โพลล์ ชาวสวนยางกับนโยบายแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

โพลล์ ชาวสวนยางกับนโยบายแก้ปัญหาราคายางตกต่ำ

ปัญหาราคายางพาราตกต่ำ เกิดจากปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งยากต่อการควบคุม หรือกำหนดนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหา

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและทรัพยากรทางการเกษตร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ หรือแม่โจ้โพลล์ ได้ทำการสำรวจความคิดเห็นในหัวข้อ “มาตรการยางพาราไทย หลังราคาตกต่ำ” ซึ่งสำรวจความคิดเห็นของเกษตรกรชาวสวนยางทั่วประเทศ จำนวน 850 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1- 20 ธันวาคม 2557 เพื่อสอบถามความคิดเห็นชาวเกษตรกรสวนยางที่มีต่อมาตรการและนโยบายต่างๆที่ใช้แก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำ พบว่า เกษตรการชาวสวนยาง ร้อยละ 42.35 ทำการลดการใช้ปัจจัยการผลิตลง เช่น ปุ๋ยหรือยาปราบศัตรูพืช รองลงมา ร้อยละ 42.12 ทำอาชีพเสริมเพื่อหารายได้ ส่วนร้อยละ 15.18 ทำการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนลง และที่เหลืออีกร้อยละ 14.59 มีการกรีดยางลดลง
เกษตรกรชาวสวนยางมีความเห็นว่า มาตรการที่สามารถแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำได้มากที่สุดของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา คือ มาตรการการร่วมมือกับต่างประเทศในการกำหนดแนวทางจัดเก็บสต็อกยาง (ร้อยละ 58.47) โดยให้เหตุผลว่า เป็นการเพิ่มตลาดรองรับผลผลิตยางพาราของประเทศที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น รองลงมาได้แก่ มาตรการการสร้างตลาดซื้อขายยางธรรมชาติ (ร้อยละ 55.88) โดยให้เหตุผลว่า เป็นการเพิ่มโอกาสในการซื้อขายยางพาราให้มากขึ้น มาตรการการเร่งรัดการใช้ยางภายในประเทศ (ร้อยละ 51.88) โดยให้เหตุผลว่า เป็นการระบายยางที่ล้นสต็อกให้เกิดความสมดุลในตลาด และมาตรการการปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้สถาบันเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการยาง (ร้อยละ 45.84) โดยให้เหตุผลว่า สถาบันต่างๆ เหล่านี้จะได้มีเงินลงทุนเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้เกิดการพัฒนาการสร้างมูลค่าเพิ่มจากยางพารา ตามลำดับ

หลังจากมีการสอบถามถึงมาตรการการช่วยเหลือปัจจัยการผลิตให้ชาวสวนยาง  พบว่า  เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ร้อยละ 62.47 เห็นด้วยกับมาตรการนี้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนจากราคายางที่ตกต่ำต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ส่วนร้อยละ 20.87 ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่า เป็นมาตรการที่ไม่มีมาตรฐานที่แน่นอน และอาจเกิดการทุจริตได้

และสอบถามถึงมาตรการการปรับโครงสร้างสวนยางเชิงเดี่ยวเป็นแบบผสมผสาน พบว่า เกษตรกรชาวสวนยางร้อยละ 41.18 ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ โดยให้เหตุผลว่า การปลูกพืชชนิดอื่นร่วมกับต้นยางอาจจะทำให้เกิดความเสียหายกับต้นยาง และอาจไม่สามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง ส่วนร้อยละ 35.06 เห็นด้วยกับมาตรการนี้ เพราะเป็นการเพิ่มรายได้และลดความเสี่ยงจากราคายางที่ผันผวน

เมื่อสอบถามถึงมาตรการการชะลอการกรีดยางทั่วประเทศ โดยได้รับค่ายังชีพจากภาครัฐบาล พบว่า เกษตรกรชาวสวนยาง ร้อยละ 49.35 ไม่เห็นด้วยกับมาตรการนี้ โดยให้เหตุผลว่า เป็นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน ส่วนร้อยละ 33.41 เห็นด้วยกับมาตรการนี้ โดยให้เหตุผลว่า มาตรการนี้อาจส่งผลให้สามารถขายยางได้ในราคาที่สูงกว่าเดิม จากปริมาณยางในตลาดที่ลดลง

ทั้งนี้เมื่อสอบถามถึงความต้องการนโยบายเพื่อช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาราคายางพาราตกต่ำจากภาครัฐบาล พบว่า เกษตรกรชาวสวนยางส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.60 ต้องการนโยบายแทรกแซงราคายางพารา รองลงมาได้แก่ นโยบายการหาตลาดรองรับที่แน่นอนและมีมาตรฐาน (ร้อยละ 17.27) นโยบายการหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ (ร้อยละ 3.06) ส่วนที่เหลือ (ร้อยละ 10.07) ต้องการให้ปล่อยไปตามกลไกตลาด
จะเห็นได้ว่ามาตรการหรือนโยบายบางอย่างที่เกษตรกรชาวสวนยางต้องการอาจไม่สามารถนำมาปฏิบัติได้จริง ดังนั้นวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวเบื้องต้น ภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรให้ความช่วยเหลือและส่งเสริมเกษตรกรให้สามารถพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจได้ในระยะยาว โดยการสนับสนุนความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีในการเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราให้สามารถส่งออกสินค้ายางที่อยู่ในขั้นกลางไปจนถึงสินค้ายางขั้นสุดท้าย เพื่อเพิ่มมูลค่าและลดความผันผวนของราคายางในตลาดโลก รวมทั้งปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการผลิตยางพารา เช่น การบริหารจัดการกับสต็อกยางของประเทศ

จึงพอสรุปผลโพลล์โดยภาพรวมว่า 
เกษตรกรชาวสวนยางร้อยละ 62.47 เห็นด้วยกับมาตรการช่วยเหลือปัจจัยการผลิต
แต่อีกร้อยละ 69.60 ยังต้องการให้รัฐฯ เข้าแทรกแซง
เพื่อช่วยเหลือเรื่องราคายางตกต่ำ 

 

ข้อมูลจาก แม่โจ้โพลล์ ฉบับที่ 8 เดือนธันวาคม 2557 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ