ไทยร่วมรำลึกเหตุกราดยิงไนต์คลับ LGBT แอมเนสตี้ฯ ร้องสหรัฐฯ ประกันความปลอดภัย ปชช.

ไทยร่วมรำลึกเหตุกราดยิงไนต์คลับ LGBT แอมเนสตี้ฯ ร้องสหรัฐฯ ประกันความปลอดภัย ปชช.

13 มิ.ย. 2559 เมื่อเวลาประมาณ 18.00 น. ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย นักกิจกรรมด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศรวมตัวร่วมจุดเทียนไว้อาลัยต่อผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์กราดยิงที่พัลส์คลับ เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา เมื่อเช้ามืดวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้เสียชีวิต 50 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 53 คน โดยพัลส์คลับ เป็นคลับคนรักเพศเดียวกันที่มีคำโฆษณาระบุไว้ว่า “บาร์เกย์ที่ร้อนแรงที่สุดในออร์แลนโด” และเหตุดังกล่าวนับเป็นเหตุกราดยิงที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ

20161406025428.jpg

ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/events/1632979910355030/

มติชนออนไลน์รายงานว่า รายงานว่า ที่หน้าสถานทูตมีการแขวนธงสีรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ LGBT โดยผู้ร่วมงานได้วางดอกไม้และข้อความไว้อาลัย 

จากนั้น นายกลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐออกมาร่วมพูดคุยกับผู้จัดกิจกรรม โดยนายกลินกล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเหตุที่น่าเศร้าใจ ตนรู้สึกเศร้าสลดที่เกิดการกราดยิงและมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก แปลกใจที่คนไทยให้ความสำคัญและจัดงานนี้ขึ้นมา จึงรู้สึกซาบซึ้งและขอขอบคุณทุกท่าน ขอร่วมกันแสดงไว้อาลัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

ต่อมา นายกลินจึงจุดเทียนและร่วมไว้อาลัยบริเวณหน้าธงสีรุ้ง ประชาชนจึงทยอยเดินทางมาวางดอกไม้ จุดเทียนและเล่นดนตรีรำลึก

นายไพศาล ลิขิตปรีชากุล กรรมการมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า คนในสังคมไทยไม่ได้คิดถึงการใช้ความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทั้งที่จริงแล้วมีการใช้ความรุนแรงเรื่อยมา อย่างการรังแกกันในโรงเรียน การพูดเสียดสี ใช้คำด่าว่า ใช้ความรุนแรงต่อผู้มีอัตลักษณ์หลากหลาย สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสหรัฐส่วนหนึ่งเกิดจากการเข้าถึงอาวุธปืน 

แม้ในไทยสามารถเข้าถึงอาวุธปืนได้ยากกว่าแต่ก็ยังมีการมองเรื่องความแตกต่างทางอัตลักษณ์ จิตแพทย์จำนวนมากยังมองว่าการเป็นกะเทยเป็นโรคจิต หลักสูตรสุขศึกษาในโรงเรียนก็บอกว่าคนรักเพศเดียวกันเป็นคนเบี่ยงเบนทางเพศ ผิดปกติ มีการเลือกปฏิบัติเกิดขึ้นตลอดมาในสังคมไทย

 

นักกิจกรรมย้ำ อย่าใช้เหตุการณ์นี้เป็นข้ออ้างโจมตีกลุ่มอิสลาม

ด้าน BBC ไทย รายงานบทสัมภาษณ์ของ พิมพ์สิริ เพชรน้ำรอบ นักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน ผู้ริเริ่มกิจกรรม กล่าวว่า การจัดกิจกรรมครั้งนี้ก็เพื่อแสดงความสมานฉันท์ต่อคนที่เป็นเหยื่อของเหตุการณ์ แต่ขอย้ำว่าไม่ต้องการให้เหตุการณ์ครั้งนี้ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการโจมตีกลุ่มอิสลามหรือสร้างความเกลียดชังต่อชาวมุสลิม

“ทั้งสองกลุ่ม (กลุ่มคนรักเพศเดียวกันและผู้นับถืออิสลาม) เป็นคนกลุ่มน้อยเหมือนกัน ก็ย่อมมีความกดดัน หรือสิ่งที่เป็นการกดทับทางสังคม ไม่สามารถสรุปเหมารวมว่าอิสลามจะเป็นกลุ่มสุดโต่ง หรือหัวรุนแรงไปเสียทั้งหมด แม้ว่ากลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงจะมีอยู่จริง แต่ไม่ได้หมายความว่ามุสลิมทุกคนจะเชื่อเรื่องการใช้ความรุนแรงทั้งหมด”

พิมพ์สิริกล่าวด้วยว่า กรณีการใช้ความรุนแรงต่อคนรักเพศเดียวกัน หรือผู้มีความหลากหลายทางเพศอื่น ๆ อาจจะไม่ชัดเจนนัก ส่วนหนึ่งเพราะความรุนแรงทางกายภาพในไทยไม่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบ หรืออาจจะไม่มีจริง ๆ ก็เป็นได้ แต่เท่าที่เห็นด้วยตาเปล่าอาจจะไม่รุนแรงเหมือนบางประเทศ แต่เมื่อก้าวไปถึงพื้นที่ที่เป็นการรับรองสิทธิอย่างเป็นทางการ เช่น การออกกฎหมาย การรับรองสิทธิการแต่งงาน การรับรองสิทธิในการใช้คำนำหน้าชื่อ ก็ยังคงมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้และตีความ โดยเฉพาะมาตรา 17 ของ พ.ร.บ. ความเสมอภาคทางเพศที่บัญญัติให้ละเว้นการบังคับใช้ในกรณีที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี

ด้านความเคลื่อนไหวจากสถานทูตแคนาดาประจำประเทศไทย วันนี้ได้เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กว่าสถานทูตประกาศลดธงสีรุ้งลงครึ่งเสาในวันนี้ เพื่อแสดงความเสียใจและแสดงถึงการสนับสนุนครอบครัว รวมถึงเพื่อนของเหยื่อจากการกราดยิงที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา โดยสถานทูตแคนาดาขอแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับประชาคมผู้มีความหลากหลายทางเพศอันสืบเนื่องจากการกระทำซึ่งไร้เหตุผลนี้

ขณะที่สถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ประกาศจุดยืนเคียงข้างชาวเมืองออร์แลนโด รวมถึงแสดงความเสียใจต่อเหยื่อ ครอบครัวของเหยื่อ และประชาชนในสหรัฐฯ ทั้งยังประณามการก่อเหตุร้ายแรงต่อผู้บริสุทธิ์ พร้อมย้ำว่าความหวาดกลัวและความเกลียดชังกลุ่มคนรักเพศเดียวกันจะต้องพ่ายแพ้ไป และสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศคือสิทธิมนุษยชนเช่นกัน

 

20161406025949.png

แอมเนสตี้ฯ ร้องรัฐบาลสหรัฐฯ รับประกันความปลอดภัยประชาชน

ส่วนแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา แถลงหลังเหตุกราดยิงในไนต์คลับสำหรับชาว LGBT ที่เมืองออร์แลนโด มลรัฐฟลอริดา จนมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 50 คน บาดเจ็บอย่างน้อย 53 คน และกลายเป็นเหตุกราดยิงที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ สมัยใหม่ โดยเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ปกป้องคุ้มครองประชาชนจากเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับปืน

จามิรา เบอร์ลีย์ นักรณรงค์อาวุโส แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “เหตุกราดยิงที่ออร์แลนโดเมื่อคืนนี้แสดงให้เห็นถึงการเหยียดหยามชีวิตมนุษย์อย่างร้ายแรงที่สุด เราขอส่งแรงใจไปยังเหยื่อในเหตุการณ์ดังกล่าวและชาวออร์แลนโด แต่แรงใจจำเป็นต้องถูกหนุนด้วยการลงมือทำจริงเพื่อปกป้องผู้คนจากเหตุรุนแรงเช่นนี้”

แอมเนสตี้สหรัฐอเมริการะบุด้วยว่าในฐานะที่เป็นประเทศภาคีของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (ICCPR) และ อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติทางเชื้อชาติในทุกรูปแบบ (ICERD) รัฐบาลสหรัฐฯ มีพันธกรณีที่จะต้องปกป้องประชาชนจากเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับปืน

“รัฐบาลสหรัฐฯ ควรปฏิบัติตามพันธกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศและระบุให้เหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับปืนเป็นวิกฤตทางสิทธิมนุษยชน มันเป็นเรื่องสำคัญที่จะต้องปฏิรูปแนวทางของรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น และกฎหมายท้องถิ่นในปัจจุบัน ให้มีการรับประกันความปลอดภัยและความมั่นคงของคนทุกคน ไม่ควรมีใครตกอยู่ในอันตรายเพียงเพราะเดินบนถนน เดินทางไปโรงเรียน หรือกำลังเต้นอยู่ในไนต์คลับ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ