แนะมุ่งแก้ภัยแล้งก่อน! อำเภอวังสะพุงค้าน อบต.เขาหลวง เปิดประชุมวิสามัญคุยพื้นที่เหมืองทอง

แนะมุ่งแก้ภัยแล้งก่อน! อำเภอวังสะพุงค้าน อบต.เขาหลวง เปิดประชุมวิสามัญคุยพื้นที่เหมืองทอง

หลังกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ยื่นหนังสือค้านเปิดประชุม สภา อบต.เขาหลวง หวั่นมีวาระให้พื้นที่เหมือง อำเภอวังสะพุงมีหนังสือส่งถึงประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ชี้นโยบายรัฐเร่งด่วนรัฐบาล-มหาดไทยให้แก้ปัญหาภัยแล้งก่อน แนะหากจำเป็นต้องพิจารณาอีกสามารถยื่นญัตติในการประชุมสภาสมัยสามัญในคราวต่อไป

20163103173747.jpg

31 มี.ค. 2559 จากกรณีเมื่อวันที่ 30 มี.ค.ที่ผ่านมา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิด 6 หมู่บ้าน อ.วังสะพุง จ.เลย เดินทางไปที่อำเภอวังสะพุง เข้ายื่นหนังสือต่อนายอำเภอวังสะพุง โดยผ่านปลัดอำเภอวังสะพุงซึ่งเป็นตัวแทนรับหนังสือ เพื่อขอคัดค้านการขอเปิดประชุมสภา อบต.เขาหลวง สมัยวิสามัญ ครั้งที่1/2559 โดยกลุ่มฅนรักบ้านเกิดฯ เกรงว่าจะมีการนำเรื่องการขอต่ออายุขอเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก ของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด เข้าสู่การพิจารณาอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้ (31 มี.ค. 2559) กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ได้รับทราบว่ามีหนังสือจากอำเภอวังสะพุง เรื่องเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ สมัยที่1/2559 ลงนามโดยนายวิสา ยัญญลักษณ์ นายอำเภอวังสะพุง ส่งถึงประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลเขาหลวง ลงวันที่ 30 มี.ค. 2559

หนังสือดังกล่าวระบุเนื้อหาว่า จากการที่อำเภอวังสะพุงได้รับหนังสือจากสมาชิก สภา อบต.เขาหลวง 16 คน เพื่อขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ ครั้งที่ 1/2559 ในวันที่ 4 เม.ย.2559 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบการต่ออายุหนังสืออนุญาตการเข้าทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัยภายในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าโคกภูเหล็ก เพื่อทำเหมืองแร่ทองคำและทองแดง และการยื่นคำขอใช้ที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อนำทรัพยากรธรรมชาติในเขตปฏิรูปที่ดินไปใช้ประโยชน์ เนื่องจากได้รับหนังสือร้องเรียนจากบริษัท ทุ่งคำ จำกัด

อำเภอวังสะพุงพิจารณาแล้วเห็นว่า ขณะนี้รัฐบาลและกระทรวงมหาดไทยมีนโยบายเร่งด่วนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เตรียมความพร้อมในการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากสถานการณ์ภัยแล้ง ซึ่ง สภา อบต.เขาหลวง ควรพิจารณาให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ก่อนเป็นอันดับแรก

หนังสือดังกล่าวยังตั้งคำถามว่า ขณะมีหนังสือขอเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญนั้นมีหนังสือเร่งรัดหรือทวงถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือไม่ และจากที่การประชุมแต่ละครั้งที่ผ่านมาไม่สามารถจัดได้เนื่องจากมีการคัดค้านจากกลุ่มผู้ได้รับผลกระทบ อบต.เขาหลวงได้รายงานหรือประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือไม่ อย่างไร 

หนังสือของอำเภอวังสะพุงระบุ ด้วยว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวเคยนำเข้าที่ประชุมสภา อบต.เขาหลวงมาแล้ว หากมีความจำเป็นต้องพิจารณาอีกก็สามารถยื่นญัตติพิจารณาในการประชุมสภาสมัยสามัญในคราวต่อไปได้

ด้านภัทราภรณ์ แก่งจำปา กลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ระบุว่า ทางกลุ่มไม่ต้องการให้ สภา อบต.เขาหลวงจัดประชุมลับ เนื่องจาก 1.กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องของชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อน จึงไม่มีควรมีอะไรที่เป็นความลับกับชาวบ้าน 2.ชาวบ้านต้องมีส่วนร่วมในการประชุม 3.สภา อบต.เขาหลวงต้องมีความโปร่งใสต่อชาวบ้าน 4.การเปิดประชุมสภาวิสามัญควรต้องเป็นเรื่องเร่งด่วนเท่านั้น เช่น น้ำท่วม ไฟไหม หรือภัยพิบัตต่างๆ ไม่ใช่เรื่องเพื่อเอื้ออำนวยการใช้พื้นที่แก่บริษัทเอกชน

สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ ให้ความเห็นว่า การนำเรื่องดังกล่าวเข้าสภา อบต.เป็นกระบวนการจากส่วนของท้องถิ่น เพื่อประกอบกับความเห็นของหน่วยงานรัฐ ในการอนุมัติอนุญาตให้พื้นที่ป่าและที่ ส.ป.ก.เพื่อดำเนินกิจการเหมืองแร่ต่อ

“ป่าไม้หมายถึงชีวิตของคนที่อยู่รอบๆ เหมือง ถ้ามีการอนุญาตก็เหมือนกับชาวบ้านต้องตายทั้งเป็น” สมาชิกกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดฯ กล่าว

 

ข้อมูลเกี่ยวกับการประชุมวิสามัญ และการประชุมลับ 
ตาม ระเบียบกระทรวงมหาดไทย ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมสภาท้องถิ่น พ.ศ. 2547 

1.การประชุมวิสามัญ เกี่ยวข้องกับหมวดที่สองว่าด้วยการประชุมข้อที่ 20 และข้อที่ 36 โดยต้องทำคำร้องยื่นต่อนายอำเภอขอให้เปิดสมัยประชุมวิสามัญ ถ้าเห็นสมควรก็ให้นายอำเภอเรียกประชุมวิสามัญได้ (ต้องทำกิจกรรมกับนายอำเภอ) ตามข้อ 36 วรรค3

กรณีองค์การบริหารส่วนตำบล นอกจากสมัยประชุมสามัญแล้ว เมื่อเห็นว่าเป็นการจำเป็นเพื่อประโยชน์แห่งองค์การบริหารส่วนตำบล ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบล นายกองค์การบริหารส่วนตำบล หรือสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล ที่อยู่ในตำแหน่ง อาจทำคำร้องยื่นต่อนายอำเภอ ขอให้เปิดสมัยประชุมวิสามัญ ถ้าเห็นสมควรก็ให้นายอำเภอ เรียกประชุมวิสามัญ ให้กำหนดไม่เกิน สิบห้าวันแต่ถ้าจะขยายเวลาออกไปอีก จะต้องได้รับอนุญาตจากนายอำเภอ

2.การประชุมลับตามหมวดที่ 2 ข้อ 31 ให้ผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการประชุมออกจากที่ประชุม

เมื่อผู้บริหารท้องถิ่นหรือสมาชิกสภาท้องถิ่นไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนสมาชิกที่มาประชุมร้องขอให้มีการประชุมลับในระเบียบวาระการประชุมใด ให้ประธานสภาท้องถิ่นดำเนินการประชุมลับในระเบียบวาระการประชุมนั้น โดยไม่ต้องขอมติที่ประชุม การประชุมเช่นนี้ให้ประธานสภาท้องถิ่นสั่งผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการประชุมนั้นออกจากที่ประชุมได้

การร้องขอตามวรรคหนึ่ง อาจทำเป็นหนังสือหรือเสนอด้วยวาจาก็ได้

3.ตามหมวดที่ 8 ว่าด้วย คณะกรรมการสภาท้องถิ่น ข้อ 113 การประชุมลับผู้มีสิทธิเข้าฟังการประชุม จะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการประชุม ซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสภาท้องถิ่นนั้นเท่านั้น หมายความว่า หากชาวบ้านเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประชุม ตามการอนุญาติจากคณะกรรมการสภาท้องถิ่นได้

สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หัวหน้าส่วนราชการประจำของ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจากประธานกรรมการส่วนท้องถิ่น มีสิทธิเข้าฟังการประชุมของคณะกรรมการท้องถิ่นได้ เว้นแต่เป็นการประชุมลับ 

ในกรณีเป็นการประชุมลับ ผู้มีสิทธิเข้าฟังการประชุม จะต้องเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง กับการประชุม ซึ่งได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการสภาท้องถิ่นนั้น เท่านั้น

ผู้มีสิทธิเข้าไปนั่งฟังการประชุมของคณะกรรมการสภาท้องถิ่นตามวรรคหนึ่ง และวรรคสอง จะแสดงความเห็นได้เมื่อประธานกรรมการสภาท้องถิ่นอนุญาต หรือขอให้แสดงความเห็น

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ