กฎหมายไทย ว่าด้วยการเลือกบังคับใช้
นายคมสันติ์ จันทร์อ่อน กองเลขาเครือข่ายสลัม 4 ภาค
จากกระแสวิพากษ์ วิจารณ์ในสังคมปัจจุบันในเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ปฎิบัติแตกต่างกับกลุ่มคนที่ไม่เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นกรณีการล่าสัตว์ป่าในเขตป่าสงวน ของนายเปรมชัย ประธานใหญ่บริษัทก่อสร้าง ที่เห็นหลักฐานต่อหน้า แต่ก็อาจจะมีช่องทางให้หลุดคดีหนักไปได้ หรือแม้แต่กรณีการรุกป่าของหลายตระกูลที่ตรวจพบเพียงแค่กล่าวยกคืนให้กับทางราชการเรื่องข่าวคราวการดำเนินคดีก็เงียบหายไป ซึ่งปรากฎการณ์เหล่านั้นได้ถูกนำมาเปรียบเทียบกับกรณีตายาย เก็บเห็ดในป่า สุดท้ายกลายเป็นผู้กระทำความผิดตัดฟันต้นสักกว่า 70 ไร่ สุดท้ายต้องอยู่ในคุกอย่างจำยอม หรือแม้แต่การเข้าครองที่ดินเพื่อทำมาหากินตามวิถีเกษตรกร แต่ไร้ที่ดินต่อสู้กับหน่วยงานรัฐเพื่อสิทธิที่จะได้ที่ดินแปลงเล็กๆไว้ทำมาหากินในครอบครัวจนตัวเองถูก “อุ้ม” หายตัวไปอย่าง นายเด่น คำแหล้ ที่ถูกข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม การถูกอุ้มหายตัวไปของนายเด่น กลับถูกมองว่าเป็นการหลบหนีคดี ส่งผลให้นางสุภาพ ผู้เป็นภรรยาต้องโทษจำคุกไปด้วย
และหากดูประเด็นทางการเมืองที่แบ่งแยก 2 ฝ่าย ที่สนับสนุนรัฐบาล และคัดค้านรัฐบาล การบังคับใช้กฎหมายก็แตกต่างอย่างสิ้นเชิง กรณีการเดินรณรงค์ของกลุ่ม People Go Network ที่จัดการเดินมิตรภาพ ขึ้นมา หรือ We Walk ได้ทำการขออนุญาตชุมนุมตามกฎหมาย ส่วนเนื้อหานั้นเป็นเรื่องกฎหมายปากท้องพี่น้องคนยากจนทั้งนั้น เช่น การสร้างนโยบายให้เป็นรัฐสวัสดิการ , การปกป้องการผูกขาดพันธุ์พืช หรือสิทธิด้านที่อยู่อาศัย แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองเป็นเรื่องความมั่นคง การเมือง ผิดต่อคำสั่ง คสช.ที่ 3 / 2558 และมีความพยายามจะเอาผิดใน พรบ.การชุมนุมสาธารณะ อีกด้วย
ครั้นพอมีกลุ่มที่อยากให้กำลังใจรองนายกรัฐมนตรีที่ถูกสังคมวิพากษ์ วิจารณ์ ในเรื่องความไม่เหมาะสมเกี่ยวกับเครื่องประดับที่มีมูลค่าราคาแพง จำนวนมาก เป็นประเด็นร้อนในข่าวการเมืองหลายสัปดาห์ กลุ่มคนเหล่านี้ได้รวมกลุ่มกันมาเพื่อแสดงพลังให้กำลังใจกับรองนายกฯท่านนั้น หากไม่มีกระแสสังคมวิจารณ์การเลือกปฏิบัติกรณีดังกล่าวคงจบไปแบบเงียบๆ แต่เมื่อสังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์กันเยอะกลุ่มคนเหล่านั้นก็ถูกลงโทษปรับจำนวนเงินเล็กน้อย ส่วนข้อหาผิดต่อคำสั่ง คสช. 3 / 2558 ก็ไม่ถูกดำเนินคดี
หันมาดูหน่วยงานที่เครือข่ายสลัม 4 ภาค ต้องประสานงานช่วยพี่น้องแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยนั้นคือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) อย่างที่หลายท่านอาจจะทราบข้อมูลมาได้บ้างแล้วว่าหน่วยงานรัฐที่มีที่ดินในการครอบครองดูแลจำนวนมาก และทำเลทองกลางเมือง หนึ่งในนั้นต้องมีชื่อของ รฟท. รวมอยู่ด้วย ซึ่งการจับจองที่ดินของ รฟท. นั้นก็มีทั้งแบบ ถูกกฎหมาย และ ไม่ถูกหมาย และทั้งสองแบบก็มีกลุ่มคนสองชนชั้นด้วยเช่นกันคือมีทั้ง คนรวย และ คนจน
และความต่างทางชนชั้น ฐานะเงินทอง ความเป็นอยู่นี่เอง ที่เป็นตัวชี้รูปธรรมการบังคับใช้กฎหมายได้อย่างแตกต่างกันยกตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรถไฟสายสีแดง (ช่วงตลิ่งชัน – ศิริราช) รฟท. ได้ให้ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวไปเช่าที่ดินระยะยาวบริเวณสถานีหยุดรถบางระมาด ชาวบ้านยินยอมย้ายไปเพราะเห็นแกการพัฒนาระบบคมนาคมของประเทศ (เดิมชาวบ้านได้เช่าที่ดินอย่างถูกกฎหมายกับทาง รฟท. ก่อนหน้าอยู่แล้ว) แต่ปรากฏว่าพื้นที่ใหม่ที่ รฟท. จะให้ย้ายไปอยู่นั้นกลับมีผู้ครอบครองที่ดินอยู่จำนวนหนึ่ง ไม่กี่ราย แต่ทำอาณาเขตครอบครองไปหลายร้อยตารางวา ชาวบ้านจ่ายค่าเช่าคาดหวังว่า รฟท. จะเร่งรีบเคลียร์พื้นที่ให้แล้วเขาเหล่านั้นจะได้เข้าไปสร้างบ้านได้ แต่ปรากฏว่าจากวันนั้นมาจนถึงปัจจุบันเวลาล่วงเลยผ่านไป 4 ปีกว่า ที่ชาวบ้านกลุ่มดังกล่าวชำระค่าเช่า แต่!!!! ไม่สามารถเข้าพื้นที่ที่ตนเองเช่าไปปลูกสร้างบ้านใหม่ได้ ความคืบหน้าทางกฎหมายที่จะจัดการกลุ่มคน(ที่ค่อยข้างรวย และมีอิทธิพลในพื้นที่) ก็ไม่ปรากฏให้เห็นประจักษ์ ชาวบ้านต้องทนอยู่บ้านชั่วคราวกันไป
กลับมาดูอีกฝั่งชุมชนบ่อสีเสียด อยู่ในจังหวัดตรัง ลักษณะชุมชนกึ่งเมืองกึ่งชนบท เดิมเคยอพยพมาจับจองที่ดินกันและขอเช่าที่ดินกับทางนายสถานี หลังจากนั้นมาเมื่อปี 2541 รฟท. เริ่มไม่เก็บค่าเช่าที่ดินในบางหลังจนกระทั่งปี 2547 ก็ไม่เก็บค่าเช่าที่ดินทั้งชุมชน ทำให้ชาวชุมชนเหล่านั้นกลายเป็นกลุ่มคนผิดกฎหมายทันที รฟท. เริ่มมาดำเนินคดีชาวบ้านในปี 2556 ชาวบ้านไม่ได้ขึ้นศาลต่อสู้คดีใดๆ ได้แต่เพียงก้มหน้าเซ็นหนังสือยอมรับสารภาพเพราะคำ “ขู่” ของเจ้าหน้าที่ รฟท. ต่างๆนาๆ และในปัจจุบัน รฟท. ยังคงจะเดินหน้าบังคับคดีรื้อย้ายชาวชุมชนบ่อสีเสียดต่อไป ทั้งๆที่ชาวบ้านเหล่านั้นพร้อมที่จะเช่าที่ดินดังเดิมให้ถูกต้องตามกฎหมาย
นี่คือสองรูปธรรมเล็กๆ ที่ไม่ได้เป็นข่าวคราวใหญ่โตในหน้าสื่อ แต่เป็นอีกมุมหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงระบบกระบวนการยุติธรรมประเทศไทยกำลังป่วยขั้นโคม่าร้ายแรง เพราะมีปัญหามาตั้งแต่เริ่มนั้นคือเจ้าพนักงานผู้ปฎิบัติใช้บังคับกฎหมาย เมื่อต้นทางของกระบวนการยุติธรรมมีปัญหาการส่งผ่านข้อเท็จจริงสู่อัยการ จนกระทั่งสู่ชั้นศาล ก็จะเต็มไปด้วยอคติของเจ้าพนักงานที่มีต่อชาวบ้านที่กระเหี้ยนกระหือรือในการอยากรื้อไล่ชาวบ้าน แต่อากัปกิริยาดังกล่าว รวมไปถึงความกระตือรือร้นในการอยากเอาความผิดคนที่มีฐานะทางสังคม หรือแม้แต่อดีตเจ้าพนักงาน รฟท. เอง ก็จะเกิดความเกรงใจ มีน้ำใจ ต่อกัน
แน่นอนนี่คือบทพิสูจน์ที่รัฐบาลที่มาด้วยความพิเศษ และมีกฎหมายพิเศษในมือ ความมุ่งหวังที่ประกาศต่อสาธารณะให้ประชาชนได้รู้ทั่วกันทั้งประเทศว่าการมาครั้งนี้จะเกิดการปฎิรูปด้านต่างๆ นอกจากไม่เกิดการปฎิรูปแล้ว เรายังเห็นแผลเดิมที่ซ้ำเติมชนชั้นล่างราวดูหนังเรื่องเดิมซ้ำไป ซ้ำมา สุดท้ายแล้วการจะปฎิรูปเพื่อแก้ปัญหานอกจากจะต้องมีอำนาจอย่างแท้จริงแล้ว ยังคงต้องมีความจริงใจในการแก้ปัญหาเหล่านั้นด้วย