หลังผ่านประชามติ 3 ผู้นำแรงงาน ย้ำร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้น หลังเนื้อหาไม่ปรากฎประเด็นสิทธิแรงงาน ตอกย้ำขาดกระบวนการมีส่วนร่วม เรียกร้องแรงงานต้องสำนึกถึงชนชั้น สร้างพลังในฐานะคนส่วนใหญ่ของประเทศ เตรียมเสนอกฎหมายลูก แม้รู้ว่าแม่ไม่ดีลูกก็อาจมีปัญหา
รายงานโดย: นักสื่อสารแรงงาน
ที่มา: voicelabour.org
วันที่ 8 ส.ค. 2559 หลังการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. … ฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เมื่อวันที่ 7 ส.ค. 2559 และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการหลังจากนับบัตรออกเสียงประชามติไปร้อยละ 94 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง แต่มีอยู่ 23 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ที่ประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ
นายสมชัย สุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวเบื้องต้นว่า จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ์ออกเสียงประชามติจำนวนร้อยละ 58 ซึ่งมากกว่าจำนวนผู้ออกมาลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญในปี 2550 ที่มีผู้มาใช้สิทธิ์ ร้อยละ 57 แต่ก็ยังต่ำกว่าเป้าที่ กกต.ตั้งไว้ที่ ร้อยละ 80 ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียงกว่า 50 ล้านคน โดยคาดว่าเป็นเพราะประชาชนไม่ตื่นตัวกับการลงประชามติมากเท่ากับการเลือกตั้ง
ด้านนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวว่า หลังจากที่ร่างรัฐธรรมนูญได้รับความเห็นชอบในการทำประชามติแล้ว จะสามารถจัดการเลือกตั้งภายในปี 2560 หรืออาจเกินจากนั้นประมาณ 1-2 เดือน ขึ้นอยู่กับการร่างกฎหมายลูกประกอบรัฐธรรมนูญ ส่วนกฎหมายลูกที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง มี 4 ฉบับ ซึ่งน่าจะใช้เวลาร่าง 4 เดือน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึงมีผลบังคับใช้ เพราะ กรธ.ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญกลับมาปรับเนื้อหาให้สอดคล้องกับคำถามประกอบร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวต้องหารือร่วมกับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า เนื้อหาของคำถามประกอบมีบทบัญญัติที่ครอบคลุมประเด็นอะไรบ้าง โดยเวลาที่ กรธ.ต้องพิจารณาคือ ภายใน 30 วัน
จากนั้นต้องส่งศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาบทบัญญัติว่า ความสอดคล้องกับคำถามประกอบการออกเสียงประชามติหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 7 วัน เมื่อผลพิจารณามีมติว่าสอดคล้อง กรธ.ต้องนำส่งให้ นายกฯ เพื่อเข้าสู่กระบวนการลงอาลักษณ์ ประมาณ 30 วันก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ แต่หากศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาว่ายังไม่สอดคล้อง กรธ.ต้องนำกลับมาแก้ไขภายใน 15 วัน และเข้าสู่กระบวนการต่อไป ดังนั้นในช่วงเวลาก่อนที่รัฐธรรมนูญฉบับถาวรประกาศใช้ องค์กรอิสระสามารถพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องไปพรางก่อนได้
‘3 ผู้นำแรงงาน’ ย้ำ ‘ร่างรัฐธรรมนูญ’ ไม่ดูแลสิทธิ-ไม่ส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน
นายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ได้กล่าวหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติว่า ถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านก็ไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตแรงงานดีขึ้นกว่าเดิม ด้วยเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีส่วนของข้อเสนอของ คสรท.เข้าไป หรือว่าให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานในการกำหนดเป็นหมวดว่าด้วยเรื่องสิทธิแรงงาน เพียงแต่นำเรื่องแรงงานไปเขียนไว้ในหมวดสังคม โดยมีเรื่องเกี่ยวกับแรงงานกว้างไว้ ซึ่งต้องมาดูเรื่องการปฏิรูปแรงงานทางสภาการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
ทั้งนี้ ทางขบวนการแรงงานได้มีข้อเสนอเข้าไปในคณะอนุกรรมาธิการศึกษาเตรียมการจัดทำร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการปฏิรูปประเทศ มีประเด็นการปฏิรูปแรงงาน ดังนี้
มาตรา 20 ให้มีการปฏิรูปด้านแรงงานเพื่อให้ผู้ใช้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้รับการคุ้มครองตามมาตรฐานระหว่างประเทศ และมีทักษะที่สามารถแข่งขันในระดับสากลได้ตามแนวทาง ดังต่อไปนี้
1.ตรากฎหมายและกำหนดกลไกเพื่อรองรับเสรีภาพของผู้ใช้แรงงาน ลูกจ้าง และนายจ้างในการสมาคม การรวมตัว และการร่วมเจรจาต่อรองให้สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ
2.สนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงาน หรือกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้ใช้แรงงาน เพื่อเป็นกองทุนสถาบันการเงินของผู้ใช้แรงงานในการส่งเสริมการออม และการพัฒนาตนเองอันจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และเป็นศูนย์ข้อมูลด้านแรงงานเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้แรงงาน และผู้จ้างงานให้สามารถเข้าถึงแรงงานได้อย่างทั่วถึงเป็นธรรม
3.ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมในศาลแรงงาน โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีประสิทธิภาพ และมีระบบให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและคดีต่อลูกจ้าง และควรมีตุลาการศาลแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะและมีบทบาทในการแสวงหาข้อเท็จจริงมากขึ้น
4.สนับสนุนให้จัดตั้งศูนย์บริการจดทะเบียนแรงงานข้ามชาติแบบศูนย์ครบวงจร ณ จุดเดียวในท้องที่ที่ติดกับบริเวณประเทศเพื่อนบ้าน
5.ส่งเสริมทักษะและการพัฒนาฝีมือแรงงานไทยทุกระดับในทุกสาขาเพื่อยกระดับรายได้ และสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานสากลได้ และให้มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมทักษะ และการพัฒนาฝีมือแรงงาน
6.ปรับแนวคิดและความเข้าใจเกี่ยวกับค่าจ้างแรงงานของประเทศให้ถูกต้อง และสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องแยกเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำกับค่าจ้างประจำปีออกจากกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนเกี่ยวกับเรื่องแนวคิด และวิธีการปฏิบัติซึ่งหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติในอดีตส่งผลกระทบต่อระบบการจ้างงาน และภาวะเศรษฐกิจของประเทศตลอดมา
7.ขจัดเงื่อนไขและกฎเกณฑ์การปฏิบัติทางด้านแรงงานที่มีลักษณะเข้าข่ายการค้ามนุษย์รวมทั้ง ปรับปรุงระบบ และกลไกการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวให้มีประสิทธิภาพ
8.ให้มีการแก้เพิ่มเติมกฎหมาย กฎ และระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานให้สอดคล้องกับประเทศไทยในสภาวการณ์ปัจจุบัน โดยให้มีการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของแรงงานนอกระบบ
ข้อเสนอเหล่านี้ ทางอนุกรรมาธิการฯ ได้เสนอต่อ สปท.เพื่อจัดทำกฎหมายลูก และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของผู้ใช้แรงงานหรือไม่ การที่ประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่านหรือไม่ คิดว่าไม่ได้ทำให้ชีวิตของผู้ใช้แรงงานดีขึ้น และตนก็ไม่ได้คลาดหวังกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ในการที่จะเข้ามาแก้ปัญหาแรงงาน เพราะแรงงานไม่มีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และที่ผ่านรัฐธรรมนูญที่มีการบังคับใช้บางฉบับเขียนกำหนดเรื่องสิทธิแรงงานไว้ค้อนข้างดี แต่ปฏิบัติไม่ได้เพราะกฎหมายลูกไม่ออกมาบังคับใช้ แต่ก็พยายามใช้ในการอ้างอิงสิทธิว่ามีเขียนกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งก็ได้แค่อ้างเท่านั้น
ประเด็นการละเมิดสิทธิแรงงานที่เกิดขึ้นของแรงงานภายใต้รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลทหาร หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ผู้ใช้แรงงาน และประชาชนก็ยังโดยกระทำตลอดภายใต้นโยบายรัฐ นายจ้าง คนรวยไม่ค่อยผิด คนจนผิด ถูกเอารัดเอาเปรียบกดขี่ข่มเหงคุกคาม แต่หากมีกฎหมายแม่ (กฎหมายรัฐธรรมนูญ)ดี การออกกฎหมายลูกมาดูแลก็ต้องดีไปด้วย แต่ฉบับนี้เขียนไว้แบบกว้าง ไว้แบบสอดแทรกไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงไม่คลาดหวังแต่มองไปในส่วนของการปฏิรูปแรงงานมากกว่า ในการกำหนดกติกามาดูแลสิทธิแรงงาน
นายเซีย จำปาทอง สหพันธ์แรงงานสิ่งทอการตัดเย็บเสื้อผ้าแห่งประเทศไทย (สพท.) กล่าวว่า หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ และจะออกมาบังคับใช้ในเร็วนี้นั้น ในความเห็นคิดว่าคงไม่ได้ช่วยให้มีการดูแลด้านสิทธิแรงงาน เนื่องจากคนที่กุมอำนาจรัฐบาลยังคงเป็นทหาร ดูจากกรณีวุฒิสภา การได้มาซึ่งคนที่จะมาเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเท่าที่มองเห็นถือว่า เป็นกลไกโครงสร้างประเทศที่ไม่ได้เปลี่ยนจากเดิม คนของใครก็ต้องเลือกคนของตนเองทั้งนั้น จึงไม่อาจที่จะเสนออะไรให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงและมาดูแลสิทธิแรงงาน สิทธิประชาชนได้ เช่นกรณีของคนงานที่มีการชุมนุมก็ถูกคุกคาม ห้ามปราม ปราบด้วยมาตรา 44 ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปควบคุม โดยอ้างว่าดูแลบ้าง เรียกเข้าพูดคุยบ้าง แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่นายทุนเอาเปรียบ ปรามแต่คนงานที่ทุกข์ยากอยู่เป็นต้น
เข้าใจอยู่ว่าแรงงานก็มีกฎหมายเฉพาะในการที่จะดูแลด้านสิทธิ ทั้งกฎหมายประกันสังคม กฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ เป็นต้น แต่ประเด็นกติกาใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่อย่างเรื่องการชุมนุมของแรงงาน แม้ว่าจะอยู่ในความสงบก็ตามแต่ก็มีกฎหมายที่มาละเมิดสิทธิที่ใช้ตามกฎหมายแรงงานหรือไม่
ประเด็นต่อมารัฐบาลคสช.ไม่ควรลืมคะแนนคนที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซึ่งมีอยู่มากพอสมควร และยังมีคนที่ไม่ได้ออกไปใช้เสียงอีกจำนวนมาก ซึ่งมีนัยทางการเมืองหรือไม่ การที่ประชาชนคิดต่างไม่สามารถแสดงความคิดเห็นได้เป็นปัญหาใหญ่
อีกประเด็นคือการประชาสัมพันธ์น้อยมากในการที่จะสร้างความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญ และการสร้างแรงจูงใจให้ไปใช้สิทธิลงประชามติไม่มี แม้ว่าการลงประชามติเป็นวันอาทิตย์ก็ตามแต่คนงานส่วนหนึ่งไม่สามารถไปใช้สิทธิได้เพราะว่าบ้านอยู่ต่างจังหวัดที่ไปกลับอาจใช้มากกว่าวันเดียวทำให้ไม่ได้ใช้สิทธิ เป็นต้น
นายสาวิทย์ แก้วหวาน เลขาธิการสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.) กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติว่า รัฐธรรมนูญถือเป็นกฎหมายสูงสุดที่เป็นเครื่องมือให้รัฐบาลจัดสรรผลประโยชน์ให้กับประชาชนทุกคน ซึ่งก็จะเห็นว่าหากเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่มีส่วนร่วมก็จะไม่มีอะไรที่เกี่ยวกับแรงงาน เพราะคนร่างไม่ใช่แรงงาน ก็อาจกำหนดกว้าง ๆไว้ในส่วนหนึ่งของรัฐธรรมนูญ เพื่อกำหนดให้ออกเป็นกฎหมายลูก แต่ว่ากฎหมายหากแม่ไม่ดีลูกก็อาจมีปัญหา ซึ่งรัฐธรรมนูญที่กำหนดเรื่องสิทธิแรงงานที่ดี ๆ ก็มี เช่น กฎหมายรัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ปรากฏว่ารัฐบาลไม่มีการออกกฎหมายลูกเพื่อบังคับใช้กฎหมายได้จริง รัฐธรรมนูญดีแต่ใช้ไม่ได้ สะท้อนให้เห็นว่า ใครเขียนก็คงต้องเพื่อคนนั้น แล้วผู้ใช้แรงงานควรทำอย่างไร
1.ต้องสร้างความเปลี่ยนแปลงซึ่งจะเกิดได้ต่อเมื่อแรงงานต้องมีพลัง 2. แม้ว่ารัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่เมื่อออกมาบังคับใช้ในฐานะกฎหมายแม่ที่มีผลกับประชาชนทุกคน รวมถึงแรงงานด้วย ขบวนการแรงงานต้องมีความชัดเจนในทางเป้าหมายหลักว่าคืออะไร
ต้องเข้าใจว่า ชนชั้นปกครองกลุ่มที่บริหารอยู่คือกลุ่มทุน ไม่ว่าจะเป็นเผด็จการทหาร หรือว่านายทุนที่เป็นนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง เขาไม่ใช่ชนชั้นแรงงาน การที่จะเขียนกำหนดให้แรงงานมีสิทธิเสรีภาพในการรวมตัวเจรจาต่อรองคงไม่มี ยังคงมีการละเมิดสิทธิและจำกัดสิทธิของแรงงานอยู่ ทั้งที่แรงงานเป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศ
ฉะนั้นแรงงานทุกกลุ่มต้องรวมกันสร้างพลังอำนาจ และต้องคำถึงถึงชนชั้นของตนเอง อย่ามองกันแบบแปลกแยก เพราะนายทุนเขารวมกันได้ด้วยผลประโยชน์ขบวนการแรงงานต้องคิดถึงการสร้างพลังทางชนชั้น ต้องมีการพูดคุยกันเพื่อให้ไปด้วยกันคิดต่างได้แต่ไม่ใช่ศัตรู คำนึงถึงชนชั้นไว้
อีกไม่นานจะเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติออกมา ขบวนการแรงงานจะไปทิศทางใดในฐานะคนส่วนใหญ่ของประเทศ ต้องคิดว่า จะทำอย่างไร เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ เพราะเห็นกันแล้วว่า รัฐธรรมนูญไม่ได้มีกำหนดอะไรให้เป็นรูปธรรมด้านแรงงาน ซึ่งแรงงานต้องเข้าใจบริบทเศรษฐกิจ การเมือง และอำนาจ จะเปลี่ยนแปลงให้มีการดูแลสิทธิแรงงานก็ต้องเข้าไป ซึ่งตอนนี้ก็ดูเรื่องกฎหมายลูกในรัฐธรรมนูญว่าตรงไหนที่เกี่ยวกับแรงงานบ้างต้องเสนอ
ขบวนการแรงงานจะต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับการเมืองหรือไม่ต้องมานั่งคุยกัน โดยคำนึงถึงและชัดเจนทางชนชั้น ต้องแก้ 3 ด้าน คือเศรษฐกิจที่เป็นธรรม การเมืองและอำนาจแบบมีส่วนร่วม ต้องเข้าใจและทำให้เห็นว่า ชนชั้นแรงงานคือคนส่วนใหญ่ของประเทศ ที่ผู้ปกครองต้องให้ความสำคัญ และดูแล