‘ทำประชามติอย่างไร ไม่ให้เสียของ’ นักวิชาการชี้ต้องยกเลิก ม.44 คำสั่ง คสช.ก่อนประชามติ

‘ทำประชามติอย่างไร ไม่ให้เสียของ’ นักวิชาการชี้ต้องยกเลิก ม.44 คำสั่ง คสช.ก่อนประชามติ

เทปบันทึกการเสวนา: PITVFANPAGE

เว็บประชามติเปิดผลโหวตคนออนไลน์ เผยหากประชามติไม่ผ่านอยากนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ ด้านวงถก ‘ทำประชามติอย่างไร ไม่ให้เสียของ’นักวิชาการชี้ต้องยกเลิก ม.44 คำสั่ง คสช.สร้างบรรยากาศการแลกเปลี่ยน แชร์ข้อมูลจากคนหลากหลาย ก่อนลงประชามติ

20150806022117.jpg

7 มิ.ย.2558 เว็บไซต์ประชามติ (www.prachamati.org) จัดเสวนา “ทำประชามติอย่างไร ไม่ให้เสียของ” เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนผ่านทางออนไลน์ ในหัวข้อคำถาม “หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร?” (คลิกดู) ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. – 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยมีผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเข้าร่วมโหวต 1,000 คนเศษ ในแต่ละข้อ ผลลัพธ์ได้แก่ 

(1)ให้นำรัฐธรรมนูญ2540 กลับมาใช้ เห็นด้วย 84% ไม่เห็นด้วย 16% 
(2) ให้นำรัฐธรรมนูญ2550 มาใช้ เห็นด้วย 20% เห็นด้วย 80% 
(3) ให้ประชาชนเลือก สสร. เห็นด้วย 87% ไม่เห็นด้วย 13% 
(4) ให้ คสช.แต่งตั้ง กมธ.ยกร่างใหม่ เห็นด้วย 14% ไม่เห็นด้วย 86% 
(5) ให้ สนช.จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ เห็นด้วย 13% ไม่เห็นด้วย 87% 
(6) ให้คสช.หยิบฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา เห็นด้วย 26% ไม่เห็นด้วย 74% 

20150806022206.jpg

ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวในการเสวนาว่า ประชามติเป็นกลไก เครื่องมือสำคัญของประชาธิปไตยสมัยใหม่ มีหลักการเป็นการขยายประชาธิปไตยตัวแทนมาสู่ประชาธิปไตยทางตรง ให้ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ อย่างไรก็ตาม หากที่มาของประชามติไม่เป็นประชาธิปไตยก็จะขัดกับหลักการพื้นฐานทางศีลธรรมและหลักกฎหมาย ในประเทศที่เป็นประชาธิปไตยจึงเขียนหลักการประชามติเอาไว้อย่างชัดเจนถึงกระบวนการของการทำประชามติ 

บริบทของการทำประชามติต้องเอื้อให้เกิดการถกเถียงอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่สักจะทำก็ทำ ดังนั้นจึงต้องเปิดให้มีการถกเถียง ทำเวทีประชาพิจารณ์ จะทำอย่างนั้นได้ต้องยกเลิกประกาศ คสช. รวมทั้ง ม.44 ที่มันไปขัดขวางบรรยากาศของการจัดเวที การรวมกลุ่ม และการเสนอความเห็นต่างๆ 

“ตอนนี้ก็ต้องว่าไปในเกมนั้น เราคงต้องไปพูด ไปรักษาหลักการไว้ ไม่ค่อยได้คิดว่าออกแบบอย่างไรให้เขาไม่อยู่ยาว ยังไงเขาก็อยู่ แต่คิดว่าอย่างน้อยที่สุดกระบวนการที่เราเข้าไปเกี่ยวข้องก็ไม่ควรจะไปอยู่ในเกมให้เขาอยู่ต่อ ต้องสร้างกระบวนการที่อย่างน้อยรักษาหลักการไว้เรื่องประชามติ รักษาหลักการใหญ่ๆ ไว้” ประภาสกล่าว

จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า มีบางประเด็นที่หากไม่แก้ไขจะทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่เอารัฐธรรมนูญฉบับนี้ นั่นคือ 1.การเลือกวุฒิสมาชิกที่กำหนดให้คณะกรรมการชุดหนึ่งเลือกแล้วให้ประชาชนเลือกจากตรงนั้นอีกทีซึ่งขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย 2.การควบรวมสององค์กรเข้าด้วยกันคือ คณะกรรมการสิทธิฯ กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทั้งที่อำนาจหน้าที่ของสองแห่งนี้คนละเรื่องกัน 3. ระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง อย่าบีบฝ่ายตรงข้ามจนไม่มีทางออก เจตนาผู้ร่างอาจต้องการทำให้การเมืองโปร่งใส แต่บางครั้งก็ต้องรอบคอบเพราะพรรรคการเมืองสองพรรคในไทยต่างก็มีฐานมวลชนกว้างขวาง

จตุรงค์กล่าวอีกว่า ประชามติเป็นตัวสะท้อนความต้องการของประชาชน ต้องทำให้คนตื่นตัวที่จะมาร่วมมากขึ้น ส่วนกระบวนการก่อนประชามติก็มีความสำคัญ ต้องให้ข้อมูลที่กว้างขวางเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจ และคิดวิเคราะห์ด้วยตนเองได้

ประชามติควรไม่ใช่แค่ผ่านไม่ผ่าน เพราะบทเรียนการประชามติผ่านรัฐธรรมนูญ 50 “รับไปก่อน แก้ทีหลัง” ซึ่งภายหลังก็ไม่ได้แก้และยังแก้ยาก แต่ควรบอกว่าประชาชนมีความเห็นอย่างไรด้วย เช่น อาจมีคำถามว่า ผ่านแต่ยังไม่เห็นด้วยในประเด็นอะไร หรือไม่ผ่านจะขอให้แก้อะไร เพื่อให้งบ 3,000 ล้าน ที่ใช้มีผลให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

ปองขวัญ สวัสดิ์ภักดิ์ ตัวแทนกลุ่มเรียกร้องประชมติที่เป็นประชาธิปไตย กล่าวว่า ทางกลุ่มเรียกร้องการทำประชามติที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น  โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ช่วงก่อนการทำประชามติจะต้องเปิดให้รณรงค์ แลกเปลี่ยนกันได้อย่างเสรี ทุกฝ่ายทุกความคิดเห็น และต้องยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ไม่เช่นนั้นเราก็พร้อมจะบอกว่าไม่ยอมรับการทำประชามติแบบนี้ เพราะไม่ใช่ประชามติที่เป็นประชาธิปไตย 

ส่วนช่วงขั้นตอนในการทำประชามติ ต้องรอก่อนว่า สปช.จะลงมติต่อตัวรัฐธรรมนูญอย่างไร หากรับรัฐธรรมนูญนี้ก็ไปทำประชามติ คนเห็นด้วยก็ประกาศใช้ นำไปสู่การเลือกตั้ง แต่ถ้าคนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ทางกลุ่มเรียกร้องว่าไม่ให้กลับไปสู่วงจรเดิม แต่ให้ยกเลิกและยุบองค์กรที่มาจากรัฐประหารทั้งหมด แล้ว ‘เลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ’ ขึ้นมาใหม่ โดยให้ยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง เพื่อทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ แล้วนำเข้าสู่กระบวนการประชามติอีกครั้ง ซึ่งเราได้คำนวณเวลาไว้แล้วว่าจะไม่เกินโรดแม็พของ คสช. 

“ส่วนการทำประชามติรายมาตรานั้นไม่ตอบโจทย์อย่างแท้จริง มันมีปัญหาที่มาของรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เป็นองค์กรที่ใช้กระบอกปืนวิ่งราวเอาสิทธิคนไป ถ้าเราจะเอารัฐธรรมนูญฉบับโจรขึ้นมาใช้ เราจึงจำเป็นต้องให้ประชาชนเข้าไปออกสิทธิออกเสียงต่อรัฐธรรมนูญให้มากที่สุด” ปองขวัญกล่าว

สุนี ไชยรส รองประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่าการพูดเรื่องประชามติรัฐธรรมนูญตอนนี้มีสองแนว คือ ไม่อยากยุ่งด้วย เพราะรัฐธรรมนูญไม่เข้าท่าตั้งแต่ต้นทาง แต่อยากเสนอว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช้ยาสารพัดนึก สูตรสำเร็จ สิ่งที่เราเรียนรู้มาคือ รัฐธรรมนูญต้องไม่อยู่ในมือนักกฎหมายหรือคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เป็นวัฒนธรรมของการเมืองไทยเราเรื่อยมา เราจึงต้องมองรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องการต่อรองกันในสถานการณ์หนึ่งๆ และอย่าลืมว่าเดิมรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีเรื่องประชามติ แต่กลายเป็นเรื่องต้องเดินหน้าต่อเพราะเห็นได้ชัดว่ามีมุมที่หลายฝ่ายต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม การที่เราสามารถเดินหน้ามาสู่ประชามติได้ก็ควรใช้ประชามติให้เป็นประโยชน์มากที่สุด 

สุนี กล่าวว่า สิ่งที่ต้องทำคือ เราจำเป็นต้องทำให้คำขอแก้ไขหรือทุกข้อเรียกร้องเข้ามาสู่เวทีเปิดให้เกิดการถกเถียงกันอย่างหนักในทุกประเด็น ไม่ว่าประชามติจะผ่านหรือไม่ผ่าน ประเด็นต่างๆ ก็จะก่อรูปขึ้นมาจากการถกเถียงเพื่อที่เราจะนำไปทำประชามติเป็นรายประเด็น ขณะที่ต้องทำทั้งฉบับด้วย 

20150806022517.jpg

ทั้งนี้ เว็บไซต์ประชามติเป็นความร่วมมือของ 4 องค์กร คือ สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล เว็บไซต์ไทยพับลิก้า เว็บไซต์ประชาไท และโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

สำรวจคอมเม้นท์ในเว็บไซต์ prachamati.org และเพจเฟซบุ๊ก ประชามติ ทั้งสิ้น 777 คอมเม้นท์ ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. – 4 มิ.ย.ที่ผ่านมา กับประเด็นคำถาม “หากทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร?

ที่มา: www.prachamati.org

ชาวเน็ตส่งเสียง ถ้าประชามติไม่ผ่าน ให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้

จากคอมเม้นท์ส่วนใหญ่เห็นไปในทางเดียวกันว่าควรนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้ใหม่ ด้วยเหตุผลที่หลากหลาย เช่น เพราะเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่ร่างโดยประชาชนผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวาง เป็นฉบับที่ดีที่สุดเท่าที่ประเทศไทยเคยมีมา เป็นฉบับที่ทั่วโลกให้การยอมรับเป็นประชาธิปไตย

ในแง่ของเนื้อหามีข้อดีตรงที่ให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ให้สิทธิประชาชนมาก พรรคการเมืองแข่งขันกันสร้างผลงาน ทำให้ประเทศพุ่งทะยานไปหน้า ทั้งนี้หากนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้แทนเลย จะไม่ต้องเสียเวลาและเสียเงินเดือนเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ถ้ามีข้อบกพร่องตรงไหนก็นำมาปรับปรุงแก้ไขให้เป็นที่ยอมรับกันทุกฝ่าย

นำรัฐธรรมนูญ 2540 มาปรับปรุงแก้ไข

แม้หลายคนจะเห็นว่าควรนำรัฐธรรมนูญ 2540 กลับมาใช้ หากประชามติไม่ผ่าน แต่หลายคนก็มองเห็นข้อบกพร่องซึ่งต้องแก้ไขในรัฐธรรมนูญฉบับนี้

ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า Sivasek Inthana เสนอยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ทั้งฉบับและให้แก้ไขเพิ่มเติมที่่มาจากองค์กรอิสระให้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั่วทุกจังหวัดจัดตั้งเป็นสภาองค์กรอิสระจังหวัดละสองคน ทำหน้าที่สรรหาผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระทุกองค์กร ขอบเขตหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต้องรายงานโดยตรงต่อสภาองค์การอิสระเป็นผู้พิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดในเรื่องคดีความต่างๆ โดยใช้เสียงในสภาองค์กรอิสระเสียงข้างมาก สภาองค์กรอิสระเสียงข้างมากมีอำนาจในการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระในกรณีการทำหน้าที่ไม่มีผลงาน ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ขาดคุณธรรมจริยธรรม และอื่นๆ

นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอ เช่น การจัดตั้งรัฐบาลให้ใช้เสียงไม่เกิน 60% ของรัฐสภา และการโหวตผ่านกฎหมายใดๆ ต้องโหวตโดยอิสระไม่อยู่ภายใต้มติพรรค เสนอให้แก้ไขให้คดีทุจริตทุกกรณีไม่มีอายุความ ใครเคยถูกลงโทษเพราะทุจริตในทุกกรณีห้ามเล่นการเมืองตลอดชีวิต และลดอำนาจของฝ่ายบริหารลง เพราะมีอำนาจแข็งแกร่งมาก และสามารถคุมเสียงนิติบัญญัติได้เด็ดขาด

แก้ไขจุดอ่อนของรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550

มีคอมเม้นต์จำนวนหนึ่งเสนอให้นำรัฐธรรมนูญ 2540 หรือ 2550 อันใดอันหนึ่งกลับมาใช้ใหม่ เหตุผลคือรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับบังคับใช้ยาวนานรวมกันถึง 18 ปี เรียกว่าเห็นจุดอ่อนช่องโหว่ที่จะนำไปสู่การแก้ไขได้  

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Asuna Avava คิดว่าการนำสิ่งเก่ามาแก้ไขน่าจะง่ายกว่าเขียนขึ้นมาใหม่ทั้งหมด เพราะเราได้รับบทเรียนมามากแล้ว ทั้งรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ส่วนที่มีปัญหาก็แก้ไข ส่วนที่ดีงามอยู่แล้วก็ให้นำมาใช่ต่อ อย่างไรก็ตามทั้งสอง
ฉบับนี้ยังมีข้อดีตรงที่ ส.ว.ไม่มีอำนาจในการเสนอกฎหมาย ขณะที่ร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ให้อำนาจส.ว.เสนอกฎหมายได้

ใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แล้วเลือกตั้งใหม่

ผู้แสดงความเห็นบางส่วนสนับสนุนให้ปัดฝุ่นรัฐธรรมนูญ 2550 เพราะมีความเหมาะสมดีแล้ว เนื้อหาไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญ2540 เท่าไหร่นัก ที่สำคัญคือได้ผ่านประชามติจากประชาชนแล้ว (ขณะผู้ที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญ 2540 มองว่าการทำประชามติรัฐธรรมนูญ 2550 มีลักษณะเชิงบังคับ) มีบางความเห็นเสนอให้นำมาปรับโดยตัดเนื้อหาที่ให้อำนาจนักการเมืองออกไป และให้นำมาตราของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาเพิ่มเติมเข้าไปด้วย

ขณะที่ ผู้ใช้ชื่อเฟซบุ๊กว่า ธวัช สถิตย์ เสนอว่า ควรเอารัฐธรรมนูญปี 2550 มาใช้ก่อน แล้วจัดการเลือกตั้งโดยเร็วเพื่อให้มีรัฐบาลเฉพาะกิจ จากนั้นให้เลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญโดยเร็วเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างเสร็จให้ทำประชามติว่าจะรับรัฐธรรมนูญใหม่หรือไม่ แล้วจึงยุบสภา เลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่

เลือกตั้ง สสร.จากประชาชน

ความเห็นจำนวนหนึ่งเสนอให้ประชาชนเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ใหม่ เพราะสภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ต้องให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินเอง โดยมีการเสนอตัวเลือกให้เลือกตั้ง สสร. เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต

ให้ คสช.ร่างใหม่ต่อไป                      

มีความเห็นจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยที่จะนำรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 กลับมาใช้ เพราะเป็นต้นเหตุของความวุ่นวายจนถึงทุกวันนี้ แต่ละฉบับเปิดช่องทางให้นักการเมืองใช้อำนาจตัวเองโดยการยืมมือประชาชนเข้ามากระทำการที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายสารพัด ดังนั้นถ้าประชามติไม่ผ่านก็ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เปลี่ยนชุดกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนรัฐบาลก็อยู่ต่อจนกว่ารัฐธรรมนูญจะผ่าน ซึ่งเป็นแนวคิดคล้ายกับกระบวนการที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557

ปรับรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร

ผู้ใช้เฟซบุ๊กชื่อ Prin Niamskul เสนอความเห็นที่แหวกแนวว่า ให้นำรัฐธรรมนูญทหารมาปรับ เพราะปัญหารัฐธรรมนูญ2540, 2550 และ 2558 ก็ปัญหาเดิม น้ำท่วมทุ่ง หากยังคิดแก้ปัญหาที่ตัวอักษรชาติหน้าคงเจริญ รัฐธรรมนูญยิ่งยาว ประเทศยิ่งล้มเหลวด้วยความซับซ้อนของมันเอง ใช้รัฐธรรมนูญทหาร เปิดช่องอำนาจเลือกตั้ง ให้มีรัฐธรรมนูญที่อยู่ในหัวประชาชนจำได้ ดีกว่ายุ่งยากจนใครก็จำไม่ได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ