แถลงการณ์กรีนพีซ : ขยายทางหลวงหมายเลข 304 ทำลายคุณค่าของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

แถลงการณ์กรีนพีซ : ขยายทางหลวงหมายเลข 304 ทำลายคุณค่าของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่

หลังจากรายงานของเว็บไซต์หนังสือพิมพ์แนวหน้าระบุว่า พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ รองคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. หัวหน้าฝ่ายสังคมและจิตวิทยา ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (สผ.) ครั้งที่ 1/2557 เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้พิจารณาวาระ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่มีผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่อการก่อสร้างด้านโครงสร้างพื้นฐาน 

โดยโครงการที่ผ่านการพิจารณาการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA คือ โครงการของกรมทางหลวง ประกอบด้วย โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัทยา – มาบตาพุด โครงการทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกบนทางหลวงหมายเลข 304 สาย อ.กบินทร์บุรี – ปักธงชัย จ.นครราชสีมา และโครงการก่อสร้างทาง 4 ช่องจราจร ทางหลวงหมายเลข 304 ตอนอ.กบินทร์บุรี – ปักธงชัย (ช่วง กม. 26-29 และกม.42-กม.57) ที่ประชุมได้พิจารณาให้ EIA เช่นกัน

“การพิจารณาเส้นทางหมายเลข 304 ที่จะขยายเป็น 4 ช่องจราจรนั้น ผ่านพื้นที่ป่าดงพญาเย็น และอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดย กรมทางหลวง จะต้องก่อสร้างเป็นทางยกระดับ หรืออุโมงค์เป็นช่วงๆ เพื่อลดผลกระทบต่อสัตว์ป่าที่จะได้ไม่ต้องเดินผ่านถนนสายดังกล่าว” พล.ร.อ.ณรงค์ กล่าว

20143107174415.jpg

ล่าสุดกรีนพีซ ซึ่งเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งติดตามประเด็นนี้มาอย่างต่อเนื่อง ได้ออกแถลงการณ์ระบุว่า โครงการขยายทางหลวงหมายเลข 304 ทำลายคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากลของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ 

กรีนพีซอธิบายว่า สืบเนื่องมาจากการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติครั้งที่ 1/2557 ที่พิจารณาเห็นชอบรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม(EIA) โครงการขยายทางหลวงหมายเลข 304 ในรอยต่อผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ช่วงกลางเดือนกรกฏาคม 2557 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า การขยายถนนจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร จะช่วยยกระดับความปลอดภัยบนถนน และเป็นโอกาสในการสร้างแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศของสัตว์ป่าที่ข้ามไปมาระหว่างเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และทับลานได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การถกเถียงในทางสาธารณะถึงเหตุผล ความจำเป็น และผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นจากโครงการดังกล่าว
 
โดยกรีนพีซให้ความเห็นว่า ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่เป็นต้นน้ำลำธารที่หล่อเลี้ยงการดำรงชีวิตของชุมชนต่างๆ ในพื้นที่โดยรอบทั้งแม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี ลำตะคอง ห้วยมวกเหล็ก และแม่น้ำมูล มีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพทั้งในระดับประเทศและระดับโลก เป็นแหล่งสงวนระบบนิเวศตามธรรมชาติอันหลากหลายตั้งแต่ป่าดงดิบชื้น ป่าดงดิบเขา ป่าดงดิบแล้ง ไปจนถึงป่าเบญจพรรณและป่าเต็งรัง รวมถึงทุ่งหญ้าเขตร้อนกระจายตัวอยู่ทั่วไป ตลอดจนป่าบนเขาหินปูนและป่าริมห้วยลำธาร เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์พืชและสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 2,500 ชนิด หรือประมาณ 1 ใน 6 ของชนิดพันธุ์ที่ปรากฏในประเทศ โดยมีชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น 16 ชนิด และมีสัตว์ป่ามากถึง 805 ชนิด ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม 112 ชนิด นก 392 ชนิด และมีสัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ รวมกัน 205 ชนิด โดยมี 9 ชนิด ที่เป็นชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่น ได้แก่ ตะพาบหัวกบหรือกราวเขียวหรือกริวดาว  จิ้งจกหินเมืองกาญจน์  ตุ๊กแกเขาหินทราย  กิ้งก่าภูวัว  จิ้งเหลนด้วงตะวันตก  จิ้งเหลนเรียวโคราช งูดินโคราช งูกินทากลายขวั้น และจระเข้น้ำจืด และในจำนวนสัตว์ป่าที่พบทั้งหมดมีหลายชนิดที่มีความสำคัญในระดับโลก และมี 3 ชนิดพันธุ์ที่มีสถานภาพใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ได้แก่ ช้างป่า เสือโคร่ง และวัวแดง (1) ดังนั้น ในการดำเนินโครงการพัฒนาใดๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อระบบนิเวศผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ควรนำเอาหลักการป้องกันไว้ก่อน (Precautionary Principle) มาใช้ แม้ว่าความสัมพันธ์ระหว่างสาเหตุและผลกระทบอาจยังพิสูจน์ไม่ได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

อีกทั้งการอนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 304 ในเขตผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มุ่งสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยอ้างว่าทางหลวงสายนี้เป็นเส้นทางเศรษฐกิจเชื่อมโยงภาคตะวันออกและภาคกลางเข้ากับภาคตะวันออกเฉียงเหนือและมีบทบาทสำคัญในการยกระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการผลิตที่สำคัญของประเทศ แต่ประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อคุณค่าความโดดเด่นอันเป็นสากล (Outstanding Universal Value) ความครบถ้วนสมบูรณ์ (Integrity) และ/หรือความเป็นของแท้ (Authenticity) ที่เป็นหลักในการบริหารจัดการและการคุ้มครองผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ต่ำกว่าความเป็นจริง
 
กรีนพีซยังกล่าวในแถลงการณ์อีกว่า กรมทางหลวงอ้างแผนการขยายทางหลวงหมายเลข 304 ว่าเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 10 มกราคม 2538 ให้จัดทำแผนการก่อสร้างสายหลักเป็น 4 ช่องจราจร(ระยะที่ 2) และมติคณะรัฐมนตรีในวันที่ 22 มิถุนายน 2547 ที่อนุมัติในหลักการให้กระทรวงคมนาคมโดยกรมทางหลวงขยายถนน 304 เป็น 4 ช่องจราจร แต่ในเอกสารนำเสนอรายชื่อ (Nomination paper) “ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ปางสีดา ทับลาน ตาพระยาและ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่)” ที่รัฐบาลไทยโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยื่นต่อคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนมกราคม 2548 เพื่อให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาตินั้น มิได้ระบุข้อมูลใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผนการขยายถนน 304 เป็น 4 ช่องจราจร การชี้แจงของหน่วยงานรัฐอย่างสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวถึงการอนุมัติรายงานอีไอเอของกรมทางหลวงว่า คณะกรรมการชำนาญการ (คชก.) ได้พิจารณามาอย่างยาวนานและอ้างถึงข้อเสนอการสร้างทางเชื่อมผืนป่าว่าจะเป็นรูปแบบผสมผสานที่มีอุโมงค์และสะพานยกระดับเพื่อให้สัตว์ป่าเดินข้ามได้โดยจุดข้ามมีระยะทาง 200-300 เมตร ว่าสอดคล้องกับความเห็นและข้อเสนอของคณะกรรมการมรดกโลกและองค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) นั้น ทางกรีนพีซเห็นว่า การชี้แจงดังกล่าวมิได้พิจารณาสถานภาพด้านการอนุรักษ์ (State of Conservation) ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ (2) และขัดต่อเจตนารมย์และหลักการของการขึ้นทะเบียนผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ
 
ด้วยเหตุผลดังกล่าว กรีนพีซจึงมีข้อเรียกร้องดังนี้

  1. ให้คณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มีมติยกเลิกโครงการขยายทางหลวงหมายเลข 304 ที่ดำเนินการโดยกรมทางหลวงโดยทันที
  2. รัฐบาลต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนตามแผนการจัดการเชิงบูรณาการ (Dong Phayayen Khao Yai Forest Complex’s Integrated Management Plan) ที่ระบุไว้ในเอกสารนำเสนอรายชื่อ (Nomination Paper) และข้อเสนอแนะที่ระบุไว้ในเอกสารการประเมินทางเทคนิคของ IUCN (3) เพื่อกอบกู้สถานภาพด้านการอนุรักษ์ของผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ให้พ้นจาก “บัญชีรายชื่อมรดกโลกที่อยู่ในอันตราย (List of World Heritage in Danger)”
  3. รัฐบาลโดยกรมทางหลวงปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการมรดกโลกในเรื่องการยุติเปิดเส้นทางอีกครั้งหรือการขยายถนนใดๆ ที่ตัดข้ามผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่
  4. รัฐบาลโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชต้องรับประกันถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นและประชาชน ในการอนุรักษ์ผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ในฐานะเป็นแหล่งสงวนความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศ ระบบสนับสนุนค้ำจุนชีวิต แหล่งวิจัยและการศึกษาธรรมชาติ แหล่งสันทนาการและการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ