นักสื่อสารแรงงานสระบุรี รายงาน
คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ยื่น 4 ข้อเรียกร้องถึงนายกฯ วันที่ 1 พ.ค.นี้ ขอฟังคำตอบ เตรียมจัดขบวนหน้ารัฐสภา-เดินไปอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อประกาศเจตนารมณ์
9 เม.ย. 2558 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ร่วมกับสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.)จัดการเสวนา เรื่อง ทิศทางกรรมกร จะเป็นอย่างไร? ในสถานการณ์ปฎิรูปประเทศ ณ อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา บริเวณสี่แยกคอกวัว กรุงเทพฯ
วิไลวรรณ แซ่เตีย ประธานสมานฉันท์แรงงานไทย กล่าว สืบเนื่องจากปัญหาของผู้ใช้แรงงานที่สะสมมายาวนาน แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไข อีกทั้งยังทวีคูณมากขึ้นทุกวัน ส่งผลกระทบต่อชีวิตและครอบครัวคนงาน ทำให้ขาดความมั่นคงในการทำงาน และการจ้างงานในสถานการณ์ปัจจุบันคนงานถูกละเมิดสิทธิในรูปแบบต่างๆ ที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น โดยที่คนงานยังขาดอำนาจในการรวมตัวการเจรจาต่อรอง
การปรับเปลี่ยนรูปแบบองค์กรรัฐวิสาหกิจในลักษณะแปรรูปองค์กร โดยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ ส่งผลกระทบต่อประชาชนและคนงาน การขับเคลื่อนเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิคนงานในเชิงประจักษ์ โดยเฉพาะประเด็นเชิงนโยบาย เช่น การรับรองอนุสัญญา ILO 87 และ 98 การแก้ไขการละเมิดสิทธิแรงงานรวมไปถึงการสร้างควา มั่นคงในการทำงาน ด้วยการปรับค่าจ้างให้เป็นธรรมเพื่อนำไปสู่รัฐบาลในการดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นให้เกิดความเป็นธรรม
วิไลวรรณ กล่าวว่า วันนี้คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย และสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ซึ่งเป็นคณะจัดงานวันกรรมกรสากล จึงจัดเวทีเสวนา เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับรู้ถึงข้อเรียกร้องในวันกรรมกรสากล เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนร่วมกัน ในวันที่ 1 พ.ค. ซึ่งเป็นวันกรรมกรสากลของทุกปี ในการลำรึกถึงการต่อสู้เรียกร้องให้ได้มาซึ่งสิทธิ เสรีภาพ คุณภาพชีวิต ความมั่นคง ความปลอดภัยในการทำงาน
นายชาลี ลอยสูง ประธานสมาพันธ์แรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิิคส์ ยานยนต์ โลหะแห่งประเทศไทย กล่าวถึง อนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 และ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวเจรจาต่อรองร่วม ที่ประเทศไทยยังไม่ให้สัตยาบันอนุสัญญาทั้ง 2 ทั้งที่เป็น 1 ใน 59 ประเทศ ที่ร่วมตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ วันนี้ขบวนการแรงงานยังคงมีการเรียกร้อง ซึ่งก็เรียกร้องกันมาเป็นเวลายาวนานมากให้รัฐบาลให้สัตยาบัญอนุสัญญา แรงงานพยายามพลักดันเพื่อนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายแรงงานของประเทศไทย เพื่อให้เกิดการคุ้มครองของแรงงานในการรวมกลุ่มจัดตั้งสหภาพแรงงาน และการเจรจาต่อรองกับนายจ้างเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับแรงงาน
รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ คณะเศรษฐศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงสถานการณ์ปฎิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงในประเทศ เราต้องมีความรู้ในอำนาจการต่อรอง มีวิสัยทัศน์ที่กว้างในการมอง เปลี่ยนจิตสำนึกรับรู้ สิ่งใหม่ๆ เพื่อเพิ่มอำนาจการต่อรองให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น จะไปโทษนายทุนฝ่ายเดียวก็ไม่ได้ เพราะแรงงานไม่เรียนรู้และไม่ลุกขึ้นมาต่อสู้ ไม่มารวมกลุ่มรวมตัว ทั้งนี้ มีหลักการ 4 หลักที่ต้องทำคือ
1.แรงงานต้องเริ่มสร้างทุนให้กับตัวเอง คือ ทุนมวลชน ไม่ต้องพึ่งทุนอำนาจผูกขาด
2.หลอมความคิดจิตสำนึกอย่างเป็นเอกภาพ
3.ทำความคิดให้บรรลุเป้าหมายทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
4.เชื่อมต่อกับสายงานที่มีความรู้และสายงานต่างๆ เพื่อให้เกิดพลังแรงงานทุกภาคส่วนต้องรวมตัว โดยใช้จิตสำนึก เป็นพลังขับเคลื่อน แบบมุ่งมั่นให้สังคมรู้จักแรงงานและให้ความสำคัญ
จากนั้น คสรท.ร่วมกับ สรส.แถลงข่าว ข้อเสนอต่อรัฐบาลเนื่องในวาระโอกาส “วันกรรมกรสากล 2558″ ระบุว่า ตามที่มีการจัดกิจกรรมรณรงค์ เฉลิมฉลองวันกรรมกรสากลทุกปีมีข้อเรียกร้องที่ยื่นต่อรัฐบาล เพื่อต้องการให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหา ซึ่งข้อเรียกร้องบางข้อก็จะเป็นข้อเรียกร้องเดิมๆ ที่รัฐบาลที่ผ่านมา และรัฐบาลปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไข และบางข้อเรียกร้องเป็นข้อเรียกร้องใหม่ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งผู้ใช้แรงงานต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน และเป็นรูปธรรม โดยมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล ดังนี้
1.รัฐต้องให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคม และคุ้มครองสิทธิในการรวมตัวกัน และอนุสัญญาฯ ฉบับที่ 98 ว่าด้วยการปฏิบัติตามหลักการแห่งสิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง เพื่อสร้างหลักประกันสิทธิในการรวมตัว และการเจรจาต่อรอง เพื่อให้กลไกของลูกจ้าง สหภาพแรงงานเป็นส่วนช่วยให้คนงานเข้าถึงสิทธิ และเป็นกลไกในการเป็นเกราะป้องกันไม่ให้คนงานถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม และเป็นส่วนช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิแรงงาน
การค้ามนุษย์ที่ประเทศไทยถูกจับตามมองเป็นพิเศษจากสังคมโลก และรัฐบาลยังไม่มีกลไกที่ดีพอในการแก้ไขปัญหา การรับรองอนุสัญญาทั้ง 2 ฉบับ จะเป็นโอกาสที่ดีของรัฐบาลไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งจะได้รับความนิยมความชื่นชมจากนานาชาติ
2.รัฐต้องยกเลิกนโยบายการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ การแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจทุกรูปแบบและผลักดันให้มีกฎหมายว่าด้วยการพัฒนารัฐวิสาหกิจ ตามข้อเสนอของสมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ ที่ได้ยื่นต่อรัฐบาลก่อนหน้านี้ โดยสาระสำคัญให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนารัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดการขยายงาน การพัฒนาศักยภาพหน่วยงานรัฐวิสาหกิจในการให้บริการประชาชน และยุติการแทรกแซงการบริหารงานรัฐวิสาหกิจ ปรับโครงสร้างการบริหารงานรัฐสาหกิจใหม่ ให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนต่างๆ ประกอบด้วยภาครัฐผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ และองค์กรผู้บริโภคภาคประชาชน เพื่อให้เกิดระบบธรรมาภิบาล ความโปร่งใส สามารถตรวจสอบถ่วงดุลกัน
3. รัฐต้องดำเนินการแก้ไขปัญหาการวางมาตรการอย่างเข้มข้นต่อการละเมิดสิทธิแรงงานการคุกคาม และการเลิกจ้างผู้นำสหภาพแรงงานในรูปแบบต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยที่นายจ้างมิได้เกรงกลัวต่อกฎหมาย แม้ในยามที่รัฐบาลประกาศใช้กฎอัยการศึก กรณีที่นายจ้างของสถานประกอบการบางแห่งไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน
4. รัฐต้องกำหนดค่าจ้างแรงงานที่เป็นธรรมให้ครอบคลุมผู้ใช้แรงงานทุกภาคส่วน โดยกำหนดนิยามค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นค่าจ้างแรกเข้าที่มีรายได้พอเพียงเลี้ยงชีพตนเองและครอบครัวอีก 2 คน ตามหลักการขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ
ทั้งนี้ โครงสร้างค่าจ้างของแรงงานให้มีการปรับค่าจ้างทุกปี โดยคำนึงถึงค่าครองชีพ ทักษะฝีมือและลักษณะงาน ทั้งนี้รัฐจะต้องทบทวนม มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2554 ที่ให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาทในปี 2557 และปี 2558 ซึ่งในปัจจุบัน จากผลสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงานในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ แรงงานจะอยู่ได้ต้องมีค่าจ้างวันละ 360 บาท และรัฐต้องยกเลิกคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด
ทั้งนี้ ทาง คสรท. และ สรส. ได้เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลแล้ว และกำหนดการติดตามคำตอบในวันที่ 11 พ.ค. 2558 ในวันกรรมกรสากล และได้เรียกร้องต่อผู้ใช้แรงงานว่า ความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ใช่รอคอยความหวังจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว พลังสามัคคีของผู้ใช้แรงงานจะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในวันข้างหน้า
กำหนดการเดินรณรงค์เฉลิมฉลองวันกรรมกรสากล 11 พ.ค. 2558 นัดรวมตัวกันที่หน้ารัฐสภาเวลา 09.00 น. จากนั้น เวลา 10.00 น. เคลื่อนขบวนไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งจะมีพิธีเปิด รวมทั้งประกาศเจตนารมณ์ด้วย