โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้: เปิดปาฐกถาอิสลามศึกษานานาชาติ อิสลามในโลกที่เปลี่ยนแปลง

โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้: เปิดปาฐกถาอิสลามศึกษานานาชาติ อิสลามในโลกที่เปลี่ยนแปลง

รายงานโดย: โรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้

ปาฐกถาเปิดการสัมมนาอิสลามศึกษานานาชาติเรื่องคุณค่าของอิสลามในโลกที่เปลี่ยนแปลง เมื่อวันที่ 23 มี.ค. 2558 อุมัร อุบัยด์ ย้ำว่าคุณค่าทางจริยธรรมและอารยธรรมอิสลามนั้นมีเป้าหมายเพื่อนำพามรดกของอารยธรรมก่อนๆ ในประวัติศาสตร์ไปสู่ยุคสมัยแห่งความสมบูรณ์ ขณะที่ ดร.มูฮัมหมัด กามาล ฮัสซัน กล่าวถึงอิสลามสายกลางคือวิถีและแนวทางใหม่ของมุสลิมอาเซียนที่จะนำพาภูมิภาคนี้สู่ความสันติสุขและสันติภาพในอนาคตอันใกล้นี้

 

20152403111732.jpg

ศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มอ.ชี้ค่านิยมอิสลามสายกลางสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม

ศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล อธิการบดี มอ.กล่าวรายงานเปิดการสัมมนานาชาติว่า เป็นกิจกรรมเพื่อให้เกิดการอภิปรายในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับค่านิยมอิสลาม และกลั่นกรองเอาประสบการณ์การนำค่านิยมเหล่านี้ไปใช้ในชุมชนมุสลิมหรือไม่ใช่มุสลิมที่แตกต่างกันทั่วโลก และหวังว่าสถาบันการศึกษาและผู้รู้ที่มาร่วมการสัมมนาจะใช้ความรู้และประสบการณ์ที่ตนมีอยู่ในการส่งเสริมคุณค่าดังกล่าว เป็นผลให้ความสงบสุขที่ยั่งยืนและความสามัคคีในชุมชน

การสัมมนาครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสันติภาพและความสงบสุขในชุมชนที่หลากหลาย พร้อมทั้งหลักกฎหมายอิสลามด้านดุลยภาพ ความเป็นเลิศและความพอดี (สายกลาง) ในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง และสิทธิมนุษยชนกลุ่มน้อยในสังคม  ทั้งหมดนี้ล้วนนำไปสู่การความร่วมมือกันอย่างดีและจริงจังระหว่างรัฐบาล สถาบันการศึกษา ปัญญาชน องค์กรการกุศล นักการศึกษา นักวิทยาศาสตร์และนักคิดในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในโลก

การสัมมนาวิชาการในครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อนำเสนอความสำคัญของค่านิยมอิสลามและวิธีการประยุกต์ใช้แนวคิดสู่การสร้างสันติภาพ ความสมานฉันท์และค่านิยมร่วมทางจริยธรรมของอารยธรรมที่หลากหลาย อีกทั้งเพื่อศึกษาคุณค่าลักษณะของความเป็นดุลยภาพ ความเป็นอิสลามสายกลางเพื่อมีบทบาทในการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรม ค้นหาสิทธิของชนกลุ่มน้อย และแบ่งปันประสบการณ์การอยู่ร่วมกันของผู้คนในพื้นที่ต่างๆทั่วโลก

 

20152403111921.jpg

อุมัร อุบัยด์ หัสนะฮฺ “อารยธรรมอิสลามจะนำพามรดกของมนุษยชาติสู่ยุคสมัยแห่งความสมบูรณ์”

อุมัร อุบัยด์ หัสนะฮฺ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและอิสลามศึกษา กระทรวงสาธารณะสมบัติและกิจการอิสลาม ประเทศกาตาร์ และเป็นสมาชิกสภามหาวิทยาลัยอัลฟาฏอนี ได้แสดงปาฐกถาเรื่อง คุณค่าทางจริยธรรมตามแสงทางนำแห่งอารยธรรมอิสลามโดยกล่าวว่าคุณค่าแห่งอารยธรรมอิสลามนั้นหมายถึงอัตลักษณ์อันชัดเจนของอิสลามและบทบาทต่อการสร้างความมุ่งมั่น ความสมบูรณ์ ความเข้าใจและการเอื้อประโยชน์แก่อารยธรรมอื่นๆ

อุมัร อุบัยด์ กล่าวว่า คุณค่าทางจริยธรรมและอารยธรรมอิสลามนั้นไม่ได้มาเพื่อปฏิเสธหรือยกเลิกบทบาทและคุณความดีของอารยธรรมก่อนๆ  แต่ทว่าอิสลามเข้ามาเป็นส่วนร่วมในการสร้างความสมบูรณ์ให้แก่อารยธรรมของมนุษยชาติ ดังนั้นเป้าหมายของการแต่งตั้งศาสนทูตองค์สุดท้ายนั่นคือการสร้างความสมบูรณ์ การเรียนรู้ การร่วมมือของมนุษยชาติเพื่อนำพามรดกของอารยธรรมก่อนๆ ในประวัติศาสตร์ไปสู่ยุคสมัยแห่งความสมบูรณ์

ในด้านคุณค่าแห่งการเปิดรับผู้อื่นนั้นคุณค่าของอิสลามปราศจากการปิดกั้นแต่มีลักษณะแห่งการขับเคลื่อน เคลื่อนไหวอันทำให้เกิดพลังและเปิดกว้างนับเป็นระยะเวลาถึง 15 ศตวรรษแล้วและได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีอย่างต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่แรกที่อิสลามได้สนทนากับคนทั้งโลกและอิสลามเองถูกประทานลงมาแก่มวลมนุษย์โดยไม่จำกัดเพศ สีผิว เชื้อชาติ ศาสนาและพรมแดน อีกทั้งคุณค่าของอารยธรรมอิสลามมิได้เป็นตัวขับเคลื่อนแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือแก่ชนชาติใดหรือเผ่าพันธุ์ใดเฉพาะแต่เป็นผลผลิตร่วมของมวลมนุษยชาติทุกกลุ่มชน ทุกเผ่าพันธุ์ทุกสีผิวและทุกพื้นที่

อุมัร อุบัยด์ ยังได้กล่าวถึงการให้อิสรภาพในการเลือกและการมีเมตตาธรรมต่อผู้อื่นอันเป็นจริยธรรมอิสลามว่าการให้อิสรภาพถือเป็นคุณค่าทางจริยธรรมที่ถูกผูกมัดกับผลบุญการตอบแทนและการลงโทษจากพระเจ้า โดยอิสลามให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง ถือเป็นหลักจริยธรรมทางสังคมที่ทำให้ชาวยิวยังรักษาความเป็นชาวยิวของเขาโดยอาศัยอยู่ท่ามกลางสังคมมุสลิม ชาวคริสเตียนยังคงมีอิสระในการทำอิบาดะห์ของพวกเขาท่ามกลางสังคมมุสลิม ด้วยเหตุนี้จึงมีคนต่างศาสนิกจำนวนมากเลือกที่จะมาอยู่ท่ามกลางสังคมมุสลิม ภายใต้การดูแลของมุสลิมมากกว่าที่จะไปอยู่ในสังคมที่มีการกดขี่แม้ว่าสังคมนั้นจะเป็นผู้มีหลักศรัทธาเดียวกัน

ตอบคำถามกรณีไอเอสและบทบาทของปาตานี

ในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน อุมัร อุบัยด์ ได้กล่าวขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้มุสลิมในประเทศไทยปฏิบัติคำสอนศาสนาอย่างอิสระเสรี และขอสื่อสารไปยังพี่น้องมุสลิมในประเทศไทยว่า ท่านทั้งหลายไม่ใช่ประชาชนชายขอบ แต่มีความสำคัญเพราะเป็นการต่อยอดของบรรพชนอิสลามมาตั้งแต่ 14 ศตวรรษที่ผ่านมา และกล่าวชื่นชมมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่ได้จัดสัมมนานานาชาติครั้งที่ 3 ในครั้งนี้ ซึ่งบทบาทในการสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากสร้างคุณค่าทางอารยธรรมอันสูงส่งแก่มนุษย์แล้ว ยังเป็นการกลับมาของบทบาทปาตานีอีกครั้ง ที่ดินแดนแห่งนี้เคยเป็นแหล่งอารยธรรมที่รุ่งเรืองในอดีต โดยเฉพาะ การเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาอิสลามในภูมิภาค

ส่วนคำถามกรณี ไอเอสนั้นท่านตอบว่าการกำเนิดของกลุ่มนี้เป็นการสะท้อนถึงความไม่เข้าใจต่ออิสลามที่สมบูรณ์ เป็นภูมิปัญญาที่บิดเบี้ยวจากคำสอนของอิสลามอันเที่ยงตรง เป็นผลของการขาดการซึมซับแนวทางของนบีที่ถูกต้อง สาเหตุของความสุดโต่งนี้ เพราะเป็นปฏิกิริยาโต้กลับของความสุดโต่งเช่นกัน โลกปัจจุบันเต็มไปด้วยอธรรม การยึดครอง การคลั่งลัทธิ และขาดเสรีภาพ นี่คือสาเหตุหลักของภูเขาไฟระเบิดลูกนี้ และย้ำว่าการก่ออาชญากรรมไม่ใช่เป็นแนวทางอิสลาม และอิสลามไม่เคยถูกสร้างบนฐานของการก่ออาชญากรรม

อุมัร อุบัยด์ ยังบอกอีกว่าไอเอสไม่ใช่เป็นผลงานของชาวมุสลิมเพียงฝ่ายเดียว แต่ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มที่ไม่หวังดีต่ออิสลาม ที่พยายามสร้างภาพแห่งความหวาดกลัวต่ออิสลาม พวกเขาพยายามให้ผู้คนวิ่งหนีออกจากอิสลาม หลังจากอิสลามเคยวิ่งไปหาผู้คนมาแล้ว มุสลิมส่วนหนึ่งอาจตกเป็นเครื่องมือของแผนร้ายนี้

 

20152403112005.jpg

ดร.มูฮัมหมัด กามาล ฮัสซัน “มุสลิมอาเซียนจะต้องนำพาภูมิภาคนี้สู่สันติภาพ”

ดร.มูฮัมหมัด กามาล ฮัสซัน จากมหาวิทยาลัยอิสลามนานาชาติมาเลเซีย ได้ปาฐกถาเรื่อง ก้าวสู่อนาคตอันสันติสุขแห่งประชาคมอาเซียนในยุคสมัยแห่งความสับสนอลหม่าน: ความจำเป็นในการสร้างหลักวะสะฏียะฮ์เพื่อการขับเคลื่อนอารยธรรมอิสลามสู่ภูมิภาค (TOWARDS A PEACEFUL FUTURE OF ASEAN IN AN ERA OF TURBULENCE:  THE NEED TO CONSTRUCT A WASATIYYAH-DRIVEN ISLAMIC CIVILISATION ACROSS THE REGION) โดยตั้งความหวังไว้ว่าการก่อเกิดของประชาคมอาเซียนในเวลาอันใกล้นี้จะเป็นโอกาสสำคัญของสังคมมุสลิมที่จะแสดงบทบาทของความเป็นประชาชาติที่เป็นที่โปรดปรานของพระเจ้าทั้งในด้านสังคม วัฒนธรรมที่จะแสดงให้เห็นว่าสังคมมุสลิมเป็นตัวแทนแห่งสังคมสันติภาพและได้รับการยอมรับ ได้รับความร่วมมือจากชุมชนที่ไม่ใช่มุสลิม

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้สังคมมุสลิมอยู่ในสภาพที่สูงส่งและได้รับการยอมรับ สังคมที่มีมุสลิมเป็นชนส่วนใหญ่โดยเฉพาะอินโดนีเซีย มาเลเซียและบรูไนจะต้องมีคุณลักษณะที่จำเป็น คือ มีวิถีชีวิตที่สมดุลระหว่างความต้องการทางด้านจิตวิญญาณและความจำเป็นทางด้านวัตถุ สังคมมุสลิมจะต้องมีพันธะกรณีที่ต้องสร้างสันติภาพในชุมชนที่มีความหลากหลายทางศาสนาเชื้อชาติ ผู้นำทางการเมืองมุสลิมจะต้องอยู่ในหลักนิติธรรม ส่งเสริมความยุติธรรมทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ เคารพในพหุวัฒนธรรมและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จะต้องบำรุงฟูมฟักมุสลิมเจเนอเรชั่นใหม่ที่เกิดขึ้นที่มีแนวคิดทางการเมืองและมีความเป็นผู้นำด้านเศรษฐกิจที่ซึมวับวัฒนธรรมและคุณธรรมจริยธรรมที่แตกต่าง อีกทั้งจะต้องกระจายความเห็นอกเห็นใจโดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางวัฒนธรรมหรือศาสนา รวมถึงสังคมมุสลิมจะต้องสร้างความตระหนักในการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ในด้านภูมิศาสตร์แล้วอาเซียนเป็นภูมิภาคที่มีความหลากหลายของรัฐชาติในขณะเดียวกันก็มีรัฐอิสลามอยู่หลายชาติเช่นกัน นับเป็นความอับโชคเมื่อกระแสหวาดกลัวอิสลามหรือ Islamophobia เกิดขึ้นในระดับโลกรวมกับกระแสอิสลามหัวรุนแรง เกิดมีกองกำลังติดอาวุธของอิสลามในระหว่างสองทศวรรษที่ผ่านมาส่งผลให้เกิดความขัดแย้งระหว่างศาสนาขึ้นอย่างชัดเจนในกรณีของเมียนมาร์

อย่างไรก็ตาม ดร.มูฮัมหมัด กามาล ฮัสซัน ได้กล่าวว่าจากการเกิดขึ้นของกระแสฟื้นฟูอารยธรรมอิสลามโดยเฉพาะแนวทางอิสลามสายกลางในภูมิภาคนี้ได้ก่อให้เกิดแนวโน้มใหม่ๆ ที่ส่งผลให้มีการปรับตัวและก่อเกิดรูปร่างใหม่ของสังคมเศรษฐกิจและภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรมใหม่ในสังคมอาเซียนโดยเป็นแนวโน้มใหญ่ 6 ประการคือ การเกิดพื้นที่เศรษฐกิจเติบโตแห่งใหม่ เกิดระบบการเมืองประชาธิปไตยที่มีนักการเมืองมุสลิมเข้มแข็งอย่างเช่นอินโดนีเซียและที่อื่นในภูมิภาค เกิดแนวคิดทางศาสนาที่สุดโต่งในหลายประเทศและเห็นได้ชัดในกรณีเมียนมาร์ เกิดสื่อทางเลือกและสื่อสังคมออนไลน์ระดับโลกอันเป็นผลของเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร เกิดกระแสความหวาดระแวงต่ออัตลักษณ์อิสลามในระดับนานาชาติโดยเฉพาะในยุโรปจนเกิดการโฆษณาชวนเชื่อและกระแสหวาดกลัวอิสลาม และสุดท้ายเกิดประชาคมอาเซียนที่กลุ่มประเทศทั้งหมดล้วนมีวิสัยทัศน์เดียวคือการเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาประเทศ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ