‘กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย’ เสนอ 4 ข้อ ‘ประชามติ’ ที่มีความชอบธรรม

‘กลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย’ เสนอ 4 ข้อ ‘ประชามติ’ ที่มีความชอบธรรม

20162604025908.jpg

25 เม.ย. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 15.40 น. หลังจากสถาบันสิทธิมนุษชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง ศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน จัดเวทีถกแถลงร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งที่ 2 ‘คำถามพ่วงมีนัยอย่างไร’ ที่คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  กลุ่มที่ใช้ชื่อว่า ‘พลเมืองผู้ห่วงใย’ นำโดยนฤมล ทับจุมพล บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ โคทม อารียา สุนัย เศรษฐ์บุญสร้าง และไพโรจน์ พลเพชร ได้อ่านแถลงการณ์ว่าด้วยการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 7 ส.ค.2559 

แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุว่า ตามที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ได้เผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่จะนำไปทำประชามติเมื่อวันที่ 29 มี.ค.ที่ผ่านมา และกำหนดให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 7 ส.ค.นี้ ซึ่งการลงมตินี้ถือเป็นการใช้อำนาจประชาธิปไตยทางตรงของประชาชนในการตัดสินกำหนดอนาคตของประเทศครั้งสำคัญ จึงมีความคิดเห็นร่วมกัน และทำข้อเสนอต่อการจัดทำประชามติในร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในสังคมร่วมกันผลักดันทำให้เกิดผลเป็นจริง ดังนี้ 

1. กระบวนการทำประชามติต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรมในทุกขั้นตอน 2. ในกระบวนการทำประชามติ ต้องเปิดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยได้ถกแถลงด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วนและรอบด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีพื้นที่สาธารณะที่ปลอดภัยสำหรับทุกฝ่ายเพื่อการแสดงความเห็นตามกรอบของกฎหมาย

3. ประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริตและอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ และถือเป็นสิทธิพื้นฐานทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องได้รับการปกป้องคุ้มครอง ดังนั้น การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกด้วยเหตุผล และมาตรการทางความมั่นคง รวมถึงการนำผู้ที่มีความคิดเห็นต่างไปปรับทัศนคติ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานยังเป็นการลดความชอบธรรมของกระบวนการทำประชามติอีกด้วย 

และ 4. ต้องมีการกำหนดให้ชัดเจนก่อนการทำประชามติ ว่า จะมีทางเลือกและกระบวนการอย่างไรต่อไปในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ เพื่อให้ได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญที่คนไทยทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันได้มากที่สุด โดยต้องให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายสามารถถกแถลงและเสนอทางเลือกต่างๆ ได้อย่างเสรีและสร้างสรรค์

การลงประชามติจึงต้องจัดทำประชามติที่มีความชอบธรรม กระบวนการทำประชามติต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส สุจริต และเที่ยงธรรมในทุกขั้นตอน เปิดให้มีการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่าย อีกทั้งประชาชนมีสิทธิอันชอบธรรมที่จะแสดงความคิดเห็นได้โดยสุจริตและอย่างสร้างสรรค์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงการนำผู้ที่มีความคิดเห็นต่างไปปรับทัศนคติ นอกจากจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ขณะเดียวกันต้องกำหนดให้ชัดเจนก่อนการทำประชามติว่าจะมีทางเลือกและกระบวนการอย่างไรต่อไปในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ

สำหรับบุคคลที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนแถลงการณ์ดังกล่าว มีจำนวน 104 คน มาจากหลายวงการ โดยในส่วนของนักวิชาการ อาทิ ไพโรจน์ พลเพชร นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและอดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย  สมชาย หอมลออ อดีตกรรมการปฏิรูปกฎหมาย สุริชัย หวันแก้ว ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โคทม อารียา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ขณะที่นักการเมือง อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย  สาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รัชดา ธนาดิเรก อดีตส.ส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ กษิต ภิรมย์ สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ บุญเลิศ คชายุทธเดช อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) บุญทัน ดอกไทสง อดีตรองประธานวุฒิสภา สดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ธงชาติ รัตนวิชาอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 

ต่อมา เมื่อเวลา 16.00 น หลังจบการแถลงการณ์ของกลุ่มพลเมืองผู้ห่วงใย เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ยึดเอกสารรณรงค์ของน.ส.เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนฯ เนื่องจากมีเนื้อหาระบุเหตุผลที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเอกสารดังกล่าวเป็นของกลุ่มขบวนการประชาธิปไตยใหม่ จากนั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ขอเชิญตัว น.ส.เบญจรัตน์ ไปพูดคุยที่สน.ปทุมวัน แต่มีการเจรจากัน จนสุดท้ายตำรวจเพียงแค่ขอชื่อและหมายเลขโทรศัพท์เพื่อติดต่อกลับภายหลัง

น.ส.เบญจรัตน์ ชี้แจงว่า เหตุที่นำเอกสารมาแจกจ่ายในวันนี้ (25 เม.ย. 2559) เพราะเห็นว่ามีข้อมูลที่เป็นประโยชน์และประชาชนควรได้นำไปพิจารณาอย่างรอบด้าน

 

เรียบเรียงจาก : เดลินิวส์, ผู้จัดการ, โพสต์ทูเดย์Prachamati – ประชามติ
ที่มาภาพ: Prachamati – ประชามติ

20162604025057.jpg

20162604025137.jpg

20162604025203.jpg

20162604025233.jpg

20162604025327.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ