‘คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป’ ยื่นกฤษฎีกาชะลอเสนอกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล

‘คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป’ ยื่นกฤษฎีกาชะลอเสนอกฎหมายเศรษฐกิจดิจิทัล

ตัวแทนคณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ยื่นหนังสือถึงเลขาธิการและประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา ขอให้ชะลอการเสนอร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฯ และร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

2 เม.ย.2558 คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ประกอบด้วยตัวแทนจาก สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้เข้ายื่นหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และประธานคณะกรรมกากฤษฎีกา (คณะที่ 1) เรื่อง ขอให้ชะลอการเสนอร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พ.ศ…. และ ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ….. 

การยื่นหนังสือมีนางสาวชื่นสุมน นิวาทวงษ์ ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 เป็นผู้แทนรับหนังสือจาก นางสาวพิมพ์ชญา ทิพย์ธรรมรัตน์ เลขาธิการ และ นายคธาทร อัศวจิรัฐติกรณ์ รองเลขาธิการ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย

สำหรับประเด็นสำคัญที่คณะทำงานสื่อเพื่อการปฏิรูป ได้ร่วมพิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับแล้ว มีความเห็นว่า ต้องทบทวนในรายละเอียด และหลักการที่อาจขัดแย้งต่อกระบวนการปฏิรูปสื่อ คือ

1. ให้คงหลักการการจัดสรรทรัพยากรการสื่อสารของชาติ เพื่อประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดของประชาชน รวมทั้งความเป็นอิสระของ กสทช.และกำหนดบทบาทหน้าที่ของ กสทช.ในการจัดสรรคลื่นความถี่ให้มีความชัดเจนว่า หมายถึง บทบาทใน 3 ระดับ ได้แก่ การจัดสรรคลื่นความถี่ (Frequency Allocation) การจัดแบ่งคลื่นความถี่ (Frequency Allotment) และการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ (Frequency Assignment) ซึ่งเป็นบทบาทที่ต้องอาศัยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการดำเนินการ และต้องไม่มีบทบัญญัติที่ขัดแย้งต่อเจตนารมณ์เบื้องต้นในการปฏิรูปสื่อ

2. ให้มีการทบทวนบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับที่มาของคณะกรรมการ กสทช.และกระบวนการสรรหา ทั้งในแง่ของคณะกรรมการสรรหา และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อเป็นคณะกรรมการ กสทช. เพื่อให้มีความโปร่งใสและเป็นธรรม อีกทั้งการได้มาซึ่ง คณะกรรมการ กสทช.ต้องสะท้อนความเป็นผู้มีผลงาน ความรู้ ความเชี่ยวชาญหรือประสบการณ์ด้านต่างๆ อย่างแท้จริง

3. ให้คงไว้ซึ่งกองทุน กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 โดยต้องไม่มีการจัดสรรเงินจากกองทุนดังกล่าวไปยังกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมโดยตรง แต่กำหนดให้รัฐบาลจัดสรรเงินจากรายได้แผ่นดินที่ได้รับจากสำนักงาน กสทช. เข้าสู่กองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแทนตามจำนวนที่รัฐบาลเห็นสมควร

4. ให้ชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่…) พ.ศ. … ตลอดจนการปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ในประเด็นอื่นใดทั้งหมดออกไปก่อน จนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด

20150204175824.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ