โวยทหารคุกคาม ตามติด ‘นักวิชาการ-นศ.’ เก็บข้อมูลวิจัยในพื้นที่โปแตชอุดรฯ

โวยทหารคุกคาม ตามติด ‘นักวิชาการ-นศ.’ เก็บข้อมูลวิจัยในพื้นที่โปแตชอุดรฯ

อาจารย์ ม.ราชภัฎอุดรธานีร่วม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ สำรวจข้อมูลเศรษฐกิจชุมชน ปัญหาปากท้อง และการมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อการพัฒนาของชาวบ้านในพื้นที่โปแตชอุดรฯ หวังสะท้อนข้อเท็จจริงทางสังคมในมุมงานวิชาการ และให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่รู้จักชุมชน ย้ำไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง แต่ถูกทหารติดตามจับตาอยู่ตลอดเวลา ชี้เป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการ

20151809212707.jpg

รายงานโดย: ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.)

18 ก.ย. 2558 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2558 เวลาประมาณ 09.00 น.ที่บ้านโนนสมบูรณ์ ต.ห้วยสามพาด อ.ประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี โครงการวิจัยความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะ พ.ศ.2557 – 2558 พื้นที่จังหวัดอุดรธานี โดยสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ร่วมกับ สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ลงพื้นที่เพื่อสำรวจข้อมูลพื้นฐานเศรษฐกิจชุมชนและการมีส่วนร่วมภายในชุมชน โดยมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีร่วมลงพื้นที่สำรวจข้อมูลชุมชนประมาณ 40 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ระหว่างการลงชุมชนเก็บข้อมูล ที่มีการแบ่งการเก็บข้อมูลออกเป็น 2 หมู่ คือ บ้านโนนสมบรูณ์ หมู่ที่ 3 และ บ้านโนนสมบูรณ์ หมู่ที่ 12 ได้มีทหารโดยอ้างว่ามาจากมณฑลทหารบกที่ 24 (มทบ.24) จำนวน 3 นาย ติดตามประกบกลุ่มนักศึกษาและทีมอาจารย์ลงมายังพื้นที่ โดยการถ่ายภาพช่วงระหว่างการเก็บข้อมูลของนักศึกษากับชาวบ้าน เข้าไปพูดคุยสอบถาม พร้อมกับมีการขอถ่ายภาพบัตรประจำตัวประชาชนของนักศึกษาและอาจารย์ด้วย

20151809212721.jpg

หลังจากเก็บข้อมูลเสร็จในช่วงเช้าทหารทั้ง 3 นาย ยังได้ติดตามไปเพื่อสอบถามข้อมูลและเนื้อหาในแบบสอบถามที่ใช้สำหรับสัมภาษณ์ชาวบ้าน กับอาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานีที่นำนักศึกษาลงมายังพื้นที่ พร้อมบอกว่าหากไม่ให้ข้อมูลที่ชัดเจนจะรายงานเรื่องการลงพื้นที่ครั้งนี้ให้กับผู้บังคับบัญชาของอาจารย์ที่พานักศึกษาลงพื้นที่ทราบ

สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี อาจารย์ที่พานักศึกษาลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า การลงมาพื้นที่ของทหารในครั้งนี้ไม่ใช่หน้าที่ของทหาร ไม่ใช่การคืนความสุข แต่เป็นการคุกคามชาวบ้านประชาชนให้รู้สึกอึดอัดกับการปฏิบัติหน้าที่ เพราะถูกจับตามองต่อการใช้ชีวิตอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่คำขอประทานบัตรโครงการเหมืองแร่โปแตช จ.อุดรธานี ที่ต่อสู้ในพื้นที่มากว่า 15 ปี ที่ไม่สามารถเคลื่อนไหวแสดงออกต่อปัญหาความเดือดร้อนของตนเองได้ เพราะทหารอ้างว่าจะกระทบต่อความมั่นคง 

“มันไม่ใช่หน้าที่ของทหาร แต่คือการคุกคามเสรีภาพชาวบ้านขั้นร้ายแรง ทหารซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รัฐทำตัวเป็นกองกำลังปกป้องผลประโยชน์ของนายทุน พยายามมีส่วนในการผลักดันโครงการเหมืองแร่โปแตชอย่างเร่งรีบ มองคนที่อยู่ตรงข้ามกับนายทุน คือ ชาวบ้าน นักศึกษา นักวิชาการ ที่เข้ามาหนุนเสริมชุมชนเป็นศัตรู ถือเป็นการคุกคามเสรีภาพขั้นร้ายแรง” สันติภาพกล่าว

20151809212733.jpg

สันติภาพยังกล่าวต่อว่า การที่มีทหารติดตามจับตาอยู่ตลอดเวลา ถือว่าเป็นการคุกคามเสรีภาพทางวิชาการอย่างมาก เนื้อหาข้อมูลในวันนี้เป็นเรื่องเศรษฐกิจชุมชนปัญหาปากท้องชาวบ้านและการมีส่วนร่วมตัดสินใจต่อการพัฒนาของคนในชุมชน เพื่อต้องการสะท้อนให้เห็นข้อเท็จจริงทางสังคมในแง่มุมงานวิชาการ และให้นักศึกษาได้ลงพื้นที่รู้จักชุมชนและปัญหาชาวบ้าน ไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแต่อย่างใด

“ข้อมูลต่างๆ ที่สำรวจและสัมภาษณ์จากชาวบ้านวันนี้ จะถูกโยนกลับมาให้ชุมชนได้ตรวจสอบอีกรอบเพื่อนำสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตตนเอง ไม่ได้ไปกระทบกับความมั่นคงหรือบริษัทเหมืองแร่เลย แล้วมันมีความผิดหรือเสียหายตรงไหน ทำไมต้องมาคุกคาม คุกคามแม้กระทั่งนักศึกษาที่ต้องการมาเรียนรู้นอกห้องเรียนเพื่อทำความเข้าใจปัญหาชุมชน” อ.สันติภาพกล่าว

ด้าน ฐากูร สรวงศ์สิริ นักวิจัยโครงการวิจัยความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะ จ.อุดรธานี กล่าวว่า การทำงานของโครงการวิจัยความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะมีการขับเคลื่อนกันทั่วประเทศ โดยสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีหลากหลายประเด็นและหลากหลายพื้นที่ ที่ทำงานกับกลุ่มประชาชนผู้ด้อยโอกาส และเสียเปรียบในสังคมมานานกว่า 5 ปี ในระยะแรกข้อมูลจากชุมชน สามารถนำไปสู่การสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น มาในระยะที่ 2 มีแผนการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้สะดวกสบายขึ้นมากกว่าเดิม ในกรณีพื้นที่ของ จ.อุดรธานี ความเป็นธรรมที่จะเกิดขึ้นได้ ต้องมองชาวบ้านไม่เป็นอื่นจากความคิดของเรา ฟังเสียงพวกเขาอย่างเป็นมิตร

“ในการทำความเข้าใจปัญหาของชาวบ้านนั้น ต้องใส่ใจในมิติทางประวัติศาสตร์การต่อสู้ของชาวบ้านด้วย เพราะนั่นจะทำให้พวกท่าน (ทหาร) เข้าใจเงื่อนไขของการลุกขึ้นปกป้องแผ่นดินเกิดของพวกเขาเหล่านั้น อย่างกระจ่างชัดยิ่งขึ้น” นายฐากูรกล่าว

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ