25 ก.พ. 2559 ที่ศาลากลางจังหวัดมุกดาหาร ภาคประชาชนและตัวแทนจากมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อผู้ว่าราชการจังหวัดโดยผ่านศูนย์ดำรงธรรม ในกรณีที่ จ.มุกดาหารถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษระยะแรก เพื่อปกป้องสิทธิอันพึงมีพึงได้ที่ยังคงมีอยู่ในปัจจุบัน ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 4 เพราะมีบางพื้นที่ ถูกกำหนดเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมโดยใช้มาตรา 44 แต่ประชาชนในพื้นที่ผู้มีส่วนได้เสียยังขาดโอกาสตัดสินใจในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐาน อีกทั้งยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2559 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 3/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎหมายว่าด้วยการผังเมืองและกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ และคำสั่งที่ 4/2559 เรื่องการยกเว้นการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวม สำหรับการประกอบกิจการบางประเภท ซึ่งการประกาศคำสั่งทั้ง 2 ฉบับดังกล่าว มีผลเป็นการยกเลิกหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมชองชุมชนตามกฎหมายหลายประการ
หนังสือของมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทยและภาคประชาชน ใน จ.มุกดาหาร ได้ระบุความเห็นและข้อเรียกร้อง ต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติและรัฐบาล ดังนี้
1.การใช้อำนาจมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มีเจตนารมณ์เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปในด้านต่างๆ การส่งเสริมความสามัคคี และความสมานฉันท์ของประชาชน ในชาติ หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลาย ความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน
แต่การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งที่ 3/2559 และ 4/2559 โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 นั้น เครือข่ายเห็นว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2559 เป็นการเปิดทางให้มีการบริหารจัดการในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง และกฎหมายควบคุมอาคารเพื่อให้เกิดการจัดการพื้นที่ โดยละเลยกระบวนการกลั่นกรองการพัฒนาที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับชุมชน อันเป็นการทำลายหลักประกัน ในการคุ้มครองสิทธิชุมชนด้านสิ่งแวดล้อม
2. การพัฒนาเขตเศรษฐกิจ ควรเป็นไปด้วยความรอบคอบ คำนึงถึงศักยภาพ หรือความสามารถพิเศษของคนในพื้นที่นั้น
แต่กระบวนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาลนี้ กลับกลายเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มทุนมีการประกอบกิจการโดยไม่ต้องคำนึงถึงผังเมือง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนไทย การดำเนินการแบบนี้ จะไม่นำไปสู่การปฏิรูปดังที่รัฐบาลกล่าวอ้าง
3. ที่ผ่านมาประเทศไทย ได้มีการวางทิศทางการพัฒนาตามแนวนโยบายแห่งรัฐ โดยกำหนดหลักการพัฒนา ต้องเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งการจัดทำผังเมือง เพื่อประโยชน์ในการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน และกฎหมายผังเมือง ก็ได้ทำหน้าที่ให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ที่เหมาะสม แบ่งเขตการพัฒนาด้านต่างๆ ตามลักษณะภูมิประเทศในแต่ละจังหวัด คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดความสมดุลมากที่สุด และเป็นมาตรการที่สำคัญสำหรับ ประเทศในปัจจุบัน โดยสอดคล้องกับการพัฒนาของโลก
แต่ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเดินไปสู่ความล้าหลัง ด้วยการยกเว้นการบังคับใช้กฎหมายผังเมืองทั่วประเทศ ในกิจการโรงงานบางประเภท เช่น โรงไฟฟ้า โรงงานที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดขยะ ฯลฯ ด้วยการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 4/2559
มูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย และภาคประชาชน จึงมีความเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าวของ คสช. จะก่อให้เกิดความวุ่นวายตามมาในบ้านเมือง การใช้อำนาจอิทธิพลจะเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับผู้ประกอบการ ธุรกิจที่เข้ามาลงทุนดำเนินการจะเกิดขึ้นทั่วประเทศ อันเป็นการก้าวเดินที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรงของรัฐบาลและ คสช.
จากเหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด การประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ไม่เข้าเงื่อนไขตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจเกินขอบเขตที่พึงกระทำไม่บรรลุประโยชน์ในการปฏิรูป หรือส่งเสริมความสามัคคีสมานฉันท์ของประชาชน ตามที่มาตรา 44 ได้กำหนดไว้ โดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลต้องยกเลิกคำสั่งทั้ง 2 ฉบับ เพื่อคลี่คลายวิกฤติโดยเร่งด่วน
“เราในนามมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย และ ภาคประชาชน ในจังหวัดมุกดาหาร ขอเรียกร้องต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และรัฐบาลให้ยกเลิกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 3/2559 และ 4/2559 ในทันที” หนังสือระบุ
ในวันเดียวกันนี้ (25 ก.พ. 2559) เมื่อเวลาภาคประชาชนและตัวแทนจากมูลนิธิแพทย์วิถีธรรมแห่งประเทศไทย ได้เข้าร่วมประชุมผังเมืองในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหาร ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดาหารเป็นประธาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ซึ่งมีวาระเรื่องร่างประกาศมหาดไทยในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจังหวัดมุกดาหารเข้าสู่การพิจารณา
ในประเด็นวาระการประชุมมีการกำหนดพื้นที่อุตสาหกรรม คลังสินค้า แหล่งพาณิชย์ และการคมนาคม กำหนดพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ โดยจะมีการออกเป็นประกาศกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษมุกดาหาร ซึ่งจะบังคับใช้ชั่วคราวเป็นเวลา 1 ปีตามประกาศ
ทั้งนี้ จังหวัดมุกดาหารถูกกำหนดให้เป็นจังหวัดพัฒนาเศรษฐกิจการค้าชายแดน เชื่อมต่อเส้นทางการค้าจากทะเลตะวันตกสู่ทะเลตะวันออก โดยเป็นระเบียงเศรษฐกิจการค้าชายแดน (East-West Economic Corridor : EWEC) เชื่อมต่อไป สปป.ลาวและประเทศเวียดนาม