3 กรกฎาคม 2557 9.30 น. นายธนา ยะโสภา แกนนำสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือที่ต้องโทษคำพิพากษาของศาลและได้พ้นโทษ จะเข้าร่วมกับพี่น้องสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือราว 100 คน ส่งไปรษณียบัตรถึงคสช.เพื่อให้มีการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ดิน
โดยสาระสำคัญในไปรษณียบัตรคือ ขอให้เร่งรัดสั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานให้มีโฉนดชุมชน พร้อมทั้งดำเนินการให้เกิดการจัดตั้งธนาคารที่ดิน รวมถึงกระจายถือครองที่ดินโดยมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า และผลักดันกฎหมายรองรับสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ป่าไม้ น้ำ และทะเล เพื่อเป็นการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรไปสู่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจน บรรจุเนื้อหาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชุมชนไว้ในธรรมนูญปกครองชั่วคราวเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมมีสิทธิในการดูแลรักษา จัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน
เนื่องด้วยนายธนา ยะโสภา แกนนำสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือได้ต้องโทษคำพิพากษาของศาลและได้พ้นโทษในวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 โดยในวันดังกล่าวสมาชิกสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือจะได้มีการไปรับตัวนายธนา ยะโสภา ณ เรือนจำ จังหวัดลำพูน และมีกิจกรรมส่งไปรษณียบัตรให้กับ หัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)เพื่อให้มีการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยของเกษตรกรรายย่อย ผู้ยากไร้ คนยากคนจนเป็นวาระเร่งด่วน โดยมีรายละเอียดดังนี้
เรียนหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ขอให้ท่านผลักดันปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัย และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนให้เป็นวาระเร่งด่วน โดยมีรายละเอียดดังนี้
- เร่งรัดสั่งการให้สำนักนายกรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัยตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานให้มีฉโนดชุมชน พ.ศ. 2553
- เร่งรัดการแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการบริหารสถาบันบริหารจัดการที่ดินให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสถาบันฯ พร้อมทั้งอนุมัติงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานของสถาบันฯ และอนุมัติโครงการนำร่องธนาคารที่ดินจำนวน 167 ล้านบาทตามนัยยะมติคณะรัฐมนตรี 21 พฤษภาคม 2557
- ผลักดันให้เกิดการกระจายการถือครองที่ดินโดยมาตรการจัดเก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้าและนำภาษีที่ได้มาจัดตั้งธนาคารที่ดินให้แก่คนจนและเกษตรกรรายย่อยได้มีโอกาสเข้าถึงที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยอย่างเป็นธรรม
- ผลักดันกฎหมายรองรับสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดิน ป่าไม้ น้ำ และทะเล เพื่อเป็นการกระจายอำนาจในการจัดการทรัพยากรไปสู่ชุมชนอย่างมีประสิทธิภาพ
- บรรจุเนื้อหาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิชุมชนไว้ในธรรมนูญปกครองชั่วคราวเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนท้องถิ่นดั่งเดิมมีสิทธิในการดูแลรักษา จัดการ และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชนอย่างสมดุลและยั่งยืน
ขอบคุณภาพ โดยKringkarn Jaroenkul