กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ออกปฏิบัติการด่วนเรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติของไทย เรียกร้องทางการให้ปล่อยตัวนักศึกษาโดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้ยกเลิกข้อหาต่อนักศึกษาทั้งหมด โดยระบุว่านักศึกษาทั้ง 14 คน เป็นนักโทษทางความคิดที่ถูกจับกุมและตั้งข้อหาเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนในการชุมนุมอย่างสงบ ซึ่งการรณรงค์ดังกล่าวจะมีไปถึงวันที่ 11 สิงหาคม 2558
ปฏิบัติการด่วน
นักศึกษาถูกดำเนินคดีจากการประท้วงอย่างสงบ
นักศึกษา 16 คนถูกดำเนินคดีเนื่องจากชุมนุมประท้วงอย่างสงบ และอาจได้รับโทษจำคุกจากการพิจารณาคดีในศาลทหาร นักศึกษา 14 คนถูกควบคุมตัวในเรือนจำ และถูกตั้งข้อหาปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครอง ซึ่งมีโทษจำคุกเจ็ดปี (ส่วนอีก 2 คนได้รับการประกันตัว)
ธัชพงศ์ แกดำและนัชชชา กองอุดมถูกจับกุมเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ข้อหาละเมิดคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2558 ที่เอาผิดทางอาญาต่อการชุมนุมทางการเมืองอย่างสงบของบุคคลห้าคนหรือมากกว่านั้น พวกเขาได้รับการประกันตัวในเวลาต่อมา เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจับกุมจตุภัทร บุญภัทรรักษา อภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ พายุ บุญโสภณ ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ สุวิชา พิทังกร ศุภชัย ภูครองพลอย วสันต์ เสตสิทธิ์ รัฐพล ศุภโสภณ รังสิมันต์ โรม ทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ ชลธิชา แจ้งเร็ว อภิสิทธิ์ ทรัพย์นภาพันธ์ ปกรณ์ อารีกุล และพรชัย ยวนยี เมื่อเวลาประมาณห้าโมงเย็นของวันที่ 26 มิถุนายน 2558 และตั้งข้อหาละเมิดคำสั่งห้ามชุมนุมทางการเมือง กลุ่มนักศึกษาทั้ง 14 คนยังอาจถูกตั้งข้อหาปลุกปั่นให้ขัดขืนอำนาจปกครองตามมาตรา 116 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งกำหนดโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปีสำหรับผู้ที่กระทำ “เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่อง…หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน”
นักศึกษาเหล่านี้เข้าร่วมชุมนุมอย่างสงบสองครั้งที่ใจกลางกรุงเทพฯ และที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ในโอกาสครบรอบหนึ่งปีรัฐประหาร หลังจากที่เจ้าพนักงานได้ออกหมายเรียกพวกเขาให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ กลุ่มนักศึกษาได้ออกมาชุมนุมประท้วงอย่างสงบอีกสองครั้งเมื่อวันที่ 24 และ 25 มิถุนายน 2558 ที่กรุงเทพฯ รวมทั้งที่บริเวณด้านนอกสถานีตำรวจเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน โดยมีรายงานว่าเจ้าพนักงานในสถานีตำรวจไม่ยอมรับแจ้งความจากนักศึกษาที่กรุงเทพฯ ซึ่งประสงค์จะแจ้งความต่อตำรวจ เนื่องจากตนถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายร่างกายระหว่างการประท้วงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้พิจารณาแล้วเห็นว่านักศึกษาทั้ง 14 คนถือเป็นนักโทษทางความคิด ซึ่งถูกลิดรอนเสรีภาพเพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ
จึงเชิญชวนให้เขียนส่งจดหมายถึงการไทย โดยมีข้อเรียกร้องดังนี้
• เรียกร้องทางการให้ปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คน โดยทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข และให้ยกเลิกข้อหาต่อนักศึกษาทั้ง 16 คน เนื่องจากการใช้สิทธิมนุษยชนของตนในการชุมนุมอย่างสงบ
• กระตุ้นทางการว่าระหว่างที่รอการปล่อยตัวนักศึกษาทั้ง 14 คน พวกเขาจะต้องไม่ถูกทรมานหรือถูกปฏิบัติอย่างโหดร้าย และสามารถเข้าถึงทนายความที่ตนเลือก สมาชิกครอบครัวเข้าไปเยี่ยมได้ และได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเพียงพอ
• เรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายและคำสั่งทุกฉบับ ซึ่งมุ่งจำกัดการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบโดยพลการ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
ข้อมูลเพิ่มเติม
ทางการไทยประกาศเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน ว่าจะจับกุมนักศึกษาหากไม่มารายงานตัวตามข้อกล่าวหาละเมิดคำสั่งห้ามจัดกิจกรรมทางการเมืองและห้ามชุมนุมสาธารณะเพื่อประท้วงในโอกาสครบรอบปีของรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม
นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่นเจ็ดคนเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาที่พูดคุยแลกเปลี่ยนในประเด็นสิทธิมนุษยชนของมหาวิทยาลัยขอนแก่น การทำงานของกลุ่มนักศึกษาในการรณรงค์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้รับการยกย่องจากรางวัลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเมื่อเดือนธันวาคม 2557 ทางการได้เตือนกลุ่มสิ่งแวดล้อมระดับชุมชนและรากหญ้า รวมถึงขบวนการอีสานใหม่และกลุ่มคนรักบ้านเกิด ซึ่งได้แสดงความสนับสนุนอย่างเปิดเผยต่อกลุ่มนักศึกษาทั้งเจ็ดคนนับแต่ถูกจับกุมเมื่อเดือนพฤษภาคม 2558 โดยอ้างว่าการกระทำของพวกเขาเป็นสิ่งต้องห้าม
ในเดือนพฤศจิกายน 2557 สมาชิกกลุ่มดาวดินถูกจับกุมเนื่องจากชูสามนิ้วจากภาพยนตร์ “Hunger Games” ระหว่างการปราศรัยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่จังหวัดขอนแก่น
ระหว่างการประท้วงที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2558 ตำรวจควบคุมตัวนักศึกษาและนักกิจกรรมมากกว่า 30 คน ซึ่งจัดกิจกรรมที่หอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นสถานที่แรกๆ ที่มีการจัดประท้วงต่อต้านรัฐประหารเมื่อปี2557 ประจักษ์พยานให้ข้อมูลว่าเห็นเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจนอกเครื่องแบบปฏิบัติการทำร้ายร่างกายนักศึกษาทั้งๆ ที่ไม่มีการยั่วยุ จากวีดิโอคลิปใน YouTube มีภาพยืนยันถึงรายงานดังกล่าว นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ซึ่งเป็นนักศึกษาต้องเข้ารับการปฐมพยาบาลฉุกเฉินหลังจากถูกพบว่าหมดสติไป มีรายงานข่าวว่านักศึกษาสองคนได้แก่ นายรัฐพล ศุภโสภณ และนายรังสิมันต์ โรม ต่างได้รับบาดเจ็บ
นับแต่กองทัพยึดอำนาจเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มีการประกาศห้ามบุคคลห้าคนหรือมากกว่าไม่ให้ชุมนุมทางการเมือง โดยมีผู้ชุมนุมถูกฟ้องคดีต่อศาลทหาร นักศึกษาซึ่งรวมถึงกลุ่มดาวดินและกลุ่มนักศึกษาไทยอื่น ๆ ได้เข้าร่วมปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์อย่างสงบ รวมทั้งการประท้วงเป็นกลุ่มไม่ถึงห้าคน แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังถูกสกัดกั้น ทางการไทยยังคงควบคุมตัวและคุมขังบุคคลโดยพลการ มีการขัดขวางหรือห้ามการประชุมและกิจกรรมสาธารณะ และการห้ามไม่ให้แสดงความเห็นต่างอย่างสงบ
เจ้าหน้าที่ทั้งในและนอกเครื่องแบบได้เดินทางไปยังที่พักอาศัยและเข้าตรวจค้นอาคารสถานที่ของนักศึกษาที่ทำกิจกรรมอย่างน้อย 17 คน นับแต่เดือนมีนาคม 2558 มีการเตือนนักศึกษาและครอบครัวไม่ให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง นับแต่รัฐประหารเมื่อปี 2557 เจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยได้รับคำสั่งจากกองทัพและกระทรวงศึกษาธิการให้ควบคุมดูแลการจัดกิจกรรมของนักศึกษาที่มุ่งวิจารณ์หน่วยงานทหาร และห้ามหรือจำกัดอย่างเข้มงวดไม่ให้นักศึกษาเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง กลุ่มนายทหารยังได้ไป “เยี่ยมเยือน” บรรดาอาจารย์และอธิการบดีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ และสั่งไม่ให้อนุญาตให้จัดกิจกรรมทางการเมืองใดๆ ภายในรั้วมหาวิทยาลัย
ข้อมูลเพิ่มเติม: http://www.amnesty.or.th/news/press/627