แรงงานต่างด้าว วิกฤติหรือโอกาสของประชาคมอาเซียน 29 พ.ย.นี้ที่เชียงใหม่

แรงงานต่างด้าว วิกฤติหรือโอกาสของประชาคมอาเซียน 29 พ.ย.นี้ที่เชียงใหม่

เผยสถานการณ์แรงงานต่างด้าวในภูมิภาคอาเซียนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในไทย มาเลเซียและสิงคโปร์  คณะการสื่อสารมวลชนร่วมกับ Asia Calling จัดเสวนา เรื่อง แรงงานต่างด้าว  “วิกฤติหรือโอกาสของประชาคมอาเซียน” ที่เชียงใหม่ เชื่อมเครือข่ายสื่อส่งข้อมูลเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน
           
อาจารย์วิทูร สินศิริเชวง อาจารย์ประจำคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าฝ่ายประสานงานในประเทศโครงการ Regional public debate (Asia Calling Forum)  กล่าวว่า ในภูมิภาคอาเซียนพบว่าปัญหาสถานการณ์แรงงานต่างด้าวเพิ่มมากขึ้นนับตั้งแต่ทศวรรษที่ 70  ทั้งในประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย และประเทศสิงคโปร์  ในปี พ.ศ. 2551     

                 จากข้อมูลของฝ่ายทะเบียนและข้อมูลสารสนเทศกลุ่มพัฒนาระบบควบคุมการ  ทำงานของคนต่างด้าวสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว  ระบุว่า  จำนวนแรงงานต่างด้าวที่ข้ามชาติมาอย่างผิดกฎหมายและยอมรายงานตัวจดทะเบียนภายหลัง   จากประเทศ พม่า    ลาว    และ กัมพูชา  เพียงสามประเทศสูงถึง 1,284,920  คน   โดยยังไม่รวมจำนวนผู้ที่ยังหลบซ่อน   นอกจากนี้ยังมีแรงงานต่างด้าวจากเอเชียใต้    เช่นบังคลาเทศ ปากีสถาน และอินเดีย เป็นต้น  ส่วนประเทศมาเลเซีย ในปัจจุบัน มีแรงงานต่างด้าวจำนวน   2.1  ล้านคน      ซึ่งอยู่ในอัตราส่วนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบ กับแรงงานที่มีอยู่ในประเทศประมาณ    10 ล้านคน  โดยคาดการณ์กันว่าไม่ต่ำกว่าอัตราส่วนร้อยละ 25   สำหรับประเทศสิงคโปร์มีแรงงานต่างด้าวในอัตราส่วนที่สูงสุดของทวีปเอเชีย นั่นคือ มีจำนวน 6 แสนคน หรือ อัตราส่วน ร้อยละ 30   หรือประมาณ 1 คน ในทุก ๆ  3 คน จะเป็นแรงงานต่างด้าว

                 สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน  คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะที่เป็นองค์กรร่วมใน Asia Calling Network ได้ตระหนักถึงความสำคัญของประเด็นนี้ จึงได้จัดเวทีเสวนา เรื่อง แรงงานต่างด้าว  “วิกฤติหรือโอกาสของประชาคมอาเซียน” เพื่อให้ชุมชนอาเซียน ได้ตระหนักถึงประเด็นและนำมาสู่การเตรียมการเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนต่อไป

                 การจัดกิจกรรมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเชื่อมโยงเครือข่ายสถานีวิทยุที่ออกอากาศและกลุ่มผู้รับฟังรายการเอเชียคอลลิ่งตอบสนองต่อสถานการณ์ปัจจุบันด้านแรงงานต่างด้าวของภูมิภาคนี้ เพื่อรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของแรงงานต่างด้าวในภาคพื้นเอเชียที่เป็นปัญหาสำคัญในประชาคมอาเซียน และเพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในด้านศักยภาพของการเป็นสื่อวิทยุท้องถิ่นในระดับสากล

                  รศ.ธีรภัทร วรรณฤมล  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายมวลชนสัมพันธ์และนักศึกษาเก่าสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายประสานงานต่างประเทศ โครงการ Regional public debate (Asia Calling Forum)  เปิดเผยว่า  คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะกรรมการความร่วมมือ PPMN-FM100 (Asia Calling) ได้จัดโครงการ Regional public debate (Asia Calling Forum)  การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง แรงงานต่างด้าว วิกฤติหรือโอกาสของประชาคมอาเซียน ขึ้น ในวันอังคาร ที่ 29 พฤศจิกายน 2554 เวลา 9.00 – 12.00 น. ณ โรงแรมฟูรามาเชียงใหม่

                ทั้งนี้สืบเนื่องจาก สถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชน คณะการสื่อสารมวลชน เป็นสื่อมวลชนแขนงหนึ่ง ที่ให้ความสำคัญต่อการนำเสนอข่าวสารจากหลายองค์กรข่าว เช่น บีบีซี วีโอเอ ที่นำเสนอข่าวโลกและมีผู้ฟังติดตามรับฟังเป็นจำนวนมาก ต่อมาทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชนได้รับการติดต่อจากสถานีวิทยุกระจายเสียง KBR68H แห่งประเทศอินโดนีเซีย เพื่อทำการทดลองผลิตรายการเอเชียคอลลิ่ง เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งแรกในประเทศไทย  โดยรายการเอเชียคอลลิ่ง เป็นรายการที่ผลิตขึ้นโดยสถานีวิทยุกระจายเสียง KBR68H แห่งประเทศอินโดนีเซียในปี พ.ศ.2546  นำเสนอข่าวการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสิทธิมนุษยชน ของประเทศในแถบเอเชียไปยังสถานีวิทยุกระจายเสียง 321สถานีมีผู้ฟังประมาณ 22ล้านคน โดยมีรูปแบบการนำเสนอเป็นการรายงานจากผู้สื่อข่าวที่อยู่ในประเทศต่างๆเป็นภาษาอังกฤษ และอีก10ภาษาในประเทศแถบอาเซียน รวมทั้งภาษาไทย

             ปัจจุบันรายการเอเชีย คอลลิ่ง ได้ปรับขยายเวลาในการนำเสนอเป็น 60 นาที โดยทางสถานีวิทยุเสียงสื่อสารมวลชนผลิตเป็นสองตอน ตอนละ 30 นาที นำเสนอทุกวันพฤหัสบดี และวันศุกร์ ในเวลา 7.30-8.00 น. และมีการตอบรับจากผู้ฟังอย่างน่าพึงพอใจ

              ขอเชิญผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังการเสวนา ในการนี้ มีความร่วมมือกับ สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในการถ่ายทอดสดทางอินเตอร์เน็ตผ่านทางhttp://tvthainetwork.com/live.php

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ฝ่ายประสานงานคณะการสื่อสารมวลชน  โทรศัพท์ 053-942710 โทรสาร 053-218119

กำหนดการ 
โครงการ Regional public debate (Asia Calling Forum)
การเสวนาทางวิชาการ เรื่องแรงงานต่างด้าว วิกฤติหรือโอกาสของประชาคมอาเซียน
วันอังคาร ที่ 29 พฤศจิกายน 2554 เวลา 09.00-12.00 น.
ณ โรงแรมฟูรามาเชียงใหม่

เวลา    08.30 – 09.00 น.      ลงทะเบียน / รับประทานอาหารว่าง

   09.00 – 09.15 น.              พิธีเปิดโดย ศาสตราจารย์ ดร.พงษ์ศักดิ์  อังกสิทธิ์    อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่

   09.15 – 11.15 น.      การเสวนาทางวิชาการ เรื่อง แรงงานต่างด้าว วิกฤติ หรือโอกาสของประชาคมอาเซียน  โดย
–   รศ.ดร.โกสุมภ์  สายจันทร์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์   มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (วิทยากรจากไทย)
–   Ms.Dita Indah Sari ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรีกระทรวงแรงงาน ประเทศอินโดนีเซีย (วิทยากรจากอินโดนีเซีย)
–   นางสาวกาญจนา  ดีอุด  ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อสุขภาพและการเรียนรู้ของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์  (วิทยากรจากพม่า)
ดำเนินการเสวนา โดย Rebecca Henschke  จาก สถานีวิทยุ KBR68H อินโดนีเซีย

   11.15 – 11.30 น.      บรรยายสรุป โดย สถาบันภาษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

   11.30 – 12.00 น.      อภิปราย-ซักถาม

   12.00 น.         เสร็จสิ้นการเสวนา

สอบถามการเข้าร่วมงาน   โทรศัพท์ ๐๕๓-๙๔๒๗๑๐  ๐๕๓-๙๔๓๒๒๘-๙  โทรสาร  ๐๕๓-๒๑๘๑๑๙  ๐๕๓-๙๔๓๒๒๙

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ